โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

สังคมไทยจะเหลืออะไร เมื่อมหาวิทยาลัยเห็นแก่ตัว

Thairath - ไทยรัฐออนไลน์

เผยแพร่ 15 พ.ย. 2561 เวลา 22.01 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

วันนี้ผมขอส่งเสียงเชียร์ไปยัง ป.ป.ช. เมื่อ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติยืนยันให้ นายกสภาฯ และ กรรมการสภามหาวิทยาลัย ทั้ง มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ และ มหาวิทยาลัยในสังกัดของรัฐ ต้อง ยื่นบัญชีทรัพย์สินตามประกาศของ ป.ป.ช. ที่ บัญญัติในรัฐธรรมนูญ แต่ ป.ป.ช.จะผ่อนผันไปถึงวันที่ 31 มกราคม 2562 เพื่อให้มีเวลาเตรียมตัวทั้ง มหาวิทยาลัย นายกสภาฯ และ กรรมการสภามหาวิทยาลัย ที่จะลาออกเพราะไม่ต้องการแสดงบัญชีทรัพย์สิน กลัวจะเจอร่ำรวยผิดปกติหรือเปล่าก็ไม่รู้

ก็ดีแล้วครับ จะได้เลิก “อภิสิทธิ์ชน” ในสังคมไทยเสียที

คนที่สร้างความประหลาดใจให้สังคมอย่างมากก็คือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ตอนร่างฯ นายมีชัย ได้ประกาศชัดเจนว่าต้องการให้เป็น “รัฐธรรมนูญปราบโกง” โดยได้บัญญัติไว้ใน มาตรา 234 (3) ว่า “กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมทั้งตรวจสอบและเปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของบุคคลดังกล่าว ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต”

แต่เมื่อ ป.ป.ช.ออกประกาศให้ยื่นบัญชีทรัพย์สิน ก็มีข่าวว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จะลาออกจากนายกสภาฯ เพราะไม่ต้องการยื่นบัญชีทรัพย์สิน เหมือนนายกฯและกรรมการสภามหาวิทยาลัยอื่นที่คัดค้านเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่คนไทยรู้สึกไม่ชอบมาพากลเป็นอย่างยิ่ง เพราะ นายมีชัย ในฐานะ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ควรจะแสดงตนให้เป็น “ตัวอย่างที่ดี” แก่สังคมไทย ในฐานะ ประธานร่างรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง เพื่อแสดงความโปร่งใสให้สังคมไทยได้เห็น

คนทั่วไปเข้าใจว่า มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ และ มหาวิทยาลัยในสังกัดของรัฐ เป็นสถาบันการศึกษาที่ไม่มีผลประโยชน์ซ่อนเร้น แต่ในความเป็นจริง มหาวิทยาลัยรัฐแต่ละแห่งมีผลประโยชน์มากมาย เช่น เงินฝากก้อนโตของมหาวิทยาลัย เงินรายได้จากหลักสูตรพิเศษต่างๆของมหาวิทยาลัย ไปจนถึง การนำที่ดินของมหาวิทยาลัยไปประมูลให้เอกชนทำประโยชน์ แทนที่จะนำไปพัฒนาการศึกษา

ประเด็นหนึ่งที่ผมเองก็เคยสงสัยว่า ทำไมมหาวิทยาลัยชื่อดังของรัฐจึงดิ้นรนออกจากระบบมหาวิทยาลัยของรัฐ ที่เรียกกันว่า “มหาวิทยาลัยนอกระบบ” รู้แล้วก็ถึงบางอ้อ เมื่อออกนอกระบบแล้ว ก็ไม่ต้องทำตามระบบของรัฐ เช่น เงินเดือนอธิการบดี เมื่อออกนอกระบบ เพิ่มขึ้นเป็น 2–3 แสนบาทต่อเดือน รวมทั้ง เงินเดือนผู้บริหารมหาวิทยาลัย ที่สำคัญ กรรมการสภามหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่จะเป็น พวกเดียวกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย เวลาขออนุมัติโครงการอะไรก็เลยง่าย

แต่เรื่อง “การพัฒนาวิชาการ” และ “การพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัย” ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีโลกในปัจจุบัน ผมอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไปถามอาจารย์มหาวิทยาลัยรัฐดูได้ การพัฒนาวิชาการในมหาวิทยาลัยรัฐ มันยากเย็นแค่ไหน ยากกว่าการเอาที่ดินของมหาวิทยาลัยไปให้เอกชนประมูลสร้างศูนย์การค้าเสียอีก

ผมจึงเห็นด้วยที่ ป.ป.ช. ให้ นายกฯและกรรมการสภามหาวิทยาลัย ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน เพื่อความโปร่งใส ถ้าเป็น ผู้ทรงคุณวุฒิจริง ก็ต้อง ทรงคุณวุฒิให้ครบทุกเรื่อง เพื่อช่วยกัน สร้างสังคมไทยที่ โปร่งใส ตรวจสอบได้ทุกเรื่อง ไม่เป็นสีเทาหรือสีดำ

มหาวิทยาลัยรัฐ ควรจะทำตัว เป็นตัวอย่างที่ดีแก่สังคม ถ้า มหาวิทยาลัยยังเห็นแก่ตัว แล้วจะให้คนในสังคมมีความเสียสละเพื่อส่วนรวมได้อย่างไร ลองคิดกันดู.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0