โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

สมุนไพรไทย ที่ตลาดโลกต้องการสูง

Typethai

เผยแพร่ 14 มี.ค. 2562 เวลา 17.01 น.

สมุนไพรไทยขึ้นชื่อในเรื่องสรรพคุณ ไม่ใช่แค่เป็นที่ยอมรับในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงต่างประเทศที่นำเข้าสมุนไพรเหล่านี้ ไปพัฒนาเป็นยาต่าง ๆ ซึ่งสมุนไพรที่น่าภาคภูมิใจเหล่านี้ เราก็คุ้นเคยและได้ยินชื่อมาแล้วเกือบทั้งหมด มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

กระชายดำ ชื่อวิทยาศาสตร์ : Kaempferia parviflora (KP) หรือ ว่านกำบัง ว่านจังงัง เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ Zingiberaceae เป็นไม้ล้มลุก ลำต้นมีปุ่มปม ลักษณะคล้ายกระชาย แต่เนื้อในหัวเป็นสีม่วง เมื่อแก่สีจะเข้มขึ้นเรื่อย ๆ ผิวด้านนอกสีเหลือง ใบเดี่ยว แทงขึ้นมาจากหัวใต้ดิน ดอกช่อ ออกที่ปลายยอด สีขาวแต้มชมพู

เป็นพืชที่มีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพร สารสกัดจากกระชายดำมีฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย เชื้อราและไมโครแบคทีเรีย ต้านการเกิดโรคภูมิแพ้และต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ในสัตว์ทดลองพบว่ามีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดแดงที่ถูกแยกออกจากกายของหนูขาว และสร้างไนตริกออกไซค์ (NO) บริเวณเยื่อบุหลอดเลือดดำของรกเด็ก กระชายดำในประเทศไทยที่มีชื่อเสียงอยู่ที่จังหวัดเลย นอกจากนั้นยังเชื่อว่าเป็นยาบำรุงกำลัง นักรบสมัยก่อนจะนำหัวไปปลุกเสกแล้วอมเวลาต่อสู้ เชื่อว่าทำให้คงกระพัน

ไพล เป็นพืชชนิดหนึ่งในวงศ์ขิง ชื่อวิทยาศาสตร์: Zingiber cassumunar เป็นพืชลงหัว มีเหง้าใหญ่ เนื้อในสีเหลือง มีกลิ่นหอมใบเรียวยาวปลายแหลม ดอกออกรวมกันเป็นช่ออยู่บนก้านช่อดอก ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา เก็บเหง้าแก่จัดหลังจากต้นไพลลงหัวแล้ว

ไพลใช้ผสมในน้ำพริกแกงป่าทางจังหวัดระยอง ช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ป่า ทำให้น้ำแกงสีเหลือง ส่วนของไพลที่ใช้เป็นยาคือเหง้าแก่จัด แก้ฟกช้ำ บวม เคล็ด ยอก ปวดเมื่อย ขับลม ท้องเดิน ช่วยขับระดูหรือประจำเดือนของสตรี นิยมใช้หลังจากที่คลอดบุตรแล้ว เหง้าไพลมีน้ำมันหอมระเหยร้อยละ 0.8 และมีสารที่ให้สี ซึ่งจากการทดลองพบว่ามีฤทธิ์ลดอาการอักเสบ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีการค้นคว้าสารสำคัญที่มีสรรพคุณแก้หอบหืดและมีการวิจัยทางคลีนิค โดยใช้รักษาโรคหืดในเด็กและไม่มีพิษเฉียบพลัน

ขมิ้นชัน เป็นพืชล้มลุกในวงศ์ขิง มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเหง้าอยู่ใต้ดิน เนื้อในของเหง้าเป็นสีเหลือง มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มีสีเหลืองเข้มจนสีแสดจัด เหง้าของขมิ้นชันมีรสฝาด กลิ่นหอม สามารถเก็บมาใช้เมื่อมีช่วงอายุ 9-10 เดือน มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ลดการอักเสบ และมีฤทธิ์ในการขับน้ำดี น้ำมันหอมระเหยในขมิ้นชันมีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดท้อง ท้องอืด แน่นจุดเสียด แก้โรคผิวหนัง ขับลม แก้ผื่นคัน แก้ ท้องร่วง อาจช่วยรักษาโรครูมาตอยด์ได้แต่ยังไม่ยืนยันแน่ชัด ในตำรายาจีน ใช้เป็นยาแก้ปวดเมื่อย แก้ปวดประจำเดือน

เหง้าขมิ้นชันมีสารประกอบที่สำคัญเป็นน้ำมันหอมระเหย และในเหง้ายังมีสารสีเหลืองส้มที่เรียกว่าเคอร์คูมิน สารสกัดด้วยเอทานอลจากเหง้าสดมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสและต้านอนุมูลอิสระ ขมิ้นชันสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ลดอาการอักเสบ มีฤทธิ์ในการขับน้ำได้ดี น้ำมันหอมระเหย ในขมิ้นชันมีสรรพคุณรักษาปวดท้องเสียด ท้องอืด แน่นจุกเสียด ขมิ้นชันไม่มี พิษเฉียบพลัน มีความปลอดภัยสูง เพิ่มภูมิคุ้มกันอิมมูโนโกลบูลิน ชนิดจี (IgG) และลดความไวต่อตัวกระตุ้น ช่วยขยายหลอดลม ฤทธิ์ต้านการอักเสบ และเป็นสมุนไพรรักษาโรคภูมิแพ้

