โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

สัมมนา การใช้สมุนไพรกัญชาและการใช้สารสกัดจากกัญชาทางการแพทย์

เทคโนโลยีชาวบ้าน

เผยแพร่ 20 เม.ย. 2562 เวลา 05.37 น.
20 กัญชา

เมื่อวันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา สภาเกษตรกรแห่งชาติ ร่วมกับสภาเกษตรกรจังหวัดลำปาง*, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลำปาง และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ลำปาง ได้จัดการสัมมนาในหัวข้อ “การใช้สมุนไพรกัญชาและการใช้สารสกัดจากกัญชาทางการแพทย์” หรือ “โครงการขับเคลื่อนการพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ (ภาคเหนือ)” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลำปาง ชั้นล่างเปิดรับลงทะเบียนผู้เข้าร่วมสัมมนาและจัดแสดงภาพโปสเตอร์ให้ความรู้เกี่ยวกับกัญชาไว้หลายด้าน *

มีผู้เข้าร่วมสัมมนาโครงการประมาณ 800 คน เต็มห้องประชุมอาคารเรียนร่วมชั้น 5 จนต้องเพิ่มเก้าอี้เสริม จากเดิมตั้งเป้ารับไว้แค่ 300 คน มีผู้ป่วย ผู้ที่ประสงค์จะปลูกในจังหวัดลำปางและสภาเกษตรกร 14 จังหวัดในภาคเหนือ ตั้งแต่อุทัยธานีขึ้นมาถึงจังหวัดเพชรบูรณ์เดินทางมาเข้าร่วมสัมมนา ผู้เข้าร่วมโครงการมีผู้ที่ประสงค์จะปลูกมากกว่าผู้ป่วย โดยสภาเกษตรกรแห่งชาติเลือกจังหวัดลำปางเป็นจังหวัดแรกที่เปิดการสัมมนาการใช้สมุนไพรกัญชา ซึ่งมีจังหวัดต้นแบบการใช้กัญชาทางการแพทย์ 4 จังหวัด คือ ลำปาง สกลนคร อุทัยธานี และนครศรีธรรมราช ซึ่งจะจัดการสัมมนาในลักษณะนี้ครบทุกจังหวัดต้นแบบต่อไป ครั้งต่อไปจัดที่จังหวัดสกลนคร วิทยากรมาร่วมกันบรรยาย 7 ท่าน

การสัมมนาเริ่มจาก คุณประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดการบรรยาย

คุณประพัฒน์ กล่าวว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับสภากัญชาแห่งประเทศไทย ปัจจุบันทางองค์การอนามัยโลกได้ถอดกัญชาออกจากยาเสพติด แต่องค์การสหประชาชาติยังให้กัญชาเป็นสิ่งเสพติดไม่ให้ปลูกกันได้อย่างเสรี องค์การอนามัยโลกได้ให้คำแนะนำกับประเทศสมาชิกทุกประเทศ ให้ปลดกัญชา น้ำยางกัญชา และน้ำมันกัญชา รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาเป็นองค์ประกอบหลักทั้งหมดออกจากบัญชียาเสพติด ซึ่งทางองค์การอนามัยโลกยอมรับผลการศึกษาค้นคว้าวิจัยได้พิสูจน์ออกมาแล้วว่า กัญชามีคุณประโยชน์สามารถนำมาผลิตเป็นยารักษาโรคได้หลายโรค

การสัมมนาครั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้เข้าใจในมาตรการของรัฐที่จะมีผลบังคับใช้เรื่องการพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อยกระดับกัญชาจากยาเสพติดเป็นยารักษาโรค ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้ทราบถึงนโยบายของสภาเกษตรกรแห่งชาติถึงการขับเคลื่อนการพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และได้รับรู้มาตรการของรัฐบาลเกี่ยวกับความรู้และวิชาการด้านกฎหมาย ตลอดจนกระบวนการผลิต สภาเกษตรกรแห่งชาติจะเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการใช้กัญชารักษาโรคได้

สภาเกษตรกรแห่งชาติต้องการให้อนุญาตเกษตรกรปลูกกัญชาในพื้นที่คลายล็อกกัญชาให้เป็นพืชที่ปลูกได้เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมเท่านั้น ไม่ใช่เอื้อผลประโยชน์ให้กับนายทุนและผลประโยชน์ส่วนตัว การสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในทุกหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ไม่ใช่สร้างรายได้ให้นายทุนรวยคนเดียวในประเทศไทย

