โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

สรุปประวัติ ไฮเปอร์มาร์เก็ตไทย ฉบับสมบูรณ์

ลงทุนแมน

อัพเดต 28 ม.ค. 2563 เวลา 04.01 น. • เผยแพร่ 28 ม.ค. 2563 เวลา 11.40 น. • ลงทุนแมน

สรุปประวัติ ไฮเปอร์มาร์เก็ตไทย ฉบับสมบูรณ์ / โดย ลงทุนแมน

จากข่าว Tesco Lotus ที่กำลังเปิดประมูลขายกิจการ เรื่องนี้จะเป็นดีลที่ใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ไทย

Tesco Lotus จัดว่าเป็นธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ตรูปแบบค้าปลีก
ซึ่งในตลาดประเทศไทยในปัจจุบันเหลือแค่ 2 ราย นั่นคือ Tesco Lotus กับ Big C
แต่รู้หรือไม่ว่า กว่าจะเป็น Lotus-Big C ในวันนี้
ตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ต ผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 27 ปี..

27 ปีที่แล้ว.. ประเทศไทยยังไม่มีธุรกิจนี้
หลังจากนั้น ผู้ประกอบการก็เข้ามาตลาดนี้มากมายหลายสิบราย

มาวันนี้..
ธุรกิจนี้กำลังถึงจุดที่ตลาด กำลังเหลือผู้เล่นเพียง 2 ราย

และในอนาคต อาจเหลือผู้ประกอบการเพียงรายเดียว.. ถ้าผู้กำกับดูแลเลือกที่จะไม่ทำอะไร

วันนี้ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงวันนี้แบบสมบูรณ์ที่สุดของ ตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ตไทย
╔═══════════╗
Blockdit แอปติดตามข่าวอันดับ 1 สำหรับคนไทย
Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ปี 2536
Big C Supercenter เป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตรูปแบบค้าปลีกเจ้าแรกของไทย เปิดสาขาแรกที่แจ้งวัฒนะ แต่สิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้ก็คือ เจ้าของในตอนนั้นคือ กลุ่มเซ็นทรัล

และรู้หรือไม่ว่า ตัวอักษร “C” ใน Big C ก็มาจากคำว่า Central..

ปี 2537
กลุ่ม CP เปิด Lotus Supercenter ที่ศูนย์การค้าซีคอนสแควร์
ส่วนกลุ่มโรบินสัน จับมือกับ Land & House เปิด Save One Supercenter ที่ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ครังสิต

ปี 2538
Carrefour จากฝรั่งเศส ร่วมทุนกับเซ็นทรัล เปิด Carrefour สาขาแรกบนถนนรามคำแหง

ปี 2539
เซ็นทรัลและโรบินสัน ควบรวมกิจการ จึงทำให้ Save One Supercenter ถูกโอนมาอยู่กับ Big C

ซึ่งในตอนนั้น ตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ต ก็ไม่ได้มีแค่เจ้าใหญ่ๆ เพียงอย่างเดียว

ยังมีร้านค้าขนาดกลางและรายย่อยอื่นๆ อีก เช่น
Big King ของกลุ่มเมอรี่คิงส์
Save Co ของกลุ่มเมเจอร์
Siam Jusco ที่ร่วมกับกลุ่มทุนญี่ปุ่น
Super T ของกลุ่มตั้งฮั่วเส็ง
นอกจากนั้นก็มี เมโทร, เอดิสัน, เอ็กเซล, บิ๊กเบลล์, นิวเวิลด์, อิมพีเรียล, บิ๊กเจียง และเมกกะเอ็ม เป็นต้น

เรียกได้ว่า ยุคนั้นเป็นยุคเฟื่องฟูที่ใครก็อยากจะมีส่วนร่วมในตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ต

อย่างไรก็ตาม วิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อตอนปี 2540 ทำให้ธุรกิจจำนวนมากอยู่ไม่รอด หลายรายต้องเลิกกิจการ ในขณะที่อีกหลายรายก็ต้องขายกิจการให้กับเจ้าใหญ่ไป

ซึ่งเรื่องนี้ก็รวมถึงเจ้าใหญ่อย่าง เซ็นทรัลที่ขายหุ้นใน Carrefour คืนให้บริษัทแม่จากฝรั่งเศส และ CP ก็ขาย Lotus ให้กับ Tesco จากอังกฤษ จนกลายมาเป็น Tesco Lotus

เท่ากับว่า วิกฤตในครั้งนั้น ทำให้เหลือผู้เล่นใหญ่ในตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ต 3 ราย คือ Big C, Carrefour และ Tesco Lotus

ปี 2543
Casino Group จากฝรั่งเศสเข้ามาเพิ่มทุนใน Big C ของเซ็นทรัล จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน Big C

ปี 2553
Casino Group ซื้อกิจการ Carrefour และเปลี่ยน Carrefour ทุกสาขาให้กลายเป็น Big C ทั้งหมด

จุดนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ
ตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ตไทย จากเดิมที่เคยคึกคักมีผู้เล่นมากมายกว่า 10 ราย เหลือเพียงแค่ 2 ราย ภายในเวลาไม่ถึง 20 ปี

และข่าวใหญ่ก็เกิดขึ้นอีกครั้ง..

