โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

สตาร์ทอัพไทยปี 2020 ยังโตต่อเนื่อง CVC และ B2B2C แข็งแกร่ง

Businesstoday

เผยแพร่ 22 ก.พ. 2563 เวลา 07.09 น. • Businesstoday
สตาร์ทอัพไทยปี 2020 ยังโตต่อเนื่อง  CVC และ B2B2C แข็งแกร่ง

ปี 2020 เป็นปีที่จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในธุรกิจสตาร์ทอัพ ทั้งการเกิดของหน้าใหม่ที่มีแนวโน้มลดลง ผู้เล่นในระดับ Series A ต้องทำงานหนักมากขึ้น HealthTech จะเป็นเทรนด์ใหม่ในประเทศไทย และกลุ่มทุนจะโฟกัสกับธุรกิจ B2B/B2B2C ที่มีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น

-Lazada เผยใช้ “ลูกค้าเป็นจุดศูนย์กลาง” สร้างอีคอมเมิร์ซครบวงจร
-แกร็บ รุกฟินเทค ตั้งเป้ายอดสินเชื่อใหม่ 3,000 ล้าน พร้อมปล่อยสินเชื่อดิจิทัลพาร์ทเนอร์-SMEs

สมโภชน์ จันทร์สมบูรณ์ อดีตผู้อำนวยการโครงการ dtac Accelerate กล่าวว่า สตาร์ทอัพไทยยังเติบโตได้ดี ถึงแม้ว่าจะมีการชะลอการลงทุนในทั่วโลก ปี 2019 ที่ผ่านมา มีเม็ดเงินลงทุนกับสตาร์ทอัพไทยเฉพาะที่เปิดเผยสูงถึง 97 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับปี 2018 อยู่ที่ 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนในปี 2020 คาดว่าจะโตกว่าปี 2019 ที่ผ่านมา อาจจะสูงถึง 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการจะเกิดดีลใหญ่ระดับ Series B ของ Fintech อย่าง FINNOMENA และ BitKub

ในปี 2020 สตาร์ทอัพที่จะฟักไข่หรืออยู่ใน Seed Round จะเติบโตยากเพราะไม่มีสปริงบอร์ดเข้ามาช่วย ต้องอาศัยผู้ก่อตั้งและพาร์ตเนอร์ที่ดีเข้ามาช่วยผลักดัน

ด้านกลุ่มทุน (Venture Capital) จะระวังตัวกับการลงทุนมากขึ้น และโฟกัสไปที่ระดับ Series A หรือ Pre Series A แทนการลงทุนในรอบ Seed

นอกจากนี้ ยังมี Super App ในตลาดเยอะมากที่มีเงินทุนไหลเข้ามาเรื่อย ๆ อย่าง Alibaba, Tencent หรือ Line ที่เติบโตในประเทศไทยได้ดี

"ถ้าเงินไม่ลง Seed Round ในระยะสั้นอาจจะไม่มีปัญหา แต่ระยะยาวจะแย่ เราจะไม่เห็นสตาร์ทอัพหน้าใหม่เข้ามาในตลาด"

สตาร์ทอัพสาย HealthTech จะเกิดในประเทศไทยมากขึ้น เป็นเทรนด์ในปีนี้และปีหน้า หลังประสบความสำเร็จในสหรัฐและจีนมาแล้ว โดยอาศัยปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเรียนรู้ของเครื่องจักร (ML) รวมถึงบล็อกเชน เป็นส่วนผสมให้สตาร์ทอัพพัฒนาผลิตภัณฑ์

Coworking Space จะเหลือแต่บริษัทที่มุ่งการทำรายได้ เพราะกลุ่มทุนเข้ามาลงทุนน้อยลง

สตาร์ทอัพไทยต้องคลีน เข้าใจธุรกิจ

อรนุช เลิศสุวรรณกิจ CEO & Co-Founder Techsauce Media กล่าวว่า สตาร์ทอัพไม่ได้ต่างจากบริษัทที่เป็นธุรกิจทั่วไป จะต้องคลีน โดยเฉพาะเรื่องบัญชี คนไทยยังขาดทักษะเรื่องการทำงานหลังบ้าน ซึ่งผู้ก่อตั้งส่วนใหญ่จะรับผิดชอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทำให้เกิดช่องโหว่และไม่สามารถปิดดีลกับนักลงทุนได้

นักลงทุนอยากลงทุนกับนักธุรกิจที่เข้าใจการทำธุรกิจ สตาร์ทอัพต้องเลือกผู้บริหารฝ่ายการเงิน (CFO) ที่เข้ามาดูเรื่องการเงิน เพื่อสร้างความมั่นใจกับนักลงทุน มีประธานกรรมการบริหาร (CEO) ที่รู้ภาพรวมทั้งหมด และรู้วิธีหาพาร์ตเนอร์เพื่อเข้าไปจับมือกับองค์กรใหญ่ๆ

"ปีนี้ยังหวังว่าการลงทุนในสตาร์ทอัพจะโตได้มากกว่าปีที่ผ่านมา และอยากเห็นรัฐบาลเข้ามาช่วยผลักดันให้แข่งขันกับผู้เล่นจากต่างชาติได้ 'Fair Game' ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้คนไทยมีสิทธิพิเศษมากกว่าต่างชาติ"