สิ่งที่คุณประพัฒน์เป็นห่วงคือขั้นตอนการขึ้นทะเบียนการครอบครองกัญชาของเกษตรกรผู้ป่วย ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่าเกษตรกรส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชนบทไม่ค่อยเข้าใจเรื่องกฎ ระเบียบ กติกา ขั้นตอนในการทำงานของภาคราชการ หากให้เกษตรกรไปดำเนินการขึ้นทะเบียนเองก็มั่นใจได้เลยว่าจะไม่มีเกษตรกรเครือข่ายไหนได้รับการพิจารณาแน่

ดังนั้น ในการสัมมนาครั้งนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยและเกษตรกรเข้าใจขั้นตอนการขึ้นทะเบียนที่ถูกต้องมากขึ้น โดยสภาเกษตรกรแต่ละจังหวัดจะรวบรวมหนังสือสำคัญแสดงข้อมูลผู้ป่วยที่ใช้กัญชาในการป้องกันและรักษาโรคของผู้ป่วยแต่ละคนที่ยื่นมาให้กับสภาเกษตรกรแห่งชาติเพื่อเสนอกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ในการสัมมนาได้นิมนต์พระรูปหนึ่ง (ขอสงวนนามของท่าน) ซึ่งเป็นผู้ป่วยและใช้น้ำมันกัญชารักษาจนหายมาถ่ายทอดประสบการณ์ให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาฟัง ท่านเป็นพระสายพระป่าอยู่ที่ที่พักสงฆ์แห่งหนึ่งในจังหวัดสระบุรี ท่านป่วยเป็นหลายโรค มีเบาหวาน ไขมัน โรคหัวใจ ต่อมลูกหมากโต ราวกลางปี 2561 ตรวจพบว่าท่านเป็นมะเร็งตับ อาการเริ่มทรุดลงอย่างหนัก กลายเป็นผู้ป่วยกึ่งติดเตียง แต่พอจะสามารถลุกเข้าห้องน้ำได้ บางครั้งเดินไม่ถึงห้องน้ำทั้งหนักและเบาก็ออกมาก่อน วันๆ นอนอยู่กับเตียง อดอาหารเพราะไม่ได้ออกบิณฑบาต ฉันอะไรไม่ได้ ปวดข้างในมาก ปวดจนตาลายมองพื้นดินลายไปหมด ร่างกายเริ่มผ่ายผอมและผิวดำ ท่านไปรักษาที่โรงพยาบาลที่จังหวัดสระบุรีและที่กรุงเทพฯ ซึ่งแพทย์ลงความเห็นว่าท่านคงอยู่อีกไม่นาน ท่านเล่าอาการปวดที่มองพื้นดินลายไปหมด จนแพทย์ต้องให้ท่านไปพบกับจิตแพทย์

ต่อมาได้มีโยมผู้หนึ่งแนะนำให้ท่านใช้น้ำมันกัญชา ท่านลองใช้วันละ 5 ซีซี จากนั้นไม่นานท่านจึงเริ่มฉันอาหารได้และฉันได้มากขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงกลางเดือนธันวาคม 2561 ร่างแข็งแรงดี ท่านจึงเดินทางไปเข้าปริวาสกรรมที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ได้สบาย เมื่อไปพบแพทย์อีกครั้งพบว่า การทำงานของหัวใจดีขึ้น ไขมันในเส้นเลือดลดลง อาการปวดก็ลดลงไปมาก ท่านได้ใช้น้ำมันกัญชามาแล้ว 8 ขวด และท่านได้ไปขึ้นทะเบียนการครอบครองกัญชาของผู้ป่วยปลูกกัญชาไว้ 6 ต้น เพื่อสกัดน้ำมันไว้รักษาตัวและผู้ป่วยที่มาพักรักษาตัวอยู่อีก 20 คน

นายแพทย์สมยศ กิตติมั่นคง ได้พูดถึง รู้ทันกัญชาและการปลูก กัญชาทั่วโลกมีมากกว่า 30,000 สายพันธุ์ ใช้ประโยชน์ได้มากกว่า 5,000 อย่าง ใช้ได้ตั้งแต่ยอดจรดราก แบ่งกัญชาออกได้เป็น 3 พันธุ์

