โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

สะแล...ผักพื้นบ้าน เป็นยาดีมีมานาน

เทคโนโลยีชาวบ้าน

อัพเดต 01 มี.ค. 2564 เวลา 02.18 น. • เผยแพร่ 01 มี.ค. 2564 เวลา 02.18 น.
8 พืชพื้นบ้าน

ในช่วงฤดูหนาวจะมีพืชผักพื้นบ้าน หรือจะเรียกว่าผักจากป่าก็ได้ โดยเฉพาะทางภาคเหนือ จะมีผักมากมายหลายอย่าง ชาวบ้านหาเก็บมาวางขายตามตลาดท้องถิ่น นิยมแพร่หลายในหมู่นักบริโภคอาหารป่า จัดได้ว่าเป็นอาหารที่ปลอดภัยจากสารพิษ มีผักชนิดหนึ่งที่น้อยคนนักที่จะรู้จัก ชื่อแปลกๆ ว่า “สะแล” ส่วนที่นำมาเป็นอาหารรับประทานคือ ดอกอ่อน ลักษณะคล้ายจะเป็นผล ดอกอ่อนสะแล มีลักษณะเป็นลูกกลมๆ มีผิวเป็นตะปุ่มตะป่ำ อาจจะกลม หรือกลมรีป้าน มีหลายแบบ แต่ส่วนใหญ่ขณะเป็นช่อดอกอ่อน จะเป็นลูกกลมๆ มีขนเกสรสีขาวแทงออกสวยงามมาก ส่วนนี้เมื่อผสมเกสรแล้วจะหลุดยุบหายไป ลูกเล็กๆ ซึ่งคาดว่าเป็นอับเรณูของดอก ก็เจริญเป็นผลสะแล ก็คล้ายๆ กับการออกลูกของฟักทองนั้นแหละ เมื่อผลแก่จนสุกเหลือง สลับเขียวเข้ม เขียวอ่อน ออกเต็มในแต่ละช่อ ชูสะพรั่ง ส่วนนี้เขาว่ามันจะขม รับประทานไม่ได้แล้ว

สะแล…เป็นพืชเถาไม้เลื้อย พบมากในป่าเบญจพรรณ และป่าละเมาะทางภาคเหนือ มี 2 ชนิด คือ สะแลสร้อย และสะแลป้อม สะแลสร้อย มีลูกกลมยาว ออกลูกเดี่ยว สะแลป้อม มีลูกกลม ออกเป็นช่อ ต้นเหมือนกัน ใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียว ด้านหลังใบจะเขียวอ่อนกว่าด้านหน้าเล็กน้อย ขอบใบเรียบหรือหยักเล็กน้อย ใบรูปไข่กว้าง 4-5 เซนติเมตร ยาว 8-10 เซนติเมตร ออกดอกตามกิ่ง สีเขียวทรงกลมอย่างที่กล่าวไว้แต่ต้น มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5-7 เซนติเมตร ก้านดอกสั้น  สะแลถ้าจะนับจากการออกดอก (ลูกอ่อน) มี 2 รุ่น คือ ตามฤดูกาล จะมีในเดือนมกราคม-มีนาคม นอกฤดู หรือ สะแลทวาย ออกเดือนตุลาคม-ธันวาคม นับเป็นผักพื้นบ้านที่มีราคาแพงพอสมควร ประมาณกิโลกรัมละ 150-200 บาท ยิ่งช่วงต้นฤดู ยิ่งราคาแพง อาจจะถึง 300 กว่าบาท มีคนรับซื้อจากแหล่งสะแล แถวอุตรดิตถ์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ ไปขายได้ราคาดี ที่เชียงใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งนิยมบริโภคมาก แต่มีน้อยไม่พอต่อความต้องการของคนกิน

