โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

สงครามของ 'สิทธิ' ในดราม่าที่นั่งเฟิร์สต์คลาสการบินไทย

The MATTER

เผยแพร่ 22 ต.ค. 2561 เวลา 04.17 น. • Thinkers

ดราม่าเรื่องที่นั่งเฟิร์สต์คลาสของการบินไทยระหว่างผู้โดยสาร (ที่ได้รับการอัพคลาสขึ้นมา) กับทางฝั่งกัปตันที่ขอติดเครื่องไปด้วยและต้องไปขับเครื่องบินต่อเลย กลายเป็นประเด็นดราม่าร้อนแรงในสังคมไทยตอนนี้ เพราะในเหตุการณ์ดังกล่าวนอกจากจะทำให้เครื่องเสียเวลาไป 2 ชั่วโมงกว่าแล้ว กัปตันที่ขอติดเครื่องไปไม่ยอมขยับเปลี่ยนที่แล้ว กัปตันในหน้าที่ก็ไม่ยอมขยับเครื่องบินจนกว่าเพื่อนกัปตันของตนจะได้ที่นั่งที่เพื่อนของเขาควรได้รับ (ในสายตาเขา) ด้วย

จนทำให้มีกระแสหลายอย่างว่ากัปตันเหล่านี้ใช้ผู้โดยสารเป็นตัวประกัน ถึงขั้นบอสใหญ่ (DD) ของการบินไทยต้องออกมาขอโทษขอโพยที่ทำตัวไม่เป็นมืออาชีพ ในขณะที่ฝั่งค่ายกัปตันเองก็ยังออกมาประท้วงต่อสู้กันอยู่ว่าการพูดแต่สิทธิของผู้โดยสารฝั่งเดียวโดยไม่สนใจสิทธิของกัปตันนั้น เป็นการฟังความข้างเดียวและทำให้พวกเขาเสื่อมเสียชื่อเสียงไปอีก ก็ร้องเรียนกันไปกันมาครับ

จากสภาพการข้างต้น ผู้ซึ่งตามติดดราม่านี้ (ซึ่งโดยมากก็คือคนที่ใช้งานการบินไทยหรือการบินใดๆ ในฐานะ 'ผู้โดยสาร' นี่แหละ ผมเองก็เป็นแค่ผู้โดยสารเช่นกันครับ) ทำให้ท่าทีต่อดราม่านี้โดยมากแล้วจะเทกันไปที่การด่าเหล่ากัปตันและทีมงานการบินไทย (โดยเฉพาะ Ground Staff) ว่าไม่มี Service Mind เลย ตัวเองเป็นพนักงานคนหนึ่งของบริษัท ก็ควรจะมีจิตใจบริการลูกค้า แล้วหลังบ้านจะไปเคลียร์กันอะไรยังไงก็ค่อยไปทำสิ พร้อมๆ กับมีอีกกลุ่มที่พยายามจะอธิบายว่าจริงๆ แล้วฝั่งกัปตันไม่ได้ผิด แต่ความผิดควรจะโทษที่พนักงานภาคพื้น หรือ Ground Staff มากกว่า อีรุงตุงนังกันไป

อย่างไรก็ดี หากเราตัดเอาความรู้สึกและการมุ่งตัดสิน (Judgmental) ออกมาวางทิ้งไว้สักนิดก่อน ว่าเขาควรจะมี service mind นะ นี่บริษัทของเขานะ ฉันเป็นคนจ่ายค่าตั๋วที่กลายไปเป็นเงินเดือนและสวัสดิการให้เขานะ (ไม่นับภาษีที่โดนดึงไปใช้อีก) แล้วยังจะมาทำแบบนี้อีกเหรออะไรเหล่านี้ เราลองวางมันไว้ข้างๆ สักแป๊บก่อน แล้วหากลองมองเฉพาะตัวแก่นของการปะทะกันในข้อเรียกร้องของแต่ละฝ่ายแล้ว ผมคิดว่าเราจะพบกับ 'สงครามของการเรียกร้องสิทธิ' หลายอย่างที่ทับซ้อนกันอยู่อย่างน่าสนใจ ซึ่งเอาจริงๆ แล้วหากพูดถึงการฟาดฟันกันระหว่างสิทธิต่างๆ พวกนี้มันเป็นการฟาดฟันที่มีมานานแล้วทีเดียว เพียงแต่ในครั้งนี้มันถูกลดสเกลลงมาให้อยู่ในรูปของเก้าอี้สุดหรูตัวหนึ่งบนเครื่องจักรบินได้ก็เท่านั้น

