โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

สะบายดี “หลวงพระบาง” เดินทอดน่อง ท่องเมืองงามมรดกโลก

Manager Online

อัพเดต 16 ม.ค. 2562 เวลา 08.38 น. • เผยแพร่ 16 ม.ค. 2562 เวลา 08.38 น. • MGR Online

Facebook :Travel @ Manager

ทันที่ “ตะลอนเที่ยว” เดินทางมาถึงยัง “นครหลวงพระบาง” สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เราก็ได้ยินคำทักทายเป็นภาษาลาวว่า “สะบายดี” แปลว่า “สวัสดี” จากชาวลาวที่น่ารัก พร้อมรอยยิ้มพิมพ์ใจที่ยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกคนที่มาเยือนหลวงพระบาง

“นครหลวงพระบาง” ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี ค.ศ. 1995 เป็นเมืองมรดกโลกอันงดงามที่มีเสน่ห์ชวนให้มาเที่ยว เพราะยังคงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงาม ประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่า และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนอันเงียบง่ายสงบงาม แวดล้อมไปด้วยธรรมชาติความสวยงามของแม่น้ำโขงและแม่น้ำคานอันรื่นรมย์ จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ที่ต่างพากันมาเที่ยวเมืองมรดกโลกที่งดงามแห่งนี้ ซึ่งเมื่อเรามาถึงหลวงพระบาง แน่นอนว่าก็ต้องไม่พลาดที่จะไปสัมผัสกับแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังที่ดึงดูดใจให้ไปยลกันให้ได้

การเที่ยวในเมืองเก่าหลวงพระบาง นักท่องเที่ยวสามารถเที่ยวได้แบบสบายๆ จะนั่งรถเที่ยว จะเดินชมบ้านเรือนเก่าแก่ที่ได้รับการอรุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี หรือจะปั่นจักรยานชมเมืองแบบชิลๆ ก็เป็นที่นิยม เพราะว่าสถานที่เที่ยวแต่ละแห่งอยู่ไม่ไกลกันมากนัก และไอไลต์สำคัญที่ต้องห้ามพลาดเด็ดขาดเมื่อมาเยือนหลวงพระบาง ก็คือการตักบาตรข้าวเหนียวยามเช้า ที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอันดีงาม

ในทริปนี้เราเลือกเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวไฮไลต์ที่สำคัญ โดยขอเปิดฉากเที่ยวกันที่ “วัดเชียงทอง” เพราะถ้าไม่มาที่นี่ก็เหมือนมาไม่ถึงหลวงพระบาง “วัดเชียงทอง” สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2102-2103 ในสมัยของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ได้รับการยกย่องว่าเป็นสุดยอดแห่งสถาปัตยกรรมล้านช้างที่งดงามที่สุดในดินแดนลาว เมื่อเข้ามาในวัดเชียงทองจะได้เห็นสถาปัตยกรรมงดงามล้ำค่ามากมาย มี “สิม” หรือ “โบสถ์” ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นสิมแบบล้านช้างสมบูรณ์ที่สุด โบสถ์มีหลังคาแอ่นโค้ง ลาดต่ำลงมาซ้อนกันอยู่สามชั้น ส่วนยอดสุดของหลังคาจะเห็นช่อฟ้า 17 ช่อ แสดงให้รู้ว่าเป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง ภายในประดิษฐาน “พระองค์หลวง” อันงดงาม และที่ผนังสิมด้านหลัง (ด้านนอก) ประดับลาย “ดอกดวง” หรือลายกระจกสี ทำเป็นรูป “ต้นทอง” ท่ามกลางสัตว์หลายชนิดกับตำนานนิทานพื้นบ้าน และที่มาของชื่อเมือง “เชียงทอง” ซึ่งเป็นชื่อเดิมของหลวงพระบาง

ภายในวัดยังมี “หอพระพุทธไสยาสน์” ด้านในประดิษฐานองค์พระนอนอายุเก่าแก่กว่า 400 ปีให้ได้กราบขอพร และที่ผนังสิมด้านนอกงดงามด้วยการประดับกระจกสีเล่าเรื่องราวคติสอนใจจากนิทานพื้นบ้าน และภาพวิถีชีวิตชาวหลวงพระบางในอดีต แล้วก็มีช่องหน้าต่างที่นักท่องเที่ยวนิยมใช้เป็นจุดถ่ายภาพที่ระลึก โดยถ่ายรูปคู่กับหน้าต่างแล้วได้ภาพลวดลายการประดับกระจกสีที่ผนังสิมด้านนอกอันสวยงาม

แล้วยังมี “หอพระม่าน” โดยปกติหอพระม่านจะปิดไว้ไม่ได้เปิดให้เข้าไปชม ซึ่งพระม่านถือเป็นหนึ่งในพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญของหลวงพระบาง (เช่นเดียวพระบาง) เป็นที่พึ่งทางใจของชาวลาว ในทริปนี้เราได้รับโอกาสพิเศษจากทางวัด เปิดหอพระม่านให้ได้เข้าไปไหว้ขอพรพระม่าน และพระพุทธรูปองค์สำคัญอื่นๆ ถือว่าเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองเป็นยิ่งนัก

นอกจากสิมและหอพระแล้วก็ยังมี “โรงเมี้ยนโกศ” หรือ “โรงราชรถ” ที่งดงามด้วยศิลปะงานแกะสลักไม้อันงดงามทาด้วยสีทองเหลืองอร่ามงามตา ภายในเป็นที่เก็บราชรถที่เคยใช้ในการอัญเชิญพระโกศของพระเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ และมีพระพุทธรูปไม้โบราณล้ำค่าให้ได้ชมมากมาย