กวาวเครือขาว ชื่อวิทยาศาสตร์: Pueraria candollei Graham ex Benth. var mirifica เป็นพืชในวงศ์ Leguminosae ชื่ออื่น ๆ ได้แก่ กวาวเครือ ทองเครือ ทองกวาว ตานจอมทอง จอมทอง กวาวหัว เป็นพืชลงหัว หัวใต้ดิน กลม มีหลายขนาด หัวที่มีอายุมากมีขนาดใหญ่ ที่เปลือก เมื่อเอามีดปาดจะมียางสีขาวคล้ายน้ำนม เนื้อในสีขาวคล้ายมันแกว เนื้อจะเปราะ มีเส้นมาก หัวที่ยังเล็ก เนื้อในจะละเอียด มีน้ำมาก

กวาวเครือขาวมีฤทธิ์เป็นยาสมุนไพร หัว บำรุงเนื้อหนังให้เต่งตึง แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้อ่อนเพลีย ผอมแห้ง นอนไม่หลับ มีฮอร์โมนเพศหญิงสูง ทาหรือรับประทานทำให้เต้านมขยายตัว เส้นผมดกดำ เพิ่มเส้นผม เป็นยาปรับรอบเดือน บำรุงอวัยวะสืบพันธุ์ให้เจริญ แก้โรคตาฟาง ต้อกระจก ทำให้ความจำดี บำรุงโลหิต กินได้นอนหลับ ผิวหนังเต่งตึงมีน้ำมีนวล ถ้ารับประทานเกินขนาดจะเป็นอันตรายได้ ทำให้มีอาการมึนเมา คลื่นไส้อาเจียน อาจทำให้แท้งบุตรได้ เปลือกเถา แก้พิษงู ในพม่าใช้หัวเป็นยาอายุวัฒนะของทั้งหญิงและชาย แต่ไม่เหมาะกับคนหนุ่มสาว โดยเฉพาะหญิงวัยเจริญพันธุ์

บัวบก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Centella asiatica) เป็นพืชสมุนไพรที่อยู่ในแถบเอเชีย ใบบัวบกสามารถช่วยรักษาแผลให้หายได้เร็วขึ้นและยังช่วยลดอาการอักเสบของแผลได้ดี เพราะมีกรดมาเดคาสสิก กรดอะเซียติก และสารอะเซียติโคไซด์ ยาแผนปัจจุบันทำเป็นรูปครีมผงโรยแผล ยาเม็ดรับประทาน เพื่อใช้รักษาแผลสดและแผลผ่าตัด ไม่ว่าจะเป็นแผลไฟไหม้ แผลฝีหนอง หรือแผลสด โดยใช้ใบและต้นสดตำละเอียดคั้นน้ำทานวันละ 3 - 4 ครั้ง หรืออาจใช้กากพอกบริเวณแผลด้วย

สารสกัดด้วยน้ำของใบบัวบกที่มีความเข้มข้น 31.25 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ยับยั้งการเจริญของ Flavobacterium columnaris ในอาหารเลี้ยงเชื้อได้ บัวบกที่สกัดด้วยเอทานอล มีความเป็นพิษต่อเซลล์เพาะเลี้ยง Vero cell โดยมีค่า CD50 เท่ากับ 0.16 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร สารสกัดจากต้นสดที่สกัดด้วยเอทานอลมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสและต้านอนุมูลอิสระ ในศรี ลงกาใส่ใบบัวบกในข้าวต้ม โดยต้มข้าวกับน้ำซุปผักจนสุกนุ่ม ใส่กะทิ ปรุงรสด้วยเกลือ ยกลงแล้วจึงใส่ใบบัวบก ในไทยใช้เป็นผักแนม กินกับผัดไทย ผัดหมี่ หมี่กะทิ ขนมจีน ลาบ ทำยำใบบัวบก หรือคั้นทำน้ำใบบัวบก ทางภาคใต้ใส่ในแกงพริกหมู สำหรับผู้ที่แพ้ถ้ารับประทานใบและต้นเข้าไป ทำให้เวียนศีรษะ ท้องร่วง ถ่ายเป็นเลือด ใจสั่น แขนขากระตุกและเกร็ง

ของดีตามภูมิปัญญาชาวบ้านไทย คือของดีที่ชาวต่างชาติยอมรับ สามารถสกัดเป็นยาได้ แต่ถ้าหากจะใช้ก็ต้องถามผู้เชี่ยวชาญ หรือศึกษาให้ดีก่อน เพื่อจะได้ใช้อย่างถูกวิธี ไม่งั้นของดีก็อาจเป็นของที่ไม่ดีได้

อย่าลืมติดตาม เรื่องราวสนุก ๆ แบบ TYPEไทย มากมาย ที่ Facebook / YouTube / IG / Twitter

อ้างอิง : Wikipedia

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0