โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

สวัสดีน้อง "X Æ A-12" : Elon Musk กับเบื้องหลังการตั้งชื่อลูกสุดแนว - เพจวันนี้ชั้นติ่งอะไร

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 11 พ.ค. 2563 เวลา 17.29 น. • เพจวันนี้ชั้นติ่งอะไร

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา มหาเศรษฐีวิศวกรชื่อดัง Elon Musk (อีลอน มัสก์) ได้ประกาศผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า บุตรชายคนแรกของเขาและ Grimes (กริมส์) นักร้องนักดนตรีชื่อดังชาวแคนาดา ได้ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกแล้ว

อันที่จริงเรื่องเซเลปคนดังมีลูก ถึงจะเป็นเรื่องน่าดีใจที่ได้เห็นเด็กน้อยคนใหม่ แต่ก็คงไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่จะต้องพูดถึงหรือมีข่าวอะไรมากมายนัก

แต่ไม่ใช่กับมัสก์และกริมส์ค่ะ !

เพราะหลังโพสต์ภาพถ่ายพ่อหนูน้อยแล้ว เมื่อแฟน ๆ ถามว่า “ลูกชื่ออะไร” แกก็ตอบอย่างภาคภูมิใจและชัดถ้อยชัดคำว่า

“X Æ A-12”

เดี๋ยววววว แล้วมันอ่านหรือแปลว่าอะไรกันแน่เนี่ย !!

Elon Musk และบุตรชายคนคนล่าสุด (Credit: <a href=
@elonmusk)">
Elon Musk และบุตรชายคนคนล่าสุด (Credit: @elonmusk)

อันที่จริงเมื่อย้อนกลับไปที่มัสก์และกริมส์ เราจะพบว่าทั้งคู่ต่างเป็นบุคคลที่มั่นใจ มีเอกลักษณ์ มีหนทางของตนเองในระดับโลกไม่ลืม หรือจะว่า “อินดี้” เอามาก ๆ เลยก็ได้ค่ะ

ในขณะที่มัสก์เป็นวิศวกรระดับอัจฉริยะ ผู้ก่อตั้ง SpaceX และ Tesla กริมส์ก็เป็นนักดนตรีสาย Art pop และ Electronic ที่สร้างงานเพลงระดับแนวหน้าหาตัวจับยาก ต่างเป็นคนที่ไม่ซ้ำใครในแบบของตนจริง ๆ 

เมื่อทั้งคู่มีพยานรักร่วมกัน แน่นอนว่าต้องไม่ธรรมดา

และเมื่อน้อง “X Æ A-12” เกิดมา ชื่อของน้องก็กลายเป็นหัวข้อร้อนแรงระดับโลกทันที (แน่ล่ะสิ)

“X, the unknown variable”

ในรายการ The Joe Rogan Experience ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มัสก์เล่าว่าสองท่อนแรกของชื่อมาจากความคิดของกริมส์ 

X คือตัวแปรไม่ทราบค่า

ในสายวิทยาศาสตร์ที่ใช้การคำนวณทั้งหมด เรามักแทนคำตอบที่ต้องการหา และยังไม่ทราบค่าว่า X 

ดังนั้น X จึงเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง แต่ไม่ทราบว่าแท้จริงเป็นเช่นไร คนแก้โจทย์ไม่อาจบังคับกะเกณฑ์มันได้ ได้แต่เฝ้ามอง และรอคอยคำตอบที่จะค่อย ๆ เผยออกมา

ก็คงคล้ายกับความรู้สึกของพ่อแม่ ที่เฝ้ามองลูกเติบใหญ่ ไปเป็นอย่างที่ใจเขาต้องการนั่นเองค่ะ

อย่างไรก็ตาม แฟน ๆ กริมส์บางส่วนเชื่อมโยงชื่อนี้ กับแนวคิดเสรีภาพทางเพศ ที่ว่ามนุษย์สามารถเลือกเพศได้ โดยไม่ควรถูกจำกัดโดยเพศกำเนิด ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากคนรุ่นใหม่รวมถึงกริมส์ 

ระยะหลังแนวคิดนี้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง หลายประเทศอนุญาตให้ลงเพศในเอกสารราชการเป็น X ได้ รวมถึงรณรงค์การใช้สรรพนามที่ไม่บ่งบอกเพศ

