โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

สรุปคำชี้แจง “บิ๊กตู่” ปมถวายสัตย์ไม่ครบ 27 ส.ค.นี้

สยามรัฐ

อัพเดต 24 ส.ค. 2562 เวลา 09.46 น. • เผยแพร่ 24 ส.ค. 2562 เวลา 09.46 น. • สยามรัฐออนไลน์
สรุปคำชี้แจง “บิ๊กตู่” ปมถวายสัตย์ไม่ครบ 27 ส.ค.นี้

ผู้ตรวจการฯ เร่งสรุปคำชี้แจง “บิ๊กตู่” ปมถวายสัตย์ไม่ครบ คาดรู้ผล 27 ส.ค.นี้ แย้มมี นศ.ราม ร้องซ้ำ ยื่นศาล รธน.วินิจฉัย อ้างละเมิดสิทธิเสรีภาพ ทำให้เสียประโยชน์ที่จะได้รับ หากถวายสัตย์เป็นโมฆะ

เมื่อวันที่ 24 ส.ค. นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (สผผ.) กล่าวถึงการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน ‪ในวันที่ 27 ส.ค.‬ ที่จะมีการพิจารณากรณีนายกรัฐมนตรีกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 เข้าข่ายเป็นการกระทำขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า ขณะนี้ทางสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้รับคำชี้แจง ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในกรณีดังกล่าวแล้ว อยู่ระหว่างเจ้าหน้าที่ทำการสรุปประเด็น และ จะเสนอให้ที่ประชุมฯ ได้พิจารณา ซึ่งก็เป็นดุลยพินิจของผู้ตรวจฯ ว่าจะมีความเห็นหรือมีมติอย่างไร

นายรักษเกชา กล่าวว่า แต่ทั้งนี้ในเรื่องคำร้องเกี่ยวกับการถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วนนั้น นอกจากจะมีการร้องจากนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย รวมถึงนายอัยย์ เพชรทอง เลขาธิการองค์กรปกป้องพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ ที่ขอให้วินิจฉัยการกระทำดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองวินิจฉัยหรือไม่แล้ว ระหว่างที่ผู้ตรวจฯ รอคำชี้แจงของนายกรัฐมนตรีนั้น โดยเมื่อวันที่ 20 ส.ค. นายภาณุพงศ์ ชูรักษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงก็ได้ยื่นคำร้องขอให้ผู้ตรวจฯ พิจารณาประเด็นเดียวกันโดยขอให้ส่งเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่นายภาณุพงศ์เห็นว่านอกจากนายกรัฐมนตรีถวายสัตย์ฯไม่ครบถ้วน อาจขัดรัฐธรรมนูญแล้ว ก็มีผลทำให้การกระทำ ในเวลาต่อมาของรัฐบาล

“เช่น การตั้งคณะรัฐมนตรี การแถลงนโยบาย การโยกย้ายข้าราชการเป็นโมฆะไปด้วย และตัวนายภานุพงศ์ในฐานะประชาชนที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลหรือรัฐมนตรีได้แถลงนโยบาย หรือให้คำมั่นสัญญาเมื่อเข้าปฏิบัติหน้าที่ในกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ก็จะไม่ได้รับการปฏิบัติ ตามที่รัฐบาลหรือรัฐมนตรีระบุไว้ จึงถือว่าตนเองถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพซึ่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ประกอบมาตรา 46 พ.ร.ป.วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 ระบุให้บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้มีสิทธิ์ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญผ่านผู้ตรวจฯ และพ.ร.บ.ผู้ตรวจการแผ่นดิน 2560 มาตรา 22 ก็ให้ผู้ตรวจฯมีหน้าที่และอำนาจอื่นตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายอื่น”เลขาธิการ สผผ. กล่าว
นายรักษเกชา กล่าวว่า ดังนั้นแม้คำร้องดังกล่าวจะมีการร้องเสริมในเรื่องของการที่บุคคลถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ ทางสำนักงานฯก็เห็นว่าสามารถที่จะนำคำร้องดังกล่าวเสนอผู้ตรวจฯพิจารณาในคราวเดียวกันได้เนื่องจากประเด็นที่ร้องนั้นมีความเชื่อมโยงกัน โดยเท่าที่ทราบจากเจ้าหน้าที่ ข้อมูลต่างๆที่ทางสำนักงานฯได้รับในขณะนี้ถือว่าค่อนข้างครบถ้วนเพียงพอที่ประชุมผู้ตรวจฯ ‪ในวันที่ 27 ส.ค.‬จะพิจารณาให้ได้ข้อยุติ น่าจะไม่ต้องมีการขอให้หน่วยงานใดชี้แจงอีก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 27 ส.ค. ที่ประชุมผู้ตรวจฯ ยังจะได้มีการพิจารณา คำร้องที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทยร้อง ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการที่ นายชวน หลีกภัย ประธาน รัฐสภารวบรัดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและประชุมรัฐสภาเพื่อคัดเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ด้วย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0