สิทธิชุดแรกที่เราเห็นนั้นก็คือสิทธิส่วนบุคคลโดยชอบธรรมของตัวผู้โดยสารทั้งสองท่านที่ได้รับการอัพคลาสจากชั้นธุรกิจไปเป็นที่นั่งชั้นหนึ่งนั้น จะด้วยเงื่อนไขแบบใดก็แล้วแต่ หากได้มาโดยถูกต้องตามกฎหมายหรือกติกาที่กำหนดแล้ว สิทธิเหนือที่นั่งนั้นย่อมเป็นสิทธิส่วนบุคคลของผู้โดยสารทั้งสองท่าน สิทธิแบบนี้นับเป็นส่วนหนึ่งของ 'สิทธิในทรัพย์สินซึ่งตนเป็นเจ้าของ' หรือ Individual Self-Ownership ครับ

สิทธิชุดที่สองที่เราเห็นนั้นก็คือ สิทธิพิเศษของกัปตัน ที่ตามกติกาหรือหลักปฏิบัติสากลแล้ว กรณีที่กัปตันจะต้องบินไปแล้วต่อเครื่องเลยนั้น จะต้องได้รับการจัดให้นอนแบบดีที่สุด เพื่อที่จะได้มีความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจ (คือ เฟรชมากพอ) ที่จะปฏิบัติงานต่อได้เลย เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารในเที่ยวบินที่กัปตันที่ว่านี้จะไปขับเครื่องต่อด้วย มาตรการแบบนี้จึงออกมา ซึ่งสิทธิลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกนะครับ กรณีที่เกี่ยวกับ 'สาธารณะ' ต่างๆ นั้น สิทธิของสาธารณะมักจะได้รับการให้สิทธิเหนือสิทธิทั่วๆ ไปของปัจเจกบ้างอยู่แล้ว (แต่แน่นอนว่ามันย่อมมีระดับและเงื่อนไขของมันกำกับด้วย)

อย่างเช่น เวลาที่เราผ่านพื้นที่ตรวจความปลอดภัยเวลาจะเข้าสนามบิน ก็จะมีช่องให้กับพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินและกัปตันแยกไว้ต่างหาก เพื่อให้สิทธิล่วงหน้าจะได้ไปตระเตรียมการในการบริการ 'สาธารณะ' ได้ หรือแม้แต่ช่องทางพิเศษสำหรับรถเมล์ การตัดถนน ไปจนถึงการเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างรถไฟฟ้า ฯลฯ ล้วนอยู่ในวิสัยของสิทธิสาธารณะที่ว่านี้ได้หมดครับ ฉะนั้นในแง่นี้ เราจะพบได้ว่า 'สิทธิพิเศษของกัปตัน' นั้น ประกอบขึ้นจาก 2 ส่วนหลักคือ สิทธิเพื่อการทำหน้าที่ในทางสาธารณะ และในเรื่องความปลอดภัย ซึ่งก็คือประเด็นเรื่อง 'ความมั่นคง' นั่นเอง และไอ้ความมั่นคงนี่เองครับที่คัดง้าง ก่อสงครามกับสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของปัจเจก เป็นไม้เบื่อไม้เมากันมานานปีแล้ว

