โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ศุภรัตน์ นาคบุญนำ เกษตรกรอินทรีย์มือใหม่

เทคโนโลยีชาวบ้าน

เผยแพร่ 23 มิ.ย. 2561 เวลา 03.13 น.
ศุภรัตน์ 22มิย

“คุณศุภรัตน์ นาคบุญนำ” หรือ คุณอิ๋ว เป็นคนในวงการสื่อสารมวลชนอีกคนที่หันมาทำอาชีพเกษตรกรรมควบคู่กับงานผู้ประกาศข่าว ปัจจุบันเธอมีเวลาทุ่มเทให้กับ “บ้านไร่ศุภรัตน์” เต็มร้อย เพราะหมดสัญญากับช่องเดิมที่เธอนั่งอ่านข่าวอยู่เมื่อต้นปีนี้ ขณะที่เรื่องการเมืองเจ้าตัวประกาศชัดว่า ไม่สมัคร ส.ส. แน่นอน แต่ถ้าพรรคไหนมาชักชวนให้ทำงานในซีกการเมืองก็ต้องดูเงื่อนไขอีกครั้ง ซึ่งในอดีตเธอเคยสมัคร ส.ส. กทม. และเคยรับหน้าที่อดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยุคพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล

ตอนนี้ คุณศุภรัตน์ นาคบุญนำ ในวัย 50 ปี ผันตัวเองมาเป็นเกษตรกรแนว “อินทรีย์” ชัดเจน โดยใช้เวลาปลูกผักปลอดสารพิษ-เลี้ยงสัตว์ อยู่ในเนื้อที่กว่า 50 ไร่ ย่านร่มเกล้า กทม. ควบคู่กับการเรียนหลักสูตรนวัตกรรมการบริหารในโลกยุคใหม่สำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 1 ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

เน้นแปรรูปเพิ่มมูลค่า

วันที่สนทนากันนั้น เธอชวนไปดูและไปชิมผลผลิตที่บ้านไร่ศุกรัตน์ ซึ่งใช่จะมีแค่พืชผักผลไม้เท่านั้น ยังเต็มไปด้วยสัตว์เลี้ยงน่ารักๆ ไม่ว่าจะเป็น แมวเมนคูน (แมวยักษ์), นกหงส์หยกพันธุ์อังกฤษ-พันธุ์ฮอลแลนด์, นกค็อกกาเทล, นกฟินซ์ (เจ็ดสี), ปลาหมอสี กระต่ายล็อบ (หูยาว), และสุนัขปอมเมอเรเนียน

เธอเล่าถึงกิจกรรมต่างๆ ในไร่ศุภรัตน์ให้ฟังว่า ช่วงนี้มาพัฒนาที่ดินอยู่แถบชานเมืองกรุงเทพฯ ย่านถนนบึงขวาง ตรงเขตมีนบุรี ถนนนี้เชื่อมระหว่างถนนร่มเกล้ากับถนนสุวินทวงศ์ที่ยังมีบรรยากาศแบบธรรมชาติอยู่ สำหรับที่ดิน 50 กว่าไร่นั้น ก็มีบ่อปลาและปลูกต้นไม้รอบๆ บ่อ มีกล้วย มะละกอ มะม่วง มะนาว ต้นหม่อน และพืชผักสวนครัว เป็นการทำเกษตรตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงมองว่าทุกๆ คนทำได้ เพียงแค่ว่าใครจะมีโอกาสทำมากทำน้อยเท่านั้นเอง

เจ้าตัวแจกแจงสาเหตุที่มาทำเกษตรอินทรีย์ว่า เพื่อให้มีความมั่นคงทางอาหารในครอบครัว ส่วนเหลือก็แบ่งปัน และเป็นตัวอย่างให้กับคนอื่นที่สนใจ เพราะต่อไปวางแผนจะพัฒนาให้เป็นศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องของเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากมีความสำคัญต่อสุขภาพร่างกายเป็นอย่างมาก ที่นี่พยายามจะไม่ใช้เรื่องสารเคมีต่างๆ จะใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก เพราะปลูกไว้กินเองด้วย ถือว่าเป็นอีกงานหนึ่งที่สร้างความสุขทางใจและได้อยู่กับธรรมชาติด้วย

เธอว่า ช่วงนี้ไร่ศุกรัตน์มีผลผลิตออกมาแล้ว คือ กล้วยน้ำว้า ด้วยความที่กล้วยปลูกง่ายๆ ประเภทให้เทวดาเลี้ยง และมีการปลูกกันเยอะ เลยทำให้ราคาถูก ถ้ามีคนมารับซื้อถึงสวนจะให้เหมา หวีละ 10 บาท ไม่เกินหวีละ 20 บาท จึงต้องนำมาแปรรูป แนวคิดคือ การเกษตรต้องทำแล้วแปรรูปถึงจะสร้างมูลค่าได้ ขณะที่กล้วยสามารถทำได้หลายอย่าง

