โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

จาก "ผ้าซับระดู" สู่ "ผ้าอนามัย" แรกขายในไทยเมื่อไหร่?

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 21 พ.ย. 2566 เวลา 06.37 น. • เผยแพร่ 20 พ.ย. 2566 เวลา 10.11 น.
ภาพปก – โฆษณาผ้าอนามัย
โฆษณา ผ้าซับระดู ผ้าอนามัย หนังสือพิมพ์ ข่ายเพ็ชร์ ปี 2468

ในอดีต เมื่อหญิงไทยมี “ระดู” หรือ “ประจำเดือน” ตัวเลือกที่สาวๆ หยิบมาใช้ก่อนจะมี “ผ้าอนามัย” ก็คือ กาบมะพร้าว นำไปแช่น้ำแล้วทุบให้นิ่ม ก่อนนำใยมะพร้าวไปยัดใส่ผ้าเพื่อซับระดู หรือใช้ผ้าทบให้หนาเพื่อซับระดู เรียก “ผ้าซับระดู” ก่อนที่ต่อมาจะเกิดผ้าอนามัยขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้มี “ประจำเดือน” แล้วเมืองไทยเริ่มมีจำหน่าย “ผ้าอนามัย” เมื่อไหร่?

เอนก นาวิกมูล เขียนไว้ใน “แรกมีในสยาม ภาค 1” สันนิษฐานว่า น่าจะเข้ามาประเทศไทยช่วงปลายรัชกาลที่ 6 ต้นรัชกาลที่ 7

เมื่อเริ่มมีผ้าอนามัยแบบสำเร็จรูป เรียกว่า “ผ้าซับระดู” จำหน่ายในราคาโหลละ 3 บาท มีหลักฐานเก่าแก่สุดที่พบเป็นโฆษณาขายผ้าซับระดูในหนังสือ “ข่ายเพ็ชร์” ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2468 ของร้านประเสริฐโอสถ ถนนบ้านหม้อ พระนคร ความว่า

“ถูกกว่าห้างฝรั่ง

ผ้าซับระดูซึ่งซื้อขายกันที่ห้างฝรั่งเปนราคาโหล 1 ตั้ง 3 บาทนั้น ถ้าท่านไปซื้อที่ “ประเสริฐโอสถ” จะได้ถูกกว่าห้างฝรั่งตั้งครึ่งตัว รับรองได้ว่าเปนของดีเท่าทันกับห้างฝรั่งเหมือนกัน ด้วยเหตุนั้น คนไทยควรจะไม่ลืมร้านของไทยเสียเลยมิใช่ฤา?…”

ต่อมา พ.ศ. 2485 ผ้าอนามัยยี่ห้อ โกเต๊กซ์ (Kotex) ของบริษัทคิมเบอร์ลี่ย์-คล๊าค ซึ่งเป็นผ้าอนามัยที่มีห่วงคล้องกับเอว และมีตะขอเกี่ยวอยู่ด้านหลัง แม้จะมีขนาดและวิธีใช้ที่ดูแล้วขลุกขลักอยู่พอควร แต่ในยุคนั้นก็นับว่าสะดวกสบายมากทีเดียว

ในระยะแรก “ผ้าอนามัย” แพร่หลายเพียงในกลุ่มสตรีชั้นสูงที่อยู่ในเมืองเท่านั้น เพราะการใช้ผ้าอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งออกจะฟุ่มเฟือย เมื่อเทียบกับการใช้ผ้าประจำเดือนที่ใช้แล้วซักทำความสะอาด

ผ้าอนามัยยี่ห้อโกเต็กซ์ได้รับความนิยมอย่างสูงในเวลาต่อมา จนเรียกผ้าอนามัยทั่วไปว่า “โกเต๊กซ์” กันอยู่พักใหญ่

เมื่อการแข่งขันในตลาดผ้าอนามัยรุนแรงมากขึ้น พ.ศ. 2511 ก็เริ่มมีการตั้งโรงงานผลิตภายในประเทศ และเกิดยี่ห้อใหม่อย่าง เซลล๊อกซ์ ที่ออกผลิตภัณฑ์ใหม่คือ ผ้าอนามัยแถบปลาย ที่แม้จะยังต้องใช้สายคาด แต่ก็ตอบโจทย์เรื่องการแต่งตัวได้มากขึ้น

