โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

สมาคมการค้าพลังงานขยะวอน กกพ. แก้เกณฑ์รับซื้อไฟฟ้าขยะอุตฯ

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 21 ก.ค. 2562 เวลา 08.32 น. • เผยแพร่ 21 ก.ค. 2562 เวลา 08.31 น.
13998698351399892048l

สมาคมการค้าพลังงานขยะทำหนังสือถึงคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ก่อนกำหนดหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมต้องฟังความเห็นภาคเอกชนผู้เกี่ยวข้อง พร้อมยื่นข้อเสนอผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าต้องมีใบอนุญาตจัดเก็บ-รวบรวมขยะ ขออัตราค่าไฟฟ้าสูงกว่าขยะชุมชน และตั้งโรงไฟฟ้านอกพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมได้

รศ.ดร.มนตรี วิบูลยรัตน์ นายกสมาคมการค้าพลังงานขยะ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สมาคมได้ทำหนังสือถึง ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เรื่องขอให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561-2580 (PDP 2018) ได้กำหนดให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) จำนวน 44 เมกะวัตต์ (MW) (เป็นการซื้อเพิ่มเติม 25 MW+ส่วนที่เหลือจากเดิม 19 MW = 44 MW) โดยการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมให้ กกพ.เป็นผู้ประกาศการรับซื้อ

ทางสมาคมได้จัดประชุมสมาชิกมีความเห็นว่า การจัดการขยะอุตสาหกรรมส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มของผู้ประกอบการที่มีอาชีพจัดเก็บ-รวบรวมขยะตาม “ใบอนุญาต” ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในขณะที่ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ซึ่งจะขายไฟเข้าระบบตามแผน PDP ก็ไม่มีสัญญาความร่วมมือในการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมกับผู้ประกอบการจัดเก็บ-รวบรวมขยะอุตสาหกรรม ประกอบกับตัวผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมบางส่วนอาจจะไม่มี “ใบอนุญาต” ในการจัดเก็บรวบรวมขยะด้วย “ขยะจากอุตสาหกรรมที่รวบรวมส่งให้กับโรงไฟฟ้าถือเป็นขยะอุตสาหกรรมสะอาด ไม่ใช่ขยะอุตสาหกรรมที่มีมลพิษ ในเมื่อปัญหามันจะเกิดอย่างนี้ เราจึงอยากขอโอกาสเข้าไปชี้แจงข้อเท็จจริงให้กับ กกพ.ทราบก่อนที่ กกพ.จะออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมจำนวน 44 MW” รศ.ดร.มนตรีกล่าว

พร้อมกันนี้ทางสมาคมได้จัดทำข้อเสนอแนะให้ กกพ.พิจารณา 3 ข้อ ได้แก่ 1) คุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอในการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมในส่วนของความพร้อม 4 ด้าน กกพ.ควรจะพิจารณากลุ่มผู้เก็บ-รวบรวม (waste collector) ขยะอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตรายที่มีผลงานและมีใบอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นอันดับแรก 2) กกพ.ควรจะพิจารณาปรับราคารับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม “เท่ากับ” ราคารับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชน (ตามแผน PDP 2018 กำหนดจะรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะ (ชุมชน) ตามนโยบายส่งเสริมของรัฐบาลจำนวน 400 MW) เนื่องจากขยะอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตรายจะมีค่าความร้อนของเชื้อเพลิง RDF “สูงกว่า” ค่าความร้อนจากขยะชุมชน รวมไปถึงค่ากำจัดขยะอุตสาหกรรมก็ยัง “แพงกว่า” ค่ากำจัดขยะชุมชนด้วย

และ 3) ไม่ควรกำหนดสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมให้อยู่เฉพาะในนิคมอุตสาหกรรมเท่านั้น เนื่องจากกระบวนการคัดแยกขยะอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตรายจะเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นทางของขยะมาแล้ว “หลังจากทำหนังสือถึงคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแล้วต่อไปสมาคมอาจจะขอเข้าพบ รมต.พลังงานคนใหม่เพื่อชี้แจงกระบวนการที่จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม แต่ต้องรอความชัดเจนในเรื่องของนโยบายเกี่ยวกับแผน PDP 2018 ของรัฐมนตรีคนใหม่ก่อน” รศ.ดร.มนตรีกล่าว

ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวเข้ามาว่า คณะกรรมาธิการการพลังงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (รัฐบาล สนช.) เคยพิจารณาการรับซื้อไฟฟ้า “พิเศษ” จากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ feed-in-tariff (FIT) เพื่อ “จูงใจ” ให้ภาคเอกชนในการ “กำจัด” ขยะอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล คสช.ในขณะนั้น คาดการณ์มีขยะอุตสาหกรรมนอกระบบอยู่ประมาณ 500,000 ตัน/ปี โดยคณะกรรมาธิการการพลังงานมีความเห็นว่า การจัดการกับขยะอุตสาหกรรมเป็นหน้าที่ของโรงงานอุตสาหกรรมในฐานะผู้ผลิตและผู้สร้างขยะเหล่านี้อยู่แล้ว

ถ้ากรมโรงงานอุตสาหกรรมมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพก็ “ไม่จำเป็น” จะต้องนำมาตรการจูงใจให้นำขยะอุตสาหกรรมมาผลิตไฟฟ้าด้วยการจ่ายค่าไฟฟ้าให้กับโรงไฟฟ้าในอัตราพิเศษในรูปแบบของ FIT ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้อัตราค่าไฟ าอัตโนมัติผันแปร หรือ ค่า Ft สูงขึ้นได้และจะกลายเป็นภาระกับผู้ใช้ไฟฟ้า ส่วนกรณีที่โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมควรจะต้องตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมหรือไม่นั้น ทาง กกพ.เคยกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมระบุที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมจะต้องเชื่อมโยงกับระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าด้วย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0