โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

สวนกล้วยไม้นับหมื่นวิกฤตหลายพันล. โควิดทำปม "ลักลอบ" ส่งจีนปูด-จี้รัฐอัดซอฟต์โลนอุ้ม

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 28 ก.พ. 2563 เวลา 10.55 น. • เผยแพร่ 28 ก.พ. 2563 เวลา 10.54 น.
18-1
ล้นตลาด - เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้หลายจังหวัดกำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก หลังจากคนจีนหยุดรับซื้อกล้วยไม้ 1.5 ล้านช่อต่อวันทันที หลังการแพร่ระบาดหนักของไวรัสโควิด-19 ทำให้ผลผลิตดอกกล้วยไม้ล้นตลาดไม่สามารถระบายไปยังตลาดประเทศอื่นได้ ขณะที่ตลาดภายในประเทศล้นเกินความต้องการ

ซัพพลายเชนอุตสาหกรรมกล้วยไม้กระอักพิษโควิด-19 ทำเกษตรกรหมื่นรายขาดสภาพคล่องหลายพันล้านบาท หลังจีนหยุดรับซื้อ ชงรัฐบาลเร่งหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำอุ้ม เจรจาแบงก์ขอพักชำระหนี้ พร้อมวอน ซี.พี.ช่วยรับซื้อกล้วยไม้ไปวางขายในร้านเซเว่นฯทั่วประเทศ หลังผลผลิตล้นตลาดในประเทศกว่า 1.5 ล้านช่อต่อวัน เผยที่ผ่านมาธุรกิจกล้วยไม้มีการส่งออก “ลักลอบ” เข้าจีนเพียบ เลยทำเกษตรกรเดือดร้อนกันหนัก ตอนนี้ติดหนี้ร้านขายปุ๋ย ขายยากันเป็นลูกโซ่

นายสมเกียรติ ดุสฎีกาญจน นายกสมาคมผู้ประกอบการสวนกล้วยไม้ไทย เปิดเผย“ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้กว่า 10,000 รายกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากยอดการส่งออกกล้วยไม้ไปประเทศจีน 1.5 ล้านช่อ/วัน ปัจจุบันไม่มียอดสั่งซื้อเข้ามาเลย ตั้งแต่หลังช่วงตรุษจีนตลาดประเทศจีนปิดไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายคน ส่งผลให้ดอกกล้วยไม้ในส่วนนี้กลายเป็นโอเวอร์ซัพพลาย ที่สะสมนับวันยิ่งเพิ่มขึ้น เฉพาะช่วง 10 วันกล้วยไม้เหลือขายเป็นจำนวนกว่า 10 ล้านช่อ เมื่อส่งขายประเทศจีนไม่ได้มุ่งกลับมาขายตลาดในประเทศกลายเป็นสินค้าเกินความต้องการของตลาด ทำให้ราคาตกต่ำจนไม่คุ้มกับต้นทุน จึงอยากให้ภาครัฐมีมาตรการมาช่วย โดยเฉพาะการจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมาช่วยเหลือเกษตรกรที่ขาดสภาพคล่องทำให้มีเงินทุนหมุนเวียนสามารถเดินต่อไปได้

“ตอนนี้ต่อให้ลดราคากล้วยไม้ลงมาขนาดไหน ก็ช่วยได้แค่มีการใช้เพิ่มขึ้นมานิดหน่อยเท่านั้น กล้วยไม้มีปัญหาราคาตกต่ำมาตั้งแต่กลางปี 2562 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ดอกกล้วยไม้ที่ส่งไปทางยุโรปและอเมริกาถูกสั่งซื้อน้อยลงมากเพราะเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้ตลาดส่วนใหญ่หันมาทางตลาดเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดจีน มีเวียดนามและอินเดียบ้างเป็นส่วนน้อย พอมามีปัญหาไวรัสโควิด-19 ยอดขายตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดหลักกลายเป็น 0 เลย ตอนนี้เกษตรบางหลายที่ใช้เงินกู้จากธนาคารอยู่แล้วก็ขาดสภาพคล่องอยากหนัก จึงอยากให้มีโครงการเสริมสภาพคล่องเข้ามาช่วย หรือบางรายถ้าชำระธนาคารทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยไม่ไหว ก็อยากให้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้มีการผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ยอย่างเดียว โดยไม่ติดเครดิตบูโร ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นกลุ่มกล้วยไม้ตัดดอกที่ใหญ่ที่สุด มีสมาชิกกว่า 10,000 ราย เพราะประเทศอื่นปลูกไม่ได้ อยากให้ช่วยอาชีพนี้ยังคงอยู่ต่อไป”

