โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

สัมภาษณ์ "ทิม คุก" ซีอีโอ "แอปเปิล" อีก 20 ปี ก็ยังเป็นบริษัทผลิตสินค้าดีที่สุดในโลก

ไทยรัฐออนไลน์ - IT

อัพเดต 20 ธ.ค. 2562 เวลา 06.32 น. • เผยแพร่ 14 ธ.ค. 2562 เวลา 03.12 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

เกาะติด 1 วัน "ทิม คุก" ซีอีโอ "แอปเปิล" (Tim Cook , The CEO of Apple Inc.) ระหว่างเยือนประเทศไทยครั้งแรกอย่างเป็นทางการ พร้อมสัมภาษณ์แบบใกล้ชิดในหลายๆ คำถามที่อาจยังไม่เคยตอบที่ไหน

"ทิม คุก" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของ แอปเปิล อิงค์ ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี และสมาร์ทโฟน สัญชาติอเมริกัน ผู้เป็นเจ้าของนวัตกรรมเปลี่ยนโลกที่ย่ิงใหญ่ในตระกูลแมค ไอโฟน ไอแพด แมคบุ๊ก และธุรกิจการบริการที่หลากหลาย

เขาขึ้นมาบริหารงาน ภายหลังจากที่มะเร็งได้คร่าชีวิตของ "สตีฟ  จ็อบส์" อดีตผู้ก่อตั้งแอปเปิล ปัจจุบัน "ทิม คุก" อายุ 59 ปี และทำหน้าที่เป็น CEO ของ แอปเปิล มาตลอดระยะเวลายาวนานถึง 8 ปี กระท่ังเขาติดอันดับเป็นผู้ทรงอิทธิพล 1 ใน 10 ของโลก จากการเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ให้กับแอปเปิล

แม้ในระยะแรกของการรับตำแหน่งดังกล่าว จะมีผู้คนจำนวนมากวิพากษ์วิจารณ์ว่า เขาอาจไม่ใช่อัจฉริยะเหมือน "จ็อบส์" หรือ ผลักดันให้ แอปเปิล เติบโตได้มากเท่ากับ "จ็อบส์" ตรงกันข้าม เขาไม่ใช่เพียงเป็นผู้แก้ไขวิกฤตการณ์ใหญ่ๆ ที่ แอปเปิล เผชิญได้อย่างราบรื่นในช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีปัญหาฟองสบู่แตก ด้วยการตัดสินใจดึง แอปเปิล ออกจากอุตสาหกรรมการผลิต ปิดโรงงาน และโกดังท่ัวโลก จนสามารถทำให้บริษัทลดระดับสินค้าคงคลัง สำหรับนำไปสู่ความสามารถในการปรับปรุงคุณภาพในสายการผลิตจนประสบความสำเร็จเท่านั้น หากแต่ยังสร้างยอดขาย รายได้ และกำไรให้แก่บริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา

วันนี้ แม้ตลาดสมาร์ทโฟน จะค่อนข้างอิ่มตัว และมีคู่แข่งใหม่ๆ เข้ามาในตลาดจำนวนมาก แต่ "ทิม คุก" ก็ยังฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ เหล่านั้นได้อย่างดี และแข็งแกร่งด้วยการสร้างการเติบโตของธุรกิจพร้อมกับขยายธุรกิจบริการไม่ว่าจะเป็น Apple Music Apple Card Apple Arcade Apple TV ที่ส่งผลให้ แอปเปิล มีธุรกิจที่เติบใหญ่ย่ิงๆ ขึ้นไปในอนาคต

"ทิม คุก" ยังคงทำให้ช่ือเสียงของ ผลแอปเปิลที่มีรอยกัด ได้รับการยอมรับจากผู้คนท่ัวโลกมากที่สุด และในปีที่ผ่านมา แอปเปิล ยังคงเป็นบริษัทอเมริกันแห่งแรกที่สร้างประวัติศาสตร์ ด้วยมูลค่าทางการตลาดพุ่งทะลุหลัก 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 30 ล้านล้านบาท ใหญ่กว่าเกือบ 2 เท่า ของจีดีพีซึ่งเป็นมูลค่าการผลิตสินค้าและบริการของประเทศไทยปี 2561 อยู่ที่ 16.3 ล้านล้านบาท

