โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

สหภาพฯ ยื่นหนังสือนายกฯ ล้มขยาย 'สัมปทาน' ทางด่วน

กรุงเทพธุรกิจ

เผยแพร่ 23 พ.ค. 2562 เวลา 06.42 น.

แม้ว่าบอร์ดการทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือ กทพ.จะมีมติอนุมัติให้ขยายอายุสัมปทาน บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM ใน 3 โครงการออกไปอีก 30 ปี นับจากวันสิ้นสุดสัญญา เพื่อแลกกับการจ่ายค่าโง่กว่า 4.3 พันล้านบาทในโครงการทางพิเศษอุดรรัถยา หรือทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด และค่าโง่ในคดีปรับอัตราค่าผ่านทางโครงการทางด่วนศรีรัช ส่วน D ในปี 2546 อีก 1.9 พันล้านบาท รวมทั้งยุติข้อพิพาทที่มีอยู่ทั้ง 17 คดี แต่สุดท้ายแล้วคณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะอนุมัติตามมติบอร์ด กทพ.หรือไม่

ขณะที่รองประธานฝ่ายวิชาการ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กทพ. ยุวธิษา ธัญญเจริญ ระบุ สหภาพฯไม่เห็นด้วยกับมติบอร์ดดังกล่าว เพราะไม่มีข้อมูลชี้ชัดว่ากทพ.จะได้ประโยชน์จากการขยายอายุสัมปทานโครงการละ 30 ปี เพื่อแลกกับการจ่ายค่าโง่และยุติ 17 ข้อพิพาท

หากคำนวณในแง่ตัวเลขเบื้องต้น พบว่าการขยายอายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี ใน 3 โครงการ คือ ทางด่วนศรีรัช ทางด่วนศรีรัช ส่วน D และทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด มูลค่าการขยายอายุสัมปทานคิดเป็นวงเงินถึง 3 แสนล้านบาท ขณะที่วงเงินจาก 17 คดีข้อพิพาทมีมูลค่าประมาณ 1.37 แสนล้านบาทเท่านั้น

และที่สำคัญ ข้อพิพาทเหล่านี้ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการต่อสู้ในชั้นศาล จึงไม่สามารถสรุปได้ว่ากทพ.จะเป็นฝ่ายแพ้ทั้ง 17 คดี แต่บอร์ดกทพ.กลับตัดสินใจยอมแพ้ ทั้งที่ยังไม่ทันจะต่อสู้

รองประธานสหภาพฯ กทพ. ยังชี้ว่า มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 ให้กทพ.เจรจาต่อรองกับคู่พิพาท เพื่อบรรเทาความเสียหายของรัฐ หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้จ่ายชดเชยรายได้เอกชนในโครงการทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด 4.3 พันล้านบาท ซึ่งการเจรจาต่อรองต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส ชอบด้วยกฏหมาย และคำนึงถึงประโยชน์ขอบประเทศชาติเป็นหลัก และที่สำคัญคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดครอบคลุมเฉพาะค่าชดเชย 4.3 พันล้านบาทเท่านั้น แต่ไม่ได้รวมถึง 17 ข้อพิพาทที่บอร์ดกทพ.นำมาใช้กล่าวอ้าง

หลังจากนี้ สหภาพฯ กทพ.จะยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อขอให้คณะรัฐมนตรีเลื่อนการตัดสินขยายอายุสัญญาสัมปทานไปก่อน เพื่อรอให้รัฐบาลชุดใหม่เป็นผู้พิจารณา

ที่ผ่านมา ประธานกรรมการ กทพ. สุรงค์ บูลกุล ได้ชี้แจงพนักงานว่า หน้าที่ของบอร์ดกทพ.คือพิจารณาแนวทางที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหา แต่จะดีหรือไม่ดีอยู่ที่คณะรัฐมนตรีจะตัดสินใจ โดยยอมรับว่าแนวทางนี้ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด แต่เป็นทางออกที่ดีสุดในขณะนี้ เพราะจะทำให้ กทพ.ไม่ต้องเสียเงิน และพนักงานไม่ได้รับผลกระทบ

แม้ว่าหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ หรือแม้แต่พนักงาน กทพ. ออกมาเรียกร้องว่ารัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และเป็นรัฐบาลที่กำลังจะพ้นวาระ ไม่ควรตัดสินใจเรื่องใหญ่ขนาดนี้ ควรรอให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ แต่ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ ว่าจะรับฟังเหตุผลเหล่านี้หรือไม่

แต่ที่แน่ๆ รัฐบาลที่กล้าอนุมัติให้ขยายอายุสัมปทานเอกชนถึง 30 ปี ต้องได้รับการจารึกเป็นประวัติศาสตร์ เพราะตั้งแต่มีการให้สัมปทานสาธารณูปโภคพื้นฐานโครงการแรกจนถึงปัจจุบัน ยังไม่ปรากฎว่ามีโครงการใดได้รับการขยายอายุสัมปทานถึง 30 ปีมาก่อน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0