นับเป็นพยางค์แรกของชื่อที่น่าสนใจจริง ๆ ค่ะ

“Æ, my elven spelling of Ai (love &/or Artificial intelligence)”

พยางค์ที่สอง ซึ่งเป็นพยางค์ที่มีปัญหาที่สุดของชื่อหนูน้อยคนใหม่ Æ

อันที่จริงอักษร Æ เกิดจากการเชื่อม A และ E ในภาษาละตินโบราณ ออกเสียงว่า “Ash แอช” โดยสัญลักษณ์ Æ นี้พัฒนาต่อเนื่องไปเป็นอักษรที่ใช้จริงในภาษาปัจจุบันหลายภาษา ทั้งเดนิช (เดนมาร์ก), นอร์วีเจียน (นอร์เวย์) หรือแม้แต่ภาษาอังกฤษเองก็มีอักษรนี้ค่ะ 

อย่างไรก็ตาม ยุคหลังความนิยมของ Æ ในภาษาอังกฤษลดลงไปมาก จนไม่มีที่ใช้และหายไปในที่สุด แต่เพราะหลายภาษาในทวีปยุโรปยังคงใช้อักษรนี้อยู่ หลายคนเมื่อเห็นชื่อของหนูน้อยจึงอ่านออกทันทีว่าแอช

คงคล้ายกับ ฃ ฅ ในภาษาไทย ที่รู้ว่าอ่านอย่างไรแต่ไม่เคยใช้นั่นเอง

โดยมัสก์เองก็ยืนยันว่า ชื่อลูกพยางค์นี้อ่านว่าแอชเช่นกัน

ทว่า

ในเมื่อกริมส์เป็นคนตั้ง ก็ย่อมต้องถามกริมส์ว่าอ่านอย่างไร

ทวิตเตอร์ของกริมส์กลับให้ข้อมูลต่างออกไป โดยบอกว่า Æ เป็นอักษรในภาษาเอลฟ์ อ่านว่า “Ai” 

!!!

คำอธิบายนี้ยิ่งมายิ่งงง เพราะเอลฟ์ในความเชื่อของชาวตะวันตก คือภูตพราย สิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติที่มีรูปร่างคล้ายมนุษย์แต่มักสวยงามกว่า จึงไม่ควรจะมีใครรู้ภาษาเอลฟ์แต่อย่างใด

คำอธิบายของกริมส์จึงถูกวิจารณ์กันไปต่าง ๆ นานาค่ะ อย่างไรก็ตาม หากคิดตามดี ๆ อาจมีความหมายลึกซึ้งกว่าที่คาดไว้

ภาษาเอลฟ์ที่กริมส์ว่า (Elven spelling) น่าจะหมายถึงภาษา Sindarin จากเรื่อง The Lord of The Rings นั่นเอง

ภาพโปสเตอร์ภาพยนตร์ The Lord of The Rings (Credit: <a href=
www.imdb.com)">
ภาพโปสเตอร์ภาพยนตร์ The Lord of The Rings (Credit: www.imdb.com)

The Lord of The Rings เป็นวรรณกรรมชั้นเอกของโลก ถูกสร้างเป็นหนังไตรภาคระดับตำนานเมื่อสิบกว่าปีก่อน ความเด็ดของวรรณกรรมเรื่องนี้ ไม่เพียงเรื่องราวที่สนุกสนานซับซ้อน แต่เป็นการสร้างโลกที่ยิ่งกว่าเสมือนจริงขึ้นในหนังสือ

โลกในหนังสือประกอบด้วยหลายเผ่าพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมกัน J.R.R. Tolkien ผู้ประพันธ์ ได้สร้างให้แต่ละเผ่ามีประวัติศาสตร์เป็นของตน มีพัฒนาการตามช่วงเวลาของโลก และที่เหนือชั้นที่สุดก็คือ “มีภาษาที่ใช้ได้จริงเป็นของตนเอง”

ภาษาเหล่านี้ใช้ได้จริง มีคำ มีเสียง มีไวยากรณ์เป็นของตนเอง นั่นทำให้ J.R.R. Tolkien ได้รับการยกย่องเป็นนักอักษรศาสตร์ระดับบรมครู

หนึ่งในภาษาที่เผ่าเอลฟ์ในเรื่องใช้ มีชื่อว่า Sindarin และภาษา Sindarin ก็มีการใช้อักษร Æ แทนเสียง “Ai” จริง ๆ 

