โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

สรุปข่าว 2019 การสำรวจอวกาศ ปีแห่งการเฉลิมฉลองและเริ่มต้นใหม่

SPACETH.CO

เผยแพร่ 15 ธ.ค. 2562 เวลา 15.14 น. • SPACETH.CO
สรุปข่าว 2019 การสำรวจอวกาศ ปีแห่งการเฉลิมฉลองและเริ่มต้นใหม่

2019 ปีสุดท้าย ปีแห่งการสิ้นสุดทศวรรษที่สองแห่งสหัสวรรษใหม่ ในปีนี้เราได้เห็นการเฉลิมฉลองการครบรอบ 50 ปี ของการเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรก ได้เห็นการเปิดตัวโครงการ Artemis ที่จะพามนุษย์กลับไปสู่ดวงจันทร์อีกครั้ง ได้เห็นภาพรวมของการ Democratize Space หรือการทำให้ทุกคนเข้าถึงอวกาศได้ ไม่จำกัดอยู่แค่ประเทศมหาอำนาจ

ในปี 2019 ได้จารึกเรื่องราวมากมายไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ของการสำรวจอวกาศ วันนี้เราจะมาย้อนดูบันทึกการเดินทางในหนึ่งรอบปีที่ผ่านมา ว่าเราไปได้ไกลแค่ไหน และเกิดอะไรขึ้นบ้าง ทำไมเราจึงนิยามปี 2019 ว่าเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองและการเริ่มต้นใหม่

ยาน New Horizons สำรวจ Ultima Thule สำรวจวัตถุที่ไกลที่สุดที่มนุษย์เคยส่งยานไปถึง

ภาพถ่าย Ultima Thule เมื่อยานอวกาศ New Horizon ได้บินผ่านเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2019  ที่มา – New Horizon
ภาพถ่าย Ultima Thule เมื่อยานอวกาศ New Horizon ได้บินผ่านเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2019  ที่มา – New Horizon

1 มกราคม – ยาน New Horizons เดินทางผ่าน Ultima Thule วัตถุที่ไกลที่สุดที่มนุษย์เคยส่งยานไปสำรวจ ข้อมูลการสำรวจของยานถูกส่งกลับมายังโลกผ่านทางจานรับสัญญาณ Deep Space Network ณ กรุงมาดริด ประเทศสเปน และเป็นวันเดียวกันกับที่ Brian May มือกีตาร์ของวง Queen ได้ปล่อยเพลงใหม่ในชื่อเพลงว่า New Horizon เพื่อฉองให้กับภารกิจนี้

การสำรวจ Ultima Thule จะช่วยให้เราเข้าใจระบบสุริยะในยุคต้น ๆ เหมือนกับที่เราสำรวจดาวหางและอุกกาบาต สิ่งนี้จะนำไปสู่ความเข้าใจในการฟอร์มตัวของดาวเคราะห์หิน เช่น โลกและดาวอังคาร อุปกรณ์ต่าง ๆ บนยาน New Horizons จะสร้างข้อมูลมากกว่า 1 GB และปล่อยให้เราได้ทำการศึกษา

Change’e 4 เป็นยานลำแรกที่ไปลงจอดที่ด้านไกลของดวงจันทร์

3 มกราคม – จีน กลายเป็นชาติที่ได้ทำสิ่งที่ยังไม่เคยมีชาติใดทำได้มาก่อนก็คือการส่งยานอวกาศไปลงจอดที่ด้านไกลของดวงจันทร์ ซึ่งยาน Chang’e 4 นั้น ถูกพัฒนาต่อมาจาก Chang’e 3 เป็นหนึ่งใน Project Experiment ของจีนที่ต้องการศึกษาเทคโนโลยีด้านการ Relay สัญญาณมาจากด้านไกลของดวงจันทร์ (จีนส่งดาวเทียมไปโคจร ณ จุด ลางกรางจน์ เพื่อ Relay สัญญาณ) และได้มีการนำพืชพรรณต่าง ๆ ไปกับยานด้วย ทำให้มีข่าวว่า จีนได้ทดลองปลูกต้นฝ้ายในสภาพแรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์ และต้นฝ้ายต้นนั้นก็ได้เป็นพืชแรกที่โตบนดวงจันทร์

