โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

สะพานไม้สักยักษ์! “เก่าสุด - ยาวสุด” ของโลก จุดหมายใหม่ของนักท่องเที่ยว!

TheHippoThai.com

เผยแพร่ 21 ก.ค. 2561 เวลา 14.00 น. • POGGHI

สะพานไม้สักยักษ์! “เก่าสุด - ยาวสุด” ของโลก จุดหมายใหม่ของนักท่องเที่ยว!

 เรื่อง/รูป : POGGHI 
ความยาววววววว… กว่า 1.2 กิโลเมตรของสะพาน “อูเบ็ง” สะพานไม้สักเก่าแก่ในเมืองอมรปุระ ประเทศเมียนมา เพียงพอที่จะคว้าแชมป์สะพานไม้สักที่ยาวสุดในโลก และการสันนิษฐานว่าสร้างไว้ราวปี ค.ศ. 1850-1857 นับจนถึงวันนี้อายุกว่า 160 ปี ก็ทำให้พ่วงรางวัลสะพานไม้สักเก่าแก่ที่สุดในโลกไปครองอีกหนึ่งตำแหน่ง

สะพานอายุกว่าศตวรรษ เกิดขึ้นจากการย้ายเมืองหลวงของราชวงศ์เมียนมาในอดีต ไม้สักที่ตระหง่านเด่นเห็นอยู่ทุกวันนี้ เคยเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังในเมืองอังวะมาก่อน แต่เมืองอังวะนั้น ถ้าเปรียบเป็นนักรบก็คงเต็มไปด้วยบาดแผลจากการสู้รบ ภัยสงคราม สุดท้ายยังมาเจอแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ช่วงกลางศตวรรษที่ 19 อีก … ย้ายเมืองดีกว่า!

พระราชวังของเมียนมาในอดีตใช้ไม้สักมาสร้างสรรค์ความวิจิตรได้อย่างเหลือเฟือ เพราะทรัพยากรป่าไม้อันอุดมสมบูรณ์ เมื่อย้ายเมืองหลวงจากกรุงอังวะ มายังถิ่นฐานใหม่ คือ “เมืองอมรปุระ” ก็ยังเหลือไม้สักอีกเป็นพันต้นแน่ะ 

ไม้สักดังกล่าวที่เหลือจากการย้ายพระราชวัง จึงถูกนำมาสร้างเส้นทางสัญจร ข้ามทะเลสาบตองตะมาน เพื่อลดระยะเวลาที่ชาวบ้านต้องเดินอ้อมกันเป็นวัน ว่ากันว่า ถ้าไม่มีสะพานนี้ ต้องเดินอ้อมทะเลสาบจากหมู่บ้านไปวัดเป็นระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร (แน่นอนว่าเดินเท้าเท่านั้น เพราะกว่าร้อยปีก่อนเมียนมา ยังไม่มีรถสองแถวบริการแน่ๆ)

ส่วนที่มาของชื่อเสียงเรียงนาม “อูเบ็ง” มาจากชื่อขุนนางท้องถิ่นผู้รับพระบัญชาจากพระเจ้าปดุง ซึ่งมีชื่อว่า “U Bien” เมื่อสะพานสร้างเสร็จ จึงไม่ต้องมีการประกวดตั้งชื่อให้เสียเวลา ก็เอาชื่อผู้คุมงานนั่นล่ะมอบไว้ให้เป็นเกียรติประวัติซะเลย ลูกๆหลานๆจะได้ภูมิใจยืดอกได้ว่า สะพานนี้เป็นชื่อคุณปู่ทวดเรานะ

เมื่อวันเวลาผันผ่านมากว่าศตวรรษ สะพานที่ชาวบ้านเดินกันทุกวันจนสึก และก็คงไม่ได้คิดว่ามันจะมีความแปลกประหลาดอะไร เพราะเป็นสะพานไม้สักที่ใช้สัญจรมาตั้งแต่บรรพบุรุษ

แต่สำหรับสายตาของนักท่องเที่ยวต่างถิ่นนี่สิ สะพานไม้ยาวที่เรียงตัวอย่างเป็นระเบียบ มีวิถีชีวิตของผู้คนท้องถิ่นที่เดินผ่านไปมาคึกคัก ย่อมเป็นภาพที่ชวนให้ตื่นตาตื่นใจเป็นที่สุด

ผมมีโอกาสไปเยือนสะพานไม้แห่งนี้มาแล้ว 2 ครั้ง ในฤดูร้อน กับช่วงปลายฤดูฝน จึงได้เปรียบเทียบความงามระหว่างสองฤดูที่ทะเลสาบตองตะมานมีปริมาณน้ำแตกต่างกัน ซึ่งผู้ชนะในด้านความงามนั้น ขอยกให้ “ฤดูร้อน”

