โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

สอนลูกออมเงิน สอนลูกให้ใช้เงินเป็น ทำอย่างไร

Motherhood.co.th

เผยแพร่ 18 ส.ค. 2562 เวลา 11.30 น. • Motherhood.co.th Blog
สอนลูกออมเงิน สอนลูกให้ใช้เงินเป็น ทำอย่างไร

สอนลูกออมเงิน สอนลูกให้ใช้เงินเป็น ทำอย่างไร

ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ไม่สู้จะดีนักในยุคนี้ ทำให้การออมเงินที่เป็นเรื่องจำเป็นอยู่แล้ว ยิ่งทวีความสำคัญขึ้นไปอีก สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือ "สอนลูกออมเงิน" การปลูกฝังความมีวินัยในการใช้เงิน รวมทั้งความรู้ความเข้าใจที่จะจัดการกับเงินที่ตัวเองมี ถือเป็นพื้นฐานการใช้ชีวิตอย่างหนึ่งที่โรงเรียนไม่อาจให้ได้ ก็เป็นหน้าที่หลักของพ่อแม่ที่จะเป็นคนสอนลูกให้เข้าใจถึงสิ่งเหล่านี้ หาไม่แล้ว เด็กๆของเราจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ล้มเหลวในการรับมือกับเรื่องเงินๆทองๆของตัวเอง และยิ่งจะมีปัญหาหนักแน่เมื่อเศรษฐกิจถดถอย แต่พ่อแม่จะเริ่มต้นในการสอนลูกถึงเรื่องพวกนี้ยังไงละ ไม่ต้องกังวลไปค่ะ Motherhood ได้รวมรวบไอเดียเบื้องต้นของการสอนลูกเรื่องเงินมาให้แล้ว

ถึงจะยังเด็ก เขาก็สามารถมีความรู้เรื่องการเงินตามวัยได้
ถึงจะยังเด็ก เขาก็สามารถมีความรู้เรื่องการเงินตามวัยได้

ถึงแม้ว่าหน้าที่การหาเงินเข้าบ้านจะเป็นของคุณพ่อคุณแม่ ไม่ใช่ของเด็กๆ แต่เขาก็มีส่วนช่วยเรื่องการเงินของที่บ้านได้ผ่านทางการอดออม และการมีความรู้ที่จะจัดการกับเรื่องเงินๆทองๆได้ตามวัยของเขา แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้เขาจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อพ่อแม่ให้ความรู้กับเขา เริ่มสอนตั้งแต่วัยเด็ก ให้เขาได้ซึมซับไปเรื่อยๆ ทีละเล็กละน้อย จนกลายเป็นนิสัยที่ดี แต่บางบ้านก็อาจจะยังไม่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ หรืออาจจะไม่รู้มาก่อนว่าบางสิ่งที่กำลังทำกันอยู่จะเป็นต้นเหตุเพาะนิสัยทางการเงินที่ไม่ดีของเด็กได้

4 ข้อที่พ่อแม่มักทำพลาดในเรื่องการเงิน

1. ไม่กำหนดค่าขนมลูกแบบตายตัว

พ่อแม่บางคนให้ค่าขนมกับลูกเป็นครั้งคราวไป โดยจะให้ลูกมาขอใหม่เมื่อเขาใช้เงินก้อนเดิมหมด หรือมาขอเมื่อต้องการซื้ออะไรเป็นครั้งๆ การกระทำแบบนี้จัดว่าไม่ดี เพราะเราจะไม่ได้สอนลูกให้รู้จักความสม่ำเสมอ และเขาจะไม่สามารถเข้าใจคอนเซปต์ของการเก็บออมเงิน รวมไปถึงวางแผนการใช้จ่าย เพราะเมื่อเด็กใช้หมดก็จะได้เงินเพิ่มจากพ่อแม่ตลอด เขาจึงไม่รู้จักประหยัดเงิน พอใช้หมดแล้วก็สามารถขอได้อีกเรื่อยๆ หากพ่อแม่ได้มีการกำหนดค่าขนมตายตัว ก็จะทำให้เด็กๆรู้จักการวางแผนการเงินสำหรับอนาคต โดยจะต้องบริหารเงินที่มีอยู่จนกว่าจะได้ค่าขนมรอบต่อไป และหากอยากได้ของอะไร เขาจะรู้จักกันเงินเก็บไว้ส่วนหนึ่งเพื่อซื้อของนั้นๆได้

