โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

สนทนาประเทศไทย-การพัฒนา กับ "เรอโนด์ เมแยร์" ความร่วมมือ เพื่อเผชิญความท้าทาย สู่ความยั่งยืนวันข้างหน้า

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 07 ธ.ค. 2562 เวลา 16.17 น. • เผยแพร่ 07 ธ.ค. 2562 เวลา 16.17 น.
IMG20191125154211

การพัฒนาถือเป็นเรื่องหลักที่หลายประเทศต้องออกแบบเพื่อทำให้สังคมดีขึ้น

แต่ก็มีหลายประเทศเจอขีดจำกัดที่ทำให้การพัฒนาไม่สามารถไปถึง ไม่ว่าในแง่ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ ความรู้ เครื่องมือหรือแนวคิดในการพัฒนา ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาจึงเกิดขึ้นบนการร่วมสร้างสรรค์และแลกเปลี่ยนเพื่อทำให้ประเทศพัฒนาต่อไป

แต่การพัฒนาไม่เคยหยุดนิ่ง เมื่อโลกเผชิญความท้าทายใหม่หรือปัญหาเดิมที่ฝังรากลึกมานาน การร่วมมือยิ่งต้องมากขึ้นและทำมากขึ้น

โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นดีพี เป็นองค์กรชำนัญการพิเศษขององค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็น ได้มีบทบาทในการร่วมมือต่อการพัฒนากับหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย เพื่อทำให้ปัญหาเรื้อรังและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ไม่ว่าความยากจน ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ หรือสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ช่องว่างทางพัฒนาระหว่างเมืองใหญ่และชนบท

กลับมาเติมเต็ม ฟื้นฟูให้ดีขึ้นดังเดิม

 

เรอโนด์ เมแยร์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้แทนยูเอ็นดีพีประจำประเทศไทย ก่อนหน้านี้เขามีประสบการณ์ดูแลการพัฒนาหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นเนปาล อัฟกานิสถาน ฟิลิปปินส์ จนมาถึงประเทศไทย

โดยนายเรอโนด์กล่าวถึงมุมมองต่อประเทศไทยก่อนมารับตำแหน่งปัจจุบันว่า สำหรับประเทศไทยคือหาดทรายสวยงาม ความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติ

แต่เมื่อได้อยู่และรู้รายละเอียดมากขึ้นก็ได้ตั้งคำถามถึงตัวแบบในการพัฒนาการท่องเที่ยวของไทย สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม เหมือนกับหลายประเทศ ถือเป็นเรื่องท้าทายที่จะต้องทำให้สมดุลกลับมา

และทำยังไงให้คนที่อาศัยอยู่กับธรรมชาติ ไม่เพียงแค่ชาวนาหรือชาวบ้านมีรายได้หรือมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ในขณะเดียวกันหาดทรายอันสวยงามและต้นมะพร้าวเรียงราย แต่พอเราว่ายน้ำทะเลกลับไปชนกับขวดพลาสติก และอีกครั้งที่รู้ว่าประเทศไทยก็ตกเป็นเหยื่อของปัญหาขยะพลาสติก กลายเป็นประเทศอันดับ 5 ของโลกที่เป็นแหล่งก่อเกิดพลาสติกลงในทะเล

ผมคิดว่าขณะที่ผมอยู่ที่ไทยและพบกับผู้คน คนไทยบางคนมีการพูดคุยไปยังรัฐบาล ภาคเอกชน ประชาสังคม ทั้งในและนอกกรุงเทพฯ ความเข้าใจผมต่อประเทศไทยแม้จะมีเรื่องเชิงบวก แต่ก็ยังคงมีความท้าทายต่อการพัฒนาอยู่

 

เมื่อถามถึงนโยบายการพัฒนาของไทยในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันออกมาดีหรือต้องปรับปรุงหรือไม่ นายเรอโนด์ตอบว่า ไม่มีประเทศไหนเปอร์เฟ็กต์ สิ่งแรกสำหรับผมต่อวิสัยทัศน์ของไทยคือ ทางการไทยมีนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ลึกซึ้งมาก

