โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

สศก. เผยวิกฤตไวรัสโคโรนาทุบส่งออกสินค้าเกษตรไปจีนแล้ว 0.81 % หวั่นลากยาวกระทบล้ง ผลไม้

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 29 ม.ค. 2563 เวลา 13.41 น. • เผยแพร่ 29 ม.ค. 2563 เวลา 13.41 น.
1-422-1-1-728x486

สศก. ระบุไวรัสโคโรนา ทำตลาดสินค้าเกษตรจีนหาย 0.81 % หวั่นสถานการณ์ลากยาว กว่า 3 เดือน กระทบส่งออก ผลไม้ ทุเรียน-มังคุด-ลำไย-ลิ้นจี่

นายระพีภัทร จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (novel coronavirus 2019, 2019-nCoV) หรือไวรัสอู่ฮั่น ที่ก่อโรคปอดอักเสบ (pneumonia) ในเมืองอู่ฮั่น (Wuhan) มณฑลหูเป่ย (Hubei) ประเทศจีน ส่งผลกระทบระยะสั้นต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปจีนลดลง 0.81% เนื่องจากจีนปิดเมือง ต้องหยุดนำเข้าสินค้าเกษตรหลักๆ ที่ชาวเมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นเมืองเอกของมณฑลหูเป่ยและเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในมณฑลเหอเป่ย ที่ประชากรมีกำลังซื้อสูงและมีชาวต่างชาติอาศัยอยู่จำนวนมาก

ทั้งนี้สินค้าไทยที่นำเข้าหลักๆ คือผลไม้ ผัก อาหารและเครื่องดื่ม โดยสินค้าเกษตรส่งออกของไทย ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบในระยะแรก คือ ประเภทอาหารสด ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง รวมถึง ไก่ กุ้ง ปลา ทั้งสด และแช่เย็นแช่แข็ง เนื่องจากเป็นสินค้าบริโภคที่เน่าเสียง่าย ซึ่งผู้นำเข้าไม่สามารถกักตุนสินค้าดังกล่าวได้ในปริมาณมากๆ และขณะนี้ สินค้าที่จีนหยุดนำเข้าในทันทีจากการปิดเมืองต่างๆ ได้แก่ กล้วยหอม หากอีก 3 เดือน สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น จะส่งผลกระทบต่อสินค้าผลไม้ที่มีความอ่อนไหวอื่นๆ ได้แก่ ทุเรียน มังคุด ลำไย ลิ้นจี่ เพราะเป็นช่วงผลไม้ออกสู่ตลาดมาก เนื่องจากไทยส่งผลไม้ไปจีนมากกว่า 80%

ดังนั้น การส่งออกที่ลดลง ทำให้ล้ง ผู้ส่งออกรับซื้อผลผลิตลดลง จะส่งผลกระทบต่อการลดลงของราคาที่เกษตรกรขายได้ในที่สุดหากสถานการณ์การระบาดเพิ่มระดับความรุนแรงและยาวนาน กระทั่งประเทศจีนประกาศปิดเมืองต่างๆ เพิ่มขึ้นซึ่ง นอกจากผลกระทบที่เกิดกับอาหารสดแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าอื่นๆ เช่น ยาง มันสำปะหลัง และพืชน้ำมัน ที่อาจส่งออกลดลงอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปจีน มูลค่า 902,273.75 ล้านบาท โดยสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง มูลค่า 64,535.88 ล้านบาท ซึ่งมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากปี 2561 และขยายตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 2. ยางพารา มูลค่า 50,131.29 ล้านบาท 3. ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง มูลค่า 42,300.67 ล้านบาท 4. ข้าว มูลค่า 9,336.49 ล้านบาทและ5. ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง 6,858.65ล้านบาท

นายขจรจักษณ์ นวลพรหมสกุล รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ยอมรับว่าการระบาดของไวรัสโคโรนาในจีน ส่งผลกระทบกับการส่งออกยางพาราในระยะสั้น จากที่ธนาคารในจีนประกาศเลื่อนการเปิดบริการเป็นวันที่ 3 ก.พ. ดังสัญญาการส่งมอบยางระยะนี้ก็ต้องล่าช้าออกไปก่อน แต่โดยภาพรวมแล้วคาดว่าจะกระทบไม่มาก เนื่องจากยางพาราไม่เกี่ยวข้องกับการบริโภค และธุรกิจด้านนี้ยังเดินหน้าต่อไปได้

ส่วนนายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้เลี้ยงไก่เพื่อส่งออกไทย กล่าวว่า ในไตรมาสแรกนี้ออร์เดอร์ไก่ในตลาดจีน สั่งเรียบร้อยและส่งออกไปหมดแล้ว ดังนั้นการระบาดของโคโรนา คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบ แต่การรับออเดอร์เพื่อส่งไตรมาสที่ 2 ในช่วงนี้พบว่า มีน้อยลง เป็นไปได้ว่าผู้นำเข้าของจีนรอดูสถานการณ์ให้ชัดเจนกว่านี้ ซึ่งสมาคมได้ติดตามอย่างต่อเนื่อง และยังไม่กังวลมากนักเนื่องจากไก่เป็นอาหารบริโภคพื้นฐาน หากปิดประเทศจริงการสั่งซื้อก็ยังต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0