2. ให้ค่าขนมลูกมากเกินไป

ด้วยความที่ข้าวของในปัจจุบันนี้มันแพงขึ้น พ่อแม่หลายคนอาจจะกลัวว่าลูกจะมีเงินไม่พอกินพอใช้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ควรให้ค่าขนมกับลูกมากจนเกินพอดี ถึงแม้ว่าพ่อแม่จะมีเงินมากพอที่จะให้เขาก็ตาม สิ่งที่สำคัญคือการสอนลูกให้รู้จักการรอสิ่งที่อยากได้ การจัดลำดับความสำคัญของการใช้เงิน และการแยกความอยากกับความจำเป็น การมีงบประมาณจำกัดจะช่วยสอนลูกให้เข้าใจว่าคนเราไม่จำเป็นต้องได้ทุกอย่างในทันที และองต้สอนลูกว่าควรซื้อของที่จำเป็นมากกว่าของที่อยากได้เฉยๆ คุณพ่อคุณแม่ต้องลองประมาณค่าใช้จ่ายของลูกๆดูว่า ในแต่ละวันเขาจะใช้เงินซื้ออาหารหรือเครื่องดื่ม และมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางไป-กลับโรงเรียนประมาณเท่าไหร่ อาจจะเพิ่มให้อีกนิดหน่อยเพื่อให้เขาได้ฝึกเก็บออม แต่อย่าให้มากจนเกินไป

และหากลูกๆอยากได้ของอะไรที่ใช้เงินเยอะหน่อย คุณพ่อคุณแม่ก็อย่าเพิ่งให้เงินเขาไปซื้อในทันที แต่ลองสอนลูกให้หาวิธีที่จะมีเงินไปซื้อของ เช่น ออมเงินจากค่าขนมบางส่วนทุกเดือน หรือถ้าเป็นเด็กที่โตขึ้นมาหน่อยก็หางานพาร์ทไทม์ทำเพื่อให้มีรายได้เพิ่มเติม

3. ไม่คุยกับลูกเรื่องการออม

หลายบ้านยังมีความเชื่อว่า เด็กๆมีหน้าที่ตั้งใจเรียนหนังสือให้สูงๆ ส่วนพ่อแม่มีหน้าที่ทำงานหาเงินไว้ให้พวกเขาเรียนเท่านั้น แต่หน้าที่สำคัญอีกหนึ่อย่างของพ่อแม่ทั้งหลายก็คือ การสอนลูกให้รู้จักรับผิดชอบตัวเอง รวมทั้งการเก็บออมเงิน ซึ่งเราสามารถสอนลูกเก็บเงินเป็นก้าวแรกของการวางแผนการเงิน โดยให้เด็กๆได้ลองเก็บเงินส่วนหนึ่งจากค่าขนมที่เขาได้รับทุกเดือน ไม่ว่าจะจำนวนน้อยหรือมากก็ได้ หรือว่าจะเปิดบัญชีเงินออมให้ลูกๆ โดยสอนลูกให้รู้จักความสม่ำเสมอเป็นหลัก

4. ให้เงินแลกเกรด

เห็นมามากมายหลายบ้านเลย ที่มักจะติดสินบนกับลูกเป็นของเล่นแพงๆหรือเงินจำนวนมากพอสมควร เพื่อให้ลูกตั้งใจเรียนและได้เกรดดีๆ ซึ่งในระยะยาวจะทำให้เด็กขาดแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ด้วยตัวเองและทำเพื่อเงินแทน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการสอนลูกให้มีนิสัยใฝ่รู้ และตั้งใจเรียนด้วยตัวเองให้ได้ เพื่อที่เด็กจะได้ตั้งใจทำงานทุกอย่างให้สำเร็จไม่ว่าเขาจะได้ผลตอบแทนหรือไม่ การให้รางวัลลูกเป็นสิ่งที่ดี แต่อย่าให้เหมือนการติดสินบนกับเด็กจนเกินไป ไม่อย่างนั้นแล้วโตไปเขาจะกลายเป็นคนที่ชอบตั้งเงื่อนไขในการทำงาน หรือติดนิสัยที่จะทำอะไรก็จะมุ่งเน้นถึงผลตอบแทนก่อนเสมอ ไม่มีนิสัยที่อยากทำสิ่งต่างๆเพื่อพัฒนาตัวเอง แต่ทำเพราะได้เงินได้ผลประโยชน์เป็นหลัก