จนถึงวันนี้ที่เราพูดถึงประเทศรายได้ปานกลางหรือตัวเลขจีดีพี ก็จะเห็นว่าประเทศไทยมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่มีนวัตกรรม

หลายประเทศอิจฉาไทยที่มีนโยบายพัฒนาสังคม อย่างที่เรารู้ ประเทศไทยรับเอานโยบายเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือเอสดีจี ซึ่งหลักสำคัญคือ “การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

ประเทศไทย ถือเป็นประเทศชั้นนำที่นักท่องเที่ยวจะกลับมาเที่ยว แต่เราก็รู้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลกด้วย อย่างที่เราเห็นในงานศึกษา คนรวย 1% ครอบครองทรัพย์สิน 67% ของทั้งประเทศ

นั้นหมายความว่า รัฐบาลต้องทำให้แน่ใจว่า ผลประโยชน์จาการเติบโตต้องแบ่งปันให้คนส่วนใหญ่ ไม่มีใครควรถูกลืม

 

สําหรับเอสดีจีหรือเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ถือเป็นเป้าหมายของการพัฒนาระดับนานาชาติ ซึ่งถูกประกาศไปเมื่อปี 2558 เพื่อทดแทนเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษซึ่งประกาศใช้ไปเมื่อปี 2543 โดยเอสดีจีครอบคลุม 17 เป้าหมาย อาทิ การขจัดความยากจน การศึกษาเท่าเทียม และธรรมาภิบาล เป็นต้น แต่ประเทศไทยอาจเข้าใจและถูกใช้เชิงนโยบายโดยรัฐบาล แต่คนทั่วไปเข้าใจแค่ไหนนั้น เรอโนด์กล่าวว่า ไทยถือเป็นประเทศที่มีประสบการณ์กับยูเอ็นมานาน เราคุ้นเคยกับการออกแบบของยูเอ็น ทั้งสมัชชาใหญ่และองค์กรอื่น

เรายังเห็นความตั้งใจจากนายกรัฐมนตรีที่จะปรับใช้ หรือตัวแทนภาคเอกชนในกรุงเทพฯ หลายคนที่มาพบผม ต่างบอกว่าพวกเขาสนใจกรอบเอสดีจี ว่าทำยังไงให้กรอบนี้ภาคเอกชนนำไปใช้ได้ และยังเห็นในยุทธศาสตร์ 20 ปีของไทย ที่หลายอย่างสอดรับกับกรอบเอสดีจี ไม่ว่านโยบายพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

จึงไม่เป็นที่สงสัยว่ารัฐบาลหรือประเทศไทยจะบรรลุวัตถุประสงค์ แค่เพียงเพิ่มความพยายามออกไปนอกกรุงเทพฯ ไปชุมชน ลงในแผนในภูมิภาค ในจังหวัด และยังสะท้อนความแน่วแน่ของไทยผ่านกรอบเอสดีจี แม้แต่ประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือประชาสังคมต่างรับปาก จึงเป็นเรื่องที่ทั้งประเทศต้องพยายาม ซึ่งถูกต้อง ทุกอย่างขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาไปถึงเป้าหมายด้วยหลากวิธีได้แค่ไหน

มีหลายประเทศละความพยายามในเป้าหมายตัวเอง ทั้งที่จริงทั้งสังคมต้องขับเคลื่อนเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย

 

ยูเอ็นดีพีได้มีส่วนร่วมสำคัญกับไทยอย่าง โครงการฟื้นฟูเสือโคร่งในอุทยานแห่งชาติห้วยขาแข้ง เพื่อลดความเสี่ยงในการสูญพันธุ์ รวมถึงการปรับให้คนกับสัตว์ป่าอยู่ร่วมกันได้

ซึ่งเรอโนด์กล่าวถึงโครงการนี้ว่า โครงการนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญเชิงสัญลักษณ์ของยูเอ็นดีพี เพราะเป็นโครงการแรกที่เราออกแบบเพื่อการอนุรักษ์ สัตว์ป่ามีความสำคัญต่อสมดุลทางธรรมชาติ ระบบนิเวศ

