โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

สถาปนิกเยอรมัน 100 ปีก่อนชี้ คนไทยคิดว่า "ตัวเองสำคัญสุดในโลก" และต้อง "สนุก" ไว้ก่อน

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 17 ธ.ค. 2566 เวลา 12.55 น. • เผยแพร่ 09 ธ.ค. 2566 เวลา 02.44 น.
ภาพปก-สถาปนิกเยอรมัน
คาร์ล ดอห์ริง สถาปนิกต่างชาติ ชาวเยอรมัน ผู้ออกแบบ คุมการก่อสร้าง พระราชวังบ้านปืน

คาร์ล ดอห์ริง สถาปนิกหนุ่มเยอรมันที่เข้ามารับราชการในสยาม เมื่อ พ.ศ. 2449 เป็นหนึ่งในชาวต่างชาติที่เดินทางมาสยาม เขาได้บันทึกประสบการณ์และความรู้สึกที่เคยสัมผัสคนไทย ซึ่งมีทั้งแง่ชื่นชมและการตั้งข้อสงสัย

ในบรรดาสถาปนิกต่างชาติที่เข้ามารับราชการในไทย คาร์ล ดอห์ริง (Karl Döhring) ได้รับความไว้วางใจจากชนชั้นสูงและพระมหากษัตริย์ หลังจากมีโอกาสได้ทำงานในกรมศุขาภิบาล ใน พ.ศ. 2452 และในปีเดียวกัน เขาก็ได้รับมอบหมายงานสำคัญ 2 ชิ้น คือ การสร้างวังของพระองค์เจ้า ดิลกนพรัฐ และในเดือนกันยายนปี 2452 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งดอห์ริงเป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างพระราชวังใหม่ที่เพชรบุรี หรือในชื่อซึ่งรู้จักกันคือ พระราชวังบ้านปืน

คาร์ล ดอห์ริง ยังได้รับงานสำคัญ อาทิ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มอบหมายให้สร้างวังสำหรับเป็นที่ประทับของพระมารดาของพระองค์ ใน พ.ศ. 2454 อย่างไรก็ตาม 2 ปีถัดมา คาร์ล ดอห์ริง ล้มป่วยและต้องเดินทางกลับเยอรมนีเพื่อรับการรักษา และไม่มีโอกาสเดินทางกลับประเทศไทยอีกเลย และเสียชีวิตใน พ.ศ. 2484 (ค.ศ. 1941)

ดอห์ริงบันทึกประสบการณ์การทำงาน และเขียนตำราเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมและศิลปะในสยาม รวมถึงบันทึกเรื่องราวที่พบเห็นทั่วไปในหนังสือดั้งเดิมที่ชื่อ Siam, Land und Volk และถูกพิมพ์ใหม่ในชื่อThe Country and People of Siam มีเนื้อหาบรรยายลักษณะธรรมเนียม, ประเพณี, ศิลปะ และแง่มุมทางกฎหมายในสยาม

เนื้อหาส่วนหนึ่งบอกเล่าลักษณะนิสัยของประชากรสยามไว้อย่างน่าสนใจ เขาบรรยายว่า ธรรมชาติดั้งเดิมแล้วผู้คนในสยามเป็นคนที่ใจดีชื่นชมยินดีกับชาติของตัวเองอย่างมาก และคิดว่าพวกเขาเป็นคนที่สำคัญที่สุดในโลกใบนี้ ขณะที่อิทธิพลจากพุทธศาสนาที่เข้ามาในดินแดนนี้นานหลายร้อยปี ได้กล่อมเกลาให้คนสยามเป็นคนใจบุญ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ข้อความตอนหนึ่งระบุว่า

“…ในย่านชนบทที่อิทธิพลเชิงลบในเมืองใหญ่ยังเข้าไม่ถึงโดยเฉพาะในเมืองท่าของกรุงเทพฯที่ยังไม่ได้เปิดรับมากนัก พวกเขาเป็นคนปล่อยเนื้อปล่อยตัว ไม่ร้อนอกร้อนใจ ร่าเริง และเป็นมิตร ไม่มีเล่ห์เหลี่ยม ไม่มีความคิดมุ่งร้าย

อย่างไรก็ตาม พวกเขามีแนวโน้มไปทางเกียจคร้าน (ปล่อยเวลาให้เปล่าประโยชน์) อยู่บ้าง และมักชื่นชอบการละเล่น การละเล่นแบบใดก็ได้เป็นที่สนใจในหมู่ชาวสยามเสมอ…”

ลักษณที่โดดเด่นของชาวสยามในความคิดเห็นของ คาร์ล ดอห์ริง คือรูปแบบการทักทายกัน เมื่อเพื่อนพบหน้ากันจะทักทายกันด้วยประโยคอย่าง “สบายดีไหม” ตามมาด้วยถามทุกข์สุขว่า “ช่วงนี้สนุกไหม” ซึ่งคาร์ล เล่าว่า คำว่า “สนุก” นี้แทบเป็นคำที่มีความสำคัญมากที่สุดในภาษาที่ชาวสยามใช้ สื่อความหมายถึงความรื่นรมย์ ความพึงพอใจ ปิติยินดี

ส่วนคำที่ตรงข้ามกับ “สนุก” คือ“ลำบาก” เขามองว่า สิ่งที่คนยุโรปไม่ได้มองว่าลำบาก แทบทุกอย่างถูกชาวสยามจัดว่าเป็นสิ่ง “ลำบาก” ทั้งสิ้น อาทิ การทำงานเกินแรง หรืออะไรก็ตามที่ไม่เป็นไปตามใจต้องการ แม้แต่การรอคอยบนท้องถนนก็ใช่ และเมื่อมีใครประสบ “ความลำบาก” ก็ไม่ใคร่จะปกปิดความนึกคิดสักเท่าไหร่