ปี 2559
Casino Group ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ตัดสินใจขายกิจการ Big C ให้กับบริษัท BJC ของกลุ่ม TCC ซึ่งมีเจ้าของคือคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี

กลายเป็นว่า ธุรกิจที่เซ็นทรัลเป็นผู้บุกเบิกและปั้นขึ้นมาตั้งแต่ต้น กลายเป็นของคุณเจริญเป็นที่เรียบร้อย

กลับมาที่ปัจจุบัน..

หลังจากที่ Tesco ประกาศขายกิจการในไทยและมาเลเซียไปเมื่อสิ้นปีที่แล้ว
เราคงเคยได้ยินข่าวแล้วว่า มีผู้ที่สนใจเข้าร่วมประมูลซื้ออยู่ 3 ราย คือ กลุ่ม CP, กลุ่ม TCC และกลุ่มเซ็นทรัล

ถ้าให้ลงทุนแมนวิเคราะห์

CP น่าจะอยากได้ Tesco Lotus เพราะเคยเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทนี้เอง และ Tesco Lotus จะทำให้ CP กลายเป็นผู้นำตลาดโมเดิร์นเทรดอย่างขาดลอย ซึ่งจะมี Economies of Scale แบบที่คู่แข่งรายอื่นสู้ไม่ได้ รวมไปถึงอำนาจในการต่อรองกับคู่ค้าจะแข็งแกร่งที่สุดในประเทศ เพราะเป็นเจ้าของช่องทางการขายทั้ง ร้านสะดวกซื้อ (7-11), ร้านค้าส่ง (Makro) และ ร้านค้าปลีก (Tesco Lotus)

ในขณะที่กลุ่ม TCC ก็คงอยากได้ไม่แพ้กัน เพราะจะได้ครอบครองตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ตอย่างเบ็ดเสร็จ เพราะปัจจุบันทั้งตลาดก็มีอยู่แค่ 2 เจ้า ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ Big C ที่เป็นของกลุ่ม TCC อยู่แล้ว ถ้าสามารถเป็นเจ้าของ Tesco Lotus ด้วย เท่ากับตลาดนี้ก็จะถูกผูกขาดไปอย่างสมบูรณ์

ซึ่งนอกจากในแง่ของการผูกขาดช่องทางการขายแล้ว ภายใต้เครือ TCC เอง ยังเป็นเจ้าของสินค้าอุปโภคบริโภคอีกจำนวนมาก ทำให้คนที่จะลำบากไปด้วยก็คือบริษัทเจ้าของสินค้าคู่แข่งต่างๆ ที่คงจะเสียเปรียบ เพราะต้องไปขอพึ่งพาช่องทางการขายไฮเปอร์มาร์เก็ตจาก TCC แต่เพียงผู้เดียว

ส่วนกลุ่มเซ็นทรัล ก็น่าจะอยากได้เพราะจะช่วยเพิ่มพอร์ตธุรกิจค้าปลีกของเซ็นทรัลให้ครอบคลุมทั้ง ห้างสรรพสินค้า (Central), ซูเปอร์มาร์เก็ต (Tops), ร้านสะดวกซื้อ (FamilyMart) และไฮเปอร์มาร์เก็ต (Tesco Lotus)

นอกจากนั้นก็อาจมีผู้เข้าร่วมประมูลจากต่างประเทศ
แต่ถ้าดูจากเฉพาะผู้ประมูล 3 รายจากประเทศไทย ไม่ว่าใครได้ไปก็ยิ่งจะเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจของตนเองตั้งแต่ทำให้มียอดขายมากขึ้น

แต่คนที่จะแข็งแกร่งน้อยลง ก็คือ ผู้บริโภค..

ลองคิดดูว่าถ้า
กลุ่ม CP มีทั้ง 7-11 Makro Lotus ไม่ต้องพูดถึงเลยว่ามีอำนาจทุกช่องทาง
กลุ่ม TCC มีทั้ง Big C Lotus ก็ไม่ต้องคิดว่าเราจะมีตัวเลือกในตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ตเลย

ส่วนประเด็นที่น่าคิดก็คือ ถ้ากลุ่มเซ็นทรัลได้ไป อาจทำให้ยอดขายของกลุ่มเซ็นทรัลเพิ่มขึ้นก็จริง แต่ดูเหมือนว่าการได้กิจการ Lotus จะไม่ได้ทำให้เซ็นทรัลมีอำนาจผูกขาดได้เหมือน 2 รายก่อนหน้านี้ สาเหตุหลักก็เพราะยังมีคู่แข่งเจ้าใหญ่ที่เหลืออยู่

สรุปแล้ว ทุกรายที่เข้าร่วมประมูลก็คงประเมินมาดีแล้วว่าการซื้อกิจการ Tesco Lotus จะช่วยยกระดับธุรกิจของตัวเอง และเมื่อได้ธุรกิจมาแล้วก็ต้องหาทางทำทุกอย่างให้คุ้มค่าที่ได้ลงทุนไป

ประวัติศาสตร์ 27 ปีของตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ต
ได้ถูกร้อยเรียงอย่างเข้มข้น
และ ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ กำลังจะถูกเขียนขึ้นอย่างไร

เรื่องนี้จะเป็นกรณีศึกษา และบททดสอบครั้งสำคัญ
ในการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการผูกขาด
ว่าจะมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน
และถ้าปล่อยให้มันเกิดขึ้น

เราทุกคนก็ต่างรู้ดีว่า
มันอาจย้อนกลับมา ไม่ได้อีกแล้ว..
———————-
Blockdit แอปติดตามข่าวอันดับ 1 สำหรับคนไทย
Blockdit.com/download
———————-

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0