พูดอีกอย่างก็คือ มันไม่ใช่เรื่องของการ 'ขอนั่งฟรีแล้วยังจะเรื่องมากอีก' เท่านั้นน่ะครับ

นอกจากสิทธิสองชุดแรกแล้ว ยังมีอีกนะครับ ความอีรุงตุงนังยังต่อเนื่อง เมื่อเพื่อนกับตันที่อยู่ในหน้าที่ขับเครื่องบินลำนั้น ดันมาเชียร์เพื่อนกัปตันของตัวเองด้วยการไม่ยอมบินออกไป ถ้าเพื่อนยังไม่ได้ที่นั่ง ส่วนนี้จะยิ่งซับซ้อนกันไปใหญ่ครับ ผมไม่อยากให้รีบตัดสินกันไปเลยนะครับว่า “ฝั่งบอสใหญ่หรือ DD ของการบินไทยมีท่าทีที่ดี ในขณะที่นักบินนั้นไม่เป็นมืออาชีพ” เพราะมันจะไปทำลายตรรกะของสิทธิที่ซ้อนๆ กันอยู่ตรงนี้ได้หลายส่วนอยู่ ลองดูกันก่อนนะครับ ว่ามันมีอะไรซ้อนอยู่บ้าง

แม้ท่าทีของกัปตันในหน้าที่จะดูเสือก แต่สิทธิที่แกใช้นั้นก็ไม่ได้ไม่มีน้ำหนักนะครับ ว่ากันตรงๆ มันก็คือ The Right to Strike หรือสิทธิในการประท้วงหยุด/พักการทำงานแบบหนึ่งนั่นเองครับ ซึ่งนี่เองก็เป็นสิทธิตามกฎหมายและข้อตกลงสากลมากๆ แบบหนึ่ง ซึ่งเราก็คงจะคุ้นหูข่าวสหภาพแรงงานต่างๆ ทำการประท้วงหยุดงานเพื่อกดดันให้ข้อเรียกร้องของเขาได้รับการเหลียวแลหรือผลักดันให้นโยบายที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเขานั้นดีขึ้น และแน่นอน การประท้วงหยุดงานแทบทุกครั้ง ไม่ว่าจะสไตรค์หยุดเดินรถเมล์ในอังกฤษ, หยุดเดินรถไฟในอิตาลี หรือหากจำกันได้เมื่อไม่กี่ปีก่อนกลุ่มกัปตันของสายการบินนกแอร์เองก็เคยประท้วงหยุดงานด้วยนั้น 'นำมาซึ่งคนที่เดือดร้อนอยู่ด้วยเสมอ' (อาจยกเว้นแค่กรณีของพนักงานขับรถเมล์ที่ญี่ปุ่น ที่สไตรค์ด้วยการเปิดให้ประชาชนขึ้นรถเมล์ฟรี) และคนที่เดือดร้อนในกรณีเหล่านี้ นอกจากตัวนายจ้างแล้วก็คือ ผู้บริโภคนี่แหละครับ ฉะนั้นในกรณีนี้เองผู้บริโภคที่ว่าก็คือ 'ผู้โดยสารทั้งลำ'

ฉะนั้นแม้ว่าการกระทำของกัปตันในหน้าที่จะดูไม่เกี่ยวเหลือเกิน แต่การปฏิเสธการใช้สิทธิแบบนี้ว่าเป็น 'การใช้ผู้โดยสารเป็นตัวประกัน' แล้วทำลายความชอบธรรมของสิทธิพื้นฐานในการประท้วงหยุด/พักงานนั้นก็อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องนัก (อันนี้ผมพูดในทางหลักการนะครับ แต่ในทางส่วนตัว เมื่อคนซวยคือเรา ก็บ่นก่นด่าในทางส่วนตัวไปเถอะครับ เป็นผม ผมก็ด่า แต่นี่แค่พยายามอธิบายภาพกว้างๆ)

