โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

สตรี 45 อัพ! รับมือ "วัยทอง"

สยามรัฐ

อัพเดต 24 ต.ค. 2562 เวลา 00.11 น. • เผยแพร่ 23 ต.ค. 2562 เวลา 23.40 น. • สยามรัฐออนไลน์
สตรี 45 อัพ! รับมือ

วัยหมดประจำเดือน หรือที่เรียกว่าวัยทอง เป็นวัยที่ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งพญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัยระบุ สตรีในช่วงอายุ 45-55 ปี เมื่อเข้าสู่วัยทองจะพบการเปลี่ยนแปลงต่ออวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะการทำงานของรังไข่ลดลงอย่างมาก ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา คือ

1.อาการวัยทอง หรืออาการที่สัมพันธ์กับภาวะหมดประจำเดือน จะมีอาการร้อนวูบวาบตามตัวและหน้าอก อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด เหงื่อออกมากโดยเฉพาะกลางคืน ช่องคลอดแห้ง ผิวแห้ง ปัสสาวะบ่อยหรือกลั้นไม่อยู่ นอนไม่หลับ ความต้องการทางเพศลดลง

2.โรคที่เกิดจากความเสื่อมถอยของร่างกายตามอายุ ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด อ้วนลงพุง ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ภาวะดื้อต่ออินซูลิน และโรคระบบกล้ามเนื้อและกระดูก เป็นต้น

ทั้งนี้ โรงพยาบาลทุกแห่งในสังกัดก.สาธารณสุข ได้จัดตั้งคลินิกวัยทองโดยเฉพาะหรือบูรณาการเข้ากับคลินิกส่งเสริมสุขภาพอื่นๆ โดยจะมีบริการให้คำปรึกษากับผู้ที่มีปัญหาอาการวัยทองและให้บริการตรวจร่างกายทั่วไป เช่น ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต ตรวจน้ำตาลในเลือด ตรวจความหนาแน่นของกระดูก ตรวจมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม และประเมินอาการวัยทอง

หากพบว่าท่านใดมีอาการมากจนเป็นปัญหาต่อการดำเนินชีวิต แพทย์อาจพิจารณาให้ฮอร์โมนในระยะสั้นๆ เพื่อรักษา ซึ่งหากสงสัยว่า มีอาการวัยทองหรือปัญหาสุขภาพ ขอคำปรึกษาได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน

นอกจากนี้ สตรีวัยทอง ควรให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพในด้านต่างๆ คือ กินอาหารประเภทแคลเซียมเพิ่มขึ้น อาทิ ผักใบเขียวทุกชนิด งาขาว งาดำ นม กุ้งแห้ง กุ้งฝอย ปลาเล็กปลาน้อย และอาหารที่มีไฟโตเอสโตรเจน อาทิ ถั่วเหลือง น้ำเต้าหู้ ถั่วแดง ฟักทอง กะหล่ำปลี บรอกโคลี แครอท ข้าวกล้อง เพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุนและช่วยลดโอกาสเสี่ยงเกิดมะเร็งเต้านม

ลดแป้ง อาหารมัน-ทอด อาหารเค็ม น้ำหวาน ชา กาแฟ หรืออาหารที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เพราะอาจทำให้อารมณ์แปรปรวน กระวนกระวายมากขึ้น ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วนลงพุง และป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง รวมทั้งงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และบุหรี่

ออกกำลังกายเหมาะสม เช่น เดินเร็ว ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ โยคะ หรือกีฬาที่ชื่นชอบ เมื่ออายุมากขึ้น ไม่ควรออกกำลังกายที่ใช้แรงกระแทก โดยเฉพาะข้อเข่า หรือออกกำลังกายที่ทำให้เข่ารับน้ำหนักมาก จนเป็นสาเหตุข้อเข่าเสื่อม

นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง ทำให้เพิ่มความจำ มีสุขภาพที่ดี มีอายุยืนยาว และรู้จักผ่อนคลายความเครียดอย่างเหมาะสม

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0