โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

สัญญาณเตือนจาก IMF เศรษฐกิจโลกกำลังย่ำแย่สุดรอบ10ปี

Businesstoday

เผยแพร่ 17 ต.ค. 2562 เวลา 03.29 น. • Businesstoday
สัญญาณเตือนจาก IMF เศรษฐกิจโลกกำลังย่ำแย่สุดรอบ10ปี

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เผยแพร่แนวโน้มเศรษฐกิจโลกฉบับล่าสุดที่เป็นการปรับลดคาดการณ์ครั้งที่ 5 ในปีนี้และปีหน้าพร้อมกับเตือนว่ากำลังเผชิญกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติการเงินเลห์แมนบราเธอร์สของสหรัฐเมื่อปี 2008-2009

ทั้งนี้เป็นที่คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเผชิญหน้ากับความยุ่งยากที่เข้ามาปะทะซึ่งทำให้การดำเนินนโยบายทางด้านเศรษฐกิจมหภาคมีข้อจำกัดในการต่อสู้กับเศรษฐกิจขาลงและภาวะการค้าที่ซบเซาของโลก

เนื่องจากผลกระทบของมาตรการตั้งกำแพงภาษีและการปกป้องทางการค้าระหว่างประเทศที่ส่งผลให้มีความไม่แน่นอนมากขึ้นโดย IMF ได้เปิดเผยถึงผลกระทบเชิงลบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนเมื่อสัปดาห์ก่อนว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกเป็นมูลค่า 700,000 ล้านดอลลาร์หรือคืดเป็นสัดส่วน 0.8% ของจีดีพีโลก

โดยล่าสุด IMF หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้เหลือ 3.0% จากระดับที่คาดการณ์เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ 3.2% ต่ำสุดในรอบกว่า 10 ปีหลังจากที่เคยคาดไว้ว่าจะมีการขยายตัวที่ระดับ 3.9% ช่วงกลางปี 2018 ส่วนในปี 2020 จะมีการขยายตัวลดลงที่ 3.4% จากคาดการณ์ตรั้งก่อนที่ 3.5%

ประเด๋นสำคัญคือ IMF ได้ปรับลดการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่อ่อนแรงลงของประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกทั้งสหรัฐ จีนและอินเดีย

นอกจากนี้ยังเป็นการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกเป็นครั้งที่ 5 ในปี 2019 จากการที่การอ่อนตัวลงมีการกระจายออกไปในวงกว้างมากขึ้นโดยเฉพาะเศรษฐกิจในประเทศที่มีขนาดใหญ่ทรุดตัวลงจากการได้รับผลกระทบจากความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มมากขึ้น 

IMF ได้ระบุอีกว่านอกเหนือจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจากการทำสงครามการค้ายังมาจากเรื่องความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ การชะลอตัวเศรษฐกิจในตลาดเกิดใหม่ รวมถึงการที่ประสิทธิภาพในภาคการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว

สำหรับการปรับลดคาดการณ์การขยายตัวในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าลงสู่ระดับ 1.7% ในปีนี้เทียบกับอัตราการขยายตัวที่ 2.3% ในปีก่อนขณะที่การขยายตัวของประเทศในตลาดเกิดใหม่ก็มีการปรับลดลงสู่ระดับ 3.9% ในปีนี้จากที่ขยายตัว 4.5% ในปีที่แล้ว

โดยที่ IMF ได้ปรับลดการขยายตัวเศรษฐกิจของสหรัฐซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกในปีนี้สู่ระดับ 2.4% จากระดับ 2.9% ในปีที่แล้วและในปีหน้าคาดว่าจะขยายตัวที่ 2.1% 

ส่วนกลุ่มยูโรโซนนั้น IMF คาดว่าจะมีการขยายตัวเศรษฐกิจในปีนี้เหลือเพียง 1.2% จากระดับ 1.9% ในปีที่แล้วและในปีหน้าจะอยู่ที่ระดับ 1.4% โดยที่เศรษฐกิจของเยอรมนีจะมีการขยายตัวเพียง 0.5% ในปีนี้และที่ระดับ 1.2% ในปีหน้า

IMF ยังชี้ว่า 90% ของทั่วทั้งโลกดูเหมือนว่าจะมีอัตราการขยายตัวต่ำเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กระทบต่อเศรษฐกิจโลกช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่อาจจะเป็นผลมาจากการที่เศรษฐกิจจีนที่มีขนาดใหญ่เป็นที่ 2 ของโลกจะมีการขยายตัว 6.1% ในปีนี้และลดลงต่ำกว่าระดับ 6.0% ที่ระดับ 5.8% ในปีหน้าซึ่งเป็นการขยายตัวต่ำที่สุดในรอบเกือบ 30 ปีนับตั้งแต่ทศวรรษ 1990

ทั้งนี้จากรายงานของธนาคารโลกในปี 2018 นั้น Top 10 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ของโลกที่วัดตามมูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประกอบด้วย 1.สหรัฐ มีขนาดจีดีพี 20.5 ล้านล้านดอลลาร์ 2.จีน มีจีดีพี 13.6 ล้านล้านดอลลาร์ 3.ญี่ปุ่น มี 4.9  ล้านล้านดอลลาร์ 4.เยอรมนี 3.9 ล้านล้านดอลลาร์ 5.อังกฤษ 2.8 ล้านล้านดอลลาร์ 

ส่วนอันดับที่ 6.ฝรั่งเศสมีขนาดจีดีพีที่ 2.7 ล้านล้านดอลลาร์ 7.อินเดีย 2.7 ล้านล้านดอลลาร์ 8.อิตาลี 2.1 ล้านล้านดอลลาร์ 9.บราซิล 1.9 ล้านล้านดอลลาร์  และ 10.แคนาดา 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0