อย่างไรก็ตามไอ้สิทธิในการประท้วงหยุด/พักงานที่ว่ามาในเคสนี้ก็มีเงื่อนไขที่ต้องลงรายละเอียดเพิ่มไปอีกครับ คือ โดยปกตินั้นสิทธิในการประท้วงหยุดงานเนี่ยมันก็มีดราม่าโดยตัวมันเองหนักอยู่แล้ว เพราะมันเรียกร้องขอความอดทนอดกลั้น (Toleration) จากสังคมที่ซวยไปด้วยกับมันอย่างค่อนข้างจะสูงมาก ซึ่งเรื่องนี้เป็นดีเบตหนักมากๆ นะครับในวงการประชาธิปไตยศึกษา ว่า “ต้องทนแค่ไหนถึงจะมากพอ?” หรือเส้นของความพอดีมันอยู่ตรงไหน ที่จะให้กลไกของสิทธิเหล่านี้ดำรงอยู่ได้ โดยไม่มาริดรอนสิทธิเสรีภาพของปัจเจกจนเกินไป (เรื่องนี้ใหญ่ไปจนถึงแนวคิดเรื่องพหุวัฒนธรรมนิยมอะไรต่างๆ เลยด้วยครับ) ซึ่งจุดนี้เองก็เป็นประเด็นว่า “แล้วผู้โดยสารในเครื่องต้องอดทนอดกลั้นกับเรื่องนี้เพียงใด?” ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ต้องนำมาคิด รวมถึงจะชดเชยให้กับผู้โดยสารเหล่านั้นอย่างไรด้วย ซึ่งนี่เป็นประเด็นทั่วๆ ไปนะครับ แต่ในเคสนี้คือ การใช้สิทธิเพื่อประท้วงหยุดงานนั้น มันไม่ได้ทำเพื่อเรียกร้องกับ 'ตัวนายจ้าง' (การบินไทย) โดยตรงไงครับ อาจจะมองแน่แง่อิมแพคอ้อมๆ ได้ แต่ข้อเรียกร้องโดยตรงนั้นมันมีขึ้นกับตัวผู้โดยสารเองแทนเสียนี่สิ มันจึงยิ่งเป็นปัญหาใหญ่

พอแยกประเด็นออกมาแบบนี้ และเห็นสงครามของสิทธิแบบต่างๆ ที่อิรุงตุงนังพันตูกันอยู่นั้น ว่ากันตามตรงสิทธิทุกสิทธิก็เป็นสิทธิพื้นฐานทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นสิทธิเหนือทรัพย์สินของตนในฐานะปัจเจก, สิทธิ (เพื่อ) สาธารณะ, สิทธิอำนาจเพื่อการประกันความมั่นคง (ของสาธารณะ), สิทธิในการเรียกร้องหยุดงาน ไปจนถึงสิทธิต่อทางเลือกและการชดเชยความเสียหายในฐานะผู้ต้องมารับกรรมในวาระที่ดราม่าข้นเหตุผลจางกันในครั้งนี้ด้วย ผมก็คิดว่าเราควรจะมาดูกันว่าสิทธิไหนควรจะอยู่จะไปในสถานการณ์แบบนี้ โดยตัดเรื่อง 'ภาพลักษณ์องค์กร' หรือ Service Mind ออกไปก่อนนะครับ แต่ทั้งนี้อย่างที่บอกว่าสงครามของสิทธิเหล่านี้นั้นมันเถียงกันมานานปีแล้ว ไม่มีข้อสรุปอะไร ฉะนั้นที่จะเสนอต่อไปนี้ก็เป็นเพียงข้อคิดเห็นส่วนบุคคลของผมเองเท่านั้นนะครับ หรือก็คือเป็น Judgmental ของผมเอง หลังจากที่บอกให้วางทิ้งไว้ก่อนในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีจะเห็นว่าผมไม่ได้พูดถึงส่วนของพนักงานภาคพื้นดินเลย เพราะไม่ว่าจะมองจากมุมไหน กลุ่มพนักงานภาคพื้นดินนั้นก็ไม่น่าจะรอดพ้นความผิดใดๆ ได้น่ะนะครับ

