โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เจ้านายที่รัชกาลที่ 5 ทรงล้อว่า “รวย”

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 10 ก.ย 2566 เวลา 13.49 น. • เผยแพร่ 09 ก.ย 2566 เวลา 17.04 น.
ภาพปก-เจ้านายวังสระปทุม

“แม่กลางมั่งมี” คือรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึง สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ด้วยเหตุที่ทรงเรี่ยไรเงินจากพระองค์มากกว่าเจ้านายพระองค์อื่น ส่วนเหตุที่สมเด็จพระพันวัสสาทรง “รวย” กว่าเจ้านายพระองค์อื่นๆ เป็นเพราะทรงสามารถบริหารจัดการเงิน-บุคคล, ทรงมีสายพระเนตรอันยาวไกล ขณะเดียวกันก็ทรงมัธยัสถ์

แม้ว่าการเป็นเจ้านายฝ่ายใน จะทำให้ทรงขาดความคล่องตัวในการดำเนินธุรกรรมไปบ้าง หากพระองค์ทรงแก้ปัญหาด้วยการใช้ “ตัวแทน” โดยตัวแทนที่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงใช้สอยในการติดต่อกับบุคคลต่างๆ มีดังนี้

ผู้จัดการผลประโยชน์คนสําคัญของพระองค์คือ คุณหญิงเอี่ยม ภรรยาเอกของเจ้าพระยาอภัยราชาสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงยกย่องคุณหญิงเอี่ยมว่าเป็นคนซื่อตรงรักษาวาจา เงินที่คุณหญิงเอี่ยมมาขอรับพระราชทานไปทําผลประโยชน์นั้นไม่เคยขาดหายเลยทั้งต้นทั้งดอก ที่ดินแห่งใดอยู่ในทําเลดี คุณหญิงเอี่ยมก็เป็นธุระจัดการซื้อถวายหรือรับจํานอง

จนความเลื่องลือทราบถึงพระเนตรพระกรรณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชโองการตรัสถามด้วยความทรงเป็นห่วงว่าจะถูกล่อลวง โดยปกติทรัพย์สินของพระราชวงศ์ฝ่ายในนั้น ทรงมอบให้พระคลังข้างที่เป็นผู้จัดการ บทเรียนที่ทรงได้รับเมื่อแรกขึ้นเสวยราชสมบัติมีอยู่ ครั้งนั้นเจ้านายฝ่ายในถูกเจ้าภาษีนายอากรโกงกันมาก ผลประโยชน์ที่ได้รับพระราชทานโดยให้เก็บจากเจ้าภาษีนายอากรนั้นๆ ไม่ได้เต็มเม็ด เต็มหน่วย บางพระองค์แทบจะไม่ได้เลย

เมื่อสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า กราบบังคมทูลให้ทรงทราบถึงวิธีที่ทรงจัดทําว่าทรงได้ผลประโยชน์ที่เป็นเอกสาร เป็นต้นว่าโฉนดตราจองและสัญญาต่างๆ

ผลสืบเนื่องต่อมาจากคราวนั้นทําให้พระองค์ต้องออกพระราชทรัพย์ในการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเรี่ยไรมากกว่าพระองค์อื่น ด้วยเหตุที่รับสั่งว่า “แม่กลางมั่งมี”

นอกจากคุณหญิงเอี่ยมแล้ว ยังมีคุณแพ ภรรยาพระยาสารสินสวามิภักดิ์ (เทียนฮี้ สารสิน) จากการซื้อที่ดินย่านสำเพ็ง

เมื่อเกิดเพลิงไหม้สำเพ็ง พ.ศ. 2434 หลังเพลิงสงบ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริให้สร้างถนนทรงวาด เป็นถนนเลียบแม่น้ำ จากท่าราชวงศ์ไปถึงวัดปทุมคงคา ข่าวพระราชดำริการสร้างถนนได้ยินไปถึงพระราชวัง สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเสด็จไปทอดพระเนตรพื้นที่ที่ถูกเพลิงไหม้ และเมื่อได้ทอดพระเนตรก็ทรงสนพระทัยที่ดินแปลงหนึ่งของพระมนตรีพจนกิจ จึงมีรับสั่งให้คุณหญิงเอี่ยมเป็นผู้ไปติดต่อขอซื้อที่ดิน

