โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

สะอาดมากไปก็ไม่ดี ! แพทย์ชี้ “ไลฟ์สไตล์คุณหนู” เสี่ยงโรคภูมิแพ้

ประชาชาติธุรกิจ

เผยแพร่ 21 พ.ย. 2561 เวลา 09.05 น.
1-238

โรคภูมิแพ้ หลายคนมองเป็นเรื่องธรรมดา หากเป็นแล้วเพียงแค่กินยาหรือหลีกเลี่ยงสิ่งของและอาหารที่แพ้ก็สามารถหายได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วโรคภูมิแพ้ถือเป็นภัยเงียบที่อันตราย ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้อาจส่งผลถึงชีวิต อีกทั้งปัจจุบันโรคภูมิแพ้ไม่เพียงเกิดขึ้นจากกรรมพันธุ์แต่กำเนิดเท่านั้น ยังเกิดจากไลฟ์สไตล์ “กินหรูอยู่สบาย” หรือพฤติกรรม “ลูกคุณหนู” ด้วย

จากการจัดประชุมวิชาการ the 1st International Samitivej Allergy Institute Symposium, Food Allergy “The State of the Art” โดยสถาบันโรคภูมิแพ้สมิติเวช โรงพยาบาลสมิติเวช ที่มีปรมาจารย์ด้านโรคภูมิแพ้ระดับโลก ดร.ฮิวจ์ เอ แซมป์สัน และ ศ.นพ.แกรี่ หว่อง ประธานสมาคมโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ร่วมแชร์วิกฤตโรคภูมิแพ้อาหาร (food allergy) พร้อมแนวทางการดูแลรักษาที่ถูกวิธี

ศ.เกียรติคุณ นพ.ปกิต วิชยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้สมิติเวช โรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยป่วยเป็นโรคภูมิแพ้อาหารเพิ่มสูงขึ้นกว่า 400% เมื่อเทียบกับในอดีตที่มีผู้ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้อาหารอยู่เพียงเฉลี่ยปีละ 1-2 คน แต่ในปัจจุบันกลับมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่สัปดาห์ละ 2-3 คน โดยสังเกตจากจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีจำนวนกว่า 905 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

สาเหตุของโรคภูมิแพ้อาหารในสมัยก่อนหลัก ๆ แล้วจะเกิดจากกรรมพันธุ์ จากพ่อแม่สู่ลูก คือหากพ่อหรือแม่แพ้อาหารประเภทใดประเภทหนึ่ง ลูกก็จะได้รับกรรมพันธุ์การแพ้อาหารชนิดนั้นมา 25% แต่ถ้าทั้งพ่อและแม่เป็นโรคแพ้อาหารทั้งคู่ ลูกก็จะได้รับกรรมพันธุ์การแพ้อาหารชนิดนั้นมา 75% ซึ่งในกรณีนี้ไม่ค่อยน่าวิตก เนื่องจากสามารถค้นหาสาเหตุและวางแผนการรักษาได้ง่าย แต่ในยุคปัจจุบันมีอีกสาเหตุของโรคภูมิแพ้อาหารเกิดจาก “พฤติกรรม” ที่เปลี่ยนไป การใช้ชีวิตและการรับประทานอาหารที่สะอาด หรือการใช้ชีวิตแบบคุณหนู ซึ่งทำให้ร่างกายได้รับเชื้อโรคน้อยลง ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายที่เคยต่อสู้กับเชื้อโรคหันไปต่อสู้กับสารอาหารที่เข้าสู่ร่างกายแทน ซึ่งถือเป็นการทำงานอย่างผิดปกติต่อระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย

ด้าน ดร.ฮิวจ์ เอ แซมป์สัน (Dr.Hugh A Sampson) ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้ระดับโลก ให้ข้อมูลว่า สถานการณ์โรคภูมิแพ้ทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศใกล้เคียงอย่างออสเตรเลีย ซึ่งมีสาเหตุจากปัจจัยเดียวกันคือ ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป ทั้งด้านการรับประทานอาหารและสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัว

สำหรับแนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ที่นิยมใช้กัน แบ่งเป็น oral immunotherapy (OIT) การให้ผู้ป่วยทานสารอาหารที่ผู้ป่วยมีอาการแพ้เข้าไปทีละเล็กทีละน้อย เพื่อให้ร่างกายของผู้ป่วยเรียนรู้กับสารที่แพ้ และสร้างภูมิต้านทานขึ้นมา ทำให้ผู้ป่วยสามารถทนสารที่แพ้ได้มากขึ้นวิธีต่อมาคือ การใช้แผ่นแปะแทนการทานสารที่แพ้เข้าไปในร่างกาย เพื่อให้ผู้ป่วยมีอาการแพ้น้อยลงกว่าการทานสารที่มีอาการแพ้ แต่วิธีการนี้ต้องใช้เวลานานกว่าที่อาการของผู้ป่วยจะดีขึ้นจนถึงในระดับที่แพทย์ต้องการ และสุดท้ายคือ DNA วัคซีน ซึ่งการรักษาในระดับนี้ยังอยู่ระหว่างการทดลอง ซึ่งคาดว่าในอนาคตถ้าประสบผลสำเร็จ จะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถช่วยรักษาผู้ป่วยจากโรคภูมิแพ้ให้หายได้

ศ.นพ.แกรี่ หว่อง (Prof.Gary Wong) ประธานสมาคมโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประเทศญี่ปุ่นและสิงคโปร์มีการเกิดโรคภูมิแพ้อาหารที่สูงมาก ส่วนในประเทศไทยอยู่ในระดับกลาง อาจเป็นเพราะผู้คนในยุคปัจจุบันมีการใช้ชีวิตและการทานอาหารที่สะอาดมากขึ้นกว่าในอดีต และการทานอาหารที่ผ่านกระบวนการถนอมอาหารมาแล้ว รวมถึงปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมอื่น ๆ ที่เกื้อหนุน อาจทำให้เกิดโรคที่ส่งผลให้ผู้คนในยุคปัจจุบันเกิดอาการป่วยเป็นโรคแพ้อาหารมากขึ้น หากพบว่าตนเองมีอาการป่วยเป็นโรคภูมิแพ้อาหารควรรีบเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเร็วที่สุด

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0