ในวันที่ "ทิม คุก" มาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก "ทีมเศรษฐกิจไทยรัฐ" ได้มีโอกาสติดตามไปสังเกตการณ์กิจกรรมที่เขาไปร่วม นับตั้งแต่การไปเยือนโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อไปดูและเก็บข้อมูลการใช้งานของเด็กนักเรียนประถมเพื่อการศึกษา การไปเยี่ยมชมทีมวอลเลย์บอลสาวไทยฝึกซ้อม การไปเยี่ยมชมผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ของแอปเปิลนำมาสร้างประสิทธิภาพการเรียน การทำงาน ที่ "สามย่าน โค-ออป" และการไปเยี่ยมลูกค้าและพนักงานที่ Apple Store Iconsiam พร้อมกับการเปิดโอกาสให้สัมภาษณ์ ดังนี้

เหตุผลของการมาเยือนประเทศไทย

ทิม คุก : อยากมาดูคอมมิวนิตี้ หรือ ชุมชนของผู้ใช้อุปกรณ์แอปเปิลในประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยลูกค้าและนักพัฒนาต่างๆ ทีมงานที่ร้าน Apple Store Iconsiam และอื่นๆ อีกมาย รู้สึกมีความสุขมากจากสิ่งที่พบเห็น คนไทยมีจิตใจดี ให้เกียรติกัน แตกต่างจากสถานที่อื่นในโลก อยากมาอยู่ใกล้ชิดกับนักพัฒนาทั้งหลายด้วย

มีความประทับใจกับการได้เห็น เด็กนักเรียนที่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ในระดับประถมได้เรียนรู้อย่างรวดเร็วเรื่องการ Coding (เขียนโค้ดซึ่งเป็นการสั่งงานให้คอมพิวเตอร์ทำงานตามที่เราต้องการ) และรู้จักการใช้ iPad มาเป็นอุปกรณ์การเรียน

สำหรับทีมวอลเลย์บอลสาวไทยที่ได้ไปพบมา ชื่นชอบความเป็นนักกีฬาอยู่แล้ว แต่ชอบการนำนวัตกรรมไปใช้ โค้ชนำ iPad ไปใช้สำหรับการฝึกซ้อม นักกีฬาใช้นาฬิกา Apple Watch เพื่อฟิตเนสร่างกาย

อธิบายเพิ่มเติมถึงความสำคัญของ Coding ตนคิดว่า สองทักษะที่สำคัญในอนาคตคือ Coding และความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้น แอปเปิล ได้พัฒนาหลักสูตรมา 2 ด้านด้วยกัน 1. เรียกว่า Everyone can code ซึ่งเราคิดว่านักเรียนทุกคนในโลกนี้ เรียนรู้การเขียนโค้ดได้เมื่อหลังจากจบการศึกษาไปแล้ว เพราะเป็นภาษาที่ทุกคนสามารถเข้าใจได้และช่วยให้นักเรียนสามารถแสดงออกได้ทางใดทางหนึ่ง ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้เรียนคอมพิวเตอร์ก็ตาม เขาอาจจะไม่เป็นนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์แต่ในอนาคตอาจจะอยากเป็นนักออกแบบแฟชั่น หรือเป็นครูสอน เป็นแพทย์ เป็นทนายความ สิ่งเหล่านี้จะมีมติของซอฟต์แวร์ ไม่ว่าอาชีพใดๆ ก็ตาม เด็กๆ ควรจะเข้าใจศิลปะของความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดขึ้น และ Coding ช่วยให้เด็กๆ สามารถพัฒนาสิ่งเหล่านี้

2. Everyone can create คือคนไทยเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์มากอยู่แล้ว จึงพยายามทำให้ความคิดดังกล่าว ให้มีการเติบโตในระดับห้องเรียนซึ่งปกติแล้วอาจจะไม่มีการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์มากนัก เช่น ได้เห็นเด็กๆ ในโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ เรียนเรื่องระบบสุริยจักรวาล ซึ่งมีความคิดสร้างสรรค์มากมายที่เด็กจะต้องคิดออกมานำเสนอครู หรือพรีเซ็นต์งานกัน เช่นความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงช่วงกลางวัน กลางคืน ซึ่งคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีมากและสำคัญมาก เราจึงตัดสินใจทำหลักสูตรขึ้นมาทั้งเรื่อง Coding และความคิดสร้างสรรค์

ในอนาคตคิดว่าคนพูดภาษาเดียวกัน

ทิม คุก : ทุกวันนี้ พวกเราก็สื่อสารกันอยู่แล้วผ่าน Coding เป็นภาษาสากล คิดว่าน่าจะเป็นภาษาที่สองที่ควรจะเรียนรู้เข้าไว้ ซึ่งจริงๆ ทุกคนโตขึ้นมากับการเรียนรู้มากกว่า 2 ภาษาอยู่แล้ว แต่จะการจะเลือกเรียน 2 ภาษา ขอแนะนำให้เรียนภาษาที่สองเป็นภาษา Coding