เริ่มต้นที่ผู้โดยสารที่เดือดร้อนในเครื่องก่อน ผมคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่จะได้รับการชดเชย โดยเฉพาะกรณีที่ต้องนั่งรอในเครื่องบินแบบนั้น โดยไม่มีทางเลือกในการ 'ยกเลิกตั๋วและจองเที่ยวบินอื่นๆ แทนได้'

ทั้งที่เอาเข้าจริงๆ ในสถานการณ์ดังกล่าวก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการดีเลย์จะเนิ่นนานเพียงใด เพราะกรณีนี้ต่างจากกรณีเครื่องเสีย หรือสภาวะอากาศไม่ดีต่างๆ ที่ในหลายๆ ครั้งพอจะแจ้งผู้โดยสารคร่าวๆ ได้ว่า 'จะดีเลย์นานแค่ไหน' เพื่อผู้โดยสารที่ซวยจะได้ประเมินทางเลือกของตัวเองได้ถูกต้อง แต่ในกรณีนี้เป็นการชักกะเย่อกันของการอ้างสิทธิ (และอีโก้) ที่ผมคาดการเอาว่าพนักงานต้อนรับในเครื่องก็ไม่สามารถบอกได้ว่าจะนานเพียงใด นั่นหมายความว่า นอกจากสิทธิเหนือทางเลือก (ในการยกเลิกตั๋วโดยสารแล้วไปหาไฟลต์อื่นแทน) จะไม่มีแล้ว สิทธิที่ควรจะได้รับได้รับในแง่การประเมินสถานการณ์ก็ยังไม่มีอีก ในแง่นี้ผมคิดว่าผู้โดยสารในเครื่องทุกคนที่ติดอยู่ในความซวยนั้นควรได้รับการชดเชยโดยประเมิณจากเพดานบนสุดของการชดเชย (กรณีดีเลย์ 2-3 ชั่วโมง ผู้โดยสารต้องได้รับอาหาร หรือได้รับสิทธิในการยกเลิกตั๋วโดยคืนเงินเต็มจำนวน) ซึ่งในแง่นี้จริงๆ ก็คือการได้รับสิทธิในการยกเลิกตั๋วและคืนเงินเต็มจำนวน แต่ผู้โดยสารไม่ได้รับสิทธิในการเลือกตัวเลือกนี้เลยในทางปฏิบัติ

ผมคิดว่าหากผู้โดยสารคนใดในเที่ยวบินดังกล่าวมีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าการดีเลย์ของเที่ยวบินดังกล่าวทำให้พวกเขาเสียหาย เช่น ต่อไฟลต์ไม่ทัน ประชุมไม่ได้ คลาสต้องยกเลิก ร้านอาหารที่จองไว้ไปกินไม่ได้ (โดนหักเงินค่าประกันอีก) หรือไปดูบุพการีสิ้นใจไม่ทัน เป็นต้น หากพิสูจน์ได้ ผมคิดว่าก็ควรได้รับการคืนเงินค่าตั๋วเต็มจำนวนนะครับ เพราะเป็นความผิดของคนที่การบินไทยมอบอำนาจการตัดสินใจเต็มที่ให้เอง โดยไม่มีทางเลือกอื่นให้กับผู้โดยสาร การบินไทยก็ควรจะต้องชดเชย และไม่ใช่แค่ตามระดับค่าชดเชยตามสภาวะปกติด้วย เพราะอันนี้มันสภาวะไม่ปกติ (ทางเลือกหนึ่งต้องถูกทิ้งไป)

