โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

สหกรณ์เกษตรอินทรีย์เชียงใหม่ “ต้นแบบ ” เกษตรอินทรีย์พอเพียงที่เข้มแข็ง

เทคโนโลยีชาวบ้าน

เผยแพร่ 23 ต.ค. 2561 เวลา 09.23 น.
Thumbnail รวมรูป ๑๗๐๖๐๕ 0001

สหกรณ์เกษตรอินทรีย์เชียงใหม่ จำกัด  จดทะเบียนเมื่อวันที่ 6  พฤศจิกายน พ.ศ.2546 สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 363 หมู่ 4 ตำบลหนองจ๊อม อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่  สมาชิกแรกตั้ง  202  คน ทุนแรกตั้ง  1,138,774.00  บาท  มีรายได้กว่าปีละ 4ล้านบาท

ปัจจุบัน สหกรณ์แห่งนี้ ดำเนินธุรกิจ 6 ธุรกิจ  ประกอบด้วย  ธุรกิจรวบรวมผลิตผล (รวบรวมข้าวเปลือก)   ธุรกิจสินเชื่อ ธุรกิจรับฝากเงิน ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย   ธุรกิจแปรูปผลผลิตทางการเกษตรและการผลิตสินค้าสหกรณ์รวบรวมข้าวเปลือกเพื่อแปรรูปเป็นข้าวกล้องเพื่อจำหน่าย   ธุรกิจให้บริการและส่งเสริมการเกษตร

สหกรณ์ดำเนินการจัดหาตลาดเพื่อจำหน่ายสินค้าการเกษตรอินทรีย์ให้สมาชิก มีรายได้ค่าบริหารตลาดนัด  มีรายได้กว่าปีละ 4 ล้านบาทโดยรายได้หลักมาจากธุรกิจแปรรูปผลผลิตและผลิตสินค้ามากที่สุด  รองลงมาเป็น ธุรกิจรวบรวมผลิตผล

ช่องทางการตลาดของสมาชิกสหกรณ์ ประกอบไปด้วย ตลาดในโรงเรียนดาราวิทยาลัย ตลาดในโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ตลาดนัดเจเจมาร์เก็ต    จำหน่ายวันเสาร์ ตลาดในมหาวิทยาลัยแม่โจ้ หมู่บ้าน Land and House แม่โจ้

และช่องทางการจำหน่ายข้าวอินทรีย์ ได้แก่ ร้านค้าสหกรณ์เกษตรอินทรีย์เชียงใหม่ จำกัด, เพิ่มช่องทางการจำหน่ายทาง website / Face book / Line, ตลาดนัดเกษตรอินทรีย์ และเครือข่ายร้านค้าสหกรณ์ในจังหวัดและต่างจังหวัด สำหรับกิจกรรมทางการตลาดที่น่าสนใจของสหกรณ์ คือ  ตลาดเกษตรอินทรีย์ ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ (สสส.) ณ บริเวณโครงการจริงใจมาร์เก็ด  และตลาดต้องชม ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์

ในปี 2560 ที่ผ่านมา  สหกรณ์ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือ ส่งเสริม หรือให้บริการสมาชิกในด้านการประกอบอาชีพเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน PGS ซึ่งเป็นจังหวัดนำร่องการรับรองร่วมกับมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย 1. หลักสูตรการเรียนรู้เรื่องการผลิตในระบบอินทรีย์ 2. การลดต้นทุนการผลิตพืชด้วยการผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือนในครัวเรือนและการผลิตจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง

3.การนำผลผลิตทางการเกษตรของสมาชิกมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม4. พัฒนาผลิตภัณฑ์/บรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับกลุ่มสมาชิก 5. ประชาสัมพันธ์ตลาด โดยเน้นสร้างความเข้าใจในระบบเกษตรอินทรีย์ให้กับผู้บริโภค เช่น ผู้บริโภคสัญจรไร่นา

โครงการที่สหกรณ์ได้ดำเนินการร่วมกับกรมฯ และหน่วยงานต่าง ๆ ในกระทรวงฯ ได้แก่ ศูนย์การเรียนรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต PGS ,  เกษตรอินทรีย์ เป็นต้น โดยสหกรณ์เกษตรอินทรีย์เชียงใหม่ จำกัด เข้าร่วมโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการผักปลอดภัย/อินทรีย์ในสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร

โครงการระบบการตรวจสอบย้อนกลับ ร่วมกับ กรมส่งเสริมสหกรณ์ โครงการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม PGS กับกรมพัฒนาที่ดินและมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย และเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการรับรอง โครงการเฝ้าระวังมาตรฐานสินค้าเกษตรของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)

และการกระจายสินค้าเกษตรอินทรีย์ร่วมกับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตร  ซึ่งแต่ละโครงการ ก่อให้เกิดความสำเร็จแก่สหกรณ์ สร้างความเข้มแข็งของสหกรณ์และการร่วมกลุ่มของเกษตรกร จนส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระดับชุมชนให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น