B2B/B2B2C มาแรง แซง B2C

กลุ่มทุนจะเข้าลงทุนในธุรกิจที่เป็น B2B หรือ B2B2C มากขึ้นเพราะบริหารง่ายกว่า ยอดเงินลงทุนจะทะลุ 50% ของยอดทั้งปี และเกิดการลงทุนในสตาร์ทอัพขององค์กรใหญ่ (CVC) อีกมากมาย เพราะองค์กรเหล่านี้มีทุนหนา เช่น ธุรกิจธนาคาร หรืออสังหาริมทรัพย์ ที่อยากได้ S-Curve หรือนวัตกรรมใหม่ ผ่านการลงทุนกับสตาร์ทอัพที่ตอบโจทย์ธุรกิจตัวเองได้โดยไม่มองถึงผลกำไร

"อย่าง dtac Accelerate ใช้งบประมาณแค่ 0.01% เมื่อเทียบกับงบการตลาดทั้งหมดของดีแทค"

ธุรกิจรูปแบบ B2B2C จะมีโอกาสเติบโต อย่าง Arincare เป็นแพลตฟอร์มที่พัฒนามาให้ร้านขายยาใช้และมีลูกค้าเป็นคนไข้หลักล้านคน หรือ System Stone ที่พัฒนาระบบการทำงานผ่านมือถือให้แก่วิศวกรซ่อมบำรุงในภาคอุตสาหกรรม

"นอกจากนี้ เราอาจจะได้เห็นยูนิคอนเข้าควบรวมและการซื้อกิจการจากสตาร์ทอัพ เพื่อรวมตัวกันให้เป็น Super App ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ"

CVC ไทยแข็งแกร่ง

สมโภชน์ กล่าวต่อว่า ค่อนข้างมีความหวังกับการลงทุนในสตาร์ทอัพขององค์กรใหญ่ (Corporate Venture Capital หรือ CVC) ของประเทศไทยมาก ในภาพรวมจะเห็นว่าไม่มีใครยอมใคร ทั้งในสายธนาคารหรืออสังหาริมทรัพย์ ขณะเดียวกันผู้บริหารในองค์กรเหล่านี้มีความรู้และเข้าใจอุตสาหกรรมของสตาร์ทอัพ ขณะที่ในต่างประเทศ CVC 70% ล้มเหลวเพราะลงทุนโดยหวังว่าจะได้อะไรจากสตาร์ทอัพมากเกินไป

ธุรกิจประกันภัย เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เข้ามาลงทุนกับสตาร์ทอัพเป็นจำนวนมาก และอาจจะได้เห็นธุรกิจ HealthCare ที่ไม่มี CVC ด้านนี้โดยเฉพาะ เข้ามาลงทุนกับ HealthTech และนำเทคโนโลยีไปใช้กับโรงพยาบาล

ขณะที่ อรนุช มองว่า นักลงทุน CVC ไทยยังลงทุนในต่างประเทศมากกว่าในไทย เพราะยังเห็นศักยภาพสตาร์ทอัพในต่างประเทศมากกว่า ทั้งด้าน Fintech AI และ Security ขณะที่ลงทุนในไทยจะเลือกลงทุนกับ Series A และ Series B ค่อนข้างเยอะเพื่อเป็นการลดความเสี่ยง

“การไม่มี dtac Accelerate ถือว่าน่าเสียดาย เพราะจะไม่เห็นหน้าใหม่เข้ามาในวงการสตาร์ทอัพ ส่งผลให้ CVC ขาดตัวเลือกที่จะเข้ามารับไม้ต่อจากช่วง Early Stage ที่ผ่านโครงการมา”

"ยูนิคอร์น" ตัวช่วยดึงเงินลงทุน

สตาร์ทอัพไทยจะต้องมี Talent ในแง่ของนักพัฒนาจะเห็นว่า กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล ดึงนักพัฒนาเก่ง ๆ มามากมายเข้า KBTG เพื่อสร้างยูนิคอร์น ส่วนใหญ่เด็กที่กลับมาจาก Google หรือ Apple

สมโภชน์ กล่าวว่า 4-5 เดือนที่ผ่านมากลุ่มทุนจากประเทศจีนเริ่มออกมานอกประเทศ ซึ่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ทั้งอินโดนีเซีย ไทย หรือเวียดนาม เป็นประเทศที่เนื้อหอมมาก

ยูนิคอร์น หรือสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะสามารถดึงกลุ่มทุนไม่เคยเข้าไทยให้เข้ามาลงทุน ซึ่งในปีนี้อาจจะยังไม่ได้เห็นยูนิคอร์นในไทย แต่ใน 2-3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มว่าจะเป็นไปได้

"ผมยังมีความฝันอยากเป็นฟันเฟืองที่สร้างยูนิคอร์นได้ ซึ่งน่าจะชัดเจนในปลายเดือน ก.พ.นี้ ทางเลือกแรกคือ InnoSpace ทางเลือกที่ 2 คือทำงานกับบริษัทใหญ่ ๆ หรือผันตัวไปเป็น Angel Investor ร่วมกับกลุ่มเพื่อน" สมโภชน์ กล่าว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0