โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

สพฐ.-กสศ. ช่วย นร.ยากจนพิเศษ เปิดบัญชีศูนย์บาท ไร้ค่าธรรมเนียมให้เด็ก

ไทยรัฐออนไลน์ - Politics

อัพเดต 16 ก.ค. 2563 เวลา 23.25 น. • เผยแพร่ 16 ก.ค. 2563 เวลา 09.05 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

สพฐ.-กสศ.ขยายช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษ เพิ่มประสิทธิภาพจ่ายเงิน ดึง ธ.ก.ส.-ออมสิน ช่วยเปิดบัญชีศูนย์บาทไร้ค่าธรรมเนียมให้เด็ก เปิดโอกาสผู้ไม่ผ่านเกณฑ์ ยื่นเรื่องใหม่ไม่ต้องรอ 3 ปีตามเกณฑ์

วันที่ 16 ก.ค. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดประชุมชี้แจงการดำเนินงานการขอรับเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษ แบบมีเงื่อนไข ประจำภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ให้แก่ เขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 225 เขต และครูโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ทั่วประเทศ ผ่านระบบ Teleconference

นาย กวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวเปิดการประชุมผ่านระบบ Teleconference ว่า ช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา สพฐ.ร่วมกับ กสศ. ปฏิรูปกระบวนการคัดกรองนักเรียนยากจน และปฏิรูปวิธีจัดสรรงบประมาณเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง และได้รับความร่วมมือจากเขตพื้นที่การศึกษา ผอ. ครู กว่า 4 แสนคน ในการระดมขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้กับนักเรียนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์มาอย่างดี ทำให้ สพฐ. มีเครื่องมือการคัดกรองและช่วยเหลือนักเรียนยากจนได้ กว่า 1.7 ล้านคน รวมทั้งได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมจาก กสศ. อีกคนละ 3,000 บาท/คน/ปี จำนวน 740,000 กว่าคน ครอบคลุมโรงเรียนกว่า 27,512 โรงเรียน

“สำหรับในปีการศึกษา 2563 สพฐ. และ กสศ. ได้ขยายผลการพัฒนาและบูรณาการร่วมกัน ทั้งความช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษ ตั้งแต่ระดับอนุบาล–ม.ต้น ทั่วประเทศ ให้ได้รับการช่วยเหลือเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข นอกจากนี้ยังบูรณาการการบันทึกข้อมูลเพื่อเยี่ยมบ้านและบันทึกข้อมูลการคัดกรองไว้ในระบบเดียวกันโดยบันทึกข้อมูลครั้งเดียวสามารถนำไปใช้สำหรับเรื่องการเยี่ยมบ้านและการคัดกรองได้เลย” นายกวินทร์เกียรติ กล่าว

รองเลขาธิการ สพฐ. กล่าวอีกว่า ความร่วมมือระหว่าง สพฐ. และ กสศ. ถือว่าประสบความสำเร็จในการปฏิรูปการจัดสรรงบประมาณเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา แต่นักเรียนกลุ่มนี้ยังมีความเสี่ยงด้านอื่นๆ เช่น สุขภาพ การเรียนรู้ พฤติกรรม เป็นต้น ซึ่งอาจเป็นปัจจัยทำให้หลุดออกจากระบบการศึกษา สพฐ.จึงขอความร่วมมือจาก กสศ. ในการทำองค์ความรู้และวิจัยพัฒนาหาแนวทางส่งต่อการดูแลเพื่อให้ สพฐ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือนักเรียนยากจนได้อย่างครอบคลุม ทั้งนี้ขอขอบคุณเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา ครู ที่เป็นกำลังสำคัญจะทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ ประโยชน์เกิดแก่นักเรียน และขอบคุณ กสศ. หน่วยงานใหม่ของประเทศ ที่เข้ามามีบทบาทเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือ ช่วยสนับสนุนและเติมเต็มแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้กับประเทศไทย

