โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

สงครามการค้า ปัญหาหนี้คุกคามเศรษฐกิจจีนโตแผ่ว ขยายตัวตํ่าสุดในรอบ 30 ปี

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 17 ก.ค. 2562 เวลา 04.30 น.

เศรษฐกิจจีนในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2562 (เม.ย.-มิ.ย.) ทำสถิติ “ขยายตัวน้อยที่สุด” ในรอบเกือบๆ 3 ทศวรรษ โดยขยายตัวที่อัตราเพียง 6.2% ต่ำกว่าที่มีการคาดการณ์กันไว้ก่อนหน้านี้ที่ 6.4%  ตัวเลขดังกล่าวถือเป็นสถิติตํ่าที่สุดนับตั้งแต่ที่รัฐบาลจีนเริ่มเปิดเผยรายงานตัวเลขเศรษฐกิจรายปีในปี 2535 เป็นปีแรก

สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากบรรยากาศความตึงเครียดของสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯที่หยุดชะงักไประยะหนึ่งและกำลังเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นใหม่หลังจากที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้พบปะหารือกันนอกรอบการประชุม G 20 ที่นครโอซากา ประเทศ ญี่ปุ่นเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา  อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ก็ยังมองเห็นปัจจัยที่ทำให้เชื่อว่าการชะลอตัวดังกล่าวจะไม่ยํ่าแย่ลงไปมากนักแต่จะเป็นการปรับสมดุลให้มีเสถียรภาพมากขึ้น เนื่องจากในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ตัวเลขผลผลิตในภาคอุตสาหกรรมของจีนยังมีการขยายตัวที่ 6.3% และตัวเลขยอดขายในธุรกิจค้าปลีกก็ยังเป็นบวกที่ 9.8% ขณะที่ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เม็ดเงินการลงทุนเพิ่มขึ้นในอัตรา 5.8% ตัวเลขทั้ง 3 ชุดนี้ซึ่งเป็นไปในทิศทางบวก ทำให้เชื่อว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายมาตรการที่รัฐบาลจีนนำมาใช้ อาจจะกำลังส่งผลลัพธ์ให้เห็น

นักวิเคราะห์เชื่อว่า เศรษฐกิจขยายตัวอย่างแผ่วเบาในช่วงไตรมาสที่ 2 แต่หลังจากนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2562 เศรษฐกิจจะฟื้นตัวและเติบโตในระดับปานกลางซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายสนับสนุนของรัฐบาล  ทั้งนี้การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของบริษัทเอกชนจีนในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ยังคงขยายตัวอย่างรวดเร็วมากขึ้น แต่การลงทุนของภาครัฐวิสาหกิจกลับแผ่วลง ซึ่งก็เป็นอีกบทพิสูจน์ว่ามาตรการของรัฐบาลจีนที่มุ่งอัดฉีดสภาพคล่องเงินสดให้กับบริษัทเอกชนนั้น เริ่มให้ผลลัพธ์อย่างที่มุ่งหวัง   

ปัจจุบัน จีนเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา มีมูลค่ารวมจีดีพีที่ประมาณ 13.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากปัจจัยลบด้านสถานการณ์การเผชิญหน้ากับสหรัฐฯซึ่งคาดว่าการเจรจาจะยืดเยื้อและน่าจะใช้เวลาอีกนานกว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะบรรลุข้อตกลงการค้ากันได้ ส่งผลให้ความไม่แน่นอน และไม่สามารถคาดการณ์ได้ ยังมีอิทธิพลครอบงำบรรยากาศการค้า-การลงทุนในภาพรวม จีนยังมีอีกปัญหาใหญ่ที่เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาว นั่นคือ ภาระหนี้สินทั้งของภาครัฐและเอกชน

หนี้สาธารณะของจีนพุ่งสูงขึ้นคิดเป็นสัดส่วน 271% ของจีดีพีในปี 2561 เป็นการเพิ่มขึ้นจากระดับเพียง 164% ในช่วงก่อนที่ทั่วโลกจะเผชิญกับวิกฤติการเงินในปี 2551

ในขณะที่หนี้ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนกลับแผ่วลงอย่างต่อเนื่องสวนทางกัน โดยในไตรมาสแรกของปี 2553 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)ของจีนขยายตัวในอัตรา 12.2% แต่หลังจากนั้นก็ขยายตัวในอัตราน้อยลงมาเรื่อยๆ จนถึงไตรมาสแรกและไตรมาส 2 ของปีนี้ ที่ขยายตัวในอัตรา 6.4% และ 6.2% ตามลำดับ ซึ่งการขยายตัวรายไตรมาสที่อัตรา 6.2% นั้น แม้ว่าจะเป็นอัตราขยายตัวตํ่าที่สุดในรอบ 27 ปี แต่ก็เป็นระดับที่รัฐบาลจีนระบุว่า “ยอมรับได้” เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้มีการตั้งเป้าหมายไว้แล้วว่า เศรษฐกิจภาพรวมของจีนในปี 2562 นี้ จะขยายตัวในอัตราระหว่าง 6- 6.5%

 

นักวิเคราะห์ได้ประมวลภาพปัจจัยลบของเศรษฐกิจจีนเอาไว้ว่า ความเสี่ยงอาจเกิดขึ้นได้หากประเด็นเหล่านี้สร้างปัญหาเพิ่มเติมขึ้นมาให้กับจีนในช่วงครึ่งปีหลัง ได้แก่ การขายอาวุธของสหรัฐฯให้กับไต้หวันมูลค่า 2,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะทำให้จีนไม่พอใจและนั่นหมายความว่าบรรยากาศความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯจะยํ่าแย่ลงไปอีก ไม่เป็นผลดีต่อการเจรจาการค้าที่กำลังเกิดขึ้น ขณะเดียวกัน ประเด็นการเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงซึ่งเป็นการแสดงออกที่แข็งกร้าวต่อรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้ภาวะการเมืองภายใน (ระหว่างจีนและฮ่องกง) อยู่ในภาวะคุกรุ่น ถือเป็นปัจจัยเสี่ยง

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังจับตาตัวเลขการลงทุนในลักษณะการนำเงินเข้าไปร่วมลงทุนในธุรกิจต่างๆ (venture capital) ในจีนยังมีแนวโน้มลดลง โดยตัวเลขการลงทุนดังกล่าวในไตรมาส 2 ของปีนี้ลดลง 77% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 โดยตัวเลขมูลค่ารวมลดลงมาอยู่ที่ระดับ 9,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่จำนวนการซื้อขายควบรวมกิจการก็น้อยลงราว 50%

ที่สำคัญคือเมื่อมองมายังตลาดแรงงานของจีน ซึ่งในช่วงฤดูร้อนปีนี้จะมีบัณฑิตจบใหม่หลั่งไหลเข้าสู่ตลาดแรงงาน
อีกมากกว่า 8 ล้านคนท่ามกลางบริบทที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัวในอัตราที่น้อยลง  ก็ทำให้เชื่อว่า หัวจักรใหญ่ที่เคยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลกอย่างจีน กำลังเข้าสู่ภาวะปรับสมดุลและแก้ไขปัญหาภายในของตัวเอง ประเทศคู่ค้าของจีนก็จำเป็นต้องเฝ้าระวังและปรับกลยุทธ์ให้ดีไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์การค้าหรือการคลัง  หากหวังพึ่งพิงจีนมากเกินไปก็อาจติดไข้และซมนานกว่าจีน 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3488 ระหว่างวันที่ 18 - 20 กรกฎาคม 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0