ค้นพบ Fast Radio Burst ใหม่ 13 แห่ง

หน้าตาของ CHIME ณ Okanagan Valley ใน British Columbia ที่มา – Andre Renard
หน้าตาของ CHIME ณ Okanagan Valley ใน British Columbia ที่มา – Andre Renard

9 มกราคม – Fast Radio Burst เป็นปรากฏการณ์ทางฟิสิกส์ดาราศาสตร์ เมื่อเราตรวจพบแหล่งกำเนิดคลื่นความถี่กะพริบบนท้องฟ้าซึ่งเราจะมองเห็นได้ผ่านกล้องโทรทรรศน์วิทยุ (Radio Telescope) ให้ลองนึกภาพเหมือนหนังเรื่อง Contact ซึ่งปรากฏการณ์พวกนี้นักดาราศาสตร์ได้ตรวจพบมาแล้วจำนวนหลายสิบครั้ง ล่าสุดในปี 2012 นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบ FRB 121102 ปรากฏการณ์นี้ต่างจาก FRB แหล่งอื่น ๆ ตรงที่มันมีการแผ่ซ้ำได้จากแหล่งเดิม ภายหลังพบว่ามันเกิดจากปรากฏการณ์ Polarization ของดาวนิวตรอนที่โคจรรอบหลุมดำมวลยวดยิ่ง และนั่นก็เป็นการค้นพบ FRB ที่แผ่ซ้ำได้เป็นครั้งแรก

สิ่งสำคัญที่การค้นพบครั้งนี้บอกกับเรามีอยู่ 2 อย่าง อย่างแรกก็คือปรากฏการณ์ Repeating FRB หรือ FRB ที่เกิดซ้ำในแหล่งเดิมนั้นเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากการค้นพบครั้งนี้เป็นการค้นพบ FRB ที่เกิดซ้ำได้เป็นจุดที่ 2 ดังนั้น ก็เป็นไปได้ว่าจะมีการตรวจเจอปรากฏการณ์เช่นนี้ซ้ำอีกหลายครั้งในอนาคต ส่วนประเด็นที่สองก็คือ เทคนิคการตรวจจับของ CHIME นั้นสามารถใช้งานได้ดี และมีความ Sensitive สูงพอที่จะตรวจจับคลื่นความถี่ต่ำถึง 400 MHz ได้ จากเดิมที่เราจะตรวจจับได้ก็ต้องมีความถี่สูงถึงระดับ GHz

SpaceX เริ่มทดสอบยาน Starship แบบเต็มรูปแบบ เปิดตัวยานอวกาศรุ่นใหม่ที่จะเดินทางไปดวงจันทร์ ดาวอังคาร

ขนาดของยาน Starship เมื่อเทียมกับมนุษย์ ที่มา – Elon Musk
ขนาดของยาน Starship เมื่อเทียมกับมนุษย์ ที่มา – Elon Musk

ในปี 2019 เป็นปีที่ SpaceX เริ่มทดสอบยาน Starship อย่างจริงจัง ยาน Starship รุ่นทดสอบ ได้ถูกสร้างและบังคับให้บินขึ้นในระยะต่ำ ๆ เพื่อทดสอบเครื่องยนต์ Rapter Engine ที่ SpaceX เพิ่งพัฒนาขึ้นมาใหม่ พัฒนาการของยาน Starship ในปี 2019 นี้เป็นไปอย่างก้าวกระโดด และเป็นไปได้ว่าเราจะเห็นมันพานักบินอวกาสเดินทางไปสู่ดาวอังคารได้ในเวลา 3-4 ปีข้างหน้านี้

ยาน Dragon 2 เดินทางเทียมสถานีอวกาศนานาชาติ เป็นยานอวกาศคนนั่งลำแรกของสหรัฐฯ นับจากการปลดระวางกระสวยอวกาศ

3 มีนาคม – SpaceX ได้ปล่อยจรวดเที่ยวบินประวัติศาสตร์ เมื่อจรวด Falcon 9 ของ SpaceX ได้บรรทุกยาน Dragon 2 ยานอวกาศไร้คนขับที่จะถูกออกแบบมาสำหรับใช้ส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติขึ้นสู่วงโคจรเป็นครั้งแรกหลังจากการผลิตและทดสอบนานหลายปี เปิดจากการเดินทางสู่อวกาศโดยเอกชน และเป็นยานอวกาศคนนั่งลำที่ 3 ที่เดินทางเทียบสถานีอวกาศ นับจากยาน Soyuz, กระสวยอวกาศ

