โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

กีฬา

สกู๊ปพิเศษ : สนามกีฬาระดับโลก ปรับโฉมสู่ รพ.ฉุกเฉินรับมือ โควิด-19

MATICHON ONLINE

อัพเดต 07 เม.ย. 2563 เวลา 12.29 น. • เผยแพร่ 07 เม.ย. 2563 เวลา 16.03 น.
สนามกีฬาระดับโลก ปรับโฉมสู่ รพ.ฉุกเฉิน

สกู๊ปพิเศษ : สนามกีฬาระดับโลก ปรับโฉมสู่ รพ.ฉุกเฉินรับมือ โควิด-19

ปัจจุบัน ทั่วโลกยังคงประสบวิกฤตการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา โควิด-19 ที่นับวันจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตยิ่งเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ โดยขณะนี้มีผู้ป่วยแล้วกว่า 1.2 ล้านคน และเสียชีวิตเกือบๆ 70,000 รายแล้ว

หนึ่งในปัญหาใหญ่ที่นานาประเทศต้องเผชิญ คือโรงพยาบาลไม่เพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วย รวมถึงการจัดหาพื้นที่ดูแลผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการน้อย หรือกลุ่มที่ยังอยู่ในข่าย “เฝ้าระวัง” ซึ่งต่างต้องถูกกักตัวเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ไปยังบุคคลอื่น

หลายประเทศจึงหาทางออกของปัญหานี้ด้วยการปรับเปลี่ยนสนามกีฬาเป็นโรงพยาบาลสนามหรืออาคารเฉพาะกิจสนับสนุนบุคลากรด้านสาธารณสุขในการต่อสู้กับโควิด-19 ซึ่งสนามกีฬาเหล่านี้หลายแห่งเป็นสถานที่สำคัญของเมืองนั้นๆ หรือประเทศนั้นๆ ระดับหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์วงการกีฬาโลกเลยทีเดียว

เมื่อเร็วๆ นี้ สโมสร โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ของลีกบุนเดสลีก้า เยอรมนี ก็เพิ่งปรับเปลี่ยนพื้นที่อัฒจันทร์ฝั่งเหนือของ ซิกนัล อิดูน่า ปาร์ก (ชื่อเดิมคือ เวสต์ฟาเลนสตาดิโอน) รังเหย้าของตัวเองซึ่งเป็นสนามฟุตบอลที่ใหญ่ที่สุดของประเทศเยอรมนี ใช้เป็นโรงพยาบาลชั่วคราวสำหรับตรวจรักษาผู้ป่วยโควิดที่อาการไม่หนัก

ด้าน ซานเตียโก้ เบร์นาเบว สนามฟุตบอลชื่อดังของ รีล มาดริด ก็ถูกใช้เป็นสถานที่เก็บอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ได้รับบริจาคจากที่ต่างๆ ซึ่งรวมถึงอุปกรณ์ที่ทั้งราชันชุดขาวและคู่ปรับร่วมเมืองอย่างแอตเลติโก้ มาดริด บริจาคเพื่อช่วยเหลือชุมชนด้วย ขณะที่ศูนย์ประชุมของสโมสร ได้นำเตียงคนไข้ 5,000 เตียง มาติดตั้งเพื่อรองรับผู้ป่วย

ขณะที่ทีม ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ได้เปิดพื้นที่ลานจอดรถใต้สนามของตัวเองเป็นที่เก็บอาหารสำหรับชุมชน ขณะที่ เบิร์นลีย์ ให้ใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งของ เทิร์ฟมัวร์ เป็นฐานปฏิบัติการของโรงพยาบาลอีสต์แลนช์สในท้องที่

ด้านรัฐบาลท้องถิ่นของเวลส์เพิ่งมีมติให้ติดตั้งเตียงคนไข้ชั่วคราว 2,000 เตียง ที่สนามกีฬาแห่งชาติพรินซิพัลลิตี้ สเตเดียม ซึ่งหลังคาสามารถเปิดปิดได้

อีกซีกโลกหนึ่ง สโมสร ซานโต๊ส ทีมดังของบราซิล ประกาศสร้างคลินิกชั่วคราวบริเวณเลาจ์ของสนาม*วีลา เบลมิโร่ ขณะที่สนามที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอย่างมาราคาน่า ในนครรีโอเดจาเนโร จะมีโรงพยาบาลสนามมาตั้งในพื้นที่ เช่นเดียวกับที่ เซา เปาโล สเตเดียม

ส่วนในสหรัฐอเมริกานั้น มีรายงานเมื่อไม่ถึง 2 สัปดาห์ก่อน ว่า แดนนี่ เซาส์เนอร์ หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการของศูนย์เทนนิส บิลลี่ จีน คิง เนชั่นแนล เทนนิส เซ็นเตอร์ ในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ได้รับการติดต่อจากรัฐบาลท้องถิ่นของนิวยอร์กว่า จะขอให้ศูนย์เทนนิสพื้นที่ 42 เอเคอร์ (ประมาณ 106 ไร่) สถานที่จัดการแข่งขันเทนนิสแกรนด์สแลม ยูเอส โอเพ่น เป็นโรงพยาบาลฉุกเฉินรับมือผู้ป่วยโควิด