“ดิฉันนำมาทำเค้กกล้วยน้ำว้าบ้าง กล้วยฉาบ ข้าวต้มมัด หรือกล้วยตากบ้าง ส่วนลูกหม่อนทำน้ำหม่อน ทำแยม จริงๆ ผลผลิตของไร่จะมีคนมารับซื้อถึงที่ แต่คิดว่าเก็บไว้แปรรูปจะได้มูลค่ามากกว่า อย่าง ไข่เป็ด ก็นำมาทำไข่เค็มสมุนไพร และกำลังเคลียร์บ่อเพื่อจะลงพวกปลาบึก ปลาสวาย และสร้างโรงเลี้ยงนกกระทา เป็นการทำเกษตรแบบผสมผสาน แต่ว่าต้องมีพืชหรือสัตว์สักตัวสองตัวที่เป็นหลักในการสร้างรายได้”

ว่าไปแล้ว ไร่ศุภรัตน์ อยู่ในช่วงเริ่มต้น ซึ่งเธอเองยอมรับว่าเป็นเกษตรกรมือใหม่ พร้อมแนะนำพวกมือใหม่ด้วยกันว่า สาเหตุที่ปลูกต้นหม่อนหรือมัลเบอรี่ เพราะปลูกง่าย ในฐานะที่เป็นเกษตรกรมือใหม่ๆ อย่าเพิ่งไปทำอะไรที่ลงทุนมากมายแบบปลูกโรงเรือน ทำง่ายๆ ไม่ยากดีกว่า และเป็นพื้นฐานสำหรับเกษตรกรโดยทั่วไป ถ้าปลูกอะไรอยู่แล้วก็ปลูกหม่อนแจมๆ ได้ เพราะเป็นพืชที่ไม่ต้องใช้ปุ๋ยใช้ยาอะไร ที่สำคัญออกลูกตลอดทั้งปี

เพาะต้นมหัศจรรย์ขาย

นอกจากนี้ เธอยังเพาะต้นไม้ขายด้วย อย่าง ต้นหม่อน มะนาว และต้นมหัศจรรย์ (กินผลแล้วหากกินผลไม้เปรี้ยวจะมีรสหวานทันที)

คุณศุภรัตน์ บอกอีกว่า ด้วยความที่ทำงานด้านสื่อสารมวลชน ทำให้มีโอกาสลงพื้นที่ได้ไปโน้นไปนี่ ไปเที่ยวสวนชมฟาร์ม ถ่ายทำรายการต่างๆ ไปดูชุมชนต่างๆ ที่เป็นชุมชนเข้มแข็งตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งร่วมทริปกิจกรรมเกษตรอินทรีย์ จึงนำไอเดียจากตรงโน้นตรงนี้มาปรับ มาผสมผสาน และนำมาใช้ในไร่ ทำให้ได้ความรู้ได้ข้อมูลมาทำเกษตรอินทรีย์

อย่างเช่น การทำปุ๋ยหมัก ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยรู้มาก่อนว่า หยวกกล้วย เปลือกกล้วย นำมาทำน้ำหมักได้ ผลไม้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กล้วย มะละกอ นำมาสับๆ ใส่กากน้ำตาลเข้าไปก็เป็นปุ๋ยหมัก หรืออย่างที่เลี้ยงเป็ด ขี้เป็ดก็ให้ปลากิน ส่วนดินก็เลี้ยงไส้เดือน แล้วนำมูลไส้เดือนมาทำเป็นปุ๋ย ขณะเดียวกันหญ้าก็ต้องขยันตัดขยันถอน ไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า ไม่ใช้สารเคมี ทำเป็นปุ๋ยพืชสดได้

ทุกวันนี้เธอบอก มีความสุขกับการปลูกต้นไม้ และเพาะเห็ด โดยช่วงเช้าจะให้อาหารสัตว์ ทั้งนกและปลา รวมถึงเพาะต้นไม้ปลูกผักและดูผลผลิตต่างๆ ช่วงกลางวันร้อนก็พักผ่อนอยู่ในบ้าน ส่วนตอนเย็นก็ออกมาทำสวนสักพัก

สำหรับผลผลิตของไร่ที่ออกมาตอนนี้ คุณศุภรัตน์ ระบุว่า แต่ละชนิดยังมีไม่มากนัก แต่ได้ติดต่อหาตลาดไว้บ้างแล้ว โดยวางแผนไว้ว่าจะมีการรวมกลุ่มเกษตรกรในบริเวณนี้ พร้อมกันนั้นจะทำพื้นที่ตรงนี้เป็นศูนย์เรียนรู้ในเรื่องการเกษตร และการฝึกอบรมวิชาชีพต่างๆ

