โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

สกู๊ปหน้า1: ‘จีเอ็ม’ทิ้งไทย จีนเสียบ-บุกอาเซียน

MATICHON ONLINE

อัพเดต 21 ก.พ. 2563 เวลา 08.18 น. • เผยแพร่ 21 ก.พ. 2563 เวลา 08.18 น.
สกู๊ป-จีเอ็มไทย

เกิดกระแสฮือฮามาตั้งแต่ต้นสัปดาห์ สำหรับข่าวการยุติการจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อ เชฟโรเลต ในประเทศไทยภายในสิ้นปี 2563 ของผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่จากสหรัฐอเมริกา อย่าง “เจนเนอรัล มอเตอร์ส”

โดยเอกสารเผยแพร่ระบุว่า เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) จะยุติการจัดจำหน่ายรถยนต์เชฟโรเลตในตลาดประเทศไทยภายในสิ้นปี 2563 แต่จะยังคงให้บริการหลังการขายแก่ลูกค้าเชฟโรเลต อาทิ การรับประกันคุณภาพรถยนต์ การซ่อมบำรุง และการบริการต่างๆ ผ่านเครือข่ายของศูนย์บริการ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากเชฟโรเลตทั่วประเทศ

แอนดี้ ดันสแตน ประธานกรรมการตลาดเชิงกลยุทธ์ พันธมิตรและผู้แทนจำหน่าย จีเอ็ม อินเตอร์เนชั่นแนล โอเปอเรชั่นส์ ระบุว่า การถอนเชฟโรเลตออกจากตลาดรถยนต์ประเทศไทย เป็นการตัดสินใจของจีเอ็ม หลังจากที่มีการขายศูนย์การผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์ของจีเอ็ม ประเทศไทย ในจังหวัดระยองให้แก่ เกรท วอลล์ มอเตอร์ส

“จีเอ็มทราบดีถึงผลกระทบที่จะมีต่อพนักงานและคู่ค้าของเราจากการตัดสินใจครั้งนี้ เราให้คำมั่นที่จะปฏิบัติต่อพนักงาน คู่ค้า และผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของเราด้วยความเคารพตลอดระยะเวลาการปรับเปลี่ยนนี้” นายแอนดี้กล่าว

ประธานกรรมการตลาดเชิงกลยุทธ์ พันธมิตรและผู้แทนจำหน่าย จีเอ็ม อินเตอร์เนชั่นแนล โอเปอเรชั่นส์ ยังย้ำว่าการตัดสินใจที่จะยุติการผลิตและการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศไทย เป็นไปตามกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจทั่วโลกของจีเอ็ม และขอบข่ายการจัดสรรเงินทุนภายในองค์กร โดยการซื้อขายศูนย์การผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์ของจีเอ็ม ประเทศไทยใน จ.ระยอง ระหว่างจีเอ็ม และเกรท วอลล์ มอเตอร์สคาดว่าจะสำเร็จเสร็จสิ้นในปลายปี 2563

หลังการแจ้งข่าวของจีเอ็มไม่กี่ชั่วโมง “เกรท วอลล์ มอเตอร์ส” โดย หลิว เซียงชาง รองประธานฝ่ายกลยุทธ์ระดับโลกของบริษัท ออกมาให้ข้อมูลว่า การเข้าซื้อศูนย์การผลิตของจีเอ็ม ประเทศไทยใน จ.ระยอง จะช่วยพัฒนาธุรกิจของเกรท วอลล์ มอเตอร์ส ในตลาดประเทศไทยและอาเซียน เกรท วอลล์ มอเตอร์สจะขยายธุรกิจไปทั่วภูมิภาคอาเซียนโดยมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนรวมถึงประเทศออสเตรเลียด้วย

ประเมินว่า “เกรท วอลล์ มอเตอร์ส” ตั้งเป้าผลิตรถยนต์ในไทยภายในไตรมาส 1 ปี 2565 ขนาดกำลังการผลิต 100,000 คันต่อปี ซึ่งกำลังผลิตของ “จีเอ็ม” ในไทยสอดรับกันพอดี

และเมื่อบริษัทลงทุนครบร้อยเปอร์เซ็นต์จะส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น โดยบริษัทวางแผนการผลิตรถยนต์เอสยูวีและรถปิกอัพ รวมถึงอนาคตจะผลิตรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (พีเอชอีวี) และรถยนต์ไฟฟ้า (บีอีวี)

เปิดประวัติการเข้ามาลงหลักปักฐานในไทยของ “จีเอ็ม” พบว่าเข้าลงทุนในไทยช่วงปี 2541-2542 ตามคำชวนของรัฐบาลไทย ที่ออกไปโรดโชว์ดึงนักลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ในสหรัฐอเมริกา และหลายประเทศ แถมเมื่อเข้ามาลงทุนเต็มตัวก็ประกาศว่า มีแนวคิดจัดตั้งมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์

อุตสาหกรรมยานยนต์ในเวลานั้นคึกคักมาก เพราะช่วงแรกที่จีเอ็มประเดิมเปิดตัวเชฟโรเลต ซาฟิร่า รถแวนขนาดเล็กที่ยอดขายไม่ธรรมดา ต่อมาก็เริ่มลุยรถยนต์นั่งเอสยูวี และกระบะอย่างต่อเนื่อง จุดเด่นของจีเอ็มคือการทำตลาดที่หวือหวา ทุ่มงบจำนวนมากต่อการปล่อยผลิตภัณฑ์ใหม่แต่ละครั้ง