ส่วนกรณีของกัปตันในหน้าที่นั้น ผมคิดว่าเป็นการใช้สิทธิหยุด/พักงานอย่างไม่เป็นธรรมกับผู้โดยสาร เพราะการใช้สิทธิพักงานนั้น หากมีอารยะบ้าง ก็จะต้องมีการประกาศล่วงหน้า เพื่อให้คนที่จะซวยสามารถเตรียมการทัน แต่ในกรณีนี้เท่ากับเป็นการใช้สิทธิอย่างบังคับให้อีกฝั่งไร้ทางเลือก และเฉพาะตนเองฝ่ายเดียวที่มีทางเลือกอยู่ มันจึงเป็นการใช้สิทธิหยุดงานแบบเฟ้อเกินไป (Right (to Strike) Inflation) การใช้สิทธิหยุดงานนั้นมันไม่ใช่การ 'ริบทางเลือก' ของอีกฝ่าย แต่เป็นการผลักดันให้อีกฝ่ายมีโอกาสจะยอมรับข้อเรียกร้องของฝั่งตนมากยิ่งขึ้น และหากเป็นไปได้ก็ต้องลดจำนวนคนที่จะซวยไปด้วยให้น้อยที่สุด แต่ในกรณีนี้กลับทำตรงกันข้าม คือ เพิ่มปริมาณคนเดือดร้อนไปด้วยให้มากที่สุด ซึ่งผมคิดว่าผิดต่อหลักปฏิบัติของการใช้สิทธิประเภทนี้มาก โดยส่วนตัวผมเลยคิดว่าการใช้สิทธิประเภทนี้ 'ในลักษณะนี้' อีกแล้วอ้างว่าทำเพื่อยืนหยัดในสิทธิของกัปตันมวลรวมอะไรนั้น ควรจะได้รับการลงโทษตามกติกาของบริษัทไป แต่ทั้งนี้ผมก็ไม่อยากให้ท่านผู้อ่าน 'เมิน หรือไม่ให้ค่า' สิทธิชนิดนี้อีกต่อไปนะครับ ผมคิดว่ามันเป็นสิทธิที่ควรผลักดันและรักษาไว้อยู่ เพียงแค่ต้องใช้ให้มันถูกหลักเท่านั้น

สุดท้ายคือระหว่างกัปตันที่ขอติดเครื่องไปด้วยกับผู้โดยสารที่ได้อัพคลาสที่นั่งและสละที่นั่งให้นั้น ส่วนนี้แหละครับผมอาจจะมีความเห็นตรงกันข้ามกับสาธารณะอยู่บ้าง คือ เมื่อต่างฝ่ายต่างคิดว่าตนเองมีสิทธิโดยชอบธรรมต่อที่นั่งชั้นหนึ่งดังกล่าว (เพราะได้รับแจ้งมาเช่นนั้น – อันนี้ก็ความผิดพนักงานภาคพื้นไปเต็มๆ) และระบบของที่นั่งบนเครื่องบิน ในกรณีที่มีเลขที่นั่งซ้ำกันนั้น มันไม่ใช่ระบบใครเดินไปถึงที่นั่งก่อน ได้ก่อนนะครับ หากตัวผมเองได้รับสิทธิและถือบอร์ดดิ้งพาสที่นั่งชั้นหนึ่งอยู่ แล้วพอไปถึงมีอีกคนหนึ่งนั่งในที่นั่งนั้นแล้ว (ซึ่งมีบอร์ดดิ้งพาสที่นั่งเดียวกัน ถูกต้องเหมือนกัน) ผมเองก็ไม่ยอมนะครับ เพราะต่างฝ่ายต่างก็มั่นใจว่าตัวเองมีสิทธิโดยชอบธรรมเต็มที่เหนือเก้าอี้ตัวนั้น (ซึ่งก็น่าจะเป็นเช่นนั้น)