โดยสิ่งที่แอปเปิลส่งเสริม Coding คือ ประดิษฐ์ภาษาขึ้นเรียกว่า Swift เป็นการเขียนโปรแกรมที่สร้างขึ้นสำหรับการสร้างแอปพลิเคชันในระบบปฏิบัติการของผลิตภัณฑ์แอปเปิลทั้งหมด พยายามทำให้เรียนรู้ง่าย เพื่อเอาไปใช้ง่ายๆ เพราะเด็กๆ ส่วนมากเห็นว่า Coding ทำได้แค่คนเฉพาะกลุ่มเท่านั้นและเห็นว่าไม่น่าสนใจ แอปเปิล เลยทำเป็นภาษาใช้ง่ายๆ เข้าใจง่าย

แอปเปิลได้ออกแบบหลักสูตรเริ่มมาตั้งแต่ประถมที่ไปเจอมา ไปจนถึงเด็กโตหรือ ผู้ใหญ่ที่ทำการออกแบบแอปพลิเคชันแบบซับซ้อนมากๆ สิ่งที่เขาเรียนรู้ในตอนแรกจะได้นำไปใช้ทั้งชีวิต และไม่ต้องไปเรียนรู้อย่างอื่น

สำหรับเด็กไทยที่ได้รับทุนให้เข้าไปร่วมการประชุมนักพัฒนาของแอปเปิล ในงาน WWDC ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี ได้นำเสนอไอเดียการพัฒนาแอปพลิเคชันอย่างน่าสนใจมาก เขาได้พัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยของไทย เป็นแอปที่ช่วยจัดตารางเรียน และช่วยจัดการสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนในแต่ละเทอมที่สำคัญกับการเรียน เข้าถึงได้รวดเร็ว แม้กระทั่งการคำนวณเกรด GPA ได้เลย

การเป็นบุคคลผู้ทรงอิทธิพลของโลกมีความกดดันบ้างไหม

ทิม คุก : สิ่งที่ตนพยายามทำเสมอมาคือ การเป็นตัวของตัวเอง เพราะไม่ได้เป็นนักแสดง ดังนั้นการไปทำงานทุกวันและทำงานให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ และพยายามนึกถึงเสมอว่า ตนอยู่เพื่อที่จะสิ่งดีๆ ให้ผู้อื่น บริการผู้อื่น ไม่ได้มีชีวิตอยู่เพื่อตัวเอง ถ้าทำตัวแบบนี้ เสมอต้นเสมอปลายชีวิตจะมีความสุขมากกว่า ตนเป็นคนถ่อมตน ไม่ได้มีคนรอบล้อมมากมาย ไม่คิดถึงอิทธิพล หรือ อำนาจที่ผ่านเข้ามา และคิดเสมอว่าเราทำงานเพื่อคนอื่นเท่านั้น

ดูแลสุขภาพดีมากมีข้อแนะนำอย่างไร

ทิม คุก : ตื่นตี 4 โดยชั่วโมงแรกของวันจะอ่านอีเมลมาจากพนักงานและลูกค้า ตี 5 ถึง 6 โมงออกกำลังกาย พยายามทำสม่ำเสมอทุกวัน เพราะเป็นช่วงที่สามารถลดความเครียด ในช่วงกลางคืนควบคุมไม่ค่อยได้

การแนะนำผู้บริหารคนอื่นดูแลสุขภาพอย่างไรบ้างนั้น ก่อนอื่นต้องดูสิ่งที่รักก่อนว่าอยากจะทำอะไร ตนเป็นคนชอบปีนเขา และชอบเดิน ถ้าบอกตัวเองให้ไปทำกิจกรรมสองอย่างนี้ จะง่ายกว่าไปทำกิจกรรมอื่น เช่น ไปยิม เป็นต้น เวลาไปยิมไม่สนุก แต่ถ้าไปปีนเขา ไปเดินจะมีความสุข สนุกมากกว่า ถ้าจะตื่นเช้าไปปีนเขา ไปเดินมันคุ้มค่ากับได้สุขภาพที่แข็งแรง

คู่แข่งพัฒนาเทคโนโลยีไล่ตามแอปเปิล?