สะแล มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Broussonetie kurreii corner ชื่อพื้นเมืองในถิ่นต่างๆ เรียกกันหลายชื่อ เช่น ปราจีนบุรี เรียกแกแล สงขลา เรียก ข่อยย่าน หรือข่อย่าน ปัตตานี เรียก คันซง หรือซงแดง สุราษฎร์ธานี เรียก ชง กะเหรี่ยงเมืองกาญจนบุรี เรียก ซะแล ชลบุรี เรียก แทแหล ส่วนภาคกลางและภาคเหนือ เรียกสะแล หรือสาแล การรับประทานสะแล นิยมทำเป็นแกงสะแล ซึ่งเป็นอาหารโปรดของคนภาคเหนือ ถ้าลงมาภาคกลาง มักจะทำเป็นยำผักสะแส ซึ่งก็ทำได้อร่อยมากทั้ง 2 อย่าง แกงสะแล ลักษณะคล้ายแกงส้มพื้นเมือง ไม่ใส่กะทิ ใส่มะเขือส้ม คือมะเขือเทศลูกเล็กๆ ออกลูกเป็นพวง มีรสเปรี้ยว แกงใส่ปลาช่อน ปลาย่าง เนื้อวัว เนื้อหมู หรือบางที่ใส่หนังวัวแห้ง รสชาติของดอกสะแลจะจืด มัน ลื่นเล็กน้อย มีคุณค่าทางอาหาร เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ดอก หรือลูกสะแล 100 กรัม(1 ขีด) ให้พลังงานต่อร่างกาย 79 กิโลแคลอรี มีเส้นใย 1.6 กรัม แคลเซียม 39.1 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 110.6 มิลลิกรัม เหล็ก 1.65 มิลลิกรัม โซเดียม 8.51 มิลลิกรัม โพแทสเซียม 379.6 มิลลิกรัม วิตามินบีหนึ่ง 0.11 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.54 มิลลิกรัม วิตามินซี 15 มิลลิกรัม และสารอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์อีกมากมายหลายชนิด ทั้ง คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน เกลือแร่ ฯลฯ รวมทั้งมีเบต้าแคโรทีน มีสารแอนติออกซิแดนท์ สารโพลิฟินอล หมอพื้นบ้านใช้เปลือกต้นสะแล และใบสะแล ต้มน้ำให้ดื่มแก้อาการบวม จากการเป็นโรคไต น้ำเหลืองเสีย เป็นผักช่วยปรับระบบการย่อยอาหาร รักษากรดไหลย้อน รักษาโรคกระเพาะอาหารและลำไส้

การปลูกและขยายพันธุ์สะแล เป็นพืชที่ปลูกกันตามสวนหลังบ้าน แนวรั้วบ้าน มากกว่าที่จะมีตามป่าแล้วตอนนี้ ปลูกแค่ 10-20 ต้น จะให้ผลผลิตมากพอที่จะเป็นรายได้หลายเงินอยู่ ต้นอายุ 3-4 ปี จะให้ดอก-ผลอ่อน 5-10 กิโลกรัม ต่อต้น การขยายพันธุ์นิยมใช้วิธีตัดชำ โดยตัดกิ่งแก่ ยาวประมาณ 1 ศอก ถึง 1 ศอกครึ่ง นำไปปักชำลงหลุมดินที่เตรียมปลูกโดยตรง หลุมละ 1-2 กิ่ง ในที่มีร่มเงา ใต้ต้นไม้ใหญ่จะยิ่งดี ซึ่งสะแลจะอาศัยแตกกิ่ง เลื้อยเกาะอาศัยกิ่งไม้ใหญ่ขึ้นไป โดยไม่เป็นการรบกวนต้นไม้ใหญ่ เพราะสะแลเป็นไม้เลื้อยมีทรงพุ่ม ใบที่ไม่หนาทึบ แต่การขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดจากผลแก่ซึ่งมีสีเหลือง อ่อนนุ่ม บีบจับเบาๆ จะแตกเละ มีเมล็ดเล็กๆ หลายเมล็ดอยู่ข้างในเนื้อ ซึ่งจะขยายพันธุ์ด้วยวิธีเพาะเมล็ดก็ได้ แต่ให้ผลช้า สู้ตัดกิ่งปักชำไม่ได้ ง่ายและเร็วกว่า ซึ่งถ้าบ้านไหนมีต้นสะแลอยู่แล้ว เวลาตัดช่อดอกผลมารับประทาน จะตัดทั้งกิ่งยาวๆ นำมาตัดเอาแต่ผลหรือดอกอ่อน กิ่งที่ตัดมาก็ตัดเป็นท่อนๆ ไปปักชำได้เลย

ส่วนถิ่นไหนจะนิยมรับประทานมากกว่ากัน ก็อยู่ที่ประชาชนมีพื้นเพ วัฒนธรรมการกินอาหารอย่างไรกันมากกว่า รสชาติ ก็เป็นอีกประการหนึ่ง ที่จะมีผู้นิยมมากน้อยต่างกัน สำคัญแต่ว่า ในยุคที่ประชาชนกำลังเสาะแสวงหาอาหารที่ปลอดภัย โดยเฉพาะอาหารผักปลอดสารพิษ หนีไม่พ้นผักพื้นบ้าน เป็นอาหารท้องถิ่นที่ปลอดภัยจากสารพิษแน่นอนที่สุด ถึงแม้ว่าผักพื้นบ้าน จะไม่ได้ทำให้เกิดความงอกเงยทางเศรษฐกิจ แต่จะงอกงามทางความคิด ความมีชีวิตและจิตใจที่ดีของคนไทยเรา หันมานิยม ผักและสินค้าพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง ผลผลิตไทยทำ ไทยผลิต ไทยกิน กันเถิดเรา บ้านเราเมืองเราจะดูดียิ่งนัก

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0