โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

สังคมของการแข่งขันและมารยาทแบบ ‘จีนๆ’ กับ สรวง สิทธิสมาน

a day BULLETIN

อัพเดต 24 ก.พ. 2563 เวลา 07.59 น. • เผยแพร่ 23 ก.พ. 2563 เวลา 10.06 น. • a day BULLETIN
สังคมของการแข่งขันและมารยาทแบบ ‘จีนๆ’ กับ สรวง สิทธิสมาน

ประเทศจีนที่เรารู้จักคือมุมไหน? การเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ การเป็นชาติมหาอำนาจ หรือการปกครองแบบคอมมิวนิสต์  

        หลายคำตอบมากมายที่เรานึกขึ้นได้ แต่สำหรับประเทศที่มีจำนวนประชากรมหาศาลและขนาดพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก ยังมีอีกหลากเรื่องราวอีกมากที่ซุกซ่อนรอให้เราไปค้นและทำความรู้จักอีกด้านหนึ่งของ ‘จีน’  

        สรวง สิทธิสมาน นักศึกษาปริญญาตรีวัย 22 ปี จากมหาวิทยาลัย East China Normal University (ECNU) แห่งเมืองเซี่ยงไฮ้ และเป็นคนรุ่นใหม่ที่ใช้ชีวิตอยู่บนผืนแผ่นดินจีนมาหลายปี ผจญภัยไปหลายเมืองตั้งแต่เฉิงตู หนานจิง ปักกิ่ง ก่อนจะมาลงเอยที่เซี่ยงไฮ้ เมืองที่เปรียบเสมือนอนาคตของคนจีนทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ประสบการณ์ที่เขาพบเจอมาในแต่ละเมืองนั้น เต็มไปด้วยเรื่องราวที่หากมองด้วยสายตาคนนอก อาจไม่เห็น ภาพของจีนที่มีเพียงคนในเท่านั้นที่รู้ 

         a day BULLETIN ชวนสรวงเข้ามาเป็นหนึ่งในทีมคอลัมนิสต์ เพื่อฉายภาพจีนมุมใหม่ที่เราอาจยังไม่เคยสัมผัสหรือมองข้ามไป ผ่านคอลัมน์ชื่อ ‘มาหามังกร’ 

        บทสนทนาในวันนี้ประเดิมด้วยเรื่องระบบการศึกษาของประเทศจีนที่ขึ้นชื่อเรื่องการแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย สรวงทำอย่างไรถึงได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในนั้น และในความไร้มารยาทของคนจีนที่คนไทยมักยกมาพูดถึงเสมอ  แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร รวมถึงประเด็นจีนในทศวรรษที่ 20 นี้ สรวงมองว่าจีนจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด ระหว่างเป็นมหาอำนาจโลกอันดับหนึ่งหรือต้องถดถอยเพราะปัญหาบางอย่าง 

        ไปหาคำตอบกัน

 

สรวง สิทธิสมาน
สรวง สิทธิสมาน

การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยของจีนขึ้นชื่อเรื่องการแข่งขันที่สูงมาก คุณทำอย่างไรถึงสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในนั้นได้ 

        จริงๆ แล้วมหาวิทยาลัยของจีนเขาจะรับนักศึกษาจีนและนักศึกษาต่างชาติแยกกัน การเรียนการสอนก็จะไม่เรียนรวมกันเพราะถ้าให้ผมไปนั่งกับคนจีน ผมที่ไม่ได้เรียนจีนมาตั้งแต่เกิดยังไงก็ไม่มีทางจดเลกเชอร์ทันคนจีนอยู่แล้ว ผลที่ตามมาก็อาจทำให้เรียนตามเพื่อนไม่ทัน คะแนนก็จะแย่กว่าเขา เลยเป็นเหตุผลว่าทำไมมหาวิทยาลัยจีนถึงจับคนที่มีเลเวลทางภาษาใกล้เคียงกันมาอยู่ด้วยกัน แต่เขาก็ให้มีการจัดกิจกรรมที่สนับสนุนให้นักศึกษาจีนและนักศึกษาต่างชาติได้มีโอกาสทำความรู้จักกันอยู่ และถ้าหากเราใช้ภาษาได้ในระดับเดียวกับคนจีนได้แล้ว ก็ทำเรื่องเข้าไปเรียนรวมกับคลาสคนจีนได้เลย 

