โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

สงครามการค้าโลก

ไทยรัฐออนไลน์ - Economics

เผยแพร่ 21 ก.ย 2561 เวลา 22.01 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ออกประกาศ เรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าระลอกใหม่จากจีน เป็นวงเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์ โดยเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 10% จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 ก.ย.ที่จะถึงนี้ และจะเพิ่มเป็น 25% ในปีหน้า ขณะเดียวกัน จีน เองก็ ประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯคิดเป็นมูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์ ในอัตราภาษี 5-10% เป็นการตอบโต้มาตรการทางด้านภาษีของสหรัฐฯแบบทันทีทันควัน โดยจะมีผลบังคับใช้วันที่ 24 ก.ย.เช่นกัน มุ่งเป้าไปที่สินค้าสหรัฐฯจำนวน 5,207 รายการ ตาต่อตาฟันต่อฟัน

เรื่องนี้สร้างความหวาดวิตกจากผลกระทบเศรษฐกิจโลกในระยะยาว แม้แต่ โธมัส โดโนฮิว ประธานสภาหอการค้าสหรัฐฯ ยังออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ทรัมป์ ว่าเป็นผู้นำสหรัฐฯที่ไม่สนใจคำเตือนจากภาคธุรกิจและผู้บริโภคเกี่ยวกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนและการว่างงานในอุตสาหกรรมการผลิตไม่ว่าจะเป็นโรงงาน ฟาร์ม และไร่ปศุสัตว์ทั่วประเทศ

สงครามการค้าโลกระหว่างจีนกับสหรัฐฯ มีทั้งผลดีและผลเสียกับประเทศต่างๆ ซึ่งในที่สุดแล้ว ทั้ง จีน และ สหรัฐฯ จะเป็นต้นเหตุของ การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของโลก ครั้งใหญ่ ในอดีต สหรัฐฯ เคยใช้มาตรการกีดกันทางการค้ากับประเทศต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตร อุตสาหกรรมหรือการเงิน โดยผ่านมาตรการทางด้านภาษี และกำหนดมาตรฐานสินค้าแต่ในที่สุดแล้ว มาตรการต่างๆที่ สหรัฐฯ ใช้กับประเทศอื่นๆกลับไปกระทบกับประเทศสหรัฐฯและคนสหรัฐฯเองจนเศรษฐกิจสหรัฐฯย่ำแย่

ระบบการค้าที่ต้องแลกเปลี่ยนหมุนเวียนโดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน คำนึงถึงความได้เปรียบเสียเปรียบทางการค้า ที่ต้องมีความเป็นธรรมทางการค้า เพราะปัจจุบันมีทางเลือกเยอะประกอบกับระบบเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันกันสูงและสามารถที่จะผลิตสินค้าได้ไม่แตกต่างกัน มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในการพัฒนาการผลิต จึงไม่มีความแตกต่างและความจำเป็นที่จะต้องใช้สินค้าจากประเทศยักษ์ใหญ่เสมอไป

ประเทศไหนยิ่งมีพลเมืองมากเท่าไหร่ก็ยิ่งไม่ต้องง้อประเทศอื่น ลำพังผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศก็พอเพียงแล้วระบบเศรษฐกิจจะเน้นตลาดและทุนในประเทศ พึ่งพาตัวเองมากกว่าจะไปพึ่งคนอื่น ทำให้ความสำคัญของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ลดบทบาทลงเยอะ

มาตรการของรัฐที่ออกมาช่วยคนจน อาทิ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ช่วยค่ารถไฟ รถเมล์ การคืนแวตให้กับผู้มีรายได้น้อยและนำส่วนหนึ่งไปเป็นเงินสะสมให้กับผู้มีรายได้น้อย เท่ากับเป็นการฝึกวินัยทางการเงินและช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวบ้านได้ไม่มากก็น้อย ในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน หลักของเศรษฐกิจพอเพียงน่าจะเหมาะกับประเทศไทยและคนไทยมากที่สุด ระบบเศรษฐกิจเข้ายุคไทยแลนด์ 4.0 ก็จริง แต่คนไทยต้องรู้จักพึ่งพาตัวเองด้วย.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0