หากคุณพ่อคุณแม่บ้านไหนยังเผลอทำตาม 4 ข้อที่กล่าวมา ต้องรีบปรับเปลี่ยนได้แล้ว เพราะมันจะเป็นอุปสรรคที่ใหญ่มากในการสร้างวินัยทางการเงินและการอดออมให้กับเด็กๆ

สอนให้เขาอดออมเพราะมันคือสิ่งจำเป็น ไม่ใช่แค่การเก็บเงินเพื่อจะซื้อของที่อยากได้
สอนให้เขาอดออมเพราะมันคือสิ่งจำเป็น ไม่ใช่แค่การเก็บเงินเพื่อจะซื้อของที่อยากได้

10 แนวทางสอนลูกใช้เงินและเก็บเงิน

1. สอนให้ลูกรู้ถึงที่มาและคุณค่าของเงิน

บางทีเด็กเล็กๆอาจจะถามคุณพ่อคุณแม่ว่าเงินที่เราใช้จ่ายกันอยู่นั้นพ่อแม่ได้มาจากไหน สิ่งที่ดีที่สุดคือการตอบเขาไปตามความจริง การสอนลูกว่าเงินได้มาอย่างไร จะทำให้ลูกรู้จักคุณค่าของเงิน เริ่มต้นด้วยการสอนว่า คนที่ทำงานจะได้เงิน เช่น ได้เงินจากการค้าขาย ทำงานในสิ่งที่ตัวเองถนัด หรือการเป็นพนักงานบริษัท รวมทั้งต้องสอนให้ลูกรู้จักคุณค่าของเงิน ให้เขาว่ารู้เงินที่เขาใช้มาจากน้ำพักน้ำแรงของพ่อกับแม่ ในวันนี้ที่ลูกยังหาเงินเองไม่ได้ สิ่งที่เขาจะช่วยพ่อกับแม่ได้ คือ การใช้จ่ายอย่างประหยัด ใช้จ่ายสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่ฟุ่มเฟือย

เพื่อทำให้เด็กเข้าใจง่ายขึ้น พ่อแม่ลองจ้างลูกทำงานบางอย่างเป็นพิเศษ นอกเหนือจากกิจวัตรประจำวันที่คุณสั่งสอนให้ลูกทำเป็นประจำ เช่น ให้ลูกเก็บของเล่นหรือเสื้อผ้าที่เขาใส่ไม่ได้แล้วแต่ยังมีสภาพดีอยู่ เพื่อนำไปขายเป็นของมือสอง แล้วแบ่งเป็นเงินค่าจ้างให้ลูก จากนั้นก็สอนลูกออมเงินต่อได้ด้วย

2. สอนให้ใช้จ่ายประหยัด แต่ตั้งงบประมาณแบบง่ายๆ

ฝึกให้ลูกได้รู้จักกับการตั้งงบประมาณในการจับจ่ายใช้สอยผ่านการเล่นเกม เช่น เล่นเกมซื้อขาย โดยกำหนดงบประมาณให้ลูก แล้วให้ลูกเขียนสิ่งของที่ต้องการช้อปปิ้ง แล้วสอนวิธีการใช้เงินให้คุ้มค่า ผ่านสิ่งของที่เขาอย่างได้ว่าสิ่งไหนแพงเกินไป หรือของชิ้นไหนที่ไม่จำเป็น ให้ลูกได้คำนวณและหาวิธีที่จะได้สิ่งของที่อยากได้หลายๆอย่างภายในงบประมาณที่จำกัด และรู้จักตัดใจในการไม่ซื้อสิ่งของที่ยังไม่มีความจำเป็น

