โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ศึกถุงพลาสติก: เมื่อการรักษ์โลกเป็นการแข่งขันของร้านค้าและห้างค้าปลีก

The Momentum

อัพเดต 24 ก.ค. 2562 เวลา 04.59 น. • เผยแพร่ 24 ก.ค. 2562 เวลา 04.59 น. • สันติชัย อาภรณ์ศรี

In focus

  • ห้างค้าปลีกแรกที่ขยับตัวก่อนใครคือกลุ่มค้าปลีกเซ็นทรัล ที่ตั้งเป้าการเป็นห้างแห่งแรกปลอดถุงพลาสติก ด้วยการลดการใช้ถุงพลาสติกได้ 150 ล้านใบ จากปัจจุบันที่ใช้ในทุกกลุ่มทั้งหมด 428 ล้านใบ
  • เครือเดอะมอลล์ประกาศงดให้บริการถุงพลาสติกในทุกกลุ่มธุรกิจของห้าง โดยหากลูกค้าต้องการใช้ถุงพลาสติกต้องจ่ายค่าถุงพลาสติกใบละ 1 บาท ซึ่งทางห้างจะนำเงินไปสนับสนุนองค์กรกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ประเทศไทย
  • เทสโก้ โลตัส ยกเลิกใช้บรรจุภัณฑ์ใส่อาหารที่ทำจากโฟม พร้อมเดินหน้าเป็นห้างสีเขียวที่มีทั้งการใช้ถาดเธอร์โมฟอร์ม (Thermoform) ที่ทำจากวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ 100% การงดให้ถุงพลาสติก และยังอนุญาตให้ลูกค้านำภาชนะมาใส่อาหารแทนได้ด้วย

กระแสเรื่องการลด ละ เลิกใช้ถุงพลาสติก โดยเฉพาะถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (single-use) ซึ่งมาพร้อมกับภาพข่าวความเลวร้ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากถุงพลาสติก ไม่ว่าจะเป็นถุงพลาสติกในทะเล หรือสัตว์ที่กินถุงพลาสติกไปจนเสียชีวิต ทำให้ผู้คนตื่นตัวในเรื่องสิ่งแวดล้อมและการงดเว้นการใช้ถุงพลาสติกมากขึ้น

หนึ่งในไลฟ์สไตล์ของคนเราที่ทำให้เกิดการใช้ถุงพลาสติกอย่างมากก็คือการซื้อของในร้านค้าหรือห้างขายปลีก ที่ไม่เพียงแค่บรรจุภัณฑ์จะเป็นพลาสติก แต่ยังมาพร้อมกับถุงพลาสติกหูหิ้วออกจากร้านอีกต่างหาก ไม่ว่าจะซื้อของเล็กน้อยหรือมากมาย เราก็มักจะได้ถุงพลาสติกเพิ่มมาอีกอย่างน้อย 1 ใบ และนั่นเองที่ทำให้เกิดการใช้ถุงพลาสติกปริมาณมากขึ้นๆ จนกลายมาเป็นขยะพลาสติกที่ตกค้างตามที่ต่างๆ

แรงขับเคลื่อนทางสังคมเกี่ยวกับการลด ละ เลิก การใช้ถุงพลาสติกและกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกลายมาเป็นแรงผลักดันให้ร้าน/ห้าง ค้าปลีก ทั้งหลายผลักดันนโยบายเรื่องการใช้ถุงพลาสติกของตนให้กลายเป็นข้อปฏิบัติอย่างจริงจัง นอกจากจะเป็นการขานรับกับกระแสสังคมแล้ว ในอีกแง่หนึ่งมันคือการพีอาร์มาร์เก็ตติ้งของการแข่งขันทางธุรกิจแบบใหม่ที่ตั้งอยู่บนเทรนด์เรื่องสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ห้างค้าปลีกแรกที่ขยับตัวก่อนใครก็คือกลุ่มค้าปลีกเซ็นทรัล นำโดยห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล โดยแบ่งออกเป็นสองกรณีง่ายๆ ก็คือ กรณีที่งดให้บริการถุงพลาสติก ‘ทุกวัน’ ได้แก่ โรบินสัน, ซูเปอร์สปอร์ต, ออฟฟิศเมท, ไทวัสดุ, บ้านแอนด์บียอนด์, ออโต้วัน, พาวเวอร์บาย, บีทูเอส และกรณีงดให้บริการถุงพลาสติกบางวัน ซึ่งได้แก่ในกลุ่มฟู้ดฮอลล์อย่าง ท็อปส์ มาร์เก็ต, ท็อปส์ ซูเปอร์สโตร์ และท็อปส์ เดลี่ (รวมถึงร้านมัตสึโมโตะ คิโยชิ) ที่งดให้บริการถุงพลาสติกกับลูกค้าทุกคนทุกวันอังคารของแต่ละสัปดาห์ และทุกวันที่ 4 ของเดือน นอกจากนี้ยังมีช่องทางพิเศษ ‘กรีน เช็กเอาต์’ (Green Checkout) ที่สำหรับลูกค้าที่งดรับถุงพลาสติกหรือนำถุงผ้ามาเองอีกด้วย