  • กัญชา Cannabis sativa กิ่งก้านแพร่ขยาย ใบลีบเล็กมีจำนวนแฉกที่ใบมาก ดอกมีการเว้นระยะห่างกัน ลำต้นสูงโปร่งความสูง 2-4 เมตร พบได้ที่อินเดีย ไทย เม็กซิโก โคลัมเบีย และประเทศที่อยู่ต่ำกว่าเส้นละติจูด 30 องศาเหนือ
  • กัญชา Cannabis indica จำนวนแฉกที่ใบน้อยกว่า ดอกติดกันเป็นช่อ ลำต้นเตี้ยสูง 1.5 เมตร ปรับตัวเข้ากับอากาศหนาวได้ พบได้ที่เนปาล เลบานอน และประเทศที่อยู่สูงกว่าเส้นละติจูด 30 องศาเหนือ
  • กัญชา Cannabis ruderalis ลำต้นเตี้ย ใบเล็กและกว้าง ลักษณะใบผสมกันระหว่าง 2 พันธุ์ C.sativa กับ C.indica ใบคล้ายแปรง สูง 1-1.5 เมตร พบในยุโรปตะวันออกและรัสเซีย ไม่ค่อยเป็นที่นิยมใช้เหมือน 2 พันธุ์แรก

ยังมีกัญชาพันธุ์ลูกผสมอีก แต่คุณสมบัติดีไม่เท่าพันธุ์ C.sativa และพันธุ์ C.indica ในบางประเทศยอมรับว่ากัญชาสายพันธุ์ไทยดีที่สุด มีสารออกฤทธิ์ทางยาสูงกว่าสายพันธุ์อื่นๆ กัญชามีต้นที่เป็นตัวผู้และต้นที่เป็นตัวเมีย ในการปลูกกัญชาต้องการแต่ต้นตัวเมียเท่านั้นเพื่อใช้ประโยชน์จากช่อดอก ส่วนต้นตัวผู้ไม่มีช่อดอก ขั้นตอนสำคัญในการปลูกจึงเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดที่เป็นเมล็ดต้นตัวเมีย โดยพิจารณาเมล็ดได้จากขั้วเมล็ดจะนูนขึ้นและมีรอยบุ๋มลงไป คล้ายกับปากปล่องภูเขาไฟ ส่วนเมล็ดที่เป็นต้นตัวผู้ขั้วเมล็ดจะไม่นูนขึ้น เมื่อช่วงแสงน้อยกว่า 12 ชั่วโมง ต่อวัน จะออกดอก การเร่งให้กัญชาออกดอกทำได้โดยการตัดยอดจะแตกช่อใหม่ 4 ช่อ, การโน้มกิ่ง หักกิ่ง, การใช้ลวดโน้มกิ่งลงในแนวราบและการใช้ตาข่ายคลุมด้านบนเพื่อโน้มกิ่งที่พ้นมาจากตาข่าย กัญชาเป็นพืชที่ดูดสารในดินได้ดี ดังนั้น ในดินที่มีสารเคมีตกค้าง เช่น ยาฆ่าหญ้า ต้นกัญชาจะดูดสารตกค้างของยาฆ่าหญ้าขึ้นมาด้วย กัญชาที่จะนำมาสกัดเป็นน้ำมันควรเป็นกัญชาที่ปราศจากสารเคมีตกค้าง กัญชาอินทรีย์เป็นกัญชาที่เหมาะสมที่สุดในการสกัดเป็นน้ำมัน

ศัตรูและโรคที่พบในกัญชา แมลงที่พบระบาดมากมีไรแดง ทำให้ใบเป็นจุด ให้เด็ดใบที่ถูกทำลายทิ้งเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ใช้น้ำส้มควันไม้ฉีดพ่น หรือใช้น้ำยาล้างจานผสมน้ำฉีดพ่นช่วยลดการรุนแรงได้ การใส่ขี้ค้างคาวเป็นสาเหตุให้เกิดไรแดงระบาดได้ เพลี้ยแป้งใช้ตัวห้ำตัวเบียนพวกแมลงเต่าหรือด้วงเต่ากำจัด พบมีโรคราแป้งบ้าง การเก็บเกี่ยวเมื่อเม็ดน้ำยางใสๆ ที่เรียกว่า Trichomes บนดอกเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลประมาณครึ่งหนึ่ง Trichomes นี้เมื่อไปสัมผัสจะเหนียวมือ

การสกัดน้ำมันจากกัญชามี 3 วิธี

  • การต้ม ใช้กัญชาแช่ในเอทิลแอลกอฮอล์ นำไปต้มในที่โล่งแจ้งจนเปลี่ยนเป็นน้ำดำเหนียว
  • การแรงดันและความร้อน (Smasher) ไม่ใช้แอลกอฮอล์ เป็นการบีบเอาน้ำมันออกภายใต้แรงดันและความร้อน
  • การใช้มือปั่น ใช้มือปั่นที่ช่อดอกบนต้น ยางเหนียวๆ จะติดมือเป็นจำนวนมากเกาะติดเป็นสีดำขูดออกมาเป็นก้อนเหนียวสีดำ