3. ให้ค่าขนมเป็นรายสัปดาห์ เพื่อสอนการออม

การให้เงินลูกเป็นรายสัปดาห์ก็เป็นอีกวิธีที่จะช่วยให้ลูกรู้จักอดออม หากลูกมีของที่อยากได้ ก็ให้เขาตั้งเป็นเป้าหมายและเก็บเงินเพื่อซื้อของสิ่งนั้น ให้ลูกหยอดกระปุกทุกๆวันจากเงินค่าขนมที่เหลือ ถ้าลูกเก็บเงินครบเมื่อไหร่ คุณพ่อคุณแม่จะพาไปซื้อของทันที แต่ต้องสอนด้วยว่าการออมเงินเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่แค่อดออมเพื่อจะได้ซื้อของที่อยากได้เท่านั้น แต่ต้องเก็บเงินไว้ใช้ในยามจำเป็นด้วย และต้องคำนึงถึงอนาคต เมื่อเขาเติบโตขึ้นไปจะได้ไม่ลำบาก

ให้เงินลูกเป็นรายสัปดาห์ เพื่อให้เขาฝึกบริหารเงินค่าขนมตัวเอง
ให้เงินลูกเป็นรายสัปดาห์ เพื่อให้เขาฝึกบริหารเงินค่าขนมตัวเอง

4. ให้ดอกเบี้ยเพิ่ม เมื่อออมเงินได้

ถ้าพ่อแม่เพิ่มดอกเบี้ยหรือให้เงินเพิ่มเป็นพิเศษกับลูก จะช่วยจูงใจให้เด็กอยากอดออมเงินจนถึงเป้าหมาย ปรับพฤติกรรมการเก็บเงินอย่างเป็นระบบ อีกทั้งยังเป็นพื้นฐานการสอนลูกเรื่องการเก็บออมเงินในธนาคารแล้วได้ดอกเบี้ย เพื่อให้ลูกเรียนรู้ว่าการเก็บออมเงินต้องหมั่นทำเป็นประจำ

5. สอนให้แยกแยะ want กับ need

การเก็บออมเงินให้ได้ในสิ่งของที่ตัวเองต้องการเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าลูกไม่รู้จักแยกแยะว่าสิ่งไหนจำเป็น สิ่งไหนไม่จำเป็น จะทำให้ลูกใช้จ่ายอย่างสนุกมือ เก็บได้เท่าไหร่ก็จะเอาออกไปใช้จ่ายกับทุกสิ่งที่อยากได้ แบบนี้นับว่าไม่ถูก พ่อแม่ควรจะสอนลูกเรื่องอดออมเงินไปพร้อมๆกับการให้ลูกเรียนรู้ว่า สิ่งของที่จำเป็นสำหรับชีวิตประจำวันนั้นมีอะไรบ้าง ไม่ใช่ว่าลูกอดออมเพื่อไปซื้อของเล่นแต่ไม่มีเงินกินข้าว เพื่อฝึกฝนไม่ให้ลูกใช้เงินกับสิ่งที่ไม่จำเป็นมากเกินไป โดยพ่อแม่สามารถลิสต์สิ่งของที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต และให้เขาเรียนรู้ที่จะจัดลำดับความสำคัญเวลาซื้อของ

6. ประเมินความคุ้มค่า ความเหมาะสม

สิ่งของที่ลูกใช้ ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋านักเรียน ต้องสอนให้เขารักษา ใช้งานอย่างคุ้มค่า หากยังใส่ได้อยู่หรือยังซ่อมได้ ก็ควรใช้ของเดิม อุปกรณ์การเรียนหรือเครื่องเขียน ปากกา ดินสอ ยางลบ ต้องเก็บรักษาให้ดี ไม่ควรทำหาย และหากของเดิมยังใช้ได้ ต้องใช้ให้คุ้มค่า ก่อนจะซื้อของใหม่ เสื้อผ้าและของที่ใช้ไม่จำเป็นต้องเป็นของแพงเสมอไป เพราะเด็กๆโตเร็ว เสื้อผ้าหรือรองเท้าใช้ไม่นานก็ต้องเปลี่ยนใหม่

