โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ศึกสุดท้าย ‘อภิสิทธิ์’ สู้เกมพิสดาร เดดล็อก ‘พล.อ.ประยุทธ์’ สืบทอดอำนาจ

ประชาชาติธุรกิจ

เผยแพร่ 22 มี.ค. 2562 เวลา 23.00 น.
8-1p1

สัมภาษณ์พิเศษ: ปิยะ สารสุวรรณ

2 ปี 231 วัน ของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 27 แห่งพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ผู้ที่เคยได้รับโอกาสนั่งอยู่บนจุดสูงสุดในทำเนียบรัฐบาล ลงสู่สนาม-ชิงเก้าอี้นายกฯอีกครั้ง แบบเล่นเอง-เจ็บเอง

5 วันก่อนปิดหีบเลือกตั้ง 24 มี.ค. 62 “อภิสิทธิ์” ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ขอโอกาสครั้งสุดท้าย

โอกาสครั้งสุดท้าย ?

ผมเป็นหัวหน้าพรรคมา 14 ปี มีโอกาสไปเป็นรัฐบาลแล้ว ถ้าทำในสิ่งที่บอกไม่ได้ ไม่มีใครที่จะให้โอกาสผมอีก ผมรู้ตัวเองดีว่า อะไรคือสิ่งที่อยากจะทำ ใฝ่ฝันอยากจะทำตั้งแต่ตัดสินใจเข้ามาสู่การเมือง ต้องทำให้สำเร็จในครั้งนี้…ยอมรับว่าครั้งนี้ไม่ง่าย

ตัดทุกตัวช่วย ?

ไม่มีเรื่องตัวช่วยหรอกครับ ตัวช่วยที่สำคัญที่สุดคือประชาชน ตอนนี้ผมต้องการความชัดเจนเพราะผมคิดว่าบ้านเมืองจะเดินเขวไปทางใดทางหนึ่งอีกต่อไปไม่ได้แล้ว

วันนี้ปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น การรื้อฟื้นคดี การนิรโทษกรรมยังเป็นความเสี่ยงอยู่ ประเทศไทยไม่ควรกลับไปสู่ความเสี่ยงอีกแล้ว

อีกด้านหนึ่ง มาถึงวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กำลังเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้ง เพราะวิธีการที่ท่านเข้าสู่สนามครั้งนี้ มันมีข้อกังขามากมายและปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้าย ยิ่งตอกย้ำเงื่อนไขของความขัดแย้งในอนาคต

ผมจึงจำเป็นต้องพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า นี่ คือ ปัญหาที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ ผมชวนให้ทุกคนมาทำงานการเมืองแบบตรงไปตรงมา เรียกว่าประชาธิปไตยสุจริต คือทางออกเดียวของประเทศ

ขณะเดียวกัน ผมมั่นใจว่านโยบายเศรษฐกิจของเราก็ตอบโจทย์ได้ชัดเจนกว่า กรณีสินค้าเกษตร น่าจะเป็นพรรคเดียวที่ตอบได้ชัดเจนว่าจะช่วยเกษตรกรระยะสั้นเพื่อฟื้นเพิ่มกำลังซื้อได้อย่างไร

ถ้าประชาชนให้การสนับสนุน ผมเชื่อว่าจะรวบรวมคนที่จะมาร่วมสนับสนุนทำตรงนี้ได้ในสภา โดยไม่มีพรรคเพื่อไทย โดยไม่มี พล.อ.ประยุทธ์

เล่นเอง-เจ็บเองคนเดียว ?