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า กระบวนการคัดกรองนักเรียนยากจนพิเศษในส่วนของนักเรียนกลุ่มใหม่ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล สังกัด สพฐ.กรณีที่บางพื้นที่มีความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ให้คุณครูสามารถใช้วิธีการสำรวจ/สอบถามข้อมูลจากผู้ปกครอง โดยผู้ปกครอง หรือครูส่งรูปถ่าย หรือข้อมูลเข้ามาในระบบได้ และในวันที่มารับเงินให้เซ็นรับรองความถูกต้องของข้อมูลได้ ส่วนเรื่องการเซ็นรับรองเอกสารที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐสามารถส่งเอกสารมาทางไปรษณีย์ได้เช่นกัน โดย สพฐ-กสศ. เปิดระบบให้คัดกรองเข้ามาได้ระหว่างวันที่ 9-26 ก.ค.63 โดยในภาคเรียนที่ 1/2563 จะคัดกรองนักเรียนที่ได้รับเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนจาก สพฐ. ครบรอบ 3 ปี ตั้งแต่ปีการศึกษา 2560 และนักเรียนกลุ่มที่ยังไม่เคยได้รับทุนตั้งแต่อนุบาล-ม.ต้น ทั่วประเทศ

"ส่วนนักเรียนที่ไม่ผ่านเกณฑ์คัดกรองนักเรียนยากจนพิเศษเมื่อเทอมที่ผ่านมา สามารถยื่นสมัครเข้ามาใหม่ได้ทันที เพราะเชื่อว่ามีเด็กและผู้ปกครองจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการโควิด-19 กสศ. ต้องเร่งเข้าไปช่วยเหลือ เพื่อป้องกันการเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา โดยผู้ที่ผ่านการคัดกรองเป็นนักเรียนยากจนพิเศษในปีนี้จะได้รับจัดสรรทุนเสมอภาคทันทีจำนวน 2,000 บาทในเทอม 1/2563 เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครอบครัว ส่วนที่เหลืออีก 1,000 บาทจะจัดสรรให้ในเทอม 2/2563 ที่สำคัญปีนี้ กสศ. ได้รับความร่วมมือจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน มอบสิทธิพิเศษให้กับนักเรียนยากจนพิเศษที่มีอายุตั้งแต่ 7 ปี สามารถเปิดบัญชีธนาคารศูนย์บาท ไร้ค่าธรรมเนียมและสมัครบริการพร้อมเพย์ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งส่งผลให้การจัดสรรเงินอุดหนุนในเทอมหน้าจะเน้นโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารของนักเรียน เพื่อความโปร่งใส และลดภาระของโรงเรียน ที่สำคัญเงินมุ่งตรงไปที่ตัวเด็กโดยตรง ทำให้การใช้จ่ายเงินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด” รองผู้จัดการ กสศ. กล่าว

นางสาวนุชนาถ ปรีชาชนะชัย รองผู้อำนวยการฝ่ายเงินฝาก ธ.ก.ส. กล่าวว่า ธ.ก.ส. ดีใจที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมสนับสนุนการทำงานของ กสศ. ในการที่จะให้บริการและอำนวยความสะดวกให้นักเรียนยากจนพิเศษสามารถรับเงินอุดหนุนผ่านพร้อมเพย์ได้ เบื้องต้นธนาคารมอบสิทธิพิเศษให้เด็กนักเรียนสามารถเปิดบัญชีศูนย์บาทได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขา โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม นอกจากนี้จะมีการอบรมและให้ความรู้ทางการเงินกับน้องๆ ด้วย เพื่อให้เด็กใช้เงินที่ได้รับมาให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด

นางนวารี จาตะกะวร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์และการตลาดเงินฝาก ธนาคารออมสิน กล่าวว่า เพื่อเป็นการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้กับเด็กนักเรียนยากจนพิเศษ ธนาคารออมสิน ยินดีที่จะบริการเปิดบัญชีออมทรัพย์ โดยที่ไม่ต้องฝากเงินให้กับนักเรียนที่ได้รับทุนจาก กสศ. รวมถึงจะมอบสิทธิพิเศษยกเว้นค่ารักษาบัญชีในกรณีที่เด็กไม่มาติดต่อทำธุรกรรมทางการเงินเป็นเวลานานๆ และกรณีมีเงินฝากไม่ถึงเกณฑ์ให้กับนักเรียนที่อายุไม่ถึง 20 ปี ทั้งนี้ผู้ปกครองสามารถพาบุตรหลานไปติดต่อขอเปิดบัญชีศูนย์บาทได้ที่ธนาคารออมสินทุกสาขาทั่วประเทศ

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0