เธออธิบายรายละเอียดของศูนย์เรียนรู้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่า อาจจะทำเป็นกิจกรรมหลักสูตรอบรม เพาะเห็ด ปลูกผัก หรือพวกวิชาชีพอะไรต่างๆ ซึ่งแถวๆ นี้ มีฟาร์มผักไฮโดรโปนิกส์ และมีฟาร์มเห็ด อาจจะเชิญวิทยากรมาบรรยายหรือเป็นวิทยากรเองก็ได้ เพราะส่วนตัวได้ลงมือปฏิบัติแล้วและเห็นผลจริง

ประกอบกับในโซนนี้มีโรงเรียน มีสถาบันการศึกษาต่างๆ ซึ่งจะมีหลักสูตรเรื่องการศึกษานอกสถานที่ ทางไร่อาจจะจัดกิจกรรมรองรับสำหรับเด็กๆ นักเรียนก็ได้ สามารถที่จะมาทำกิจกรรม เป็นฐานต่างๆ เช่น ฐานนี้ปลูกผัก ฐานทำเห็ด หรือปั่นจักรยานรอบบ่อ และแนวโน้มในอนาคตอันไกล ที่นี่อาจจะทำบ้านพัก ทำเป็นแบบโฮมสเตย์หรือรีสอร์ตไว้สัก 2-3 หลัง เพราะบ้านที่อยู่นี่ห่างจากสนามบินสุวรรณภูมิไม่ถึง 10 กิโลเมตร

*เปิดสูตรเค้กกล้วยน้ำว้า *

ช่วงกำลังสนทนากันนั้น ทางคุณศุภรัตน์นำผลผลิตของไร่มาให้กินหลากหลายชนิด และที่ติดอกติดใจกันเป็นพิเศษก็คือ เค้กกล้วยน้ำว้า และตะลิงปลิงแช่อิ่ม ซึ่งผู้ประกาศสาวรายนี้ทำเองกับมือ เลยต้องขอสูตรตามระเบียบ ซึ่งเธอบอกวิธีการทำว่าไม่ยาก อย่าง เค้กกล้วยน้ำว้า ก็ใช้สูตรเดียวกับเค้กกล้วยหอม แต่ปรับสูตรให้ดีต่อสุขภาพมากขึ้น เพราะการทำเค้กกล้วยหอม ปกติต้องมีส่วนผสมของน้ำมันด้วย ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้น้ำมันพืช น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันทานตะวัน แต่หันมาใช้น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์แทน เพราะจะได้ทั้งความหอมและดีต่อสุขภาพด้วย

“หากซื้อกล้วยน้ำว้ามาแล้วทานไม่หมด ก็แปรรูปทำเป็นเค้กกล้วยน้ำว้าได้ง่ายๆ เริ่มจากนำกล้วยมายีๆ ใส่นม ใส่แป้ง จะใช้แป้งเค้กหรือแป้งสาลีก็ได้ แล้วผสมน้ำตาลจะออกหวานมากหรือหวานน้อยก็แล้วแต่ชอบ จากนั้นใส่ผงฟู ขั้นตอนเหมือนกันการทำเค้กทั่วไป แล้วใส่ไข่ในแป้ง เทน้ำมันใส่ แล้วถึงนำกล้วยลงกวนทีหลัง พอเสร็จก็นำใส่พิมพ์แล้วเข้าเตาอบ เค้กจะฟูขึ้น ส่วนหน้าเค้กจะแต่งหน้าด้วยลูกเกดหรือกล้วยตากหรืออะไรก็ได้”

สำหรับ สูตรตะลิงปลิงแช่อิ่ม คุณศุภรัตน์ บอกว่า เป็นวิธีการถนอมอาหารอย่างหนึ่ง ใช้สูตรเดียวกับมะดัน หรือมะปรางแช่อิ่ม วิธีการทำคือนำลูกตะลิงปลิงล้างให้สะอาด แล้วแช่ให้น้ำเกลือ เป็นการดองเค็มก่อน สัก 3 วัน เสร็จแล้วทำน้ำเชื่อม แล้วนำตะลิงปลิงที่ดองเกลือไว้ใส่ลงไปในน้ำเชื่อม ปิดทิ้งไว้ 2-3 วัน ก็กินได้ ใส่กระปุกหรือใส่โหลที่มีฝาปิดแช่ไว้ในตู้เย็นในช่องธรรมดา สามารถเก็บไว้ได้นาน จะกินเมื่อไรก็ได้ รสชาติจะดีไม่เปรี้ยวจัดหวานจัด จะมีความกลมกล่อม อมเปรี้ยว เค็มๆ หวานๆ อร่อยดี