รุกตลาดผักอินทรีย์

นางจันทร์ทอน เสาร์แก้ว ผู้จัดการสหกรณ์เกษตรอินทรีย์เชียงใหม่ จำกัด กล่าวว่า สหกรณ์แห่งนี้มีการรวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการผลิตสินค้าเกษตร เริ่มแรกสมาชิกได้ทำการปลูกผักปลอดสารพิษ ซึ่งในตอนนั้นเรายังไม่รู้จักคำว่า “อินทรีย์” ส่วนหน้าที่หลักๆ ของสหกรณ์ก็จะมีการส่งเสริมสมาชิกในเรื่องของการผลิต การแปรรูป การตลาด การตรวจสารพิษตกค้าง การผลิตสินค้าตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และมาตรฐานอื่นๆ ที่สามารถส่งออกได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค โดยทางสหกรณ์ฯ จะเข้าไปแนะนำสมาชิกให้ปลูกพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นดินในแต่ละพื้นที่

 

นอกจากนี้ ทางสหกรณ์ฯ ยังได้เซ็นสัญญากับห้างสรรพสินค้าต่างๆ ในการจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ ซึ่งในปัจจุบันเรามีสมาชิก 300 ราย โดยจะมีการอบรมเพิ่มความรู้ การปรับปรุงดิน การปลูกพืช การเก็บเมล็ดพันธุ์ เพื่อความยั่งยืนของเกษตรกร ตลอดจนการพัฒนาสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าชนิดต่างๆ เช่น แยมหม่อน แชมพู น้ำยาล้างจาน ฯลฯ

“อยากจะบอกว่าการทำเกษตรอินทรีย์ในช่วงแรกๆ จะมีต้นทุนการผลิตสูงหน่อย ส่วนปีต่อๆ ไปต้นทุนก็จะลดลง ส่วนใหญ่จะใช้แรงงานภายในครัวเรือน เพราะจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มากทีเดียว โดยจะเน้นการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและได้รับมาตรฐานเป็นหลัก สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมสวนเกษตรอินทรีย์ของสมาชิกสหกรณ์ฯ ได้ตลอดเวลา”  นางจันทร์ทอน กล่าว

ด้านสมาชิกสหกรณ์เกษตรอินทรีย์เชียงใหม่ จำกัด คือ นางผ่องพรรณ สะหลี เจ้าของสวนฮ่มสะหลี อยู่บ้านเลขที่ 112/2 หมู่ 1 ต.ป่าไผ่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ เล่าว่า เดิมพื้นที่ตรงนี้เป็นนาข้าว จำนวน  2 ไร่ 70 ตารางวา ต่อมาได้มีการขุดบ่อ และขุดร่องทำสวน โดยเริ่มทำสวนมาตั้งแต่ปี 2556 ตอนแรกก็ปลูกไว้กินเอง ต่อมาก็เริ่มก็ปลูกเยอะขึ้นๆ โดยจะปลูกผักประเภทผักสวนครัว หรือผักที่ครอบครัวชอบกิน เช่น ผักกาด คะน้า กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว ถั่วพู ถั่วลันเตา พริกขี้หนู จิงจูฉ่าย ผักบุ้ง ผักตามฤดูกาล หรือผักเมืองหนาว เป็นต้น

นอกจากนี้ เรายังปลูกไม้ผลชนิดต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น มะม่วง ลำไย กล้วย มะพร้าว หม่อน อัญชัน เสาวรส อย่างละไม่กี่ต้น โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวงเป็นแบบอย่าง เริ่มจากการขุดร่อง ปลูกหญ้าแฝก และปลูกพืชผักอินทรีย์มาจนถึงปัจจุบัน

ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ ได้ให้การสนับสนุนช่วยเหลือในเรื่องของการรับซื้อผลผลิต เมล็ดพันธุ์ พร้อมทั้งจัดหาตลาดให้ด้วย จนกระทั่งทุกวันนี้ทำให้เรามีพืชผักไปวางขายที่กาดแม่โจ้ ตลาดเจเจ เฉพาะวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ มีรายได้ 8,000 กว่าบาทต่อสัปดาห์

“รู้สึกภูมิใจที่ได้มีอาชีพเกษตรกร มีชีวิตอย่างพอเพียง และยังเป็นเกษตรกรต้นแบบให้แก่เกษตรกรรายอื่นๆ อีก ซึ่งในอนาคตมีโครงการจะขยายพื้นที่ปลูกพืชผักอินทรีย์เพิ่มขึ้นอีกด้วย เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคมีมากขึ้น จึงอยากจะเชิญชวนให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชอินทรีย์กันมากขึ้น เพราะจะช่วยให้ผู้บริโภคมีความปลอดภัย และส่งผลดีต่อสุขภาพ รายได้ก็ดีกว่าการปลูกพืชด้วยสารเคมีอีกด้วย  ”  นางผ่องพรรณ กล่าวในที่สุด

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0