โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

สตาร์ทอัพชาสมุนไพร อีกธุรกิจที่มาจากเรื่องใกล้ตัว

Money2Know

เผยแพร่ 16 ต.ค. 2561 เวลา 00.00 น. • money2know - เงินทองต้องรู้
สตาร์ทอัพชาสมุนไพร อีกธุรกิจที่มาจากเรื่องใกล้ตัว

Sashee Chandran หญิงสาววัย 32 ปี เป็นผู้ก่อตั้งและซีอีโอสตาร์ทอัพ Tea Drops ซึ่งมีฐานอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ภารกิจของ Chandran คือพยายามคลายเคลียดด้วยวิธีดั้งเดิม นั่นคือการจิบชาสมุนไพร

ผลิตภัณฑ์ของ Chandran พิเศษตรงที่เป็นการผสมผสานใบชา น้ำตาลทรายดิบ สมุนไพรต่างๆ และเครื่องเทศ รวมกันเป็น”ก้อน” ซึ่งละลายในน้ำร้อน ผลที่ได้คือชาสำหรับศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นมิตรกับผู้ใช้ และกลุ่มเป้าหมายคือผู้หญิงยุคมิลเลนเนียล

ชาของ Chandran มีวางขายตามร้านค้าปลีก 1,600 แห่ง รวมถึงในห้างอย่าง Nordstrom, Neiman Marcus และ Anthropolgy ในราคากล่องละ 12 ดอลลาร์ต่อชา 8 ก้อน และมีรสชาติหลากหลายอย่าง blueberry acai white tea หรือ cardamom spice

ธุรกิจนี้เริ่มเป็นที่สนใจของนักลงทุน จนกระทั่งในเดือนพ.ค. Tea Drops ได้เงินทุน 100,000 ดอลลาร์จากทอรี เบิร์ช นักออกแบบแฟชันชื่อดัง จากนั้นในเดือนมิ.ย.ก็ระดมทุนมาได้ 1.9 ล้านดอลลาร์ โดยมีกองทุนสำหรับกิจการผู้หญิง AccelFoods เป็นแกนหลักในการให้ทุน

Chandran เริ่มทำธุรกิจนี้ด้วยตัวเองเพียงลำพังเมื่อปี 2558 และระบุว่าความสำเร็จของสตาร์ทอัพ Tea Drops เป็นผลจากการคิดค้นชาเป็นงานรองมาหลายปี ไม่ว่าจะเป็นการคิดค้นรสชาติ ไปจนถึงการเขียนสิทธิบัตรเอง แถมด้วยนำเงินออมและกู้เงินมาลงทุนในตอนแรก

เธอเล่าว่าตอนแรกทำงานวันละ 13-17 ชั่วโมง ตั้งแต่ผลิต บรรจุหีบห่อ และแปะตราแต่ละห่อ แต่ละกล่องด้วยตัวเอง

Chandran โตมาท่ามกลางใบชาและวัฒนธรรมดื่มชา ความที่แม่เป็นคนจีน ส่วนพ่อเป็นคนศรีลังกาที่อพยพไปอยู่สหรัฐ บ้านเธอดื่มชาเพื่อผ่อนคลาย สังสรรค์ และแสดงความรัก

แนวคิดของการทำธุรกิจชาปิ๊งขึ้นมาขณะ Chandran ทำงานด้านวิจัยตลาดที่ eBay เธอจะพยายามชงชาในที่ทำงานเพื่อจะได้ผ่อนคลายช่วงงานยุ่งเหยิง แต่กระบวนการนำใบชามาต้มในกาบนโต๊ะทำงาน ค่อนข้างยุ่งยาก เพราะต้องเตรียมชา ต้มน้ำ แล้วก็ต้องรอกว่าจะจิบน้ำชาได้ ซึ่งกว่าจะถึงตอนนั้นก็ถึงเวลาประชุมแล้ว

ดังนั้น ชาสำเร็จรูปคล้ายๆ กับชาถุง จึงสะดวก แต่กลิ่นและรสชาติอาจไม่เท่าจากใบชา Chandranอยากได้ชาคุณภาพสูงที่ชงได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว จึงตัดสินใจคิดค้นเอง ทั้งที่ไม่มีไอเดียทางธุรกิจ โดยเริ่มจากการทดลองผสมชาประเภทต่างๆ เข้าด้วยกันในครัว พอเวลาผ่านไป 2 ปีก็เริ่มพัฒนาชา”ก้อน” ซึ่งตอนแรกก็ทำช่วงเสาร์อาทิตย์และหลังเลิกงาน แล้วนำไปขายตามตลาดเล็กๆ ปรากฏว่าได้รับการตอบรับอย่างดี

6 เดือนหลังจากจดสิทธิบัตร เธอตัดสินใจลาออกจากงานและมุ่งผลิตชาเต็มตัว จากนั้นก็พยายามให้เข้าตาร้านค้าปลีก ด้วยการไปร่วมงานแสดงสินค้าสำหรับอุตสาหกรรมของขวัญ โดยปีหนึ่งตระเวณไปร่วม 15-20 งานตามเมืองต่างๆ ตั้งแต่ดัลลัส ซานฟรานซิสโก แอตแลนตา ไปจนถึงนิวยอร์ก หวังว่าผู้ซื้อจะสะดุดตากับชาของเธอ

Tea Drops คว้าออเดอร์ใหญ่ผลิตชาหลายพันก้อนเป็นครั้งแรกในปี 2559 เมื่อ Anthropology กับ Uncommon Goods สั่งของ ตอนนั้นเธอย้ายการผลิตจากครัวในบ้านไปยังครัวเพื่อการพาณิชย์ในชุมชน และไปทำงานตั้งแต่ตี 1

เมื่อธุรกิจย่างเข้าปีที่ 2 เธอเริ่มตระหนักว่าต้องขยับขยาย เพราะแบรนด์ออร์แกนิครายเล็กๆ กำลังเป็นที่นิยม Chandran เริ่มมองหาเงินทุนแต่พบว่าเงินทุนส่วนใหญ่ไหลไปหาเจ้าของกิจการที่เป็นผู้ชาย เธอเล่าว่าไปพรีเซนต์งานให้นักลงทุนฟัง 72 ราย และได้รับการปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่า แต่เธอไม่ยอมแพ้จนกระทั่ง Tea Drops ได้เงินลงทุนก้อนแรกเมื่อปีที่แล้ว

จากนั้นก็ได้กำลังใจจากดีไซเนอร์สตรี ทอรี เบิร์ช และมิเชลล์ โอบามา โดยรายหลังนั้น Chandran ส่งชาไปให้ 1 กล่องหลังจากเคยร่วมการประชุมเรื่องผู้หญิงด้วยกัน ปรากฏว่ามิเชลล์ส่งจดหมายแสดงความชื่นชมและให้กำลังใจกลับมา

กำลังใจเหล่านี้ทำให้ Chandran ยังสนุกกับการทำธุรกิจ และมุ่งมั่นผลักดันให้ Tea Drops เป็นแบรนด์ประจำบ้านของคนยุคมิลเลนเนียล

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0