โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

สอท.จ่อคุยรมว.พลังงานคนใหม่เร่งเปิดตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรี

ไทยโพสต์

อัพเดต 20 พ.ค. 2562 เวลา 03.52 น. • เผยแพร่ 20 พ.ค. 2562 เวลา 03.52 น. • ไทยโพสต์

20 พ.ค. 2562 นายนที สิทธิประศาสน์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า กลุ่มผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวล ส.อ.ท. มีแผนจะเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ ภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เรียบร้อยแล้ว เพื่อชี้แจงให้รับทราบถึงสถานการณ์พลังงานและปัญหาของผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวล หลังจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี 2018) ฉบับใหม่มีความชัดเจนว่าการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ในส่วนของเชื้อเพลิงชีวมวล ปลายแผนปี2580 จะอยู่ที่ 4,700 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีสัญญาซื้อขายราว 2,000 เมกะวัตต์ และจะทยอยหมดอายุลงเหลือประมาณ 1,200 เมกะวัตต์ในปี 2580 

ดังนั้น จะมีปริมาณรับซื้อเพิ่มอยู่ที่ราว 3,500 เมกะวัตต์ในปี 2580 แต่ในช่วง 3 ปีนี้ รัฐยังไม่เปิดรับซื้อไฟฟ้าชีวมวลโครงการใหม่ๆ แม้ว่าในแผนพีดีพี 2018 จะกำหนดส่งเสริมโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐฯ 120 เมกะวัตต์ และชีวมวล 3 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งก็เป็นการกำหนดรับซื้อเฉพาะบางพื้นที่และมีปริมาณไม่มากนัก 

“ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวล แม้จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายหยุดรับซื้อไฟฟ้าใน 3 ปีนี้ แต่มองว่าประเทศจะเสียโอกาสจากการพัฒนาโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใช้เงินลงทุนราว 50-60 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ ช่วยให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น จากการซื้อขายวัตถุดิบการเกษตรป้อนโรงไฟฟ้า”นายนที กล่าว

ดังนั้น การส่งเสริมโรงไฟฟ้าชีวมวลให้เป็นไปตามแผนพีดีพีฉบับใหม่ และดูแลผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวลในช่วงที่รัฐหยุดรับซื้อไฟฟ้า มองว่า ภาครัฐควรเปิดให้บุคคลที่ 3 เข้ามาใช้โครงสร้างพื้นฐานซื้อขายไฟฟ้า(เติร์ดปาร์ตี้) หรือเปิดเสรีธุรกิจไฟฟ้า เพื่อปลดล็อคให้เกิดการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างหน่วยงานเอกชนกับเอกชน (พีพีเอ)ได้ ซึ่งจะทำให้เอกชนสามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อซื้อขายกันเองได้โดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องรอให้รัฐเปิดโครงการรับซื้อไฟฟ้า  ขณะเดียวกันผู้ซื้อกับผู้ขายยังสามารถตกลงกันได้ในราคาที่พอใจกันทั้ง 2 ฝ่าย และไม่ทำให้การลงทุนผลิตไฟฟ้าหยุดชะงักลง   

นายนที กล่าวว่า ภาคเอกชนไม่ได้คัดค้านการเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ในอนาคตจะเป็นรูปแบบการเสนอราคาแข่งขัน(บิดดิ้ง) แต่ในส่วนของเชื้อเพลิงชีวมวลนั้น รัฐควรกำหนดประเภทของวัตถุดิบบนพื้นฐานต้นทุนที่เท่าเทียมกัน เพื่อให้การแข่งขันเป็นธรรมที่สุด อีกทั้งมองว่า การส่งเสริมผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนไม่ควรมองแค่มิติค่าไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว หรือ ห่วงว่าจะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าแพง แต่ควรพิจารณาให้ครอบคลุมมิติอื่นๆ เช่น สิ่งแวดล้อม และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นด้วย 

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการพลังงานหมุนเวียนไม่ได้กังวลว่ารัฐจะหยุดรับซื้อไฟฟ้ากี่ปี แต่ต้องการเห็นนโยบายด้านพลังงานที่มีความต่อเนื่องและไม่สะดุดลง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0