“…คนไทยพร้อมจะเล่นสนุกสนานกันตลอด ขณะที่เมื่อพบกับเรื่องที่ไม่เข้าทาง หรือโชคร้าย พวกเขายอมจำนนกันแล้ว และปล่อยเรื่องเหล่านี้ไปด้วยวลี ‘ไม่เป็นไร’…”

เรื่องนี้อาจมองเป็นเรื่องปกติทั่วไปในฐานะความคิดเห็นของชาวต่างชาติ แต่ถ้าย้อนกลับไปอ่านมุมมองของชาวต่างชาติที่เข้ามาในสยามตั้งแต่ 500 ปีก่อน ก็เป็นการผลิตซ้ำแบบเดิม มุมมองต่อชาวสยามเรื่องความเกียจคร้านก็ยังคงอยู่เสมอ

จำนง เทพหัสดิน ณ อยุธยา รวบรวมความคิดเห็นของชาวต่างชาติ 9 ราย ที่มาจาก 5 ชาติ ต่างมีมุมมองชาวไทยเรื่องความเกียจคร้าน

  • นายปินโต ชาวโปรตุเกส เข้ามาเป็นทหารรับจ้างอยู่ในกองทัพพระชัยราชาธิราช ในการทำสงครามกับรัฐเชียงใหม่ โดยนำปืนใหญ่ไปใช้รบครั้งแรกในเมืองไทย
  • นายเซาเตน ชาวฮอลันดา เข้ามาเป็นหัวหน้าสถานีการค้าฮอลันดาในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม
  • นายวันวลิต เป็นหัวหน้าสถานีการค้าสืบจากนายเซาเตน เขาเขียนประวัติศาสตร์ไทย นับเป็นฉบับแรกของประเทศนี้
  • นายฟอร์บัง เป็นนายทหารฝรั่งเศส เข้ามารับราชการเป็นขุนนางไทย ได้ยศเป็นออกพระศักดิ์สงคราม คุมทหารที่ฝึกแบบยุโรป (มีปืนและหอกเป็นอาวุธ ประจำกาย) จำนวน 2,000 คน ที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์ ธนบุรี
  • นายยอห์น ครอเฟิด คนไทยเรียก “กาลาผัด” เป็นทูตอังกฤษ มาในรัชกาลที่ 2 ของกรุงรัตนโกสินทร์ เขาเขียนรายงานไปยังรัฐบาลอังกฤษ เจาะลึกในทุกด้านของไทยเป็นจำนวน 183 หัวข้อ
  • นายคาร์ล กุตสลาฟ คนไทยเรียกว่า “หมอกิศลับ” ชาวเยอรมัน เป็นมิชชันนารีฝ่ายโปรเตสแตนต์คนแรก ที่เข้ามาเมืองไทย เขารู้ภาษาไทยขนาดทำพจนานุกรมอังกฤษ-ไทย เป็นฉบับแรก
  • นายมัลล้อก พ่อค้าอังกฤษ มาในรัชกาลที่ 4 เขามาสำรวจอย่างละเอียดในเรื่องทรัพยากร การค้า และเศรษฐกิจของเมืองไทย ตลอดทั้งความมั่นคงเป็นรายงานที่ยาวถึง 122 หน้า
  • นายมูโอต์ นักธรรมชาติวิทยา ชาวฝรั่งเศส เข้ามาในรัชกาลที่ 4 เขาใช้เวลา 3 ปี สำรวจภูมิประเทศและการดำรงชีวิตของคนไทย
  • เซอร์เฮนรี นอร์แมน เป็นขุนนางอังกฤษ เข้ามาในรัชกาลที่ 5

หรือแม้แต่ชนชั้นสูงในประเทศเองก็ยังมองว่า ลักษณะนิสัยของคนไทยเป็นคนเกียจคร้าน หลวงวิจิตรวาทการ ปาฐกถาทางวิทยุกระจายเสียง เรื่อง “มนุสสปฏิวัติ” พ.ศ. 2482 เนื้อหาตอนหนึ่งมีใจความว่า

“เรามีอะไรที่ถ่วงความก้าวหน้าของบ้านเมืองไว้ เรามีอะไรที่ทำให้เราสู้ต่างชาติไม่ได้ เรามีอะไรที่วันหนึ่งข้างหน้าอาจจะเป็นภัยใหญ่หลวง ถึงกับสามารถจะทำให้ชาติไทยทั้งชาติล้มราบสาบสูญไปได้…ข้าพเจ้ามองเห็นอยู่เพียงอย่างเดียวในเวลานี้ คือการที่เราไม่ขยันขันแข็งพอ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่าเราอ่อนแอในการทำงาน มีหนังสือฝรั่งหลายเล่มเมื่อเวลาพรรณนาถึงลักษณะของไทยเรามักอธิบายว่า ไทยเรานั้นมีลักษณะเกียจคร้าน”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

Döhring, Karl. The Country and People of Siam. Translated by Walter E.J. Tips. White Lotus Co. Ltd., Bangkok. 1999

จำนง เทพหัสดิน ณ อยุธยา. “จุดอ่อนคนไทย ในสายต่างชาติ”. ใน ศิลปวัฒนธรรม. พฤศจิกายน 2549, มีนาคม และเมษายน 2550

แก้ไขปรับปรุงในระบบออนไลน์ครั้งล่าสุดเมื่อ 4 มีนาคม 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0