ได้ไหว้พระจนอิ่มบุญที่วัดเชียงทองแล้ว เรามาเที่ยวอีกหนึ่งที่เที่ยวไฮไลต์ คือ “หอพิพิธภัณฑ์เมืองหลวงพระบาง” (พระราชวังหลวงเดิม) เพื่อมาไหว้ “พระบาง” ชื่อเต็มคือ “พระบางพุทธลาวรรณ” ประดิษฐานอยู่ภายใน “หอหลวงพระบาง” ที่มีสถาปัตยกรรมแบบศิลปกรรมล้านช้างอันงดงาม ทาด้วยสีทองเหลืองงามอร่ามตา การมาไหว้พระบางต้องแต่งกายสุภาพ และไม่สามารถถ่ายภาพได้

“พระบาง” เป็นพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อันเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองหลวงพระบาง แล้วยังเป็นพระพุทธรูปสำคัญที่สุดของสปป.ลาว ซึ่งทุกๆ ปีในช่วงสงกรานต์ (บุญปีใหม่ลาว) จะมีการนำพระบางออกมาให้ชาวลาวและนักท่องเที่ยวได้ร่วมสรงน้ำกัน

หลังจากไหว้พระบางเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองแล้ว ไปเที่ยวชม “หอพิพิธภัณฑ์หลวงพระบาง” กันต่อ ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมยุโรปผสมล้านช้าง อนุญาตให้ถ่ายรูปได้เฉพาะภายนอก ส่วนภายในไม่ให้นำมือถือหรือกล้องเข้าไปถ่ายภาพแล้วก็แต่งกายให้สุภาพ

ภายในหอพิพิธภัณฑ์หลวงพระบาง เมื่ออดีตเป็นพระราชวังหลวงเดิมของเจ้ามหาชีวิต เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นพิพิธภัณฑ์ภายในจัดเป็นห้องต่างๆ ให้เดินชม อาทิ ห้องพระโรงใหญ่ ห้องพิธีการ ห้องบรรทม ห้องทรงงาน เป็นต้น แต่ละห้องจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ ฉลองพระองค์ของกษัตริย์ พระราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ ของลาวในสมัยเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ จนถึงสมัยเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา พระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้าย แล้วยังมีโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุอันล้ำค่าต่างๆ มากมายให้ได้ยลอาทิ พระพุทธรูปทองคำ บัลลังก์ ธรรมาสน์ ข้าวของเครื่องใช้เก่าแก่ที่หาชมได้ยาก

ชมสมบัติเก่าแก่ล้ำค่าและได้ไหว้พระบางจนอิ่มเอมใจแล้ว เราเดินออกมาแล้วข้ามถนนมาอีกฝากฝั่งหนึ่ง เพื่อมาไหว้ “พระธาตุพูสี” พระธาตุศักดิ์สิทธิ์สีทองอร่ามคู่บ้านคู่เมืองหลวงพระบาง สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2347 เป็นเหมือนหลักเมืองหลวงพระบาง การจะมาไหว้พระธาตุพูสี เรียกว่าต้องออกกำลังขากันสักหน่อย เพราะต้องเดินเท้าขึ้นบันไดหลายร้อยขั้น ไต่ระดับขึ้นเขาไปเรื่อยๆ ท่ามกลางธรรมชาติอันรื่นรมย์ ผ่านซุ้มดอกจำปา (ลั่นทม-ลีลาวดี) อายุนับร้อยปี

เมื่อเดินขึ้นมาถึงบนยอดเขา ก็จะได้เห็นองค์พระธาตุสีทองงดงามอร่ามตาตั้งเด่นเป็นสง่าให้ได้กราบสักการะ แล้วก็ยังมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ให้ได้กราบขอพร อีกทั้งด้านบนยอดพูสีแห่งนี้ ยังเป็นจุดชมวิวขึ้นชื่อที่เมื่อมองไปแบบไกลสุดลูกหูลูกตา จะได้เห็นวิวทิวทัศน์เมืองหลวงพระบาง วิวแม่น้ำโขง แม่น้ำคาน เคียงคู่บ้านเมืองอันสงบงาม

เมื่อยามเย็นมาเยือนก็ได้เวลาที่จะได้มาละลายทรัพย์กับการเดินชอปปิ้งที่ “ตลาดมืด” หรือ “ตลาดกลางคืนหลวงพระบาง” เป็นถนนคนเดินที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากนักท่องเที่ยว เพราะว่ามีการปิดถนนศรีสว่างวงศ์ยาวตลอดไม่ให้รถวิ่ง แล้วก็มีพ่อค้าแม่ค้ามาตั้งร้านรวงขายของมากมาย ให้ได้เดินชอปปิ้งกันเพลินๆ ตั้งแต่เย็นย่ำจนค่ำมืด

ตลอดแนวของถนน คลาคล่ำไปด้วยร้านค้าที่มีสินค้าพื้นเมืองหลากหลายให้เลือกซื้อหากันอย่างเพลิดเพลิน อาทิ ผ้าทอมือกระเป๋าพื้นเมือง เสื้อผ้าสกรีนลาย เครื่องเงิน ภาพวาดศิลปะ รวมถึงของฝากของที่ระลึกน่ารักน่าซื้ออีกมากมาย ซึ่งการมาได้มาเยือน “หลวงพระบาง” ก็เหมือนได้มาสัมผัสกับประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมประเพณีอันงดงาม ที่ชาวลาวร่วมใจกันอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี ควรคู่แล้วกับการได้เป็นเมืองมรดกโลกอันมีเสน่ห์

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0