แต่เรื่องราวของชื่อพยางค์ที่สองของน้องหนูยังไม่จบเท่านั้น เพราะกริมส์ยังเล่าต่อว่า เธอเลือกคำนี้ขึ้นมา เพราะมันออกเสียงตรงกับ “ความรัก”

หากไปเปิดในพจนานุกรมของภาษา Sindarin จะกำหนดให้อักษร Æ ออกเสียงว่า “Ai” แต่ให้เปิดปากออกกว้างช่วงปลายเสียง ซึ่งถ้าลองทำตามดูจะออกเสียงว่า “อ้าย”

และเสียง “อ้าย” ก็ตรงกับคำว่า “ความรัก” ของภาษาตระกูลเอเชียตะวันออก ทั้งจีนและญี่ปุ่น ที่ต่างใช้อักษร “爱 อ้าย” แทนคำว่ารักนั้นเอง

นับได้ว่าชื่อ Æ ของเด็กน้อย มีความหมายลึกซึ้งเกี่ยวพันหลายภาษาจริง ๆ nค่ะ

ทั้งนี้กริมส์ยังตบท้ายด้วยว่า Ai ยังเป็นตัวย่อของ Aritificial Intelligence หรือปัญญาประดิษฐ์

เธอจบความหมายสายนี้ไว้แค่นี้ แต่หากเดาความคิดเธอผู้ชื่นชอบศิลปะวรรณกรรม คงไม่ยากถ้าจะคิดไปถึงภาพยนตร์ที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งของโลก “A.I. (2001)” ซึ่งมีเนื้อหาเล่าถึงหุ่นยนต์เด็กน้อย ออกเดินทางตามหานางฟ้าเพื่อขอพรให้ตนเป็นมนุษย์ หวังให้หญิงซึ่งเด็กน้อยยึดถือเป็นมารดา หันกลับมารักเขาจริง ๆ

แน่นอนว่านี่คือภาพยนตร์ที่ให้นิยามความรักแม่ลูก ได้เด็ดขาดตราตรึงที่สุด

“ ‘A-12' is my contribution … Archangel 12, the precursor to the SR-71 — coolest plane ever.” 

มาถึงท่อนสุดท้ายของชื่อหนูน้อย A-12 นี่อาจเป็นส่วนที่นับว่าง่ายที่สุด (รึเปล่านะ) 

มัสก์เล่าว่า นี่คือส่วนที่เขาเป็นคนตั้ง 

A-12 หรือ Archangel 12 เป็นชื่อของเครื่องบินที่เจ๋งที่สุดรุ่นหนึ่ง ที่นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการวิศวกรรมการบินโลก

A-12 หรือ Archangel 12 (Credit: Defense Visual Information Center (DVIC) via wikipedia)
A-12 หรือ Archangel 12 (Credit: Defense Visual Information Center (DVIC) via wikipedia)

ย้อนไปสมัยสงครามเย็น ขณะนั้นอเมริกาเพิ่งพลาดท่า เครื่องบินรบ U-2 หนึ่งในเครื่องบินรบที่ดีและล้ำยุคที่สุดขณะนั้น กลับถูกตรวจจับ และยิงตกเหนือน่านฟ้าสหภาพโซเวียต

นั่นไม่เพียงเกี่ยวพันกับความปลอดภัยของนักบินและตัวเครื่อง หากแต่ส่งผลต่อการเมืองระหว่างประเทศ คืออเมริกาเรียกได้ว่าหน้าแตก พ่ายแพ้แก่โซเวียตในศึกนี้เสียแล้ว

เหตุการณ์นี้กระตุ้นให้อเมริกา ทุ่มเทพัฒนาเทคโนโลยีการบินกองทัพ โดยมุ่งเป้าที่เครื่องบินสอดแนมการรบ ที่รวดเร็วที่สุด และหลีกหนีการตรวจจับได้เยี่ยมที่สุด

นั่นคือจุดกำเนิดของ A-12 ค่ะ

ไม่เพียงที่มาอันเฉิดฉาย แต่การสร้าง A-12 ให้ได้ ทำให้อเมริกาพัฒนาเทคโนโลยีการตัดและต่อประกอบโลหะ “ไทเทเนียม” จนถึงขีดสุด ซึ่งได้กลายเป็นรากฐานการสร้างเครื่องบินในยุคต่อ ๆ มา