นับตั้งแต่วันแรกที่ยาน Dragon รุ่นแรกเทียบท่ากับสถานีอวกาศนานาชาติ SpaceX ใช้เวลา 7 ปี ในการพัฒนา Dragon 2 ให้บินตามรุ่นพี่มันไป ณ ตอนนี้ภารกิจของ Dragon รุ่นแรกก็ยังไม่จบลงและก็ไม่แน่ว่าอาจจะต้องมีภารกิจ CRS ใน Phase ที่ 2 ต่อมาอีก ดังนั้น ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า เรามีโอกาสที่จะได้เห็น Dragon 1 และ Dragon 2 บินขึ้นลงสถานีอวกาศนานชาติไม่ต่ำกว่า 20 เที่ยวบิน เป็นการเปิดยุคการขนส่งอวกาศโดยเอกชนที่แท้จริง

อิสราเอล เสียยาน Baresheet ในความพยายามการลงจอดครั้งแรก

ภาพถ่าย Selfie สุดท้ายของยานก่อนพุ่งชนดวงจันทร์ ที่มา – SpaceIL
ภาพถ่าย Selfie สุดท้ายของยานก่อนพุ่งชนดวงจันทร์ ที่มา – SpaceIL

12 เมษายน – เป็นคืนที่ยาน Beresheet ของบริษัท SpaceIL จากอิสราเอล มีกำหนดจะลงจอดดวงจันทร์หลังเดินทางไปกับ Falcon 9 เมื่อเดือนที่ผ่านมา

รายงานแรกจากนักดาราศาสตร์ Cees Bassa ซึ่งใช้จาน Dwingeloo Telescoop รับสัญญาณจาก Beresheet บอกว่าบอกว่าตัวยานซึ่งกำลังค่อย ๆ ลดความเร็วลงเพื่อลงจอดบนพื้นผิวของดวงจันทร์เกิดความผิดพลาดกับระบบเครื่องยนต์ ณ ระดับ 10 กิโลเมตรเหนือพื้นผิว (เวลา 19:23:01 UTC) ทำให้เครื่องยนต์หยุดทำงาน หรือระบบการวัดต่าง ๆ เกิดความผิดพลาด ส่งผลให้ยานไม่สามารถลงจอดบนดวงจันทร์ได้

ภาพถ่าย Selfie ภาพสุดท้ายของ Beresheet ถูกถ่ายที่ระดับความสูง 22 กิโลเมตร และถูกส่งกลับมายังโลกก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งในระหว่างนั้นอยู่ในกระบวนการทำ Landing Burn หรือค่อย ๆ ลดความเร็วเพื่อลงจอดบนพื้นผิว อย่างไรก็ตาม Beresheet แสดงถึงความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและขีดความสามารถของประเทศที่ไม่ได้เป็นมหาอำนาจด้านอวกาศแต่สามารถส่งยานไปสู่ดวงจันทร์ได้

ภาพถ่ายแรกของหลุมดำ ด้วยกล้อง Event Horizon Telescope

10 เมษายน – โครงการ Event Horizon Telescope เผยภาพถ่ายภาพแรกของหลุมดำจากใจกลางกาแลกซี่ Messier 87 หรือ M87 จากภาพถ่ายทำให้เรามองเห็นส่วนที่มีสีขาว ส้ม และ แดง ผสมกันไป นั้นคือสิ่งที่เรียกว่า จานพอกพูนมวลหลุมดำ ซึ่งคือจานพลาสม่าที่อยู่สถานะยิ่งยวดจากความตึงเครียดของสสารที่หมุนวนล้อมรอบหลุมดำก่อนที่จะตกลงไปภายในขอบฟ้าเหตุการณ์ที่อยู่ภายในของหลุมดำ