วอน ซี.พี.ช่วยขายในเซเว่นฯ

นายพยงค์ คงอุดมทรัพย์ ประธานสหกรณ์ผู้ประกอบการสวนกล้วยไม้ไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตั้งแต่ไวรัสโควิด-19 ระบาด เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้ขาดทุนอย่างหนัก เนื่องจากต้นทุนการปลูกอยู่ที่ 1 บาทต่อช่อ แต่ขายได้ราคา 0.25-0.35 บาทต่อช่อ ทำให้เงินไม่พอจ่ายค่าแรงงาน ค่าปุ๋ย ค่ายา จึงอยากให้ภาครัฐ ธนาคาร ที่เกษตรกรเป็นลูกหนี้มีมาตรการพักชำระหนี้ในส่วนนี้ เพราะตอนนี้เกษตรกรบางคนติดลบกันเป็นหลักล้านบาทแล้ว ขณะเดียวกันหากเป็นไปได้อยากให้ทางบริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรรับซื้อกล้วยไม้ไปวางจำหน่ายยังร้านสาขาทั่วประเทศ คาดว่าจะสามารถระบายกล้วยไม้ที่เหลืออยู่ออกไปได้จำนวนมาก

“ในยุครุ่งเรืองภาพรวมประเทศไทยเคยมียอดส่งออกกล้วยไม้สูงถึง 4,000 ล้านบาท หลังจากนั้นถดถอยลงมาเรื่อย ๆ ล่าสุดยอดขายเหลืออยู่ประมาณ 2,500-2,600 ล้านบาท ราคาขายเคยสูงสุด 5 บาทต่อช่อ ก่อนจะดิ่งลงมาเรื่อย ๆ มาอยู่ที่ 50 สตางค์ต่อช่อ และล่าสุดลงมาที่ 25-35 สตางค์ต่อช่อ”

ตอนนี้กลุ่มเจ้าของสวนกล้วยไม้ต้องทบทวนตัวเองเช่นเดียวกัน เนื่องจากที่ผ่านมาขยายการปลูกเพื่อส่งออกไปตลาดจีนมากเกินไป โดยไม่ได้คำนึงถึงตลาดภายในประเทศ ควรหันมาทำตลาดในประเทศ เนื่องจากยังมีอีกหลายจังหวัดที่มีความต้องการใช้กล้วยไม้แต่กล้วยไม้ไปไม่ถึง ทำให้ขณะนี้สหกรณ์ผู้ประกอบการสวนกล้วยไม้ไทยกำลังทำโครงการกล้วยไม้สัญจรทั่วประเทศ โดยเริ่มประสานงานกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เป็นโอกาสให้เกษตรกรไปตีตลาดที่ต่างจังหวัด อย่างน้อยก็เป็นการประชาสัมพันธ์ให้ได้รู้จักกล้วยไม้ของไทยและแหล่งซื้อขาย ทั้งนี้ หากไม่มีการส่งเสริมการขายกล้วยไม้ คาดว่าดอกไม้แห้งดอกไม้สดจากประเทศอื่นจะเข้ามาตีตลาดไทย และกล้วยไม้จะหายไปในที่สุด

