โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

สธ.ยันโควิด-19 ไม่แพร่เชื้อทางอากาศ แจงเคสสหรัฐสัมผัสผู้ป่วยระยะประชิด

MATICHON ONLINE

อัพเดต 01 เม.ย. 2563 เวลา 11.20 น. • เผยแพร่ 01 เม.ย. 2563 เวลา 10.49 น.
ไม่แพร่ทางอากาศ

สาธารณสุข-สธ.ยัน โควิด-19 ไม่แพร่เชื้อทางอากาศ เหตุสหรัฐเรียกว่าการระบาดเป็นกลุ่มก้อน สัมผัสผู้ป่วยระยะประชิด ไม่ใช่การรับเชื้อที่ลอยตามอากาศ

ตามที่ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC โดยระบุว่า มีข้อมูลล่าสุดสนับสนุนว่าผู้ป่วยโควิด-19 ระยะฟักตัวสามารถแพร่กระจายเชื้อไวรัสทางอากาศ airborne transmission ไม่ต่างจากวัณโรค ขณะร้องเพลงร่วมกับผู้อื่น ตัวอย่างเช่นกรณี กลุ่มนักร้องประสานเสียงในโบสถ์แห่งหนึ่งที่รัฐวอชิงตัน ที่มีคนติดเชื้อจำนวนมาก

อ่าน ‘หมอมนูญ’เผยข้อมูลล่าสุด เชื้อโควิดฟักตัวในอากาศ มีชีวิต 3 ชม.

เมื่อวันที่ 1 เมษายน นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์ที่สหรัฐอเมริกาไม่ได้บอกว่าเป็นการแพร่ระบาดทางอากาศ ซึ่งยืนยันว่าการเกิดในลักษณะนั้น เป็นการระบาดเป็นกลุ่มก้อน ซึ่งไม่ใช่การแพร่เชื้อทางอากาศ โดยเป็นการแพร่ระบาดโดยละอองฝอยน้ำลาย ที่ได้รับจากผู้ป่วยที่เข้าไปสัมผัสหรือเข้าใกล้ในระยะประชิด ดังนั้น ขอยืนยันว่าโรคโควิด-19 แพร่เชื้อทางละอองฝอยน้ำลายขนาดใหญ่ (Droplet transmission) ซึ่งติดต่อได้ 2 ทาง คือ วิธีที่ 1 การหายใจเอาเชื้อไวรัสเข้าร่างกายโดยตรง แต่ผู้รับและแพร่เชื้อจะต้องอยู่ในลักษณะที่อยู่ใกล้ชิดกันมาก จึงต้องแก้ปัญหาด้วย ประชาชนหากไม่มีความจำเป็นอย่าเข้าไปในสถานที่แออัด ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยที่มีคุณภาพ ซึ่งสามารถป้องกันการแพร่เชื้อได้ร้อยละ 97 ส่วนประชาชนที่สุขภาพดีให้สวมใส่หน้ากากชนิดผ้า

และวิธีที่ 2 ผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสในร่างกายนำเชื้อไวรัสมาทิ้งไว้ในสิ่งแวดล้อม ซึ่งเชื้ออาจมีชีวิตอยู่ได้ถึง 2-3 วัน จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการหมั่นทำความสะอาดพื้นผิวด้วยน้ำฆ่าเชื้อ พร้อมกับใช้มาตรการล้างมือบ่อยๆ เสมอ

“ขอย้ำว่าโรคนี้ไม่ได้แพร่ทางอากาศ แต่แพร่ทางน้ำลาย กรณีที่เกิดขึ้นต่างๆ เป็นแค่เป็นการระบาดในกลุ่มก้อนขนาดใหญ่” นพ.ธนรักษ์กล่าว

นพ.ธนรักษ์ กล่าวต่อว่า กรณีที่มีผู้ป่วยรักษาหายและกลับบ้านแล้วในประเทศไทย ในระยะ 2 วัน ที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก เนื่องจากยอดผู้ป่วยยืนยันมีการเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นในหลักร้อย เมื่อวันที่ 15-16 มีนาคม ซึ่งขณะนี้ครบระยะประมาณ 2 สัปดาห์แล้ว โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อจะรักษาหายได้ใน 1-2 สัปดาห์ จึงสอดคล้องกับทฤษฎี แต่ในขณะนี้ทางกรมการแพทย์จะมีการกักกันผู้ป่วยให้ครบ 14 วัน คือ หากมีอาการน้อยให้รักษาอยู่ในโรงพยาบาล (รพ.) อย่างน้อย 7 วัน และเมื่ออาการดีขึ้นจะให้พักในหอผู้ป่วยเฉพาะ หรือฮอสปิเทล
นอกจากนี้ นพ.ธนรักษ์กล่าวว่า หากพบกรณีที่ผู้ไปตรวจหาเชื้อไวรัสและพบว่าผลตรวจออกมาเป็นบวก แล้วทาง รพ.ให้กลับไปดูแลตนเองที่บ้าน ให้ผู้ป่วยแจ้งมายัง สธ. หรือหากเป็น รพ.ในสังกัดเอกชน ให้แจ้งกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ได้ทันที เพื่อตรวจสอบสถานพยาบาลแห่งนั้นๆ

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0