โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

สลักเพชร (กล้ามเนื้อก้นมัดลึก /Piriformis muscle)

คมชัดลึกออนไลน์

อัพเดต 18 ม.ค. 2563 เวลา 17.00 น. • เผยแพร่ 18 ม.ค. 2563 เวลา 17.00 น.

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับกล้ามเนื้อมัดเล็กและอยู่ชั้นลึกมาก บริเวณก้นของเรา ก่อนหน้านี้เคยกล่าวแล้วว่ากล้ามเนื้อก้นของเรานั้น มีกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ทำหน้าที่หลักอยู่ 3 มัด แต่ก็ยังมีกล้ามเนื้อมัดเล็กอยู่ภายใต้กล้ามเนื้อมัดใหญ่อีกค่ะ

กล้ามเนื้อมัดเล็กที่ว่านี้ ถือเป็นเล็กพริกขี้หนู เพราะเป็นมัดกล้ามเนื้อเจ้าปัญหา

คนส่วนใหญ่เรียกกล้ามเนื้อมัดนี้ว่า สลักเพชร (Piriformis muscle) กล้ามเนื้อมัดนี้เป็นเสมือนเชือกที่เกาะจากกระเบนเหน็บ (Anterior Sacrum) ขึงทอดขวางผ่านกลางก้น แล้วไปเกาะที่ปุ่มหัวกระดูกสะโพก (greater trochanter of Femur) บริเวณนี้เองเป็นช่องใหญ่ (greater sciatic foramen) ทางลอดผ่านของเส้นประสาทที่มาเลี้ยงขาของเรา (Sciatic nerve)

ปัญหาอยู่ตรงนี้เองค่ะ ตรงเส้นประสาทที่ทอดผ่านส่วนใหญ่แล้ว 80% จะผ่านใต้กล้ามเนื้อมัดนี้ ที่เหลืออีก 20% จะมีทั้งลอดขึ้นบนและลอดระหว่างมัดกล้ามเนื้อนี้ หรือจะแบ่งออกเป็น 2 เส้นใหญ่ ผ่านตรงกลางและลอดผ่านใต้กล้ามเนื้อมัดนี้ แล้วค่อยมารวมกันทอดยาวลงไปเลี้ยงที่ขาของเรา ฯลฯ

การที่กล้ามเนื้อสลักเพชรนี้อยู่ใกล้ชิดกับเส้นประสาท เมื่อกล้ามเนื้อมัดนี้เกร็งตัวขึ้นมา อาจมีการกดเบียดหรือหนีบเส้นประสาท อันเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการปวดบริเวณสลักเพชร ปวดบริเวณก้น บางเคสก็อาจมีปวดหรือชาลงที่ขา ปวดขาหนีบ หรือปวดในช่องท้องน้อยได้ด้วยค่ะ ท่าทางที่ทำให้กล้ามเนื้อมัดนี้แสดงอาการได้ชัดเจน ก็คือท่านั่งหรือยืนนานๆ ต่อเนื่องมากกว่า 15-20 นาที ซึ่งเมื่อมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนท่าทาง ก็อาจทำให้อาการที่เป็นไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ส่วนใหญ่ก็จะดีขึ้นเล็กน้อย…

ท่านผู้อ่านเริ่มสงสัยใช่ไหมคะว่า กล้ามเนื้อมัดเล็กแค่นี้ เกิดการเกร็งตัวขึ้นได้อย่างไร ??

กล้ามเนื้อมัดนี้เมื่อหดตัวจะทำให้หัวสะโพกหมุนออกค่ะ นั่นคือเมื่อใดที่กล้ามเนื้อสะโพกเราไม่สมดุล ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบๆ สะโพกทำงานไม่สมดุลกัน ก็จะทำให้แนวการวางตัวของขาเราไม่ถูกต้อง เช่น คนที่ชอบเดินขาบิดๆ ไม่ว่าจะบิดเข้าใน หรือบิดออกนอก ก็ส่งผลต่อกล้ามเนื้อสลักเพชรทั้งสิ้นค่ะ หรือท่านใดที่ชอบนั่งกางๆ ขา ยืนหรือเดินแบะขา ก็จะทำให้กล้ามเนื้อมัดนี้เกร็งตัวขึ้นมา แล้วส่งผลต่อเส้นประสาทดังที่กล่าวมาค่ะ และหากปล่อยไว้เรื้อรังมากๆ ในระยะยาว ก็มักทำให้กล้ามเนื้อขาทั้งหมดอ่อนกำลังลง ชาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และทำให้เป็นปัญหาต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ค่ะ

การดูแลกล้ามเนื้อมัดนี้ เป็นเรื่องเฉพาะแต่ละคนมากค่ะ บางเคสยืดแล้วสบายขึ้น แต่หลังจากทำไม่นานก็กลับมาเจ็บอีก บางเคสยืด-อาการปวดก็เพิ่มมากขึ้นทันที บางเคสบริหารให้แข็งแรงขึ้นก็ปวดมากขึ้น บางเคสกดคลาย-อาการปวดดีขึ้น บางเคสปวดมากขึ้น เพราะฉะนั้นการดูแลรักษากล้ามเนื้อมัดนี้ต้องได้รับการประเมินให้ชัดเจนว่าการกดเบียดเกิดขึ้นจากการยืด หรือยิ่งสร้างความแข็งแรงยิ่งทำให้หนีบเส้นประสาท เพราะเทคนิคการดูแลรักษาที่ไม่ตรงจุด จะยิ่งทำให้เส้นประสาทบาดเจ็บมากขึ้นก็ได้ ทั้งนี้ในทางกายภาพบำบัดสามารถทดสอบได้ค่ะ…

เป็นอย่างไรคะ กล้ามเนื้อสลักเพชร ดูมัดเล็กๆ แต่หากเป็นปัญหาก็เป็นปัญหาใหญ่มากพอควรนะคะ ท่านผู้อ่านที่ไม่อยากประสบกับปัญหานี้ ต้องมีสติรู้ร่างกายตัวเองในทุกอิริยาบถ ทั้งขณะยืน เดิน นั่ง นอน แล้วปรับและจัดการให้อยู่ในสมดุลได้ …การป้องกันไว้ก่อน ดีกว่าปล่อยให้เจ็บปวดแล้วค่อยรักษานะคะ

…ครั้งต่อไป ยังมีเรื่องแชร์ถึงกล้ามเนื้อมัดที่เราควรทำความรู้จักกันอีก แล้วพบกันค่ะ…..

ขอเชิญเข้าร่วม Work Shop Ariya Of life ฟรี !!!!! "กล้ามเนื้อแกนกลางสำคัญไฉน หากละเลยไป อาจเสี่ยง..เป็นภัยร้ายแรง" ในวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ เวลา 10.00 น. สำหรับ 15 ท่านเท่านั้น เพียงส่งชื่อและเบอร์โทรศัพท์มาที่ Line@ariyawellness หรือ โทร. 09 2326 9636

***ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณเพ็ญพิชชากร แสนคำ นักกายภาพบำบัดจาก คลินิกกายภาพบำบัดอริยะ ชั้น 1 ไลฟ์เซ็นเตอร์ (คิวเฮ้าส์ ลุมพินี) โทรศัพท์ 092-3269636 www.ariyawellness.com Facebook: Ariya Wellness Center สถาบันปรับโครงสร้างร่างกายอริยะ***

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0