โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

สัญญา‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ ประวัติศาสตร์การประมูล(14)

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 15 ก.ย 2562 เวลา 04.20 น.

*คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3505 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 15-18 ก.ย.2562 *

โดย… บากบั่น บุญเลิศ
 

สัญญา‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’
ประวัติศาสตร์การประมูล(14)    

 

          โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) วงเงิน 224,544 ล้านบาท นับเป็นประวัติศาสตร์การประมูลโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลไทยที่มีความล่าช้าในการลงนามเซ็นสัญญายาวนานที่สุด บัดนี้เป็นเวลากว่า 7-8 เดือนเข้าไปแล้ว แต่ “รัฐ” ยังไม่มีการลงนามเซ็นสัญญากับเอกชน
          สัปดาห์ที่ผ่านมา ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า หลังจากที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กำหนดให้เครือซีพีให้คำตอบการลงนามโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ภายใน 7 วันนั้น เครือซีพีจะหารือกับพันธมิตรและจะลงนามโครงการนี้แน่นอน
          “โครงการดังกล่าวใช้เงินลงทุนจำนวนมาก จำเป็นต้องได้รับการตัดสินใจจากทุกฝ่าย แต่เมื่อทุกฝ่ายมีความตั้งใจตรงกันแล้วคาดว่าจะไม่มีปัญหา” ศุภชัยยืนยัน
          ขณะที่ คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ อีอีซี ชี้แจงว่า “รฟท.และ ซีพีกำลังเร่งส่งมอบพื้นที่ให้จบภายในเดือนกันยายนนี้ เพื่อเดินหน้าเซ็นสัญญา ซึ่งการส่งมอบพื้นที่มีรายละเอียดค่อนข้างมาก ทั้งรื้อย้ายเสาไฟฟ้าแรงสูง ท่อต่างๆ ที่อยู่ใต้ดิน..
          “ซีพียังไม่ถอดใจ เพราะโครงการเดินหน้ามาถึงขนาดนี้แล้ว ติดแผนส่งมอบพื้นที่ รฟท.ก็กลัวถูกฟ้องถ้าส่งมอบไม่ทัน เอกชนก็กลัวถูกปรับ ถ้างานไม่เสร็จตามกำหนด จึงต้องเร่งเคลียร์”
          นั่นคือปัญหาแล้วทางออกคืออะไร วรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน บอกว่า เมื่อ 9 กันยายนได้หารือกับกลุ่มซีพี หลังส่งร่างมอบพื้นที่ก่อสร้างให้พิจารณา 
          “ทุกคนกังวลเรื่องการส่งมอบพื้นที่ ต้องทำให้รอบคอบ ให้เข้าใจตรงกันทั้ง 2 ฝ่าย เพราะเป็นความเสี่ยงทั้งรัฐและเอกชน ตอนนี้ ซีพีขอนำผลหารือให้พันธมิตรไทยและต่างประเทศรับทราบ เพื่อเสนอที่ประชุมคณะกรรมการของแต่ละบริษัทเห็นชอบ จะใช้เวลา 1-3 สัปดาห์ ซึ่งเป้าหมายการเซ็นสัญญาคือเดือนกันยายนปีนี้ ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกำหนด ถ้าไม่ได้ต้องรายงานข้อเท็จจริงให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมรับทราบ”