เราอาจจะเคยเรียนกันในหนังสือเรียนถึงวันที่มีการค้นพบ Cosmic Microwave Background ได้ หรือวันที่เราสามารถถ่ายภาพด้านหลังของดวงจันทร์ได้เป็นครั้งแรก ซึ่งเหตุกาณ์เหล่านั้น เรารู้ว่ามันได้ข้อมูลอะไร ส่งผลให้เกิดอะไร แต่การที่เราไม่ได้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ ทำให้เราไม่รู้ความรู้สึกที่เกิดจากสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนั้น

เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2019 เราได้อยู่ร่วมกันในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของการถ่ายภาพหลุมดำได้เป็นครั้งแรก เมื่อเหตุการณ์นี้ถูกพูดถึง ไม่ว่าจะในการบรรยาย ในหนังสือ หรือใน Paper ฉบับใด เราก็จะจำความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ จำได้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่

หรือแม้กระทั่งประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับมวลมนุษยชาติ การศึกษาอวกาศเป็นศาสตร์ที่กระตุ้นให้เราทำสิ่งที่เป็นสุดยอดของขีดจำกัด ทั้งในการการวิเคราะห์ข้อมูล สายทฤษฎี สายทดลอง หรือศาสตร์อื่น ๆ ที่จำเป็น เช่น Engineering หรือ Computer Science สุดท้ายแล้ว สิ่งที่เราได้ ไม่ใช่แค่ภาพของหลุมดำ แต่เป็นการพามนุษย์เดินหน้าไปอีกก้าวใหญ่ ๆ ก้าวหนึ่ง

SpaceX เริ่มปล่อยดาวเทียม Starlink อย่างเต็มรูปแบบ

24 พฤษภาคม – SpaceX ปล่อยดาวเทียม Starlink ชุดแรก ซึ่งจะเป็นจุดกำเนิดของกลุ่มดาวเทียมแบบ Constellation ที่ลงทุนและทำโดย SpaceX โดยจะใช้ดาวเทียมประมาณ 4,425-11,943 ดวง โดยในระยะที่ 1 จะปล่อยที่ระดับความสูง 550 กิโลเมตร จำนวน 1,600  ดวง สิ่งนี้ตามมาด้วยเสียงด่าจากบรรดานักดาราศาสตร์ที่ดาวเทียม Starlink รบกวนการศึกษาท้องฟ้าในยามค่ำคืน

โครงการ Starlink มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าของตลาดบริการการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เปิดโอกาสให้กับธุรกิจใหม่ ๆ เทคนิคทางวิศวกรรมใหม่ ๆ มากมาย

งานวิจัยไทย ถูกส่งขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ ในโครงการ National Space Exploration

ยาน Dragon ในภารกิจ CRS-18 ที่มา – NASA/ISS
ยาน Dragon ในภารกิจ CRS-18 ที่มา – NASA/ISS

25 กรกฎาคม – ความสำเร็จของงานวิจัยไทย เมื่อ Biotech สามารถส่ง Payload สำหรับทดลองขึ้นไปกับยาน Dragon ของ SpaceX เดินทางสู่สถานีอวกาศนานชาติ ซึ่งโครงการนี้อยู่ภายใต้การสนับสนุนจาก National Space Exploration ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทยกับ JAXA ที่ต้องการผลักดันการทดลองใหม่ ๆ ให้ขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ งานวิจัยนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับผลึกโปรตีน ซึ่งเป็นองค์ความรู้สำหรับการพัฒนายาต้านมาลาเรียในอนาคต

สิ่งนี้เป็นบทพิสูจน์ว่าไม่ต้องเป็นประเทศมหาอำนาจแต่ก็สามารถมีโครงการอวกาศเป็นของตัวเองได้ เป็นผลจากการ Democratize Space หรือการทำให้อวกาศนั้นเป็นที่สามารถเข้าถึงได้สำหรับทุกคน

เฉลิมฉลองการครบรอบ 50 ปี การลงจอด Apollo

นักบินอวกาศในโครงการ Apollo ที่ยังมีชีวิตอยู่ ถ่ายรูปร่วมกันในโอกาสครบรอบ 50 ปีการลงจอดบนดวงจันทร์ ที่มา – NASA
นักบินอวกาศในโครงการ Apollo ที่ยังมีชีวิตอยู่ ถ่ายรูปร่วมกันในโอกาสครบรอบ 50 ปีการลงจอดบนดวงจันทร์ ที่มา – NASA