เร่งปรับตัวลดต้นทุน

นายสุวิทชัย แสงเทียน ประธานกลุ่มผู้เลี้ยงกล้วยไม้ จ.ราชบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดส่งออกดอกกล้วยไม้ไทยในประเทศจีนมีสัดส่วนถึง 70% ของการส่งออก ฉะนั้นพอเกิดการระบาดของไวรัสโคโรน่าทำให้กระทบต่อการส่งออกกล้วยไม้โดยตรง แม้กระทั่งดอกไม้จากเมืองคุนหมิงประเทศจีนเองยังไม่สามารถขายในประเทศจีนได้ ทั้งนี้ เกษตรกรกล้วยไม้ได้เริ่มลดต้นทุนในส่วนของค่าปุ๋ยและยาฆ่าแมลงใส่น้อยลงเพื่อลดต้นทุนและผลผลิต เลือกที่จะใส่ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงในกล้วยไม้อายุ 1-3 ปี ที่กำลังให้ผลผลิต ทั้งนี้ ต้นกล้วยไม้จะให้ผลผลิตถึงอายุ 4 ปี โดยส่วนใหญ่เมื่อกล้วยไม้อายุเกิน 4 ปี เกษตรกรต้องตัดทิ้งและปลูกใหม่ทดแทน แต่ช่วงนี้เกษตรกรเลือกที่จะไม่ตัดทิ้งและไม่ใส่ปุ๋ยในกลุ่มกล้วยไม้ที่เกิน 4 ปี เพื่อลดต้นทุนและไม่ปลูกทดแทนให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น

ราคาขายต่ำกว่าทุน

นายพุฒิพงศ์ จงกิตติพิภัทร์ แปลงใหญ่กล้วยไม้คุณภาพส่งออก ต.ไผ่หูช้าง อ.บางเลน จ.นครปฐม กล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนนี้ราคาขายกล้วยไม้ตกต่ำอยู่ที่ราคา 0.50 บาทต่อช่อ ในขณะต้นทุนอยู่ที่ 1 บาท/ช่อ ราคาขายต่ำกว่าราคาทุน ซึ่งราคาที่สามารถทำให้เกษตรกรอยู่ได้ต้องขายให้ได้ในราคา 1.5-2 บาทต่อช่อ ตอนนี้กำลังคุยกับทางหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องให้ช่วยเหลือ ทั้งนี้ หากยังไม่สามารถควบคุมไวรัสได้ และส่งผลกระทบระยะยาวไปถึงฤดูฝน กล้วยไม้ออกมากกว่านี้จะยิ่งทำให้ราคาตกต่ำลงไปอีก ตอนนี้สมาชิกในกลุ่ม 25 ราย พยายามเน้นตลาดภายในประเทศเพราะไม่สามารถส่งออกไปประเทศจีนได้

แหล่งข่าวจากวงการไม้ดอกไม้ประดับเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้ตัวเลขความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้มหาศาลหลายพันล้านบาท และกระทบไปทั้งห่วงโซ่อุปทานในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง คือ ร้านขายปุ๋ย ขายยา รวมถึงสถาบันการเงินที่ขอสินเชื่อมาลงทุน แต่ทางรัฐอาจจะพิจารณาว่า ตัวเลขการส่งออกกล้วยไม้ผ่านกรมศุลกากรเพียง 200 ล้านบาท เกษตรกรไม่น่าจะเดือดร้อนมาก ซึ่งต้องยอมรับกันว่า ที่ผ่านมาธุรกิจการส่งออกกล้วยไม้ไปประเทศจีนจะใช้การขนส่งทางรถ และมีการลักลอบส่งออกไปจำนวนมากกว่าที่แจ้งกับทางการ ส่วนการขนส่งทางอากาศมีเฉพาะการส่งออกไปตลาดยุโรป ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก และมีปริมาณส่งออกน้อยมาก ดังนั้นภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นในขณะนี้จึงหนักมาก

และเกษตรกรไม่รู้จะปรับตัวกันอย่างไร

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0