แม้ว่า ฤดูฝน มีความสวยงาม มองไปทางไหนก็เห็นผืนน้ำราบเรียบ มีเรือลอยเอื่อยอยู่ลิบๆเพิ่มสีสันให้งานภาพ แต่ถ้าเทียบกับฤดูร้อน นั่นเป็นช่วงเวลาที่น้ำลด ผืนดินบางส่วนจะเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรกรรมเขียวขจี ชาวบ้านเดินไปเก็บเกี่ยวใช้ชีวิตริมสะพานได้ราวกับตรงนั้นไม่เคยมีทะเลสาบมาก่อน โดยในขณะเดียวกันพื้นที่ทะเลสาบบางส่วนก็ยังไม่เหือดแห้งไปจนหมด ยังมีภาพของเรือนำเที่ยวลอยล่องไปรอบๆ เป็นทิวทัศน์ที่ผสมผสานระหว่างสองบรรยากาศภายในฤดูกาลเดียวกัน

ภาพบรรยากาศฤดูฝน และ ฤดูร้อน ในบริเวณเดียวกัน

การเลือกเดินทางไปสะพานอูเบ็งในฤดูร้อน จึงเป็นความได้เปรียบสำหรับนักท่องเที่ยวผู้ชื่นชอบการถ่ายภาพ เพราะมีโอกาสได้มุมมองที่หลากหลายกว่าฤดูฝน ไม่ว่าจะเป็น มุมวิถีชีวิต-ผู้คนเดินบนสะพาน (มุมบังคับระดับมหาชน) มุมมองจากเรือที่พายอยู่ด้านล่าง (มุมที่ต้องจ่ายเพิ่ม) มุมจากพื้นที่เกษตรกรรมด้านล่าง (มุมเดินเท้าไปสำรวจข้างๆสะพาน) 

ส่วนการเที่ยวชมสำรวจสะพานระดับโลกแห่งนี้ ก็ไม่มีพิธีรีตองอะไรมากกว่า เพียงแค่ทำตัวให้กลมกลืนไปกับชาวท้องถิ่น เดิน เดิน เดิน และเดิน ไปเรื่อยๆ มองหามุมถ่ายภาพจาก 3 รูปแบบข้างต้นตามแต่จะถนัด ไม่ต้องกังวลใจอะไร เพราะชาวเมียนมา มีความเป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวในระดับที่สูงมาก ยิ่งถ้าเป็นคนไทยแล้วด้วย ถือว่าเพื่อนซี้เลยล่ะ

ถ้าใครมีเวลามากพอ (แนะนำว่า ควรมีมากกว่า 2 ชั่วโมงขึ้นไป) จะลองเดินไปจนถึงหมู่บ้านอีกฟากฝั่งของทะเลสาบก็ได้ (จำไว้ว่า 1.2 กม. จะได้กะเวลาถูก) แต่นักท่องเที่ยวส่วนมากมักจะเดินพอเป็นพิธีไม่กี่ร้อยเมตร มีรูปถ่ายติดกล้องว่ามาถึงสะพานแล้ว หรือไม่ก็ล่องเรือจากฝั่ง ถ่ายรูปย้อนขึ้นมาที่สะพานก็สวยงามไปอีกแบบ

อย่างไรก็ดี หากมาเยือนในฤดูร้อน แนะนำว่าเผื่อเวลาสำหรับย่างย่ำไปตามพื้นที่เกษตรกรรมฝั่งขวามือของสะพาน ซึ่งมีภาพสวยๆน่าประทับใจไม่แพ้กัน และควรไปช่วงบ่ายแก่ๆก่อนเย็น เพื่อจะได้ไม่ต้องเกรียมแดดทรมานตัวเองเกินไป นอกจากนี้ แบ่งเวลาก่อนขึ้นสะพาน ไปเดินชมวิถีชีวิตผู้คนร้านรวงริมฝั่งก่อน ก็สนุกเพลิดเพลินไม่น้อย เพราะสะพานยังไงก็เป็นเพียงไม้สักเก่า แต่สีสันแห่งวิถีชีวิตคนรอบสะพานนั่นล่ะ คือ สิ่งขับเคลื่อนให้สะพานอูเบ็งมีชีวิตชีวาน่าหลงใหล

Tips for Traveller
- ข้อควรระวัง : สะพานอูเบ็งในบางช่วง ไม่มีราวกันตก ดังนั้นเวลาถ่ายรูป หรือเดินเบียดเสียดกับชาวท้องถิ่น ก็ต้องมองซ้ายมองขวานิดนึง หรือ ป้องกันตัวเองไว้ด้วยการพักพิงอิงแอบไปกับเสาไม้สักต้นใหญ่ๆระหว่างทาง
- สะพานไม้อูเบ็ง เมืองอมรปุระ ห่างจากเมืองมัณฑะเลย์ประมาณ 11 กิโลเมตร (เมืองมัณฑะเลย์ มีสายการบิน บินตรงจากเมืองไทย)

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0