โดยเซ็นทรัลคาดว่าปีนี้จะสามารถลดการใช้ถุงพลาสติกได้ 150 ล้านใบ จากปัจจุบันที่ใช้ในทุกกลุ่มทั้งหมด 428 ล้านใบ โดยภายใต้แคมเปญที่อาจส่งผลกระทบต่อลูกค้านี้ เซ็นทรัลใช้แรงจูงใจด้วยการให้แต้ม เดอะวัน (The 1) ตั้งแต่ 10 แต้มไปจนถึง 40 แต้ม

ในขณะที่เครือเดอะมอลล์มาแรงด้วยการใช้ประกาศงดให้บริการถุงพลาสติกในทุกกลุ่มธุรกิจของห้าง ไม่ว่าจะเป็น ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ ทุกสาขา, ดิ เอ็มโพเรียม, ดิ เอ็มควอเทียร์, พารากอน ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์, บลูพอร์ต หัวหิน รวมไปถึงกูร์เมต์ มาร์เก็ต แต่ใช้วิธีการว่าหากลูกค้าต้องการใช้ถุงพลาสติกต้องจ่ายค่าถุงพลาสติกใบละ 1 บาท ซึ่งเป็นนโยบายที่เราเห็นและได้ยินว่า ในต่างประเทศ อย่างญี่ปุ่น หรือสหรัฐอเมริกา และหลายประเทศในแถบยุโรปก็ใช้มาตรการเดียวกันนี้ โดยมาตรการนี้เพิ่งจะมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมานี่เอง ส่วนเงินที่ลูกค้ายอมจ่ายค่าถุงพลาสติกใบละ 1บาท ทางเดอะมอลล์จะนำไปสนับสนุนการทำงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมร่วมกับองค์กรกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ประเทศไทย

อีกหนึ่งห้างค้าปลีกที่มีมาตรการน่าสนใจเป็นอย่างมากก็คือ เทสโก้ โลตัส ซึ่งได้ประกาศตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมาว่า จะยกเลิกใช้บรรจุภัณฑ์ใส่อาหารที่ทำจากโฟมทุกชนิดในทุกสาขากว่า 2,000 แห่งในไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ทางเทสโก้ โลตัส ได้ทยอยเปลี่ยนจากโฟมมาใช้วัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้บ้างแล้ว

ไม่เพียงแค่การเลิกใช้บรรจุภัณฑ์ใส่อาหารที่ทำจากโฟมเท่านั้น เทสโก้ โลตัส ยังมีมาตรการอื่นๆ เพื่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ถาดเธอร์โมฟอร์ม (Thermoform) ที่ทำจากวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ 100% มาใช้แทนถาดพลาสติกและฟิล์มแบบเก่าสำหรับสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ตัดแต่งและผลไม้พร้อมทาน จำหน่ายบรรจุภัณฑ์อาหารปลอดภัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้ชื่อแบรนด์ว่า เฟสท์ (Fest)