        ซึ่งตัวผมอาจจะยังไม่ถึงขั้นนั้น และก็ไม่ได้ต้องการเอาตัวเองไปอยู่ในสังคมที่มีการแข่งขันสูงขนาดนั้นด้วย เพราะตั้งแต่ประถมจนถึงมัธยมปลาย ผมเรียนในโรงเรียนประจำและก็ทำกิจกรรมต่างๆ มาตลอด ทำให้ผมไม่ชินกับการเรียนตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นยันพระอาทิตย์ตกดินได้ ผมก็เลยมักหากิจกรรมนอกห้องเรียนทำเสมอ ซึ่งภาษาจีนส่วนใหญ่ของผมก็ได้มาจากนอกห้องเรียนนี่แหละ แต่ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าต้องการทุนด้วย โดยจะมีทุนเรียนกับทุนกิจกรรม ทุนเรียนก็มีแต่พวกหัวกะทิที่ผมรู้ตัวว่าสู้ไม่ได้แน่ๆ (หัวเราะ) ผมก็เลยไปแข่งในด้านกิจกรรมแทน ถึงจะได้ตัวเลขเงินน้อยกว่า แต่ถ้าหากเราเข้าร่วมกิจกรรมมากพอยังไงก็ได้แน่ๆ พอเข้าไปทำกิจกรรมก็ได้มิตรภาพด้วย 

ตารางการเรียนการสอนของเขามีกำหนดไหมว่าปีนี้เรียนอะไร เรียนกี่ชั่วโมงต่อวัน 

        ในช่วงปี 1-2 จะเน้นเรียนภาษาให้เราได้ภาษาจีนในระดับที่สื่อสารได้ก่อน จึงค่อยไปลงลึกด้านเนื้อหาของภาควิชาในปี 3-4 ซึ่งในปี 1-2 ก็จะเรียนค่อนข้างหนักหน่อย แต่พอปี 3-4 เราสามารถจัดการตารางเรียนเองได้ว่าจะเลือกเรียนเวลาไหน แล้วเราจะเอาเวลาว่างไปทำอะไรก็ได้ 

พฤติกรรมของนักศึกษาจีนเรื่องการเรียนเป็นอย่างไร เรียนอย่างเดียว หรือทำกิจกรรมต่างๆ ควบคู่กันไป 

        นักศึกษาจีนส่วนมากจะเรียนอย่างเดียว ด้วยความที่ประชากรเขาเยอะ การแข่งขันก็เลยสูงมาก การเรียนมหาวิทยาลัยของคนจีนจึงเป็นเรื่องที่น่าสงสารมาก อย่างผมเป็นนักศึกษาต่างชาติเขาก็จะดูแลเราดี แต่สำหรับนักศึกษาจีนห้องพักของมหาวิทยาลัยเล็กกว่าห้องของนักศึกษาต่างชาติอีก และจำนวนคนที่อยู่ในห้องเยอะกว่าด้วยทั้งที่พื้นที่ในห้องเท่ากันนะ ผมอาศัยอยู่กับน้องชาย 2 คน ส่วนคนจีนกลับอยู่รวมกัน 4-6 คน คือในห้องแทบจะไม่มีพื้นที่ทำอะไรเลย และแต่ละคนก็จะก้มหน้าก้มตาเรียนเพื่อที่จะให้รีบเรียนให้จบ บางมหาวิทยาลัยที่เป็นอันดับต้นๆ ของจีนมีการแข่งขันชนิดที่ว่าแทบจะไม่มีคำว่าช่วยเหลือกันเลย

ทำไมการศึกษาในจีนถึงดูเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ สำหรับสังคมเขาขนาดนั้น 

        มันมีช่วงเวลาหนึ่งของประเทศจีนที่ยากลำบากมากๆ โดยเฉพาะช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม ตอนนั้นเป็น 10 ปีที่คนจีนไม่มีการศึกษาเลย เพราะคนที่กำลังเรียนอยู่มหาวิทยาลัยก็ถูกส่งไปเป็นแรงงาน ทำไร่ ทำนาอยู่ตามชนบท สุดท้ายก็เรียนไม่จบ ส่วนคนที่เรียนมัธยมอยู่ที่มีความฝันว่าอยากจะเข้ามหาวิทยาลัย ก็เข้าไม่ได้ พอมาถึงยุคเติ้งเสี่ยวผิงถึงจะมีการปฏิรูปด้วยการเปิดประเทศ จนทำให้คนจีนลืมตาอ้าปากได้ แต่ว่าเศรษฐกิจตอนนั้นนับว่ายังแย่อยู่ ก็เลยมีคำกล่าวที่ว่า การเรียนมหาวิทยาลัยสามารถเปลี่ยนชีวิตคนคนหนึ่ง จากจนเป็นรวย จากต่ำเป็นสูงได้ง่ายๆ ด้วยการสอบ ‘เกาเข่า’