พระยาสารสินสวามิภักดิ์ (ขณะนั้ยังเป็นพระมนตรีพจนกิจ) เป็นเจ้าของที่ดินแปลงดังกล่าว โดยรับจำนองมาในราคา 2,000 บาท พระยาสารสินฯ ก็แจ้งแก่คุณหญิงเอี่ยมว่า หากสมเด็จฯ ทรงพอพระทัยจะประทานเท่าใดก็ไม่ขัดพระประสงค์ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ทรงพระกรุณาประทานค่าที่ดินให้เป็นเงิน 20,000 บาท

พร้อมกับรับสั่งผ่านคุณหญิงเอี่ยมว่า “ขอบใจหมอมาก แต่วันนี้ต่อไปถ้ามีธุระเรื่องเงินก็ให้แม่แพเข้ามาเถอะ เงินของฉันก็เหมือนเงินของหมอเหมือนกัน แบ่งกันกินกําไร”

หลังจากนั่น คุณแพ ก็เริ่ม “เข้านอกออกใน” วังหลวง รับเงินไปให้พ่อค้าและบรรดาเถ้าแก่โรงสีหลายสิบโรงบริเวณคลองรังสิตกู้ยืม มีรายได้กลับมาเป็นจำนวนมากโดยตลอด

สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้ายังทรงมีที่นาในจังหวัดปทุมธานีเป็นจำนวนมาก จึงทรงสร้างโรงสีรับสีข้าวจากนาของพระองค์เอง และรับสีข้าวให้ที่อื่น โดยทรงรับสั่งให้เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว. เย็น อิศรเสนา) เป็นผู้ดำเนินการเปลี่ยนเครื่องจักรสีข้าวให้ทันสมัย

นอกจากนี้สมเด็จพระพันวัสวาอัยยิกาเจ้ายังทรงสนพระทัยในการทอผ้า เนื่องจากระหว่างที่ประทับรักษาพระองค์อยู่ที่ศรีราชา ได้ทรงหัดทอและทรงสามารถทอด้วยพระองค์เอง ผ้าที่ทอระหว่างที่ประทับอยู่ศรีราชานั้นเป็นผ้าพื้น ทอแล้วทรงนําออกจําหน่ายตามราคา

เมื่อเสด็จกลับพระนครก็เสด็จมาประทับที่พระตําหนักสวนหงส์ในพระราชวังดุสิต ก็ทรงนําหูกทอผ้ามาด้วย ทรงจัดหน่วยงานใหม่จึงเรียกว่า “กองทอ” ขึ้นตรงต่อพระองค์ท่าน ทรงหาผู้เชี่ยวชาญที่สําเร็จการทอจากญี่ปุ่นมาเป็นที่ปรึกษา ทําให้เกิดการทอแบบกี่กระตุก ผ้าที่ทอขึ้นนั้นมีผู้นิยมสั่งจำนวนมาก จนเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 จึงเลิกทํา

ส่วนเงินที่ได้รับพระราชทาน ในฐานะที่ทรงดํารงตําแหน่งในพระราชวงศ์นั้น ไม่ทรงใช้ในทางอื่น ได้รับพระราชทานมาเป็นซองอย่างไรก็ทรงเก็บเป็นซองไว้อย่างนั้น ต่อเมื่อไรมีพระธุระ ที่จะทรงจัดการให้เป็นประโยชน์งอกเงยขึ้นมาก็ทรงใช้เงินจํานวนนี้

เมื่อเป็น “สมเด็จพระอัยยิกาเจ้า” ก็มีเรื่องเล่าของพระองค์กับพระราชนัดดา (รัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9) เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ ว่า

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ไม่ทรงรู้จักกับธนบัตรไทย เมื่อทอดพระเนตรเห็นในพระหัตถ์สมเด็จอัยยิกาเจ้าก็ทูลถาม พระองค์ก็ทูลตอบเป็นต้นว่า

‘นี่ใบละบาท ไม่เคยเห็นหรือ เอ้า เอาไป’

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็ทรงได้ธนบัตรอยู่เป็นนิจ ตั้งแต่ราคาฉบับละ 1 บาท 5 บาท 10 บาท 20 บาท คราวหนึ่งทอดพระเนตรเห็นธนบัตรราคาฉบับละ 100 บาท ก็ทูลถามอีก สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าตรัสว่า

*‘นี่ใบละ 100 มากไป อย่าเอาเลย’” (*สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

ข้อมูลจาก :

สมภพ จันทรประภา. สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทาน เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมราชวงศ์หญิง จีริก กิติยากร ณ เมรุ วัดเพทศิรินทราวาส 29 ตุลาคม 2528

วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย. สารสินสวามิภักดิ์, โรงพิมพ์กรุงเทพฯ พฤศจิกายน 2556

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กันยายน 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0