โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

สรรพากร เล็งแก้ไขประกาศดอกเบี้ยเงินฝากไม่ถึง 2 หมื่น ไม่ต้องแสดงตน

TODAY

อัพเดต 24 เม.ย. 2562 เวลา 02.40 น. • เผยแพร่ 24 เม.ย. 2562 เวลา 02.40 น. • Workpoint News
สรรพากร เล็งแก้ไขประกาศดอกเบี้ยเงินฝากไม่ถึง 2 หมื่น ไม่ต้องแสดงตน

กรมสรรพากร เตรียมแก้ไขประกาศให้ผู้ฝากเงินที่มีดอกเบี้ยบัญชีออมทรัพย์ไม่เกิน 20,000 บาท ไม่ต้องแสดงตน ไม่ต้องเซ็นยินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลสรรพากร เตรียมประกาศใหม่ใน 1-2 สัปดาห์

วันที่ 24 เม.ย. 2562 วานนี้นายปิ่นสาย สุรัสวดี โฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรได้หารือร่วมกับสมาคมธนาคารไทยกรณีกรมสรรพากรออกประกาศแจ้งสถาบันการเงิน เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ ซึ่งส่งผลให้เจ้าของบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ต้องแสดงความยินยอมให้สถาบันการเงิน ส่งข้อมูลบัญชีดอกเบี้ยให้กรมสรรพากร ไม่เช่นนั้นจะถูกหักภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ร้อยละ 15 ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างกว้างขวางนั้น

โฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมสรรพากรจะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ร้อยละ 15 และออกประกาศใหม่ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากประกาศฉบับปัจจุบันที่อาจทำให้ผู้เปิดบัญชีออมทรัพย์ทั่วประเทศ 80 ล้านบัญชี ไม่ได้รับความสะดวกในการยื่นยินยอมข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากกับธนาคารเพื่อส่งมาให้กรมสรรพากรตรวจสอบ

ทั้งนี้การให้แสดงความยินยอมนำส่งข้อมูลดอกเบี้ยจากธนาคารมากรมสรรพากรยังต้องมีอยู่ แต่จะแก้วิธีการใหม่ให้สะดวกต่อส่วนรวมยิ่งขึ้น เช่น ประกาศเดิมกำหนดให้ผู้มีเงินฝากออมทรัพย์ทุกคนต้องมาแสดงความยินยอมนำส่งข้อมูลกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้ได้รับการยกเว้นภาษีดอกเบี้ยต่ำกว่า 20,000 บาทต่อปี แต่ประกาศใหม่อาจคิดกลับข้างกัน ให้เฉพาะคนที่ไม่ต้องการยินยอม ส่งข้อมูลดอกเบี้ยมาแจ้งกับธนาคารแทน เท่ากับว่าคนส่วนใหญ่ถ้าต้องการยินยอมให้นำส่งข้อมูลเพื่อรับสิทธิ ยกเว้นภาษีดอกเบี้ย ก็ไม่ต้องเดินทางมาเซ็นที่ธนาคาร ส่วนคนที่ไม่ยินยอมส่งข้อมูลดอกเบี้ยก็ต้องไปเซ็นยินยอม แต่คนกลุ่มถ้าดอกเบี้ยเข้าเกณฑ์ ก็ต้องเสียภาษีตามปกติ อย่างไรก็ดีเรื่องนี้ยังอยู่ระหว่างศึกษาแต่ยังไม่สรุป

ด้านน.ส.ชุลีพร น่วมทนง รองเลขาธิการ สมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การแก้ไขประกาศกรมสรรพากรที่จะออกมาใหม่อีกครั้งน่าจะเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากจะผลกระทบกับผู้ฝากเงินส่วนใหญ่ โดยผู้ฝากเงินที่มีดอกเบี้ยเงินฝากไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี ไม่ต้องเซ็นยินยอม (consent) ให้ธนาคารส่งข้อมูลให้กับสรรพากร หากเทียบกับเกณฑ์เดิม ที่ผู้ฝากเงินจะต้องเซ็นยินยอมให้แบงก์ส่งข้อมูลให้สรรพากรทุกคน แม้จะมีดอกเบี้ยเงินฝากไม่เกิน 20,000 บาทต่อปีก็ตาม ซึ่งกลุ่มนี้คิดเป็นเกือบร้อยละ 99 ของผู้มีเงินฝากและมีรายได้ดอกเบี้ย จากผู้มีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ทั้งหมดกว่า 80 ล้านบัญชี

ดังนั้น หากกรมสรรพากรจะแก้ไขประกาศเพื่อแก้ปัญหาตามที่ระบุ ย่อมมีผลกระทบกับกลุ่มคนร้อยละ 1 ที่เข้าข่ายต้องเสียภาษี เนื่องจากมีรายได้ดอกเบี้ยเกิน 20,000 บาทต่อปี ซึ่งหากดูข้อมูลเงินฝากพบว่าคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีบัญชีเงินฝากเกิน 3 บัญชี หรือคิดรวมเป็นจำนวน 30 ล้านบัญชี ซึ่งกระจายอยู่ในหลายแบงก์ หากกลุ่มนี้เซ็นข้อมูลการยินยอมกับแบงก์ เพื่อแจ้งความประสงค์ไม่ให้ส่งข้อมูลให้สรรพากร ข้อมูลบัญชีเงินฝากนั้นๆ ก็จะไม่ถูกส่งไปให้กับสรรพากร เพราะเป็นกลุ่มที่เสียภาษีอยู่แล้ว แต่หากกลุ่มนี้ไม่มาเซ็นยินยอมกับแบงก์ แบงก์ก็จำเป็นต้องส่งข้อมูลบัญชีเงินฝากไปให้กับสรรพากร เพื่อดำเนินการด้านภาษีต่อไป

รองเลขาธิการ สมาคมธนาคารไทย รุบุว่า การเปลี่ยนแปลงเกณฑ์มีผลดีต่อประชาชนโดยรวม เพราะเท่าที่ดูผู้ฝากเงินส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 99 เป็นกลุ่มที่มีรายได้ดอกเบี้ยไม่เกิน 2 หมื่นบาท และไม่อยู่ในกลุ่มที่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว และหากจะถูกหักภาษี เพราะไม่ได้เซ็นยินยอมกับแบงก์ แล้วต้องไปขอคืนภาษีในอนาคต ก็จะมีความยุ่งยากต่อผู้ฝากเงิน ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงประกาศจะส่งผลดีกับผู้ฝากเงินโดยรวม ซึ่งยอมรับว่าที่ผ่านมามีผู้ฝากเงิน กังวลและสอบถามเรื่องนี้เข้ามาเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตามทางสมาคมจะมีการหารือร่วมกับกรมสรรพากรอีกครั้งในวันที่ 25 เม.ย. นี้ เพื่อหาความชัดเจนจากประกาศภาษีเงินฝาก เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติในการทำตามกฏหมายต่อไป โดยเฉพาะวิธีการกำหนดการความยินยอมที่ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันทุกธนาคาร อีกทั้ง การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าร่วมประชุมกับสรรพากรด้วยในครั้งนี้ก็จะมีความชัดเจนในแง่ปฏิบัติมากขึ้นด้วย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สรรพากรยัน!ยังใช้เกณฑ์เดิมดอกเบี้ยออมทรัพย์ไม่เกิน 20,000 บาท ไม่ต้องเสียภาษี
- ทำความเข้าใจเรื่อง “ภาษีดอกเบี้ยเงินฝากสองหมื่นบาท”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0