        เกาเข่าก็คือการสอบวัดระดับความรู้เพื่อใช้ในการเข้ามหาวิทยาลัย ถ้าหากสอบได้คะแนนดีก็จะทำให้ได้เข้ามหาวิทยาลัยที่ดี ซึ่งเป็นการรับรองในอนาคตว่าจะทำให้มีหน้าที่การงานที่ดี มีเงินใช้ สามารถแต่งงานมีลูก สร้างครอบครัวสืบทอดตระกูลได้ เพราะตัวชี้วัดการประสบความสำเร็จของสังคมจีนนั้นคือ การมีบ้าน มีรถ มีครอบครัว มีลูก สืบทอดตระกูลต่อ และการที่จะไปถึงเป้าหมายนั้นได้ต้องผ่านการเรียนมหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้น ‘เกาเข่า’ คำนี้มันเข้าไปอยู่ในใจของคนจีนทุกคน จากคนจนคนหนึ่งถ้าหากว่าเรียนได้ดี สอบเกาเข่าได้ เข้ามหาวิทยาลัยได้ มันจะเปลี่ยนชีวิตของคนคนนั้นไปเลย ผมถึงบอกว่านักศึกษาจีนค่อนข้างน่าสงสาร เพราะเขากดดันกับชีวิตมาก 

ในปี 2019 มหาวิทยาลัยชิงหัวของจีนไต่อันดับขึ้นมาเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของเอเชีย คิดว่าอะไรที่ทำให้การศึกษาจีนพัฒนาขึ้นมาสู่ระดับนี้ได้ 

        ส่วนหนึ่งผมคิดว่าเพราะประเทศจีนให้ความเคารพกับอาชีพครูมากกว่าอาชีพอื่นๆ ซึ่งมันต่างกับไทยนะ ในไทย ผมรู้สึกว่าการเป็นครูมันยากลำบาก เพราะโดนกดดันจากข้างบน เงินเดือนก็ไม่ได้เยอะ นักเรียนก็ดื้อ คนที่จะเป็นครูได้จึงต้องใจสู้มากๆ และก็ต้องใจรักด้วย แต่ครูที่จีนเงินเดือนเขาค่อนข้างสูง ระดับประมาณ 40,000-50,000 บาทเลย แล้วก็เป็นอาชีพที่มีเกียรติ เรียกว่าเป็นอาชีพที่ดีที่สุดอาชีพหนึ่งของประเทศจีนเลยก็ว่าได้ ถ้าใครต้องการเรียนครู รัฐบาลจีนก็มีทุนให้ เพราะฉะนั้น จึงมีคนอยากเป็นครูเยอะ ซึ่งก็ช่วยสร้างการแข่งขันในวงการครู ทำให้เกิดการพัฒนาด้านการศึกษาไปด้วย

        อย่างครูที่สอนผมอยู่ก็เห็นว่าเขาค่อนข้างเก่งจริงๆ เขาใช้จิตวิทยาในการสอนด้วยการให้เด็กทุกคนในห้องได้มีส่วนร่วมเสมอ คือนอกจากจะให้การศึกษากับเราแล้ว ยังสร้างมิตรระหว่างเพื่อนร่วมห้องด้วยกัน ทำให้ห้องมีสีสัน จนเพื่อนในห้องรู้สึกว่าเป็นครอบครัว อันนี้ต้องยกเครดิตกับครูที่สอนอยู่เลย แต่ปัญหาคือสุดท้ายจีนก็ยังติดอยู่กับคำว่าเรียนเพื่อสอบอยู่ดี ไม่ได้เรียนเพื่อเอาไปใช้

คนไทยส่วนใหญ่มักจะมองจีนในภาพลบ แต่ในสายตาคนจีนเขามองคนไทยเป็นแบบไหน 

        อย่างที่รู้กันว่าคนไทยเรามองจีนไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ถึงจะรู้ว่า พ.ศ. นี้ประเทศจีนมาแน่ ประเทศจีนเศรษฐกิจดี เรียนภาษาจีนแล้วได้เงินเดือนเยอะ แต่เราเอาแต่มองด้านที่มันให้เงิน ให้ผลประโยชน์กับเราเท่านั้น พอเวลาไปเห็นคนจีนเสียงดังเราก็เอาเขากลับมานินทาว่า ‘คนจีนไม่มีมารยาท’ เสมอ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าข้างในลึกๆ ของคนไทย เรายังมีความดูถูกคนจีนอยู่ แต่ถ้าเปรียบเทียบสายตาคนจีนที่มองมายังคนไทยนั้นคนละเรื่องกันเลย 