24 กรกฎาคม – เมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา โครงการ Apollo ได้ทิ้งสิ่งต่าง ๆ ไว้ให้เรามากมาย ในปีนี้ เป็นปีที่เราฉลองการครบรอบ 50 ปี Apollo 11 ที่ลงจอดบนดวงจันทร์ครั้งแรก NASA ได้ร่วมกับ Smitsonian จัดงานเสกลใหญ่ขึ้นที่ Washington DC และการเฉลิมฉลองนี้ก็เป็นแคมเปญไปทั่วโลก

สิ่งนี้นไปสู่บทใหม่แห่งการสำรวจดวงจันทร์ เมื่อ NASA เลือกที่จะใช้โอกาสนี้เปิดตัวโครงการ Artemis ที่จะพามนุษย์กลับสู่ดวงจันทร์อีกครั้งในปี 2024 ภายใต้แรงจูงใจ “We Are Going”

NASA เปิดตัวโครงการ Artemis พามนุษย์กลับสู่ดวงจันทร์อีกครั้ง

จรวด SLS ที่ NASA พัฒนาขึ้น ส่วนหนึ่งในโครงการที่จะพามนุษย์กลับสู่ดวงจันทร์ ที่มา – NASA
จรวด SLS ที่ NASA พัฒนาขึ้น ส่วนหนึ่งในโครงการที่จะพามนุษย์กลับสู่ดวงจันทร์ ที่มา – NASA

NASA ประกาศการกลับสู่ดวงจันทร์อีกครั้งในปี 2024 โครงการ Artemis เรียกได้ว่า คือ การเอาโครงการอวกาศของ NASA หลาย ๆ อันที่ล้มเหลวมามิกซ์กัน โดยเอาส่วนต่าง ๆ ที่ถือเป็นจุดเด่นของโครงการอวกาศนั้น ๆ มาประยุกต์เข้ากับ Artemis เช่น โครงการ Asteroid Redirect Mission ที่ถูกยกเลิกในปี 2018 และ โครงการ Constellation ที่ถูกตัดงบ (แบบไม่ให้เลยแม้แต่เหรียญเดียว) แล้วสั่งให้ยกเลิกส่วนต่าง ๆ ของโครงการทั้งหมด ยกเว้นยาน Orion ไป ซึ่งนี่รวมถึงยาน Ares I และ Ares V ด้วย

อย่างไรก็ตามโครงการเปิดตัวจรวด SLS รุ่นใหม่ของ NASA รวมไปถึงการประกาศจะสร้างสถานีอวกาศโคจรรอบดวงจันทร์เพื่อสนับสนุนการไปดาวอังคาร ทำให้แผน Artemis นั้นมีความเป็นไปได้สูงมาก และค่อนข้างลงตัวแล้วว่า เราจะได้กลับไปดวงจันทร์แน่นอน

จันทรายาน 2 ของอินเดียโคจรรอบดวงจันทร์ ยานวิกรมลงจอดบนดวงจันทร์ไม่สำเร็จ

ยานวิกรมแยกตัวออกจากจันทรายาน 2 เพื่อลงจอด ที่มา – ISRO
ยานวิกรมแยกตัวออกจากจันทรายาน 2 เพื่อลงจอด ที่มา – ISRO

7 กันยายน – ประวัติศาสตร์ยังคงบันทึกหน้าเดิม แม้ในปีนี้จะมี 2 ผู้ท้าชิงส่งยานไปสำรวจดวงจันทร์ที่ไม่ใช่ชาติมหาอำนาจ เมื่อยานวิกรม (Vikram) ตัว Lander ที่เดินทางไปกับยานจันทรายาน 2 (Chandrayaan-2) เกิดสัญญาณขาดในนาทีสุดสำคัญของการลงจอดคือที่ระยะ 2.1 กิโลเมตรเหนือพื้นผิวของดวงจันทร์ โดยสัญญาณล่าสุดบอกว่าตัวยานลงไปด้วยอัตราการตกสูงกว่าที่กำหนดไว้ตอนแรก