ไม่ใช่หรอกครับ มีคนทำงานเยอะ พรรคมีกรรมการบริหาร มีเลขาธิการพรรค มีคนที่เชื่อมกับพรรคการเมืองอื่น ๆ ได้ รวมถึงผู้หลักผู้ใหญ่ของพรรค แทบจะทุกพรรคล้วนมีคนของ ปชป.อยู่ อดีตคนของ ปชป. (หัวเราะ)

แต่ยุคนี้การแสดงออกผ่านหัวหน้าพรรค แต่อีก 2 ขั้ว เขา…ใช้คำนี้ก็แล้วกัน เราทำแบบที่พรรคการเมืองมาตรฐานสากลทำกัน แต่อีก 2 ขั้วรูปแบบเขาไม่เป็นสากลอยู่แล้ว

พรรคหนึ่ง คนที่เสนอตัวเป็นนายก ฯ ยังไม่เป็นสมาชิกพรรคตัวเองเลย อีกพรรคหนึ่ง เสนอตัวเป็นนายก ฯ 3 ชื่อ โดยที่ไม่มีใครเป็นหัวหน้าพรรค

เราพยายามพัฒนา หลายครั้งที่การเมืองไปไม่ถึงไหน เพราะเราดึงตัวเอง คิดว่าเราเป็นแบบสากลไม่ได้ คิดว่าเราทำอะไรแบบตรงไปตรงมาไม่ได้ คิดว่าเราต้องประนีประนอมกับสถานการณ์ต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา สุดท้ายเราก็เดินไปไม่ถึง แต่เรามั่นใจว่า ถ้าประชาชนหลุดออกกรอบตรงนี้เราไปถึง

ผมว่าประชาชนมองออกนะ เช่น ระบบการออกนโยบาย การคำนวณตัวเลข เขาพอใจ จุดยืนทางการเมือง ถ้าไม่นับคนที่มีส่วนได้เสีย เขาบอกว่าถูกต้อง แต่บางคนบอกว่าถูกต้องแต่ยังลังเลอยู่เพราะเขากลัวบางอย่าง ยังเกรงอะไรบางอย่าง

แตกหักกับสุเทพ ?

ผมไม่ได้ไปแตกแยกกับใคร ผมเพียงยืนยันอุดมการณ์และจุดยืนของพรรค และสิ่งที่ผมเชื่อว่าเป็นเส้นทางเดินที่จำเป็นของประเทศ กรณีคุณสุเทพ (เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ ปชป.) เป็นที่เข้าใจตั้งแต่แรกอยู่แล้วว่า เหตุผลหลักที่ท่านไปตั้งพรรคเพราะ ปชป.ประกาศไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ตั้งแต่แรก

การประกาศอะไรที่ชัดเจน มันก็มีผลทั้งด้านบวกและด้านลบ แต่ที่ผมต้องตัดสินใจพูดออกมาให้ชัดเพราะว่า หนึ่ง เราพูดในสิ่งที่เป็นอุดมการณ์ เราพูดเพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่จะตัดสินใจเลือกตั้ง

ผมไม่อยากให้ใครที่ตัดสินใจเลือก ปชป.ด้วยความเข้าใจอย่างหนึ่ง แต่ถึงเวลาเราไม่ได้ทำอย่างนั้น แล้วเขาผิดหวัง ผมพูดตั้งแต่วันแถลงจุดยืนว่า สมมุติว่ามีทั้งคนชอบและไม่ชอบ แล้วมันต้องเสียคะแนน ผมก็ยอม เพราะผมคิดว่า การยกระดับการเมืองไทยขึ้นมา คือ ถึงเวลาต้องเอาคนที่พูดตรงไปตรงมาเพื่อความความชัดเจน

งูเห่าในพรรคประชาธิปัตย์ ?

ผมว่าอยู่ที่ผลการเลือกตั้ง เวลาพูดอะไรกับประชาชนชัดเจน คนที่เป็น
ผู้แทนไม่กล้าจะไปสวนอะไรกับประชาชนหรอก ใครทำก็คิดสั้น ถ้าคุณคิดอยากจะจบชีวิตทางการเมืองแบบนั้น

ปฏิเสธบิ๊กตู่…ปฏิเสธความสงบ ?