       เขามองว่าอยู่กับคนไทยแล้วรู้สึกปลอดภัย รู้สึกคบได้มากกว่าชาติอื่น และจริงๆ แล้วไอ้ความไร้มารยาทของคนจีนที่เราเห็นมันคือความมีมารยาทของเขา เพราะมารยาทเขาคือความครึกครื้นรื่นเริง ความเป็นมิตร การที่เขามาเสียงดังใส่เรา มันแสดงถึงความเป็นมิตรที่ดีต่อกัน เราพูดกันด้วยน้ำเสียงแบบนี้ได้โดยที่ไม่ต้องโกรธกัน และจากประสบการณ์ที่ผมไปอยู่จีนท่ามกลางเพื่อนหลายเชื้อชาติ มันทำให้เห็นว่าคนจีนเขาปฏิบัติกับคนไทยค่อนข้างพิเศษกว่าชาติอื่น เคยมีเหตุการณ์หนึ่งผมไปเที่ยวกับเพื่อนคนไทย ตอนนั้นประมาณ 4 ทุ่ม ผมกับเพื่อนขึ้นไปนั่งรอรถเมล์ที่จอดเทียบท่าไว้เพื่อจะกลับที่พัก แต่คุณลุงคนหนึ่งเขาเดินขึ้นมาบอกว่ารถปิดแล้วนะต้องกลับเอง แต่ตอนนั้นผมยังพูดจีนไม่ได้เลย พอเขาได้ยินผมพูดภาษาไทยกับเพื่อนเขาก็ ‘อ้าว เป็นคนไทยเหรอ ตามมาเดี๋ยวไปส่ง’ แล้วเขาก็ขับไปส่งผมถึงที่พักเลย 

อะไรคือเหตุผลที่ทำให้คนจีนมองว่าไทยเป็นประเทศที่ ‘คบได้’ ในเมื่อเราก็ดูเหมือนจะหวังแต่กอบโกยผลประโยชน์จากเขา   

        ต้องเล่าย้อนไปว่าประเทศจีนเขาเคยโดนชาติตะวันตกย่ำยีมาก่อนในช่วงสงครามฝิ่น และคนจีนยังฝังใจกับเรื่องพวกนี้อยู่เสมอ ถึงแม้จะไม่ได้รู้ประวัติศาสตร์ชัดเจน แต่เขามองว่าฝรั่งเข้ามาเอาเปรียบ หวังเอาผลประโยชน์จากเขา หรือประเทศญี่ปุ่นก็อย่างที่รู้กันว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 เขากระทำกับจีนขนาดไหน ในเมืองหนานจิงที่ผมเคยไปเรียนไม่มีนักศึกษาญี่ปุ่นกล้าไปเลย เพราะว่าอยู่ยากจริงๆ คนที่นั่นเกลียดคนญี่ปุ่นเข้าไส้ เขาอาจจะชอบประเทศญี่ปุ่น อาจจะชอบอาหารญี่ปุ่น แต่ว่าไม่ชอบคนญี่ปุ่น มันเหมือนเป็นแผลเป็นที่ไม่สามารถลบออกไปได้ เพราะกว่าเขาจะขึ้นมาเจริญได้อย่างทุกวันนี้เขาต้องผ่านอะไรมาเยอะ แต่ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ไม่เคยมีปัญหากับประเทศจีน และก็มีความสัมพันธ์ระหว่างรัฐค่อนข้างดี คนจีนก็เลยมองว่าเราเป็นมิตร 