ทิม คุก : ตนคิดว่า แอปเปิลมีคู่แข่งสำคัญอยู่เสมอ ถ้าจะดูตั้งแต่ช่วงต้นๆ ตอนนั้นทำคอมพิวเตอร์แมคอินทอช ต้องต่อสู้กับวินโดวส์ของไมโครซอฟท์ เป็นคู่แข่งที่เก่ง สำหรับยุคสมาร์ทโฟนเริ่มต้นนั้น เราได้ต่อสู้กับแบล็กเบอร์รี่และโนเกีย ซึ่งเรามักมีคู่แข่งที่แข็งแรงอยู่เสมอ แต่การแข่งขันทำให้เราดีขึ้น เก่งขึ้นทุกวัน ถ้าไม่มีคู่แข่งเลย เราอาจจะขี้เกียจ เราดีใจที่มีคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้ออยู่เสมอ

นโยบายราคาผลิตภัณฑ์อื่นจะลดลงตาม iphone รุ่นใหม่ไหม

ทิม คุก : สิ่งที่แอปเปิลทำคือ พยายามตลอด เพิ่มแวลู หรือ คุณค่าเข้าไปในผลิตภัณฑ์ และทำให้ผลิตภัณฑ์ดีที่สุดในโลกให้ได้และตั้งราคาให้สมเหตุสมผลนี่คือสิ่งที่เราให้กับ iPhone 11 iPhone 11 Pro และ iPhone 11 Pro Max ส่วนประเทศไทยตอนนี้ โชคดีที่ค่าเงินบาทแข็งตัวยิ่งทำให้ราคาลดลงอีก ส่วนผลิตภัณฑ์อื่น แอปเปิลเอง ทำคล้ายกันเช่น นาฬิกา Apple Watch Seris3 และ iPad ราคาดีมาก สำหรับแผนการขยายสาขา ร้าน Apple Store ในไทยจะมีต้องสาขาเพิ่มมากขึ้น แต่จะมากเท่าใดยังประกาศไม่ได้ แต่เท่าที่เห็นจะต้องมีมากขึ้นแน่ๆ

มองแอปเปิลใน 5 ปี หรือ 10 ปี ข้างหน้ายังไง

ทิม คุก : แอปเปิลที่ไม่เคยเปลี่ยนเลย ที่จะเป็นบริษัททำผลิตภัณฑ์ดีที่สุดในโลก ก่อให้เกิดประโยชน์ให้กับมนุษย์ ทำให้ชีวิตมนุษย์เราดีขึ้น ถ้าทำสิ่งที่ดีที่สุดไม่ได้ก็จะไม่ทำ อะไรที่ไม่มีประโยชน์หรือไม่ทำให้ชีวิตดีขึ้นก็จะไม่ทำ ดังนั้น จะทำสิ่ง 2 อย่าง ฮาร์ดแวร์-ซอฟต์แวร์ และบริการต่างๆ นำมาบูรณาการทำให้เกิดสิ่งที่พิเศษขึ้น ทำให้ชีวิตมนุษย์ดีขึ้น ดังนั้นไม่ว่าจะ 5 ปี 10 ปี หรือ 20 ปีข้างหน้าก็จะเป็นแบบนี้ต่อไป จะมีผลิตภัณฑ์หลากหลายมากขึ้น แต่หัวใจแก่นของมันจะเหมือนเดิม

พูดถึง "สตีฟ จ็อบส์" อดีตผู้ร่วมก่อตั้งแอปเปิล

ทิม คุก : ตนรักเขามาก เพราะเป็นครูที่ดีมาก เป็นเพื่อนที่ดีมาก ไม่มีวันไหนที่ไม่คิดถึงเลย อยากให้อยู่ด้วย แต่จริงๆ แล้วจิตวิญญาณของเขายังอยู่กับแอปเปิลอยู่เสมอ และ DNA ของสตีฟเองก็ยังเป็น DNA ของแอปเปิลอย่างชัดเจน และจะเป็นแบบนั้น ต่อไป เรายังเป็นบริษัทกบฏอยู่เสมอเห็นมองแตกต่างจากคนอื่นและยืนหยัดในสิ่งที่เชื่อ เป็นบริษัทที่ไม่เหมือนคนอื่น จะเป็นบริษัทแบบนี้ ตลอดไป ตนนึกสตีฟก็นึกสิ่งง่ายๆ ที่เขาทำให้ ใครๆ ก็คิดถึงสิ่งสตีฟทำ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาผลิตภัณฑ์และสิ่งที่เขาทำให้กับสังคม แต่เวลาที่ตนนึกถึงเขา นึกถึงความเป็นคนมีจิตใจดี และสิ่งที่เขาทำให้กับตนในหลายๆ ปีที่รู้จักกัน.

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0