พล.อ.ประยุทธ์กับความสงบอาจเป็นเรื่องเดียวกันก่อนเลือกตั้ง แต่ พล.อ.ประยุทธ์กับคำว่าความขัดแย้งจะเป็นเรื่องเดียวกันหลังการเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งในอนาคต

การที่พรรคพลังประชารัฐจะเป็นพรรคเดียวที่ไม่พร้อมพูดว่า ให้เสียงข้างมากจากสภาผู้แทนราษฎรเป็นคนกำหนดอนาคตของประเทศ มันเป็นตัวฟ้องอยู่กลาย ๆ ว่า พรรคพลังประชารัฐพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับฝ่ายต่าง ๆ ในสังคมในลักษณะความขัดแย้ง

คุณสัมผัสกับพบบรรยากาศการหาเสียงอยู่ คุณก็ทราบ ทุกเวทีดีเบต พล.อ.ประยุทธ์กับพรรคพลังประชารัฐไม่ไปเลย เพราะรู้ว่าความรู้สึกของพรรคการเมืองส่วนใหญ่ต่อวิธีการในการทำการเมืองขณะนี้เป็นอย่างไร ผมลงพื้นที่สัมผัสกับประชาชน สัมผัสปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ สัมผัสกับประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ปฏิเสธออร์เดอร์พิเศษ ?

ใครจะพูดอะไรแบบนี้ก็พูดง่าย ถ้าประเทศต้องการเดินไปสู่ความสงบอย่างยั่งยืน ไม่ใช่ความสงบที่รอวันระเบิดออกมาเป็นความขัดแย้งครั้งใหม่ สุดท้ายเราปฏิเสธไม่ได้หรอกว่า เมื่อเราจัดการเลือกตั้งแล้วเราต้องเคารพการตัดสินใจของประชาชน

หากพรรคการเมืองอันดับ 3 จัดตั้งรัฐบาล ความชอบธรรมอยู่ตรงไหน ถ้าไปใช้กลไกให้เกิดความเคลือบแคลงใจต่อองค์กรต่าง ๆ ก็กำลังทำลายระบบของบ้านเมือง กำลังก่อเงื่อนไขของความขัดแย้งรุนแรงรอบใหม่ ผมไม่เห็นประโยชน์ที่ต้องทำแบบนั้น

มันไม่มีกติกาตายตัวหรอก ในระบบรัฐสภาสากล ใครรวบรวมเสียงข้างมากได้เกิน 250 เสียงในสภาผู้แทน ก็มีความชอบธรรม สมมุติมีพรรคการเมืองหนึ่งชนะมาทิ้งห่าง แน่นอนก็จะเป็นตัวหลักในการจัดตั้งรัฐบาลก่อน ถ้าจัดไม่สำเร็จก็ต้องไปดูว่าพรรคไหนจะรวมเสียงข้างมากได้

เสียง ส.ว. 250 คน ชี้ขาด ?

มันอยู่ที่ ส.ว. 250 คน ว่าจะกำหนดบทบาทตัวเองอย่างไร เราอย่าไปฝืนประชาชนเลย ถ้าจับกันอย่างไรก็ไม่ถึง 250 เสียง อย่างนี้ก็เป็นไปได้ที่ ส.ว.ต้องเข้ามามีส่วนร่วม แต่ถ้ามันจับได้ล่ะ…ส.ว.ควรเคารพการตัดสินใจของประชาชน

โดยกฎหมายแล้ว ส.ว.ก็มีสิทธิ์ที่จะลงคะแนน ปัญหาอยู่ที่ว่า ส.ว.จะลงคะแนนบนพื้นฐานหลักคิดอะไร รัฐธรรมนูญบอกว่าสมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย เขาให้ตระหนักว่า นั่นคือหน้าที่ของคุณ เพื่อย้ำว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนให้เป็นตัวแทนของคนที่ตั้งมา

พล.อ.ประยุทธ์ไปต่อ-จุดพัง ?

หลายปัจจัยครับ หนึ่ง ความยอมรับจากกระบวนการต่าง ๆ ยังเป็นเครื่องหมายคำถาม สอง ถ้าการบริหารยังเป็นเหมือน 4 5 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ การรวมศูนย์อำนาจ ความไม่พอใจผลของการบริหารเศรษฐกิจ การรวมศูนย์อำนาจจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ สาม การบริหารแนวคิดนโยบายขณะนี้ของพรรคพลังประชารัฐกับ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ตรงกัน