        แต่สิ่งที่ผมขัดใจมากในตอนนี้คือเรื่องไวรัสโคโรนา เพราะผมรู้ว่าคนจีนเจ็บฝังใจต่อคนที่กระทำกับเขา แต่ขณะเดียวกันคนจีนจะสำนึกบุญคุณคน โดยเฉพาะเวลาที่เขาลำบาก ผมเข้าใจนะว่าเรากลัวไวรัสจะเข้ามาระบาดที่ไทย แต่ถ้าหากผมเป็นรัฐบาลไทย สิ่งที่ผมจะทำเป็นอย่างแรกคือแสดงจุดยืนสนับสนุนประเทศจีนด้วยการช่วยเหลือเขา แล้วผมมีเพื่อนทำบริษัทค้าขายกับประเทศจีน พอเกิดเรื่องนี้ขึ้นสิ่งแรกที่เขาทำคือเอาหน้ากากอนามัยส่งไปให้ลูกค้าที่จีน ซึ่งคนจีนก็พูดออกมาว่า ‘ตอนนี้ไม่ว่าใครก็ตามต่อให้เอาเงินหลักล้านมาให้ผม ผมก็ไม่ประทับใจเท่ากับการเอาหน้ากากอนามัยร้อยชิ้นมาให้ผมหรอก’ มันแสดงให้เห็นว่าเขากำลังรับมือปัญหาอยู่อย่างยากลำบาก และถ้าเราช่วยเหลือ สิ่งที่เขาจะตอบแทนกลับมามันมหาศาลมาก แต่ถ้าหากสังเกต เมื่อต้นปี 2020 ที่เกิดไฟป่าออสเตรเลีย คำว่า ‘Pray for Australia’ ขึ้นเต็มหน้าฟีดไปหมด มีการบริจาค มีการร่วมทุนเข้าไปช่วย แต่ตอนนี้คำว่า ‘Pray for China’ มันหายไปหรือเปล่า อาจจะมีคนทำ ‘ไชน่าเจียโหยว’ ขึ้นมา แต่มันไม่มากพอ มันแค่คนกลุ่มหนึ่ง ผมเลยรู้สึกว่าหรือเรื่องนี้มันไม่ได้สำคัญเท่ากับประเทศอื่นเจอหรือเปล่า แถมตอนนี้คนจีนก็แทบจะเป็นที่รังเกียจของคนทั่วโลกด้วยซ้ำไป ทั้งที่สถานการณ์ตอนนี้เป็นวิกฤตขั้นรุนแรงที่สุดในรอบหลายปีของเขา

 

สรวง สิทธิสมาน
สรวง สิทธิสมาน

การอยู่จีนมาหลายปี เห็นความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจจีนในแง่ของคนที่อยู่อาศัยอย่างไรบ้าง 

        (นิ่งคิด) เท่าที่ผมเห็นและสัมผัสได้คือการมีร้านอาหารเปิดมากขึ้น แล้วราคาก็สูงขึ้นเรื่อยๆ ค่าครองชีพในเซี่ยงไฮ้เองก็สูงมากเมื่อเทียบกับ 4 ปีก่อน และเรื่องเทคโนโลยีกับการคมนาคมของเขาก็พัฒนาไปไกลมากเช่นกัน ช่วงแรกๆ ที่ผมไปจีนมองว่าเหมือนอยู่ในโลกอนาคตเลย เพราะในจีนโทรศัพท์เครื่องเดียวมันเชื่อมการบริการทุกอย่างไว้หมด เราสามารถยื่นโทรศัพท์เพื่อสแกนจ่ายเงินได้เลย ซึ่งบางที่ในจีนตอนนี้เขาก็ไม่รับเงินสดแล้วนะ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้เงินสด ถ้าผ่านเจเนอเรชันนี้ไปผมว่าคงแทบจะไม่มีคนใช้เงินสดเลย ตอนนี้ก็เห็นได้ชัดว่าประเทศไทยได้โมเดลนั้นมาและก็พยายามพัฒนาไปให้ถึงระดับนั้นให้ได้ 

คิดว่าจีนในทศวรรษที่ 2020s จะพัฒนาไปทิศทางไหน หรือเจอปัญหาอะไรอีกในมุมของคนที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น 

        ผมมองว่าไม่ช้าก็เร็วนี้ จีนน่าจะต้องเจอปัญหาหนักๆ ที่เป็นตัวตัดสินว่าจีนจะพัฒนาต่อไปไกลกว่าเดิมหรือว่าจะร่วง ซึ่งปัญหาดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย แต่เป็นปัญหาประชากรที่ลดลงกับประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เพราะคนจีนรุ่นใหม่เขากำลังเผชิญสังคมผู้สูงอายุจากการใช้นโยบายลูกคนเดียวในอดีต ที่ทำให้เกิดการสูญเสียแรงงานหลายสิบล้านคน แม้ตอนนี้นโยบายลูกคนเดียวจะยกเลิกไปแล้ว และกำลังจะอนุญาตให้มีลูกสามคน แต่ค่าครองชีพที่แพงขึ้น การแข่งขันสูงขึ้น ชีวิตที่ดูอยู่ยากขึ้น ค่านิยมที่จะมีลูกก็น้อยลงตาม เพราะการจะเลี้ยงเด็กคนหนึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายมหาศาล 