พ.ศ. 2515 ผ้าอนามัยแบบแถบกาวเกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ เนื่องจากผู้ผลิตสั่งเครื่องจักรผิดแบบ โดยใช้ยี่ห้อแซนนิต้า ความสะดวกของผ้าอนามัยแบบแถบกาว ทำให้ผ้าอนามัยแบบห่วงและแบบแถบปลายมีขนาดตลาดที่เล็กลง และเลิกผลิตไปในที่สุด

ต่อมา ผ้าอนามัยก็มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นแบบมินิ, แบบทีนเอจ ฯลฯ โดยรวมคือมีขนาดที่เล็กและบางลง ตลอดจนความเหมาะสมกับการใช้งานในวันมามาก มาน้อย เพื่อให้เกิดความสะดวกและตอบสนองกับแฟชั่นและการใส่เสื้อผ้าที่รัดรูป รวมถึงการพกพา เมื่อผู้หญิงต้องออกจากบ้านมากขึ้นตามบทบาทในสังคม เช่น ไปทำงาน, เรียนหนังสือ ฯลฯ

หลัง พ.ศ. 2526 ความเชี่ยวชาญในการผลิตเริ่มเปลี่ยนจากสหรัฐอเมริกา ไปสู่คู่แข่งจากโลกตะวันออก อย่างประเทศญี่ปุ่น ซึ่งค้นพบเทคโนโลยีใหม่ในการผลิต คือ Polymer Gel มีลักษณะเป็นเม็ดทรายละเอียด สามารถดูดซึมน้ำได้ดีหลายเท่าตัว ช่วยให้ผ้าอนามัยบางลงเรื่อยๆ จากความหนาเป็นเซ็นติเมตร ก็เหลือเพียงไม่กี่มิลลิเมตร สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้หญิงรุ่นใหม่

ปล. ในสหรัฐอเมริกา ศูนย์การค้าในชิคาโก เริ่มขายผลิตภัณฑ์ “ผ้าอนามัย” กล่องแรก เมื่อตุลาคม ค.ศ. 1919 (พ.ศ. 2462) สภาพการขายในเวลานั้นว่ากันว่าค่อนข้างกระอักกระอ่วน เพราะพนักงานขายเป็นบุรุษ ขณะที่ลูกค้าเป็นสตรี แต่ชื่อผลิตภัณฑ์ “Kotex” เป็นปัจจัยสำคัญที่แก้ไขปัญหานี้ โดยบริษัทผู้จำหน่ายสร้างแคมเปญโฆษณาที่เปลี่ยนแปลงมุมมอง “วันนั้นของเดือน” สำหรับผู้หญิงในช่วงยุค 1920s

บริษัทใช้สโลแกนว่า “Ask for them by name” (หรือ “เรียกหาผลิตภัณฑ์ด้วยชื่อของมัน”) ผู้ศึกษาเรื่องการสื่อสารมวลชนมองว่า มันกลายเป็นสโลแกนสำคัญของบริษัท การเข้าไปซื้อโดยเรียกว่า “Kotex” ช่วยให้สุภาพสตรีไม่ต้องเอ่ยถึงเรื่องวันนั้นของเดือนในที่สาธารณะ โดยเฉพาะกับพนักงานขายที่เป็นบุรุษ ช่วยให้ไม่ต้องเขินกันทั้งสองฝ่าย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

ข้อมูลจาก :

ภาษีอนามัย (Tampon Tax) ประเทศไทยเอาไงดี? https://www.itax.in.th/

สุทธิยา พาณิชกุล. โครงสร้างตลาดและพฤติกรรมการแข่งขัรในอุตสาหกรรมผ้าอนามัย, วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะเศณษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2544

Eschner, Kat. “The Surprising Origins of Kotex Pads”. Smithsonian. Online. Published 9 NOV 2018. Access 16 DEC 2019.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0