เพียง 3 เรื่อง ผมก็คิดว่าหนักหนาสาหัสแล้ว เป็นไปได้ว่ารัฐบาลหน้าจะอยู่ได้ไม่นาน แล้วเราจะไปสู่จุดนั้นเพื่ออะไร มันถึงเวลาที่เราจะผ่าทางตันให้มีประชาธิปไตยที่สุจริต ยั่งยืนหรือยัง ต้องเด็ดขาดในการตัดสินใจ ว่ามันถึงเวลาแล้ว

เราไปอยู่กับอารมณ์ความโกรธ ว่า ถ้าไม่ชอบฝ่ายนี้ก็ต้องไปอยู่กับฝ่ายโน้น เราจะไปอยู่กับอารมณ์ของความกลัว ว่า ถ้าไม่เป็นไปตามที่ใครพยายามเขียนเอาไว้แล้วจะไม่สงบเนี่ย ในที่สุดบ้านเมืองก็จะไม่ไปสู่จุดหมายที่ควรจะไป

เลือกเพราะความเกลียด-กลัว ?

ขณะนี้มีความพยายามของสองขั้วที่จะบีบให้คนแบ่งออกเป็นสองข้างด้วย
ความโกรธ ความเกลียดและความกลัว ปชป.เป็นขั้วที่บอกว่า ควรจะเลือกด้วยความหวัง ควรจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุด

การเลือกตั้งเป็นการให้ประชาชนใช้อำนาจในการกำหนดอนาคตของตัวเอง ผมอยากให้ใช้ในสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ ไม่ต้องโกรธ ไม่ต้องเกลียด ไม่ต้องกลัว

กลัวไม่สงบ ?

กลัวความวุ่นวาย กลัวฝ่ายทักษิณ กลัวฝ่าย คสช. ยึดครองอะไรต่อ สองขั้วพยายามบีบให้คนเลือกข้างด้วยความกลัว ถ้าคุณกลัว คุณก็จะไปไม่ถึงในสิ่งที่ควรจะเป็น

ผมถึงบอกว่า คิดดูให้ดีแล้วกัน หนทางแห่งความสงบคืออะไร ผมคิดว่าถึงคิดตกผลึกแล้วก็จะเห็นอย่างเดียวกับที่สรุป คือ อย่าสืบทอดอำนาจ อย่า
ทุจริตคอร์รัปชั่น บ้านเมืองจะสงบ

โอกาสที่เลือกตั้งโมฆะ ?

อยากให้กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดการเลือกตั้งอย่างโปร่งใสที่สุด ตรวจสอบได้ ผมย้ำว่า ถ้ามีความพยายามที่จะฝืนการแสดงออกของประชาชนด้วยกลไกต่าง ๆ ก็มีแต่จะทำให้ระบบต่าง ๆ เสื่อมลง ไม่เป็นผลดี กกต.ต้องไม่เป็นเครื่องมือของใครไม่ใช่เพราะผมเป็นผู้เล่น แต่เพราะเป็นห่วงว่า อาจจะทำให้เกิดความวุ่นวาย ความขัดแย้งในวันข้างหน้า เพราะประเทศไทยจะไม่ใช่กลับไปนับ 1 แต่จะติดลบ

เดดล็อกจัดรัฐบาลไม่ได้ ?

มันมีสามฝ่าย อยู่ที่ฝ่ายไหนจะเป็นหลักในการนำพาประเทศ เส้นทางสามฝ่ายก็ไม่ตรงกันในการนำพาประเทศ เป็นสิ่งที่ประชาชนจะเป็นคนตัดสินใจ

(นิ่งคิดนาน) ต้องไปเอาตัวเลขต่าง ๆ มาดู เพราะไม่ได้มีตัวแปรแค่ 3 พรรค พรรคอันดับ 4 ลงไปรวมคะแนนกันแล้วคะแนนก็ไม่น้อย ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของพรรคเหล่านั้นด้วย ในกรณีที่ 3 พรรค 3 ขั้ว จับยังไงก็ไม่ลงตัว

ขึ้นอยู่กับตัวเลขทั้งหมด แต่ถ้าตัวเลขออกมาแล้วและยันกันอยู่ แน่นอนพรรคที่อยู่อันดับ 4 5 6 ก็จะมีบทบาทสำคัญในการชี้ว่าจะไปทางไหน

ซีนาริโอนายกฯนอกสภา ?

