โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

สหรัฐฯ ทดสอบ 'วัคซีนแผ่นแปะโควิด'

กรุงเทพธุรกิจ

เผยแพร่ 06 เม.ย. 2563 เวลา 01.00 น.

วารสาร EBioMedicine เผยแพร่ผลงานวิจัยวัคซีนแบบแผ่นแปะต้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) ที่วิทยาลัยการแพทย์ มหาวิทยาลัยพิทท์เบิร์ก สหรัฐ เร่งพัฒนาโดยอาศัยพื้นฐานความรู้จากประสบการณ์ไวรัสซาร์สในปี 2546 และไวรัสเมอร์ส ปี 2557 

ผศ.แอนเดรีย แกมบอตโต้ นักวิจัยอาวุโสจากวิทยาลัยการแพทย์ กล่าวว่า ไวรัส 2 ชนิดข้างต้นมีความคล้ายคลึงอย่างมากกับไวรัสโคโรนาตัวใหม่ (SARS-CoV-2) ช่วยนำทางไปยังโปรตีนพิเศษที่เรียกว่า สไปก์ โปรตีน (spike protein) ที่มีความสำคัญอย่างมากในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายเพื่อต้านเชื้อไวรัส

PittCoVacc หรือวัคซีนโคโรนาพิทท์เบิร์ก ใช้โปรตีนไวรัสที่สร้างในห้องปฏิบัติการ เพื่อกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย เป็นวิธีการเดียวกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน นักวิจัยยังใช้วิธีการใหม่นำส่งวัคซีนในรูปแบบ “แผ่นแปะเข็มนาโน” โดยมีขนาดเท่านิ้วมืออัดแน่นด้วยเข็มจิ๋วกว่า 400 ชิ้น ที่ทำขึ้นจากน้ำตาลและโปรตีน ทำหน้าที่นำส่งสไปก์โปรตีนเข้าสู่ผิวหนัง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กระบวนการภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นอย่างแข็งแกร่งที่สุด

158608782672
158608782672

ศ.หลุยส์ ฟาโล หัวหน้าฝ่ายจิตวิทยา (วิทยาการเกี่ยวกับผิวหนังและโรคผิวหนัง) วิทยาลัยการแพทย์ กล่าวว่า วัคซีนแผ่นแปะ พัฒนาขึ้นจากวิธีดั้งเดิมที่เป็นการขูดผิวหนังเพื่อนำส่งวัคซีนไข้ทรพิษ แต่เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น กระบวนการนำส่งก็มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถทำซ้ำเพื่อใช้กับผู้ป่วยจำนวนมาก

กระบวนการผลิตยังสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อย่างมาก ด้วยเทคโนโลยีวิศวกรรมแผ่นเซลล์ผ่าน “โรงงานผลิตเซลล์” (cell factory) เพื่อเพิ่มจำนวนสไปก์โปรตีน จากนั้นเข้าสู่กระบวนการทำเข็มนาโน ที่สามารถเก็บไว้ในอุณหภูมิห้องโดยไม่ต้องแช่เย็น

158608785346
158608785346

ทีมวิจัย PittCoVacc กล่าวถึงผลการทดสอบในหนูทดลอง พบว่า หลังได้รับวัคซีนนี้ ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต้านโคโรนาไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี เป็นรูปแบบเดียวกับผลการทดสอบวัคซีนไวรัสเมอร์สในสัตว์ทดลอง ทั้งยังคงประสิทธิภาพแม้จะผ่านการฆ่าเชื้อด้วยรังสีแกมมา ทำให้นวัตกรรมนี้สามารถใช้งานได้ในมนุษย์ 

"ทีมงานอยู่ระหว่างการยื่นขออนุมัติการทดสอบทางคลินิกกับคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐ เพื่อเดินหน้าทดสอบทางคลินิกหรือในอาสาสมัครในเฟสที่ 1 ภายในปีนี้ อาจต้องใช้เวลาถึง 1 ปีเป็นอย่างน้อย เพราะเป็นเทคโนโลยีใหม่ อีกทั้งสถานการณ์ใหม่ที่เราไม่เคยเจอ ทำให้ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า กระบวนการทดสอบทางคลินิกจะใช้เวลาเท่าไหร่ แต่หวังว่าจะเร่งมือให้เร็วที่สุด”ศ.ฟาโล กล่าว

158608816835
158608816835
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0