        มันเป็นเทรนด์ทั่วโลกที่คนชนชั้นกลางอยากครองตัวเป็นโสดหรือไม่มีลูก ซึ่งขัดกับค่านิยมเก่าๆ และจีนต้องใช้ประชากรมหาศาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในอนาคตจีนจึงอาจสูญเสียแรงงานไปเป็นหลักหลายสิบล้าน แล้วเกิดวิกฤตสังคมคนชรา ที่รัฐต้องนำเงินภาษีไปดูแลคนสูงอายุที่ไม่มีความสามารถในการทำงาน แต่ขาดแคลนคนรุ่นใหม่ที่จะมาเป็นแรงงานให้ ตรงนี้จึงเป็นโจทย์สำคัญว่าจีนจะนำเทคโนโลยีมาแก้ไขปัญหานี้ได้ไหม หรือจีนอาจจะเอาเทคโนโลยี AI มารับมือกับปัญหานี้ แต่ก็ไม่รู้จะออกมาในรูปแบบไหนเหมือนกัน 10 ปีข้างหน้าจะเป็นยังไงคงเดาไม่ได้ เพราะหากมองย้อนกลับไป 10 ปี โลกเราก็เดินเร็วมากจริงๆ เราอาจจะมีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นบนโลกก็เป็นได้ แต่ผมเชื่อว่าอนาคต ยุค AI จะมาถึงในใกล้ๆ นี้ 

การเป็นประธานาธิบดีของสีจิ้นผิงแบบไม่มีวาระหมดอายุ คิดว่าเป็นไปได้ไหมว่าตลอดระยะเวลา 10 ปีนี้เขาก็จะยังเป็นประธานาธิบดีจีนอยู่ 

        ผมคิดว่าเราน่าจะเห็นเขาอีกยาวๆ เลย (ยิ้ม) ถ้าเขาไม่เป็นอะไรไปก่อน เพราะคนจีนเชื่อมั่นในตัวเขามาก พอเขาขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี เขาทำให้เศรษฐกิจจีนสามารถขึ้นมาตีคู่กับอเมริกาได้ แล้วรัฐบาลชุดนี้ก็ทำงานดีมากจริงๆ คือในประเทศจีนนั้นจะมีผู้นำประเภทเหมาเจ๋อตงกับเติ้งเสี่ยวผิง บางเวลาเราต้องการคนแบบเหมาเจ๋อตงที่เด็ดขาด เป็นผู้นำทางการทหาร มีความมั่นใจ กับบางเวลาก็ต้องการคนแบบเติ้งเสี่ยวผิง ที่สร้างความแปลกใหม่เพื่อพัฒนาประเทศ ซึ่งในเวลานี้ผมมองว่าสีจิ้นผิงมีลักษณะของทั้งเติ้งเสี่ยวผิงและเหมาเจ๋อตงรวมอยู่ในคนเดียว ตอนนี้จีนเจอปัญหาจากรอบด้านรุมล้อม ทั้งประท้วงในฮ่องกง สงครามการค้ากับอเมริกา ไวรัสโคโรนา สีจิ้นผิงก็แสดงให้เห็นว่าเขาก็เอาอยู่ในสถานการณ์โลกปัจจุบันนี้  

ความยิ่งใหญ่ของประเทศจีน และความชาตินิยมที่เขามีต่อประเทศ มองว่าถ้าหากจีนจะล้ม ก็ต้องเป็นการล้มเพราะคนในชาติหรือเปล่า 

        จริงครับ ไม่ใช่แค่ที่จีน แต่ทุกประเทศ รวมทั้งไทยเองก็เหมือนกัน หากประชาชนลุกฮือขึ้นมาก็สามารถล้มรัฐบาลได้ แต่รัฐจีนเขาทำให้ประชาชนเห็นด้วยกับสิ่งที่เขาทำได้ และเขาตั้งเป้าหมายว่าจะกลับไปเป็นมหาอำนาจโลกเหมือนเมื่อก่อนให้ได้ คนจีนที่รักชาติเขาก็อยากเห็นประเทศของเขาเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกแซงอเมริกา คือเขาจะมองว่าอเมริกาเป็นคู่แข่ง เราต้องทำทุกวิถีทางให้เราเหนือกว่าอเมริกาให้ได้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0