กรณีที่ Individual Self-Ownership หรือสิทธิความเป็นเจ้าของของปัจเจกนั้นเสมอกัน (ในกรณีนี้เพราะความผิดพลาดของพนักงานภาคพื้นดิน) ก็ต้องให้สิทธิกับคนที่ถือครองสิทธิเพื่อประโยชน์สาธารณะและเหตุผลในการคุ้มครองความมั่นคงของสาธารณะไปก่อนครับ

ฉะนั้นแล้ว ผมจึงคิดว่ากัปตันที่ขอติดเครื่องนั้น (ในกรณีนี้ ที่ต่างฝ่ายต่างมี Individual Self-Ownership เสมอกัน) ควรได้รับสิทธิในการนั่งเก้าอี้ตัวดังกล่าวครับ และผู้โดยสารที่เลขที่นั่งซ้ำกันก็ควรต้องย้าย อย่างไรก็ดี แม้ผู้โดยสารทั้งสองนั้นจะได้รับการอัพคลาสขึ้นมาฟรีๆ แต่การได้อัพคลาสนั้นเป็นไปตามกติกาทั้งหมด ทำให้ตัวพวกเขาได้รับศักดิ์และสิทธิอย่างเต็มที่เหนือที่นั่งชั้นหนึ่งดังกล่าวอย่างเต็มที่แล้ว และการต้องย้ายที่นั่งเองก็ไม่ใช่ความผิดใดๆ เลยของตัวผู้โดยสารที่ต้องสละที่นั่งดังกล่าว กรณีนี้ผมคิดว่าการบินไทยก็ควรจะต้องชดเชยความเสียหายให้กับผู้โดยสารทั้งสองท่านด้วย อย่างน้อยที่สุดก็ตามส่วนต่างของมูลค่าที่นั่งชั้นธุรกิจ กับที่นั่งชั้นหนึ่งของเที่ยวบินนั้น ซึ่งได้เป็นสิทธิโดยชอบธรรมของผู้โดยสารทั้งสองไปแล้วครับ ผมคิดว่าทางเลือกนี้ควรจะต้องมีบนเครื่องเสมอให้พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเสนอแบบนี้ได้เลยในกรณีที่เกิดเหตุแบบนี้ขึ้นอีกครับ เพราะความผิดอยู่ที่การจัดการของตัวพนักงานการบินไทยและระบบของคุณเอง ไม่ใช่กับตัวผู้โดยสาร หรือกระทั่งกัปตันที่ขอติดเครื่องไปด้วย

ส่วนหลังบ้าน การบินไทยจะไปเคลียร์ จะลงโทษกันอย่างไรผมไม่สน และอันนี้ผมเขียนขึ้นแน่นอนว่ามีการ 'ตัดสิน' บนความคิดเห็นส่วนตัวของผมเอง แต่ผมนั้นพยายามเสนอตามเนื้อหาของ 'แก่น' ของการปะทะกันในเนื้อเรื่องนะครับ ผมพยายามตัดเรื่อง 'ภาพลักษณ์บริษัท' หรือแม้แต่เรื่องการมีจิตใจบริการ (Service Mind) ออกจากการประมวลทั้งหมดเลย เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเพียง 'สิ่งที่ควรจะมี' ไม่ใช่สิ่งที่ 'จำเป็นต้องมี' ฉะนั้นเมื่อตัดสิ่งเหล่านี้ออก กัปตันที่ควรจะมี service mind หรือรักษาภาพลักษณ์บริษัทอะไรนั้น ผมจึงไม่สน เพราะเขามีสิทธิ 'ที่จะไม่มีในสิ่งที่เราปราถนาให้เขามี' ได้ และว่ากันเฉพาะบนสิทธิที่เขาต้องมีล้วนๆ (สิทธิความเป็นเจ้าของในฐานะปัจเจก, สิทธิเพื่อสาธารณะ, สิทธิเพื่อคุ้มครองความมั่นคง) ก็ลองพิจารณากันดูนะครับ

Illustration by Kodchakorn Thammachart

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0