เป้าหมายของสภาเกษตรกรแห่งชาติต้องการให้ผู้ป่วยเข้าถึงการใช้กัญชารักษาโรคได้ 40 โรค

คุณศรัณพงศ์ ฟุ้งเกียรติ กล่าวว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติจะให้คลายล็อก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ดังนี้

  • เพื่อประโยชน์ของทางราชการ
  • เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์
  • เพื่อรักษาผู้ป่วย
  • เพื่อการศึกษาวิจัยและพัฒนา

สภาเกษตรกรแห่งชาติมาเกี่ยวข้องอะไรด้วยกับกัญชา ที่สภาเกษตรกรแห่งชาติต้องยุ่งเกี่ยวกับกัญชาก็เพราะ

  • ดูแลเกษตรกร
  • ดูแลองค์กรเกษตร
  • ดูแลการผลิต
  • ทำแผนแม่บทเกษตรกรรมแห่งชาติ

เป็นการดูแลเกษตรกรที่เป็นทั้งผู้ป่วยและผู้ปลูกรวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์การเกษตร ทำแผนแม่บทเกษตรกรรมแห่งชาติเสนอรัฐบาล

การผลิต การนำเข้า การส่งออก การจำหน่าย การครอบครองกัญชา ใครบ้างทำได้

  • หน่วยงานของรัฐ เช่น มหาวิทยาลัยที่มีสอนทางการแพทย์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์หรือเกษตรศาสตร์ โรงพยาบาลรัฐและเกษตรกรรม เพื่อทางการแพทย์หรือเภสัชกรรม
  • บุคคลต่อไปนี้ ซึ่งต้องดำเนินการร่วมกับหน่วยงานของรัฐ

2.1 สถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มีการสอน, วิจัยทางการแพทย์หรือเภสัชศาสตร์

2.2 ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น สหกรณ์เกษตร วิสาหกิจชุมชนที่อยู่การภายใต้หน่วยงานของรัฐหรือสถาบันอุดมศึกษา

2.3 ผู้ขออนุญาตอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ราชกิจจานุเบกษาออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข 3 ฉบับ เป็นกฎหมายรองจากพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ที่แก้ไขเพื่อปลดล็อกการใช้กัญชาทางการแพทย์ ความสำคัญของทั้ง 3 ฉบับ คือ ให้แจ้งการครอบครอง กำหนดหน่วยงานที่สามารถครอบครองได้ ส่วนผู้ที่ไม่เข้าเงื่อนไขการครอบครอง ให้ส่งคืนกัญชากับหน่วยงานรัฐเพื่อตรวจสอบและทำลาย ถ้าทำภายในกำหนดจะไม่มีความผิด

กลุ่มที่จะได้รับการนิรโทษ ต้องแจ้งการครอบครองกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์ ภายใน 90 วัน หลังพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2562 ขึ้นทะเบียนแจ้งการครอบครองได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือ อย. และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โดย 7 กลุ่มที่จะได้รับการนิรโทษ ได้แก่

  • หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัย ให้บริการ หรือจัดการเรียนการสอนทางแพทย์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือเกษตรศาสตร์ หรือหน่วยงานที่มีหน้าที่ป้องกันปราบปรามยาเสพติด หรือสภากาชาดไทย
  • ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เภสัชกรรม ทันตกรรม สัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้าน
  • สถาบันอุดมศึกษาที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัย หรือจัดการเรียนการสอนทางแพทย์
  • เกษตรกรที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์การเกษตร แต่จะครอบครองได้ ต้องมีหน่วยงานรัฐตามข้อ 1 หรือสถาบันอุดมศึกษา ตามข้อ 3 ร่วมมือและกำกับดูแล
  • ผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศ
  • ผู้ป่วยเดินทางต่างประเทศ ที่จำเป็นต้องนำกัญชาติดตัว เข้าหรือออกราชอาณาจักร
  • ผู้ขออนุญาตตามที่รัฐมนตรีเห็นชอบ

ดังนั้น ยังไม่มีการถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5  นำมาใช้ประโยชน์เพื่อทางการแพทย์และงานวิจัยได้เท่านั้น คุมเข้มในการปลูก ต้องไม่มีการผูกขาด การขายผลิตภัณฑ์กัญชา จากภาครัฐ การสัมมนาครั้งนี้จึงเป็นประโยชน์และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องของกัญชาให้กับผู้ป่วยและผู้ประสงค์จะปลูกมากขึ้น

ขอบคุณแหล่งข้อมูล https://news.thaipbs.or.th/content/278013 หรือ https://magazine.grasscity.com/marijuana-types-sativa-indica-ruderalis-2375/

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0