นอกจากวัตถุดิบโครงสร้างแล้ว เป้าหมายหลักเรื่องความเร็วที่เหนือกว่า 3 มัค (3 เท่าของความเร็วเสียง) อาจเผาห้องนักบินให้ร้อนถึงกว่า 260˚C นั่นคืออเมริกาย่อมต้องพัฒนา ทั้งระบบหล่อเย็น ระบบเก็บและใช้พลังงาน รวมไปถึงชุดนักบินและรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อให้ปฏิบัติการเป็นไปได้จริงด้วย

และทั้งหมดได้กลายเป็นหมุดหมายสำคัญของวงการวิศวกรรมในเวลาต่อมา

สำหรับมัสก์ซึ่งเป็นวิศวกรในสายนี้แล้ว A-12 คงเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของมนุษยชาติ

ทั้งนี้ A-12 ตัวจริงถูกใช้งานไม่นาน เพราะได้รับการพัฒนาไปเป็น SR-71 เครื่องบินสอดแนมที่โด่งดังที่สุด แต่ก่อนจะปลดระวาง ภารกิจสำคัญของ A-12 นั้นเกิดขึ้นเหนือน่านฟ้าไม่ใกล้ไม่ไกล

น่านฟ้าของไทยนั่นเองค่ะ

ขณะนั้นสงครามเย็นเหนือแผ่นดินเวียดนามกำลังระอุ A-12 รับภารกิจบินจากฐานบินสหรัฐฯ ในญี่ปุ่น พุ่งผ่านน่านฟ้าเวียดนาม แล้วพลิกตัวกลับเหนือแผ่นดินไทย 

เล่าลือว่าในการบินครั้งหนึ่ง A-12 ถูกยิงด้วยขีปนาวุธจากภาคพื้นดิน ซึ่งมีความเร็วพื้นฐานที่ 3.5 มัค แต่ขีปนาวุธกลับตาม A-12 ไม่ทัน ได้เพียงทิ้งเศษบางอย่างกระแทกปีก Archangle ไว้ เป็นหลักฐานแห่งความภาคภูมิใจว่า ณ จุดที่เร็วที่สุด A-12 น่าจะไปได้ถึงเหนือกว่า 3.5 มัคนั่นเอง !

(ทั้งนี้ เรื่องนี้ยังเป็นที่ถกเถียงในหมู่แฟน ๆ เครื่องบินรบ)

ด้านกริมส์เองก็เห็นด้วยกับชื่อท้ายนี้ เธอเสริมด้วยว่า A-12 ในความเห็นเธอ ไม่ติดอาวุธหนัก ไม่ดุร้าย ไม่ทำลายผู้คน แต่สวยงามปราดเปรียวเหนือใคร 

สมชื่อ Archangel เทพที่เหนือเทวาทั้งปวง

หลายคนอาจมองว่า มัสก์กับกริมส์ออกจะหวือหวา และอาจสร้างปัญหาจากชื่อลูกที่แปลกประหลาดเช่นนี้ แต่อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ชัดเลยว่า ไม่ว่าเชื้อชาติไหน ศาสนาใด ยากดีมีจนอย่างไร พ่อแม่ก็ล้วนทั้งรักทั้งหลงลูก จนอดยิ้มให้ไม่ได้เลยค่ะ

นับเป็นเรื่องแปลก ๆ ของครอบครัวคนดัง ที่ออกไปทางน่ารักปนขำ แต่ได้ความรู้อย่างดีเรื่องหนึ่ง

ทั้งนี้ พอมองกลับมาที่บ้านเราแล้ว อันที่จริงหลาย ๆ บ้านก็ทุ่มเทกับการตั้งชื่อลูกมาก ไม่แพ้มัสก์กับกริมส์เลยค่ะ

อ้างอิง:

- Twitter: @elonmusk@Grimezsz

- Air Force Magazine

- The National Interest

- Central Intelligence Agency

- CNET

- Tolkien Gateway

ติดตามบทความใหม่ ๆ จากเพจวันนี้ชั้นติ่งอะไรได้ทุกวันอังคารที่ 2 และ 4 ของทุกเดือน บน LINE TODAY และหากสามารถอ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่เพจวันนี้ชั้นติ่งอะไร 

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0