ยังไงก็ต้องได้เสียง 250 ในสภาผู้แทนฯก่อน เพราะต้องไปยกเว้น (รัฐธรรมนูญ ม.272) ด้วย 500 จาก 750 เสียง สมมุติฐานของการเขียนรัฐธรรมนูญครั้งนี้หลายอย่างย้อนแย้งกันเอง…แต่ก็เป็นช่องที่เปิดอยู่ แต่หลายพรรคการเมืองพูดชัดว่าไม่เอา ขึ้นอยู่กับพรรคการเมืองว่าจะแสดงท่าทีอย่างไร

ไม่ง่าย เพราะขั้นตอนมันยุ่งยากกว่า คุณต้องไปหาคนจำนวนครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนฯยอมรับเงื่อนไขนี้ก่อน ซึ่งคำถามคือ ถ้าตัดสินใจรวมตัวกันได้ขนาดนั้น ทำไมไม่รวมตัวกันจัดตั้งรัฐบาลได้ ในที่สุดประเทศก็ต้องเดินหน้าได้

สัญญาณพิเศษนายกฯคนนอก ?

ไม่ทราบ เป็นการคาดเดามากเกินไป ผมไม่มีความเห็นเรื่องนี้

ปฏิบัติการหลังการเลือกตั้ง ?

กระบวนการครั้งนี้จะซับซ้อนหน่อย การรับรอง ส.ส. 95 เปอร์เซ็นต์ต้องใช้เวลา เพราะถ้า ส.ส.เขตยังไม่รับรอง ตัวเลข ส.ส.บัญชีรายชื่อก็ไม่ชัดเจน คะแนนรวมก็เหมือนกัน สมมุติให้ใบแดง จำนวน ส.ส.ก็เปลี่ยน คงจะยุ่งยาก ยกเว้นผลออกมาคะแนนขาด

ภาพการฟอร์มกันหลวม ๆ หลังวันที่ 24 มีนาคม ถ้าทำได้ก็เกิดขึ้นได้ ถ้ารวมกันได้ชัดเจน ไม่มีทางเป็นสูตรอื่น แต่มันก็มีตัวแปรเรื่องวุฒิสภา หลังวันที่ 24 มีนาฯ
ตอบไม่ได้จนกว่าจะเห็นผลคะแนน

การพูดคุยเจรจาเพื่อเห็นภาพว่าจะเกิดการรวมตัวกันของพรรคการเมืองใดบ้าง บนเงื่อนไขอะไร ถ้ามันถึงจุดที่บรรลุข้อตกลงกันได้แล้วก็คงเริ่มลงในละเอียดว่าจะจัดกันแบบไหน จะเตรียมตัวทำงานอย่างไร

เปิดสภาอาจจะเป็นกลาง พ.ค.ไปแล้วก็ได้ อาจจะทอดยาว ต้องถาม กกต.ก่อนว่าจะรับรอง ส.ส.ได้ช่วงไหน ก่อนนั้นทำงานบนสมมุติฐานว่า กกต.รับรองผลตามที่ปรากฏออกมาในวันที่ 24 มีนาฯ

นับเสียงร่วมรัฐบาลยากขึ้น ?

ยากขึ้น ไม่ง่ายเหมือนเมื่อก่อน

ถ้าใครกลัวก็เลือกให้มันเด็ดขาด อยากได้อะไร คิดว่าอะไรดีที่สุด เลือกไปเลย เลือกไปให้ขาด ไม่ต้องเลือกเชิงยุทธศาสตร์ เลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง สำหรับประเทศ ถ้าเลือกเชิงยุทธศาสตร์จะไม่ได้อะไรทั้งนั้น จะเดินวนกันอยู่อย่างนี้

เลือกพรรคการเมืองที่คิดว่าจะแก้ปัญหาปากท้องได้จริง เลือกพรรคที่มีความพร้อม เลือกพรรคที่สามารถทำงานได้ต่อเนื่อง ไม่เกิดความวุ่นวายเพราะการสืบทอดอำนาจหรือทุจริตคอร์รัปชั่น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0