แต่เมื่อทำตลาดไประยะหนึ่ง จีเอ็มกลับมีอาการ “นิ่ง” ไม่ปรับตัวเหมือนค่ายรถอื่นที่เน้นการออกรถยนต์โฉมใหม่สะดุดตา การใส่ออปชั่นภายในรถที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคคนไทยที่เน้นความหรูหราคู่กับสมรรถนะของรถ รวมทั้งไม่เข้าร่วมผลิตรถยนต์ขนาดเล็กมาตรฐานสากล (อีโคคาร์) ที่ช่วยให้หลายค่ายกลับมาฟื้นตัว สร้างยอดขายเป็นกอบเป็นกำ จนตัวเองเริ่มหลุดวงโคจรความนิยมของประชาชน แม้จะมีกำลังผลิตถึง 100,000 คันในโรงงานที่ จ.ระยอง

จีเอ็มหันไปผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกเป็นหลัก และทิ้งระยะกับผู้บริโภคคนไทยออกไปเรื่อยๆ จนเหลือกำลังผลิตประมาณ 50,000 คันรวมส่งออก จำนวนนี้ยอดขายในไทยมีไม่มาก

กระทั่งประกาศหยุดผลิตรถยนต์นั่งในปี 2561 เลือกนำเข้าแทน และเลิกจ้างพนักงาน 300 คนในปี 2562 ทั้งที่ปีเดียวกันเพิ่งฉลองความสำเร็จในการส่งออกเครื่องยนต์จีเอ็มเพาเวอร์เทรน ในเวลาไล่เลี่ยกันยังปิดโรงงานผลิตในออสเตรเลีย และเลือกนำเข้าแทนทั้งในออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จนล่าสุดประกาศเลิกผลิตในไทย พร้อมกับเลิกจำหน่ายในไทย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ไปพร้อมกัน

สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นกับจีเอ็มว่า เหตุที่จีเอ็มย้ายฐานจากตลาดไทย เพราะแผนธุรกิจที่ต้องการกลับไปทำตลาดในสหรัฐอเมริกาเหมือนเดิม และต้องการทำรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เต็มตัว ส่วนรถกระบะที่ชำนาญอยู่แล้ว น่าจะมุ่งลงทุนในจีนเป็นหลัก เพราะเมื่อมี 2017 จีเอ็มสามารถขายในจีนได้ถึง 4 ล้านคัน จากยอดขายรถยนต์รวมในจีนอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านคัน

ส่วนประเทศไทย แม้จีเอ็มจะบอกลา แต่รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.ระบุว่า จะได้เกรท วอลล์ มอเตอร์ส ค่ายรถจากจีนมาแทน ซึ่งน่าจับตา เพราะรถยนต์จากจีนมีจุดเด่นด้านราคาที่ถูกใจผู้บริโภคคนไทย และมีรูปโฉม ออปชั่นภายในรถที่หลากหลาย เห็นจากหลายค่ายที่เข้ามาทำตลาดในไทย บางค่ายทำรถอีวีในราคาที่ไม่แพง ผู้บริโภคเอื้อมถึง ยอดขายดีวันดีคืน

“สถานการณ์จีเอ็ม ผมไม่ห่วง เพราะจีเอ็มส่งสัญญาณมาสักพักแล้ว และแม้จีเอ็มจะย้ายฐานไป แต่ก็มีค่ายรถยนต์จากจีนเข้ามาแทน ดังนั้นหลังจากนี้ต้องติดตามแผนธุรกิจของเกรท วอลล์ มอเตอร์ส ว่าจะดำเนินการผลิตตามที่ประกาศหรือไม่ เพราะเป็นการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี พื้นที่ลงทุนที่สำคัญของไทย รวมทั้งติดตามเป้าหมายที่บอกว่าจะดันไทยเป็นฐานการผลิตของภูมิภาคอาเซียน และการผลิตอีวีในไทย ซึ่งเกรท วอลล์ มอเตอร์สปัจจุบันมียอดขายในจีนประมาณ 1 ล้านคัน ถือเป็นรถยนต์ที่เติบโตรวดเร็ว” สุรพงษ์ระบุ

รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. ยังแสดงความเห็นว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยในด้านการลงทุนไม่น่าห่วง ไม่มีค่ายอื่นส่งสัญญาณเช่นจีเอ็ม แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่า คือ ตลาดรถยนต์ในประเทศที่ชะลอตัวลง สาเหตุมาจากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ขณะที่ยอดส่งออกรถยนต์ของไทยเดือนมกราคม 2563 ก็น้อยที่สุดในรอบเกือบ 8 ปี แต่เวลานี้กลุ่มยานยนต์ ส.อ.ท.ยังตั้งเป้าหมายยอดผลิตทั้งปีนี้ไว้ที่ 2 ล้านคัน

อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยหลังการขยับของจีเอ็ม จะเป็นไปตามที่กลุ่มยานยนต์ ส.อ.ท.คาดการณ์หรือไม่ ต้องติดตาม…

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่

เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0