โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

สภาฉลุย "ร่างพ.ร.ก.โอนอัตรากำลังฯ" ปิยบุตรลุกอภิปราย "ไม่เห็นด้วย"

Khaosod

อัพเดต 17 ต.ค. 2562 เวลา 10.27 น. • เผยแพร่ 17 ต.ค. 2562 เวลา 03.44 น.
ฉลุย

สภาฉลุย “ร่างพ.ร.ก.โอนอัตรากำลังฯ” ปิยบุตรลุกอภิปราย “ไม่เห็นด้วย” จี้ประยุทธ์อย่าใช้อำนาจเกินขอบเขต

เมื่อวันที่ 17 ต.ค. เวลา 09.45 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สมัยวิสามัญ) เป็นพิเศษ มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม วาระพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ.2562 ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ

พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม รายงานเหตุผลต่อสมาชิกว่า เพื่อสนับสนุนภารกิจส่วนราชการในพระองค์ในการปฏิบัติหน้าที่ การถวายพระเกียรติและการรักษาความปลอดภัยขององค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ รวมทั้งให้การปฏิบัติภารกิจทั้งปวงตามพระราชอัธยาศัย และตามพระราชประเพณีให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ และเกิดความปลอดภัยสูงสุด

จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วน อันมิอาจหลีกเลี่ยงในการที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพ.ร.ก.นี้

จากนั้นนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ อภิปรายว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ารับหน้าที่เป็นเวลา 3 เดือน ตราพ.ร.ก.ไปแล้ว 2 ฉบับ ทั้งสองฉบับนี้มีปัญหาว่าเป็นพ.ร.ก.ที่เข้าตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 หรือไม่ และเมื่อเรามาพิจารณาถึงเหตุผลในการตราพ.ร.ก.นี้ ตามที่พล.อ.ชัยชาญอภิปรายถึงเหตุผล เท่ากับว่าครม.อ้างเหตุเรื่องความปลอดภัยของประเทศ และยืนยันว่านี่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้

ซึ่งในเรื่องความปลอดภัยของประเทศ ถูกต้องว่าองค์พระมหากษัตริย์เป็นหลักสำคัญของประเทศ เป็นประมุขของประเทศไทย การถวายความปลอดภัยแด่องค์มหากษัตริย์จึงเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาความปลอดภัยของประเทศ ตรงนี้ไม่น่ามีปัญหา แต่ประเด็นปัญหาอยู่ที่ว่ากรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งคิดว่าเป็นปัญหาในทางรัฐธรรมนูญ เพราะคำว่าฉุกเฉินคือสิ่งที่เป็นไปปัจจุบันทันด่วนและแก้ไขโดยพลัน และคำว่าจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ หมายถึงต้องทำทันที ถ้าไม่ทำจะเกิดผลร้ายแรงตามมา

และในหมายเหตุท้าย พ.ร.ก.ยืนยันว่าเป็นไปเพื่อสนับสนุนภารกิจส่วนราชการในพระองค์เกี่ยวกับการถวายอารักขา ถวายพระเกียรติ และถวายรักษาความปลอดภัย นี่คือวัตถุประสงค์ของกฎหมาย แต่ประเด็นคือ ถ้าหากว่าครม.ยืนยันว่าพ.ร.ก.นี้มีความจำเป็นรีบด่วน ครม.จำเป็นต้องแสดงข้อเท็จจริงให้สภาทราบว่า ณ วันที่ออกพ.ร.ก.มีเรื่องอะไรที่กระทบต่อการถวายอารักขา การถวายพระเกียรติ แต่ครม.ไม่ได้ชี้แจงเลย

นายปิยบุตรอภิปรายต่อไปว่า สิ่งเหล่านี้มีปัญหากับการใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คุ้นชินกับการมีอำนาจพิเศษกับอำนาจมาตรา 44 ที่ใช้มา 5 ปีเศษ ประเภทเปิดปุ๊บติดปั๊บ ตลอด 5 ปี ที่ใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งมามากแล้วเกิดความผิดพลาดและออกมาตรา 44 แก้ไข บางกรณีวันนี้ออกอีกวันเลิก ฉะนั้น ในวันนี้เราเข้าสู่ระบบปกติแล้ว

เราใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ท่านไม่มีมาตรา 44 อีกแล้ว ไม่มีมนต์วิเศษ และประเภทที่สั่งอะไรแล้วไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ไม่มีอีกแล้ว ที่สำคัญมีสภาแล้ว ดังนั้น นายกรัฐมนตรีและครม.ต้องไม่ลืมว่ามีสภาแล้ว เขาไม่ใช่ลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชาของท่าน การใช้อำนาจของครม.จึงต้องเคารพรัฐธรรมนูญ และระมัดระวังรอบคอบกว่าเดิม ไม่ใช่อยากทำอะไรก็ทำ ตนเห็นว่าการตราพ.ร.ก.นี้เป็นข้อยกเว้นยอมให้อำนาจกับครม. ดังนั้น จึงต้องทำอย่างจำกัดเคร่งครัดตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 172 กำหนด