          แต่หากใครที่ฟัง สุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการกลุ่มบริหารรถไฟฟ้า รฟท. ในฐานะประธานคณะทำงานการส่งมอบพื้นที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่ออกมาบอกว่า ทั้ง รฟท.และซีพีเห็นตรงกันว่า จะร่วมลงนามในสัญญาไปก่อน จะยังไม่ส่งหนังสือให้เริ่มต้นทำงาน (notice to proceed : NTP) ของโครงการให้ เพื่อทั้ง 2 ฝ่ายจะได้มีเวลาเคลียร์พื้นที่ให้เรียบร้อย 
          ดังนั้น จะทำให้เงื่อนไขการนับเวลาเริ่มก่อสร้างต้องยืดออกไปจากเดิมกำหนด 5 ปี!
          “คณะกรรมการคัดเลือกจะพิจารณารายละเอียด พร้อมส่งมอบและเคลียร์ผู้บุกรุก ที่ดินเวนคืน ระบบสาธารณูปโภค อาจเซ็นสัญญาไปก่อน ส่วนการเริ่มโครงการก็รอจนกว่าแผนส่งมอบพื้นที่ชัดเจน ซึ่งเราบอกว่าใช้เวลา 1-2 ปี แต่ ซีพีขอ 2-3 ปี ซึ่งการรีบออกหนังสือให้เริ่มงานทันทีที่เซ็นสัญญา ทางซีพีก็เสี่ยง หากเริ่มงานแล้วโครงการสะดุด จะมีค่าใช้จ่ายตามมา”
          ภาพการขับเคลื่อนการลงทุนในอีอีซีผ่านรถไฟความเร็วสูงย่อมชัดแจ้งแดงแจ๋ว่า ล่าช้ากว่ากำหนดแน่นอนอย่างน้อย 5 ปี 
          อะไรคือต้นตอปัญหาของความล่าช้า ทำไมยื้อยุดฉุดกระชากสัญญามายาวนานขนาดนี้
          สัญญาที่ ติดขัดตรงไหน ตอนที่แล้วเป็นสัญญาว่าด้วยเรื่องมาตรการทางการเงิน ผมพามาติดตามร่างสัญญาตอนที่ 14 ซึ่งว่าด้วยข้อ 15.  การดำเนินโครงการเกี่ยวกับรถไฟ สาระในสัญญา มีดังนี้
          15.1  รถไฟความเร็วสูงและแอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยาย
          (1) งานระยะที่ 1 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูง  และงานในระยะที่ 1  ในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยาย
          (ก)  การพัฒนาโครงการเกี่ยวกับรถไฟในส่วนของรถไฟความเร็วสูงและแอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยาย (ไม่รวมถึงงานโยธาร่วมของโครงการเกี่ยวกับรถไฟ)
          1) เอกชนคู่สัญญามีหน้าที่ต้องเริ่มการพัฒนาโครงการเกี่ยวกับรถไฟในส่วนของรถไฟความเร็วสูงและแอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยาย ตั้งแต่วันที่เริ่มต้นนับระยะเวลาของโครงการฯ
          2)  เอกชนคู่สัญญาจะต้องดำเนินการพัฒนาโครงการเกี่ยวกับรถไฟในส่วนของรถไฟความเร็วสูงและแอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยาย  ให้ถูกต้องตามข้อกำหนดของ รฟท.  ของโครงการเกี่ยวกับรถไฟ
          3) เอกชนคู่สัญญาจะต้องส่งมอบรายงานแสดงความก้าวหน้าของการพัฒนาโครงการเกี่ยวกับรถไฟในส่วนของรถไฟความเร็วสูงและแอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยายให้แก่ รฟท.  ที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้างและที่ปรึกษาตรวจสอบ  ตามรายละเอียดและระยะเวลาในการส่งมอบ  ดังต่อไปนี้
          ก) กรณีนำส่งเป็นรายเดือน  ให้เอกชนคู่สัญญานำส่งรายงานแสดงความก้าวหน้าของการดำเนินการพัฒนาโครงการเกี่ยวกับรถไฟ โดยให้รายงานนี้มีข้อมูลอย่างน้อยตามแบบที่ รฟท. อนุมัติและ
          ข) กรณีนำส่งเป็นรายไตรมาส ให้เอกชนคู่สัญญานำส่งรายงานแสดงความก้าวหน้าของการดำเนินการพัฒนาโครงการเกี่ยวกับรถไฟ  พร้อมทั้งแสดงรายจ่ายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการดังกล่าวโดยจะต้องแสดงด้วยว่ารายจ่ายนั้นสอดคล้องกับแผนทางการเงินสำหรับการพัฒนาโครงการเกี่ยวกับรถไฟ (Construction Budget) ที่มีการส่งมอบตามข้อ 6.3(2) (ค)4) ซึ่งหากไม่สอดคล้องให้อธิบายถึงเหตุผลและความจำเป็นถึงการดำเนินการที่ไม่สอดคล้องนั้นด้วยโดยให้รายงานนี้มีข้อมูลอย่างน้อยตามแบบที่ รฟท. อนุมัติ

          ทั้งนี้ การที่ รฟท. ที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้างและที่ปรึกษาตรวจสอบรับมอบรายงานแสดงความก้าวหน้าข้างต้นไม่ถือเป็นการอนุมัติโดยบุคคลดังกล่าว  ว่าการพัฒนาโครงการเกี่ยวกับรถไฟในส่วนของรถไฟความเร็วสูงและแอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยายที่ทำตามรายงานถูกต้องและครบถ้วนแต่อย่างใด
          4) ในการดำเนินการพัฒนาโครงการเกี่ยวกับรถไฟในส่วนของรถไฟความเร็วสูง และแอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยาย กรณีที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ เอกชนคู่สัญญาสามารถขอเพิ่ม เปลี่ยน หรือย้ายตำแหน่งที่ตั้งของสถานีรถไฟของรถไฟความเร็วสูงให้แตกต่างจากข้อกำหนดของ รฟท. ของโครงการเกี่ยวกับรถไฟโดยจะต้องได้รับการอนุมัติจาก รฟท. ก่อน 
          และการดำเนินข้างต้นนั้นต้องอยู่ภายใต้วัตถุประสงค์ของโครงการฯ ตามข้อ 3.2 และขอบเขตของโครงการฯ ตามข้อ 3.3 โดยที่เอกชนคู่สัญญาจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด รวมถึงดำเนินการศึกษาแนวทางในการเพิ่ม เปลี่ยน หรือย้ายตำแหน่งที่ตั้งของสถานีรถไฟของรถไฟความเร็วสูงดังกล่าว  และต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทยและสัญญาร่วมลงทุนรวมถึงข้อกำหนดของ รฟท. ของโครงการเกี่ยวกับรถไฟ  (เว้นแต่เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่ตั้งของสถานีรถไฟของรถไฟความเร็วสูงที่มีการเปลี่ยนแปลงนั้น)
          นอกจากนี้ กรณีเอกชนคู่สัญญาประสงค์จะเพิ่มแนวเส้นทางรถไฟย่อยออกมาจากแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงของโครงการฯ (Spur Line)  จะดำเนินการได้ต้องได้รับอนุมัติจาก รฟท. ก่อนและอยู่ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้
          ก) การจัดทำแนวเส้นทางรถไฟย่อยดังกล่าวจะต้องทำให้ รฟท. เห็นว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ  รวมถึงการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนจำนวนมากสามารถเข้าถึงบริการเดินรถไฟของโครงการฯได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
          ผมบอกแล้วตั้งแต่ต้นว่าอย่าเพิ่งเบื่อ โครงการที่ลงทุนเป็นแสนล้านไม่ธรรมดาแน่นอน 

 

สัญญา 'ไฮสปีด' ฉบับที่แล้ว

สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (13)

สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (12)

สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (11)

สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (10)

สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (9)

สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (8)

สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (7)

สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (6)

สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (5)

สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (4)

สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (3)

สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (2)

สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (1)

 

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0