โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

สพฉ.แนะวิธีแยกอาการ "ป่วยฉุกเฉิน" 5ระดับ ก่อนเข้ารับการรักษา

MATICHON ONLINE

อัพเดต 22 ก.ย 2562 เวลา 11.17 น. • เผยแพร่ 22 ก.ย 2562 เวลา 11.17 น.
ห้องฉุกเฉิน

เมื่อวันที่ 22 กันยายน นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สพฉ.ได้จัดทำคลิปรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความเข้าใจถึงระบบการทำงาน และการตรวจรักษาคนไข้ของทีมแพทย์จากห้องฉุกเฉิน ซึ่งในห้องฉุกเฉินนั้น ผู้ป่วยที่ควรได้รับการดูแลรักษาเป็นอันดับแรกคือ ผู้ป่วยฉุกเฉินทางการแพทย์ที่มีความรุนแรงถึงแก่ชีวิต

“แต่ในข้อเท็จจริงกว่าร้อยละ 60 ของผู้ป่วยในห้องฉุกเฉินนั้น ไม่ใช่ผู้ป่วยฉุกเฉินทางการแพทย์ ทำให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรับการรักษาในห้องฉุกเฉินจริงได้รับผลกระทบจากการรักษาพยาบาลที่ล่าช้า จนอาจส่งผลถึงอันตรายต่อชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินด้วย ล่าสุด สพฉ.จึงได้จัดทำคลิปวิดีโอ 2 ชุด เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนได้เข้าใจถึงอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินขึ้น ซึ่งหวังว่าจะทำให้ประชาชนเข้าใจในอาการเจ็บป่วยของตนเองและประเมินตนเองก่อนเข้ามาพบแพทย์ได้” นพ.ไพโรจน์ กล่าวและว่า คลิปวีดีโอดังกล่าวจะบอกอาการของผู้ป่วยฉุกเฉินทางการแพทย์ทั้ง 5 ระดับ ตามหมวดสีต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน ดังนี้

1.กลุ่มสีแดง คือ กลุ่มคนไข้ฉุกเฉินที่ได้รับอันตรายถึงชีวิตจะต้องได้รับการรักษาที่เร่งด่วนทันทีโดยผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะมีอาการเบื้องต้นคือมีภาวะหัวใจหยุดเต้น ความดันโลหิตและสัญญาณชีพไม่ปกติ

2.กลุ่มคนไข้สีชมพู คือ ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บป่วยรุนแรงมีภาวะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตต้องได้รับการตรวจภายใน 10 นาที โดยอาการเบื้องต้นของผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีภาวะซึม สับสน เจ็บหน้าอกและหัวใจเต้นผิดจังหวัด

3.กลุ่มสีเหลือง คือ ผู้ป่วยที่ภาวะฉุกเฉินระดับปานกลาง ต้องได้รับการตรวจรักษาภายใน 30 นาที โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเป็นผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้อง ตัวเกร็ง ตัวงอ มีไข้มากกว่า 40 องศาเซลเซียส และสูญเสียการมองเห็นฉับพลัน

4.กลุ่มผู้ป่วยสีเขียว คือ ผู้ป่วยเจ็บเล็กน้อย ต้องได้รับการตรวจรักษาภายใน 1ชั่วโมง เช่นผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะ อาเจียน มีไข้ต่ำกว่า 40 องศาเซลเซียส

5.กลุ่มสีขาว คือ ผู้ป่วยนอกหรือผู้ป่วยทั่วไปที่มีไข้ปวดศีรษะเล็กน้อย หรือผู้ป่วยที่มารับยากลับบ้านซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ ควรได้รับการตรวจภายใน 2 ชั่วโมง

“ปัจจุบันมีผู้ป่วยจำนวนมากที่มาใช้บริการห้องฉุกเฉิน ทำให้เกิดความไม่เข้าใจระหว่างประชาชนผู้ใช้บริการกับเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ ซึ่งประชาชนบางส่วนยังไม่ทราบว่า ทีมแพทย์ห้องฉุกเฉินจะต้องให้การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินทางการแพทย์หรือผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตก่อน อย่างไรตาม หากประชาชนทั่วไปที่เริ่มรู้สึกว่าตนเองมีอาการเจ็บป่วย ควรรีบไปพบแพทย์ในช่วงเวลาทำการปกติ (เวลา 08.00 – 16.00 น.) เพื่อให้แพทย์ที่ออกตรวจในเวลาปรกติสามารถตรวจรักษาและวินิจฉัยอาการได้ ไม่ควรรอจนรู้สึกว่าตนเองมีอาการป่วยจนทนไม่ไหว และที่สำคัญ หากเป็นกรณีของการเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือหากพบผู้ป่วยฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์ทันทีให้รีบโทรแจ้งสายฉุกเฉิน 1669 ซึ่งทีมแพทย์จะรีบเข้าให้การช่วยเหลือ และนำผู้ป่วยส่งไปรักษายังโรงพยาบาลได้อย่างทันท่วงทีในอีกช่องทางหนึ่งด้วย” นพ.ไพโรจน์ กล่าว

ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปสามารถคลิกเข้ารับชมคลิปวิดีโอได้ที่ยูทูบของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือคลิกเข้ารับชมคลิปวิดีโอทั้ง 2 ชุดได้ที่ลิงค์ดังกล่าวนี้ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=1pIJjRrtd6A และ https://www.youtube.com/watch?v=Kbtf3PEYLF0

 

 

 

 

 

 

youtube
youtube
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0