วกกลับมาคุยกันเรื่องสัตว์บ้าง อย่างที่เกริ่นไปแต่แรก ไร่ศุภรัตน์มีสัตว์เลี้ยงน่ารักหลากหลายชนิด โดยเฉพาะปลาหมอสี ซึ่งแต่ละตัวสีสวยงามมาก และมีอยู่หลายตู้ทีเดียว เธอให้ความกระจ่างว่า ปลาหมอสีเป็นส่วนของญาติพี่น้องที่เลี้ยงและเป็นเครือข่ายกัน ตัวไหนมีคนสนใจก็ขายด้วย ซึ่งในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์นิยมเลี้ยงปลาหมอสีกันมาก เหมือนกับบ้านเราสมัยก่อน แต่ตอนนี้กระแสปลาหมอสีไม่ค่อยได้รับความนิยมแล้ว

นอกจากนี้ ก็มีสุนัขเลี้ยงพันธุ์ปอม เมื่อก่อนเลี้ยงเยอะกว่านี้ เหมือนเป็นฟาร์ม มีเซนต์เบอร์หนาด และชิสุ มีลูกก็เลี้ยงด้วยและจำหน่ายด้วย คือทุกอย่างเริ่มจากความชอบโดยส่วนตัวก่อน แต่พอมีลูกขึ้นมาก็เป็นรายได้ แมวเป็นแมวพันธุ์เมนคูน ซึ่งเป็นแมวยักษ์แมวที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาแมวทั้งหลาย ยุคแรกๆ ที่มีการนำเข้ามาใหม่ๆ ลูกแมวขายตัวละ 7-8 หมื่น พ่อแม่พันธุ์ตัวเป็นแสน ที่บ้านก็มีพ่อพันธุ์ ถ้าขายได้ราคาเป็นแสน และมีแม่อยู่ประมาณ 5-6 ตัว ช่วงแรกทำส่งฟาร์มแมว ขายได้ตัวละเป็นหมื่น แต่ตอนหลังนี้ฟาร์มประสบปัญหา จึงไม่ได้เพาะพันธุ์ต่อ ตอนนี้ถ้ามีลูกก็ให้พี่ๆ น้องๆ ในวงการสื่อที่รักแมวจริงๆ นำไปเลี้ยง

ในฐานะเกษตรกร “อินทรีย์” มือใหม่ เธอถ่ายทอดความรู้สึกและประสบการณ์ให้ฟังว่า งานเกษตรสามารถสร้างความสุขได้จริงๆ เพียงแต่ว่าถ้ามีอาชีพนี้อาชีพเดียวจะเหนื่อยหน่อย เพราะกว่าจะได้เงินมา และอย่าหวังแต่จะขายผลผลิตอย่างเดียว เพราะเกษตรกรไม่ได้เป็นคนกำหนดราคาเอง ยกเว้นแต่ว่าจะทำอะไรที่มันต่างจากคนอื่นแล้วกำหนดราคาได้เอง เช่นเดียวกับการแปรรูปก็ต้องคิดอะไรที่แตกต่าง ที่สำคัญต้องหาตลาดที่เหมาะสม ดูว่าตลาดไหนที่ได้ราคาไม่ได้ราคา แต่ถ้าทำเกษตรแล้วมีอาชีพอื่นด้วย ตรงนี้เป็นงานอดิเรกเป็นงานเสริม อย่างน้อยก็ปลูกผักไว้กินเองเพื่อความปลอดภัย ดูความเจริญเติบโต ปลูกพืชผักสวนครัว และไม้ผลไว้กินเอง มีทั้ง กล้วย มะม่วง มะนาว พืชผักสวนครัวปลูกไว้อย่างน้อยก็มีอาหารไว้บริโภค มีซุปเปอร์มาร์เก็ตในบ้าน

“มีความสุขมาก เย็นๆ ก็เดินดู วันนี้จะกินอะไรดี เห็นมะละกอ วันนี้ตำส้มตำ เห็นชะอมกำลังแตกยอด วันนี้เดี๋ยวเราทำน้ำพริกกะปิ มันเป็นความสุขอย่างหนึ่ง วันๆ คิดทำเมนูอะไรดี ส่วนตัวไม่ใช่คนกินเยอะ เพียงแต่ว่าชอบทำ แล้วก็ให้คนอื่นกิน”

หลังจากนี้ คงต้องติดตามกันต่อไปว่า “บ้านไร่ศุภรัตน์” จะเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ เมื่อไร เชื่อว่าจะเป็นแหล่งเรียนรู้ได้อย่างดีทีเดียว เพราะที่ผ่านมาสาวอิ๋วทดลองและลงมือปฏิบัติด้วยตัวเองมาตลอด

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0