โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

สั่งกรุงไทย ช่วยผู้สูงอายุลง “ชิมช้อปใช้” หวังควักจ่ายคนละ 1 หมื่น หมุนเงิน 5 พันล้าน

TODAY

อัพเดต 18 พ.ย. 2562 เวลา 13.24 น. • เผยแพร่ 18 พ.ย. 2562 เวลา 13.24 น. • Workpoint News
สั่งกรุงไทย ช่วยผู้สูงอายุลง “ชิมช้อปใช้” หวังควักจ่ายคนละ 1 หมื่น หมุนเงิน 5 พันล้าน

วันที่ 18 พ.ย. วันที่ 2 ของการเปิดให้ลงทะเบียน "ชิม ช้อป ใช้" รอบผู้สูงอายุ สำหรับผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ตั้งแต่เวลา 08.00 - 18.00 น. ภาพรวมยังมีผู้สนใจเพิ่มเติมไม่มากนัก โดยมีผู้ลงทะเบียนเพิ่ม 28,773 สิทธิ์ ทำให้จำนวนสิทธิ์ที่กันไว้สำหรับผู้สูงอายุ 500,000 สิทธิ์ คงเหลืออีกถึง 381,052 สิทธิ์

ชาญกฤช เดชวิทักษ์

นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) เปิดเผยว่า หลังจากที่เปิดให้ผู้สูงอายุลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา พบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยมีความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอน ทำให้ลงทะเบียนไม่สำเร็จ ดังนั้นจึงได้ประสานไปยังธนาคารกรุงไทย เพื่อให้สั่งการไปยังสาขาต่างๆ ทั่วประเทศ จัดเจ้าหน้าที่ไว้คอยอำนวยความสะดวกและแนะนำขั้นตอนการลงทะเบียนแก่ผู้สูงอายุ มั่นใจว่าหลังจากนี้ปัญหาดังกล่าวจะหมดไป

สำหรับการกันสิทธิ์ไว้ให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากเล็งเห็นว่าเป็นอีกหนึ่งกลุ่มผู้บริโภคที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศและกระจายเม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจฐานรากได้เป็นอย่างดี ข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ไทยได้เริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว และกำลังเข้าสู่ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2565 เม็ดเงินที่หมุนเวียนในตลาดสินค้าและบริการเพื่อผู้สูงอายุปัจจุบันน่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 900,000 ล้านบาทต่อปี ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเฉลี่ยของผู้สูงอายุราว 9,000–10,000 บาทต่อเดือน สินค้าและบริการที่รองรับกลุ่มผู้สูงวัยมีหลากหลายและเป็นส่วนหนึ่งของสินค้าด้านการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน เช่น กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ สถานบริการผู้สูงวัย ธุรกิจบริการรถเช่า ธุรกิจทัวร์ รวมถึงกลุ่ม Delivery เป็นต้น

นายชาญกฤช กล่าวว่า จากพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของผู้สูงอายุคนไทยพบว่า มีการใช้จ่ายเพื่ออาหาร การออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านในโอกาสพิเศษ ใช้เงินเพื่อการผ่อนคลาย และเพื่อการท่องเที่ยวในสัดส่วนที่สูง ทั้งนี้ อยากให้ผู้สูงอายุลงทะเบียนเข้ารับสิทธิ์ในโครงการ “ชิมช้อปใช้ เฟส 3” ครบ 500,000 คน เพื่อท่องเที่ยวร่วมกันกับบุตรหลาน ซึ่งหากผู้สูงอายุใช้เงินเพื่อการท่องเที่ยว 10,000 บาทต่อคน คาดว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศและกระจายลงสู่เศรษฐกิจฐานรากราว 5,000 ล้านบาท

โครงการชิมช้อปใช้ เฟส 3 จะไม่แจกเงิน 1,000 บาท ในประเป๋าที่ 1 (G-wallet 1) แต่จะเน้นให้ประชาชนใช้จ่ายเงินตัวเองผ่านกระเป๋า 2 (G-wallet 2) เพื่อรับสิทธิ์เงินคืน (Cash back) 15% เมื่อใช้จ่ายเงินไม่เกิน 30,000 บาท (เงินคืนไม่เกิน 4,500 บาท) และรับสิทธิ์เงินคืน (Cash back) 20% เมื่อใช้จ่ายเงินมากกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 50,000 บาท (เงินคืนไม่เกิน 4,000 บาท) รวมเงินคืนสูงสุดไม่เกิน 8,500 บาท โดยสามารถนำเงินไปใช้จ่ายได้ทุกจังหวัด รวมทั้งจังหวัดตามทะเบียนบ้าน จนถึง 31 ม.ค.63 พร้อมรับ 1 สิทธิ์ทุกการใช้จ่าย 1,000 บาท เพื่อลุ้นจับรางวัลทองคำทุกสัปดาห์

ขณะที่นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า มาตรการ ชิมช้อปใช้ เฟส 3 สำหรับประชาชนทั่วไป มีผู้ลงทะเบียนครบ 1.5 ล้านรายแล้ว โดยการใช้จ่ายของประชาชนตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย. จนถึงวันที่ 17 พ.ย. 62 พบว่า เป็นไปตามที่กระทรวงการคลังคาดหมายไว้ กล่าวคือ มีผู้เริ่มใช้สิทธิ์จำนวน 11,738,468 ราย มีการใช้จ่ายรวม 13,117 ล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้จ่ายจาก G-wallet กระเป๋า 1 จำนวน 11,569 ล้านบาท ส่วน G-wallet กระเป๋า 2 มีผู้เริ่มใช้สิทธิ์จำนวน 117,859 ราย มียอดการใช้จ่ายรวม 1,548 ล้านบาท หรือเฉลี่ยรายละประมาณ 13,134 บาท โดยเพิ่มขึ้นวันละกว่า 100 ล้านบาท ในช่วงที่ผ่านมา

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0