นายปิยบุตรกล่าวต่อว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเคยชิน จะใช้ช่องทางตามมาตรา 172 เสมือนกับมีอำนาจตามมาตรา 44 ไม่ได้ และหากเราปล่อยผ่านเรื่องนี้ เท่ากับว่าเรากำหนดสนับสนุนนิสัยการใช้อำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ ที่ยืนยันว่าอะไรก็จะใช้อำนาจรวดเร็วเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอยู่เสมอ

หากไม่ปล่อยผ่านเรื่องนี้เราจะช่วยให้พล.อ.ประยุทธ์ ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้อำนาจ แต่หากปล่อยผ่านเรื่องนี้จะกลายเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ผิด นายกฯอยากได้อะไรขี้เกียจรอสภา ไม่อยากชี้แจงต่อสภา ก็ใช้อำนาจตราพ.ร.ก. นานวันเข้าการออกพ.ร.ก.จะกลายสภาพเป็นมาตรา 44 จำแลง เรื่องนี้จึงจำเป็นต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม ทั้งการถวายสัตย์ไม่ครบ แถลงนโยบายไม่แจ้งที่มาของรายได้ และการออกพ.ร.ก. 2 ฉบับ เป็นปัญหาพื้นฐานสำคัญของพล.อ.ประยุทธ์ ที่ผ่านมาได้รับการยกเว้นจากรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งถึงวันนี้ สภาจะยินยอมให้พล.อ.ประยุทธ์ เป็นข้อยกเว้นของรัฐธรรมนูญอีกต่อไปหรือ ตนคิดว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นติดกันหลายเรื่องเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ชัดเจน ว่านี่คือการแสดงอาการของโรคพล.อ.ประยุทธ์คือ โรคไม่แยแสรัฐธรรมนูญ

“ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักร และรัฐธรรมนูญไทยก็รับรองต่อเนื่องเรื่อยมา คือประเทศไทยเป็นราชอาณาจักร มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ ประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจประชาธิปไตย พระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้อำนาจประชาธิปไตยผ่านทางรัฐสภา ครม.และศาล พระมหากษัตริย์ไม่ทรงกระทำอะไรผิด พระมหากษัตริย์ไม่ทรงต้องรับผิดชอบ แต่รัฐมนตรีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ และไม่ใช่แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3/2562 ในคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ เนื้อหาของคำวินิจฉัยของศาลยืนยันว่ามีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง ทรงเป็นกลางทางการเมือง และใช้คำว่าปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง หนังสือตำราหลายเล่มของนักวิชาการด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งก็อยู่ในรัฐมนตรีชุดนี้ด้วย ก็เขียนเรื่องนี้เช่นกันว่าระบอบนี้คือพระมหากษัตริย์ทรงปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง รัฐมนตรีต้องรับผิดชอบ” นายปิยบุตรกล่าว

นายปิยบุตรกล่าวทิ้งทายว่า พรรคอนาคตใหม่และตนยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การอภิปรายวันนี้เป็นไปเพื่อยืนยันอำนาจของสภาตามรัฐธรรมนูญ ตรวจสอบถ่วงดุลกับฝ่ายบริหาร รักษาระบบรัฐสภา ที่สำคัญที่สุดคือการรักษาปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข

การแสดงออกซึ่งความจงรักภักดี มิใช่ชี้หน้าด่าคนอื่นว่าไม่จงรักภักดี การแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีไม่ใช่การใช้อำนาจกระทำการใดเพื่อทำให้คนคิดว่าพระมหากษัตริย์เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจ ด้วยเหตุผลที่อภิปรายทั้งหมดเห็นว่าพ.ร.ก.ตราขึ้นโดยไม่เป็นไปตามมาตรา 172 ตนในฐานะส.ส.ไม่สามารถลงมติอนุมัติพ.ร.ก.นี้ได้

ด้าน พล.อ.ชัยชาญชี้แจงว่า กระทรวงกลาโหมมีภารกิจตามที่กฎหมายกำหนด โดยกองทัพบกกำหนดให้กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เป็นหน่วยทหารหลักที่มีภารกิจโดยตรงในการถวายความปลอดภัยต่อพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ อันเป็นหน้าที่สำคัญยิ่งที่ต้องปกป้องสถาบันกษัตริย์อันเป็นที่เคารพรักของคนไทยทุกคนเพื่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ

สำหรับหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์นั้น เดิมขึ้นตรงกับกระทรวงกลาโหม ต่อมาได้ปรับเป็นส่วนราชการในพระองค์ มีหน้าที่ในการวางแผน ดำเนินการประสานงาน บังคับบัญชา ควบคุมกำกับดูแลและปฏิบัติงานในการถวายอารักขาและถวายพระเกียรติ พระมหากษัตริย์ พระบรมราชินี รัชทายาท พระบรมวงศานุวงศ์และบุคคลอื่น

รวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชพิธีรักษาความสงบเรียบร้อยในเขตพระราชฐาน ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติภารกิจในการพิทักษ์รักษาปกป้อง ตลอดจนสนับสนุนภารกิจของสถาบันกษัตริย์เป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ เพราะการถวายความปลอดภัยต่อพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์จะต้องไม่มีข้อบกพร่องเด็ดขาด

“การปรับโอนครั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ไปเป็นของส่วนราชการในพระองค์ จึงต้องดำเนินการโอนอัตราทั้งสองหน่วยไปเพื่อให้หน่วยมีความพร้อมทุกด้าน ตลอดเวลา มีการจัดอัตรากำลังพลที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุด

อีกทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับการต้องหมุนเวียนกำลังพลต่างๆ ตามอำนาจหน้าที่ที่รับผิดชอบ และมีการฝึกเพิ่มพูนความรู้ความสามารถของกำลังพลให้มีความพร้อมอยู่เสมอ และต้องไม่มีข้อบกพร่องโดยเด็ดขาด และให้สอดคล้องกับการบริการจัดการเรื่องงบประมาณให้สอดคล้องงบปี 63 จึงถือเป็นกรณีฉุกเฉินจำเป็นรีบด่วนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ” พล.อ.ชัยชาญกล่าว

ขณะที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ชาติ และความเป็นมาไม่เหมือนประเทศอื่น ที่เรายืนยาวมาถึงวันนี้ได้เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์ หากไม่มีสถาบันนี้ก็คงไม่มีพวกเรามาถึงวันนี้

แต่ด้วยวิวัฒนาการของประเทศและโลก ทำให้ระบบสถาบันกษัตริย์มีความเปลี่ยนแปลงไป จนมาเป็นสถาบันระบบประมุขของระบอบประชาธิปไตยของไทย ดังนั้น ความเป็นราชอาณาจักรไทยไม่สามารถแบ่งแยกออกได้ระหว่างความมั่นคงของประเทศกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ถือว่าเป็นเรื่องเดียวกัน อะไรที่กระทบสถาบันกษัตริย์ก็เท่ากับกระทบความมั่นคงของประเทศด้วยเช่นกัน

“ดังนั้น การถวายความปลอดภัยให้พระมหากษัตริย์จึงเปรียบเหมือนการถวายความปลอดภัยให้กับประเทศชาติ ไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศที่ไม่เป็นกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน ในเมื่อความปลอดภัยของประเทศถือเป็นเรื่องเร่งด่วน อะไรที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของสถาบันกษัตริย์จึงไม่ต่างกัน ส่วนอะไรถือเป็นเร่งด่วนหรือไม่ เราควรให้อำนาจฝ่ายบริหารพิจารณา

เราในฐานะสภาผู้แทนฯ ควรพิจารณาว่าเหตุผลนั้นเห็นด้วยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแต่ละท่าน หากไม่เห็นด้วยก็ใช้สิทธิตามที่กฎหมายกำหนด แต่สำหรับผมเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนและให้การรับรอง” นายพีระพันธุ์กล่าว

จากนั้นที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่มีมติเห็นชอบอนุมัติ ด้วยคะแนน 374 ต่อ 70 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง และจะส่งพ.ร.ก.ดังกล่าวต่อให้วุฒิสภาอนุมัติในวันที่ 20 ต.ค.นี้ เพื่อประกาศใช้เป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ร.ก.ดังกล่าว มีทั้งสิ้น 4 มาตรา สาระสำคัญ คือ ให้โอนบรรดาอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ตามที่ รมว.กลาโหม ประกาศกำหนด ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการในพระองค์

สำหรับส.ส.ที่ไม่อนุมัติจำนวน 70 คน เป็นส.ส.พรรคอนาคตใหม่ทั้งหมด ขณะที่งดออกเสียง 2 เสียง ประกอบด้วย พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ และน.ส.ศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคอนาคตใหม่ สำหรับผู้มาร่วมประชุมทั้งสิ้น 446 คน อย่างไรก็ตาม การใช้สิทธิ์ของส.ส.พรรคอนาคตใหม่ พบว่าบางส่วนใช้สิทธิ์ออกเสียงเห็นด้วย ได้แก่ นายกวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.เขต 7 ชลบุรี นายจารึก ศรีอ่อน ส.ส.จันทบุรี พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี พรรคอนาคตใหม่

 

youtube
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0