เมื่อเราดูโครงการนี้ เราคิดว่าจะทำให้ประสบความสำเร็จในการอนุรักษ์ยังไง

เรามองภาพใหญ่ว่าทำยังไงให้มนุษย์เชื่อมโยงกับระบบนิเวศ เพราะที่ห้วยขาแข้งก็มีประชากรอาศัยอยู่ เราต้องเข้าใจสิ่งที่พวกเขาต้องการและต้องแน่ใจว่าไม่พรากไป เราจึงเลือกที่จะไม่เผชิญหน้ากับคนในท้องถิ่น และการหาหนทางอยู่ร่วมกันอย่างสันติและก้าวหน้า

นี่เป็นเรื่องสำคัญ ที่ไม่เพียงต้องวิเคราะห์ความต้องการและการรื้อฟื้นของ 2 กลุ่ม และยังต้องหาทางออกร่วมกันด้วย เพราะเสือกลายเป็นศัตรูของคนในชุมชน

แต่คนในชุมชนเข้าใจและสนใจว่าเสือต้องรับการปกป้อง เพื่อให้ระบบนิเวศยังคงอยู่

 

ไม่เพียงเท่านี้ เรอโนด์ยังมั่นใจว่า ทั้งไทยและหลายประเทศสามารถพัฒนาตามกรอบเอสดีจีได้สำเร็จ เพียงแต่โลกในวันนี้มีความซับซ้อนและความท้าทายใหม่เข้ามา อย่างประเทศไทยที่กำลังเผชิญภาวะโลกร้อน แต่ก็เพราะได้นักวิทยาศาสตร์ที่ทำให้เราเห็นรากของปัญหา

ล่าสุด นายอันโตนิโอ กูแตเรส เลขาฯ ยูเอ็นก็มาร่วมประชุมอาเซียนซัมมิตที่กรุงเทพฯ ก็ได้พูดว่าการใช้พลังงานไฟฟ้าของไทยจะไม่ยั่งยืน เราเข้าใจถึงเรื่องนี้ อย่างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะถ่านหินราคาถูก แต่ก็ส่งผลลบต่อสิ่งแวดล้อม

ประเทศไทยมีการผลิตไฟฟ้าหลายรูปแบบ ทั้งเขื่อน พลังงานลม เราหวังที่จะได้เห็นความพยายามมากขึ้นในการแสวงหาพลังงานอย่างยั่งยืน นี่เป็นสิ่งที่ประเทศไทยและประเทศอื่นกำลังเผชิญ

 

ทั้งนี้ การพัฒนาที่ดี ควรทำยังไง สำหรับเรอโนด์แล้ว สิ่งแรกคือความคิดในการมีส่วนร่วม สิ่งแรกที่ต้องออกแบบ สำหรับยูเอ็นดีพี คือต้องการส่งเสริมโครงการพัฒนากับประเทศที่เราร่วมงาน ยิ่งในสังคมที่ปิดกั้นตัวเอง เรายิ่งต้องเข้าหา พบผู้คน และถามคำถาม ความคิด ความต้องการของพวกเขา และออกแบบโครงการขึ้นมา เช่นเดียวกับนโยบาย

อย่างที่เราออกแบบโครงการ เราก็เห็นความกระตือรือร้นของคนที่เกี่ยวข้องในโครงการ เราต้องเพิ่มพลังให้คน ไม่มองคนเพียงเป็นผลประโยชน์ แต่ต้องมองเป็นนวัตกรรม เรามองคนเหล่านี้ว่าเป็นตัวแสดงของการพัฒนา

เมื่อเราเปลี่ยนพวกเขาอย่างช้าๆ จากผู้ติดตามกลายเป็นผู้ปฏิบัติ พวกเขาจะกลายเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง

การพัฒนาก็จะเป็นของคนทุกคน และเป็นการประกันว่าการพัฒนาจะออกแบบมาเพื่อทุกคน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0