เซาส์เนอร์เผยว่า เจ้าหน้าที่การแพทย์ต้องการเปลี่ยน อาเธอร์ แอช สเตเดียม คอร์ตเทนนิสที่ใหญ่ที่สุดในโลกเป็นโรงพยาบาลสนาม แต่เซาส์เนอร์มองว่าพื้นที่ไม่เหมาะ เพราะเป็นคอร์ตกลางแจ้ง จึงเสนอให้ใช้ศูนย์ซ้อมในร่มพื้นที่ 100,000 ตารางฟุตแทน

ภายในศูนย์ซ้อมมีคอร์ตเทนนิสหลายสิบคอร์ต หลังจากดูสถานที่จริงเรียบร้อย จึงเริ่มการติดตั้งเตียงคนไข้ 350 เตียง ในศูนย์ซ้อมดังกล่าว

ส่วน เซ็นจูรี่ลิงก์ ฟิลด์ อีเวนต์ เซ็นเตอร์ สนามเหย้าของทีมอเมริกันฟุตบอล ซีแอตเติล ซีฮอว์กส์ และทีมเบสบอล ซีแอตเติล ซาวเดอร์ส เพิ่งมีเจ้าหน้าที่ทหาร 400 นาย เข้าไปช่วยสร้างโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ป่วยโรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่โควิด เพื่อให้โรงพยาบาลในพื้นที่สามารถโฟกัสที่การรักษาโควิดได้อย่างเต็มที่

นอกจากนี้ยังมีสนามกีฬาระดับสเตเดียมและอารีน่าอีกหลายแห่งที่กำลังจะใช้เป็นโรงพยาบาลสนามหรือพื้นที่เฉพาะกิจในการรองรับและดูแลผู้ป่วย โดยนักวิจารณ์วิเคราะห์ว่า ช่วง 2 สัปดาห์นับจากนี้ จะมีสนามและศูนย์กีฬาในสหรัฐอีกจำนวนมากถูกปรับใช้เป็นโรงพยาบาลสนาม หรือสถานที่อำนวยความสะดวกอื่น เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

นักวิเคราะห์บอกว่า เหตุผลที่สนามกีฬาถูกนำมาใช้เป็นโรงพยาบาลหรือคลินิกชั่วคราว เนื่องจากมีพื้นที่กว้างขวาง อีกทั้งรถทั้งขนาดเล็กและใหญ่สามารถเดินทางเข้าออกได้ง่าย จึงสะดวกต่อการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์หรือผู้ป่วย

อีกทั้งสนามกีฬายุคใหม่ยังครบครันเรื่องสาธารณูปโภค ทั้งน้ำ ไฟ ห้องน้ำ เครื่องปรับอากาศ ฯลฯ จึงง่ายต่อการปรับใช้เป็นที่ทำการเฉพาะกิจในสถานการณ์อย่างนี้

ชวนให้นึกถึงเมื่อคราวพายุเฮอริเคน คาทริน่า ถล่มเมืองนิวออร์ลีนส์ของสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2005 ผู้ประสบภัยส่วนใหญ่ก็ได้ไปอาศัยหลบภัยที่ ซุปเปอร์โดม รังเหย้าทีม นิวออร์ลีนส์ เซนต์ส ซึ่งถูกปรับใช้เป็นที่พักพิงชั่วคราว เนื่องจากน้ำไฟพร้อม อีกทั้งโครงสร้างแข็งแรง ช่วยปกป้องชาวเมืองจากพายุที่โหมกระหน่ำได้

อย่างไรก็ตาม แม้สนามกีฬาต่างๆ จะเป็นสถานที่สำคัญที่นำมาใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้ แต่ในระยะยาวย่อมไม่เป็นผลดี โดยเฉพาะในแง่การบำรุงรักษา และในประเทศที่งบประมาณมีจำกัด

อย่างสนาม โมโบลายี จอห์นสัน อารีน่า (ชื่อเดิมคือ โอนิกัน สเตเดียม) ความจุ 5,000 ที่นั่ง ในเมืองลากอส ประเทศไนจีเรีย ถูกปรับใช้เป็นโรงพยาบาลสนาม ติดตั้งเตียงคนไข้ 110 เตียง เพื่อเป็นสถานที่กักตัวและเฝ้าระวังผู้ป่วยอาการไม่หนัก

สนามแห่งนี้เพิ่งปรับปรุงใหม่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว หวังจะใช้เป็นศูนย์กลางกีฬาของประเทศ พอนำมาใช้เป็นโรงพยาบาลฉุกเฉิน ก็ทำเอานักข่าวท้องถิ่นหลายคนไม่ค่อยแฮปปี้นัก

ไม่ใช่ว่าพวกเขาต่อต้านการนำสถานที่สาธารณะมาสร้างเป็นโรงพยาบาลฉุกเฉิน เพียงแต่สงสัยว่าทำไมจึงพุ่งเป้าไปใช้โอนิกัน สเตเดียม ก่อน ทั้งที่ในบริเวณใกล้เคียงมีศูนย์เอนกประสงค์เพื่อจัดกิจกรรมในท้องถิ่นขนาดพื้นที่ 14.5 เฮคแตร์ (90 ไร่) อยู่

กลัวว่าจะเป็นการใช้สถานที่แบบไม่เกิดประโยชน์สูงสุด และอาจสร้างความเสียหายให้กับสนามกีฬาที่เพิ่งปรับปรุงจนอาจจะซ่อมแซมไม่ได้อีก

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0