สอนให้ลูกรู้จักประมาณตน อาจมีเพื่อนๆใช้ของที่แพง ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์ กระเป๋า หรือของใช้อื่นที่แพง เราไม่จำเป็นต้องใช้ตามเพื่อน เพราะลูกยังอยู่ในวัยเรียน จึงยังไม่เหมาะ และไม่มีความจำเป็นที่จะใช้ของพวกนี้

สอนให้ลูกแยกความจำเป็นกับความอยากได้ออกจากกัน
สอนให้ลูกแยกความจำเป็นกับความอยากได้ออกจากกัน

7. เทคนิคในการช็อปปิ้ง

บางครั้งเด็กๆซื้อขนมเพราะต้องการของแถมที่ล่อตาล่อใจ ซื้อมาแล้วก็ไม่สนใจจะกินขนมสักเท่าไหร่นัก พ่อแม่จึงควรสอนให้ลูกอย่าซื้อขนมเพื่อของแถม เพราะเป็นการใช้จ่ายเงินที่สิ้นเปลือง รวมทั้งเทคนิคในการเลือกซื้อของอย่างง่ายๆที่พ่อแม่สามารถแนะนำให้ลูกทำได้คือ การซื้อของแบบหลายชิ้นหรือยกโหลจะได้ราคาต่อชิ้นที่ถูกกว่าการซื้อแบบชิ้นเดียว ซึ่งเทคนิคนี้จะใช้ได้ดีกับสินค้าที่เราใช้เป็นประจำเป็นจำนวนมาก

8. สอนทำบันทึกรายรับรายจ่าย

การทำบัญชีรายรับรายจ่ายจะช่วยให้เด็กรู้ว่าเงินค่าขนมที่ได้รับในแต่ละวันถูกใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง หากเงินที่ได้รับในแต่ละวันหรือสัปดาห์ไม่พอใช้จ่าย บัญชีรายรับรายจ่ายจะช่วยให้เด็กรู้ว่าควรปรับลดค่าใช้จ่ายส่วนใด เพื่อให้เงินค่าขนมที่ได้รับในแต่ละวันเพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ให้พ่อแม่เช็คคอยทุกสัปดาห์ว่าลูกใช้จ่ายอะไรไปบ้าง ของกินที่ไม่มีประโยชน์ เช่น ลูกอม น้ำอัดลม อะไรที่ไม่มีประโยชน์ อะไรที่ลูกไม่ควรซื้อ พ่อแม่ต้องอธิบายเหตุผลให้ลูกเข้าใจ

9. แยกกระปุกออมสิน

แบ่งกระปุกออมสินแต่ละกระปุกตามเป้าหมายการใช้เงิน กระปุกหนึ่งเก็บไว้เพื่อซื้อของที่อยากได้ และต้องเป็นของที่เป็นประโยชน์ เช่น หนังสือ ส่วนอีกกระปุกเป็นเงินออมระยะยาว

หากลูกเริ่มโต ค่อยๆสอนเรื่องผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลากหลายแบบที่ครอบครัวใช้งาน
หากลูกเริ่มโต ค่อยๆสอนเรื่องผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลากหลายแบบที่ครอบครัวใช้งาน

10. ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์การเงิน

หากลูกเป็นเด็กโต ให้บอกและสอนเขาว่าคุณพ่อคุณแม่ฝากเงินไว้ที่ไหน หรือนำเงินไปลงทุนอะไรไว้บ้าง อธิบายให้ลูกเข้าใจถึงความเสี่ยงและข้อแตกต่างของการออมแต่ละประเภท และต้องสอนลูกว่าอย่าเก็บเงินไว้ในที่ๆเดียว เพราะนั่นคือความเสี่ยง เราควรกระจายแหล่งเก็บเงินของเรา

หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับคุณพ่อคุณแม่ที่อยากนำไปสอนลูกนะคะ แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันเลยก็คือ การเป็นแบบอย่างการใช้เงินที่ดีให้กับลูก พราะการสอนที่ดีคือการทำเป็นตัวอย่างให้กับลูก สอนเขาเรื่องเงินในวันนี้ เพื่ออนาคตที่ดีของลูกในวันข้างหน้านะคะ

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th 

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0