แม้จะดูเหมือนว่าการลงจอดของวิกรมจะไม่สำเร็จอย่างไรก็ตาม งานด้านวิทยาศาสตร์ที่จันทรายาน 2 จะทำ 95% อยู่บนตัว Orbiter ซึ่งเข้าสู่วงโคจรและเริ่มทำงานได้อย่างราบรื่นตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมา ดังนั้นอินเดียยังนับว่าทำภารกิจจันทรายาน 2 สำเร็จไปแล้วกว่า 95% ในส่วนของยานลงจอดวิกรมนั้น แม้ว่าโอกาสที่มันจะกลายเป็นเศษซากอยู่บนพื้นของดวงจันทร์ แต่อย่าลืมว่ามันได้สร้างแรงบันดาลใจ สร้างคน สร้างนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรจำนวนมากที่มีส่วนร่วมกับภารกิจนี้ และแน่นอนว่าแม้วันนี้ชาติที่สามารถลงจอดบนดวงจันทร์ได้จะยังมีแค่ 3 ชาติเท่าเดิม แต่อินเดียจะยังไม่หยุดเท่านี้แน่นอน

Parker Solar Probe เปลี่ยนความเข้าใจที่เรามีต่อลมสุริยะ หลังจากไปสัมบรรยากาศดวงอาทิตย์สำเร็จในปีที่ผ่านมา

ยาน Parker Solar Probe ณ จุดใกล้ดวงอาทิตย์ ที่มา – JHU/NASA Goddard
ยาน Parker Solar Probe ณ จุดใกล้ดวงอาทิตย์ ที่มา – JHU/NASA Goddard

4 ธันวาคม – หลังจากที่ในปี 2018 ยาน Parker Solar Probe ได้กลายเป็นยานอวกาศลำแรกที่สามารถแตะบรรยากาศของดวงอาทิตย์ได้สำเร็จ ทำให้มันกลายเป็นยานที่มีข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมของพายสุริยะซึ่งเกิดจากการบันทึก ณ จุดใกล้ดวงอาทิตย์เป็นยานลำแรก

ยาน Parker Solar Probe เผยให้เราเห็นพฤติกรรมที่ใหม่มาก ๆ ที่เราเพิ่งขึ้นพบ ต้องย้อนให้ฟังก่อนว่าเส้นแรงแม่เหล็กของดวงอาทิตย์นั้น ไม่ได้สวยงาม แต่มีความคดโค้ง ปั่นป่วน ราวกับกระแสน้ำ เราเรียกสิ่งนี้ว่า Magnetohydrodynamic คือการมองเส้นแรงแม่เหล็กในสนามแม่เหล็กเป็นกลศาสตร์ของไหล ปรากฏการณ์นี้ถูกทำนายไว้แล้ว และถูกทำให้ชัดเจนขึ้นด้วยข้อมูลจากยาน Parker Solar Probe

การสำรวจของ Parker Solar Probe จะช่วยเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับระบบสุริยะจักรวาลขอเราอย่างมากขึ้นในอนาคต

สรุปปี 2019 เป็นอีกหนึ่งปี ปีแห่งความสำเร็จที่สิ้นสุดทศวรรษนี้ และเตรียมพร้อมสู่การเดินทางครั้งใหม่

เราจะเห็นว่าในปี 2019 นี้ ถือว่าเราได้ทำตามโจทย์ที่เราเริ่มต้นไว้ตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน การที่ยาน Dragon 2 สามารถเชื่อมต่อเข้ากับสถานีอวกาศนานชาติทำให้เรามีความหวังในการเดินหน้าสู่บทใหม่แห่งทศวรรษที่การสำรวจอวกาศจะกลายเป็นเรื่องของทุกคน เราเฉลิมฉลองการลงจอด 50 ปีของ Apollo 11 ด้วยการโชว์จรวดโฉมใหม่ที่จะทำให้เราได้กลับสู่ดวงจันทร์อีกครั้งในเวลาเพียงแค่ 4 ปีข้างหน้า

สิ่งเหล่านี้ เป็นเครื่องพิสูจน์ที่บอกว่าเรากำลังก้าวเดินต่อ โดยมีสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต เป็นแรงส่ง ซึ่งแรงส่งนี้ก็เกิดจากพวกเราด้วยกันเอง และปี 2019 ก็เป็นอีกหนึ่งปีที่น่าจดจำในประวัติศาสตร์ของการสำรวจอวกาศโลก

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0