โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

สธ. เตือนประชาชนกินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ เสี่ยง โรคพยาธิ

BRIGHTTV.CO.TH

เผยแพร่ 28 พ.ค. 2563 เวลา 15.47 น. • Bright Today
สธ. เตือนประชาชนกินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ เสี่ยง โรคพยาธิ

กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนรับประทานเนื้อสัตว์สุกๆ ดิบๆ ผักสดล้างไม่สะอาด เสี่ยงเป็น โรคพยาธิ ยึดหลักสุขบัญญัติ 10 ประการ เน้นกินอาหาร “สุก ร้อน สะอาด” ล้างมือก่อนและหลังการปรุงอาหาร ก่อนกินอาหาร และหลังการขับถ่าย

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์ให้ประชาชนมีความรู้ในการรับประทานอาหารที่ปลอดภัย ป้องกันโรคระบบทางเดินอาหาร ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เร่งให้ความรู้ประชาชนอย่างง่ายโดยใช้หลักสุขบัญญัติ 10 ประการ เน้นเรื่องล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้ง ก่อนและหลังการปรุงอาหาร ก่อนกินอาหาร และหลังการขับถ่าย รวมทั้งกินอาหารปรุงสุกสะอาด การเลือกซื้ออาหารสดที่สะอาด ปลอดสารพิษ คํานึงถึงประโยชน์และคุณค่าสารอาหารครบ 5 หมู่ ควรปรุงสุกใหม่ ใช้ช้อนกลางของตนเอง หลีกเลี่ยงอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ

ซึ่งในช่วงฤดูฝนขอให้ระวังเรื่องการล้างผักสด หากล้างไม่สะอาดอาจมีไข่หรือตัวอ่อนของพยาธิติดอยู่ และการกินเนื้อสัตว์สุกๆ ดิบๆ ที่อาจมีตัวอ่อนพยาธิฝังอยู่เข้าสู่ร่างกาย เป็นโรคพยาธิได้ เช่นกรณีที่พบเป็นข่าวคลิปวิดีโอแพทย์ศูนย์วิจัยโรคปรสิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ดึงพยาธิออกมาทางปากของผู้ป่วยชายวัย 48 ปี

“ในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ขอให้ประชาชนล้างมือบ่อย ๆ ซึ่งนอกจากจะป้องกันโรคโควิด 19 แล้ว ยังสามารถป้องกันโรคพยาธิ และโรคระบบทางเดินอาหารด้วย ขอให้ปฏิบัติตามหลักสุขบัญญัติ 10 ประการ ทำได้ง่าย จะช่วยให้ทุกคนมีสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดี ร่างกายแข็งแรง” นายแพทย์สุขุมกล่าว

ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาการผิดปกติ เช่น รู้สึกหิวบ่อย กินอาหารมาก แต่น้ำหนักลด ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสีย เจ็บและบวมตามผิวหนัง เจ็บหน้าอก ไอเป็นเลือด มีอาการแพ้ ทางผิวหนัง มีผื่นคันหรือเป็นแนวแดงๆ บนผิวหนัง มีตุ่มนูนจำนวนมากขึ้นตามผิวหนัง เป็นไข้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว อาจเกิดจากโรคพยาธิ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา และไม่ควรซื้อยาถ่ายพยาธิมารับประทานเอง เนื่องจากพยาธิมีหลายชนิด เช่น พยาธิตัวตืด พยาธิใบไม้ตับ พยาธิแส้ม้า พยาธิตัวจี๊ด พยาธิเส้นด้าย เป็นต้น ซึ่งชนิดของยาและปริมาณที่ใช้ในการรักษาจะแตกต่างกัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0