ทุกวันที่ 4 ของเดือน เทสโก้ โลตัส ทั้งกว่า 2,000 สาขาทั่วประเทศจะงดให้ถุงพลาสติก นอกจากนี้ยังทยอยเปลี่ยนสาขาเล็กๆ อย่างโลตัสเอ็กซ์เพรสให้เป็นร้านค้าปลอดถุงพลาสติกอีกด้วย นอกจากนี้ยังอนุญาตให้ลูกค้านำภาชนะมาใส่อาหารแทนการใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียว ในโซนสลัดบาร์และแผนกเบเกอรี่ และศูนย์อาหาร หรือนำแก้วน้ำส่วนตัวมาใส่เครื่องดื่มต่างๆ ได้ พร้อมทั้งมีเครื่องรีไซเคิลขวดพลาสติกและกระป๋องเพื่อให้ลูกค้านำบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ใช้แล้วมาคืนเพื่อนำไปเข้ากระบวนการรีไซเคิลต่อไป โดยทั้งหมดนี้มีแรงจูงใจเป็นแต้มจากคลับการ์ดตั้งแต่ 25 แต้มไปจนถึง 50 แต้มเลยทีเดียว

แน่นอนว่าเมื่อเทสโก้ โลตัส ขยับ บิ๊กซีก็ต้องขยับตามด้วย โดยบิ๊กซีจะงดการใช้บริการถุงพลาสติกทุกวันที่ 4 ของเดือน และสมาชิกบิ๊กการ์ดที่ซื้อสินค้าตั้งแต่ 200 บาทและไม่รับถุงพลาสติกบรรจุสินค้า จะได้รับคะแนนบิ๊กการ์ด 200 คะแนน

ส่วนร้านค้าปลีกหรือที่เราเรียกว่าร้านสะดวกซื้อที่แทบจะปฏิเสธการใช้ไม่ได้ เนื่องด้วยการกระจายของจำนวนสาขาที่มีมากกว่า 10,000 สาขา นั่นก็คือ เซเว่น อีเลฟเว่น (7 Eleven) ที่มาพร้อมตูน บอดี้สแลมและโครงการ ‘ลดวันละถุง คุณทำได้’ กับการรณรงค์ให้คนไทยหันมาใช้ถุงพลาสติกให้น้อยลง และสนับสนุนให้พกถุงผ้ากันมากขึ้น โดยทุกครั้งที่ลูกค้าปฏิเสธการรับถุงพลาสติกในร้าน ทางเซเว่น อีเลฟเว่นจะนำเงินค่าถุง 20 สตางค์ไปสมทบทุนบริจาค 77 โรงพยาบาลทั่วไทย

จะเห็นได้ว่าภายใต้กระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการรณรงค์งดใช้ถุงพลาสติก ทำให้ร้าน/ห้าง ค้าปลีกทั้งหลายต่างพยายามช่วงชิงกลุ่มผู้บริโภคที่มีแนวคิดรักษ์โลกด้วยแผนการตลาดต่างๆ นานา มากบ้างน้อยบ้าง ผ่านทั้งการใช้แนวคิดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและแนวคิดการสร้างแรงจูงใจต่อผู้บริโภค

แต่ในขณะเดียวกันเราก็จะเห็นถึงฐานแนวคิดที่ยังคงผูกติดอยู่กับ ‘กลุ่มสมาชิก’ (ยกเว้นเดอะมอลล์ที่ใช้นโยบายว่าใครต้องใช้ถุงพลาสติกก็จ่ายค่าถุง 1 บาท) ซึ่งบางครั้งมันไม่ได้สร้างแรงจูงใจให้กับลูกค้าขาจรสักเท่าไร หรือแม้กระทั่งแคมเปญที่ไม่มีลักษณะการบังคับใช้ (อย่างเช่นของเซเว่น อีเลฟเว่น) ก็อาจจะทำให้การสร้างพฤติกรรมการงดเว้นใช้ถุงพลาสติกไม่เป็นผล

ในขณะเดียวกันเมื่อเราเข้าไปดูตามเพจของห้างร้านต่างๆ ที่จัดกิจกรรมนี้ เราก็จะเห็นอีกปัญหาหนึ่ง นั่นก็คือ การว่ากล่าวจากกลุ่มผู้บริโภคที่ยังไม่เข้าใจว่าทำไมเราถึงต้องลด ละ เลิก การใช้ถุงพลาสติก พร้อมขู่ว่าจะไม่มาใช้บริการหากไม่มีถุงให้ ด้วยเหตุผลว่านี่เป็นการสร้างความลำบากในการจับจ่าย ซึ่งที่จริงแล้วนี่อาจจะเป็นปัญหาหลักเลยก็ได้ในการรณรงค์การงดใช้ถุงพลาสติกในบ้านเรา ที่ยังไม่สามารถสร้างการตระหนักรู้ในปัญหาเรื่องนี้ให้แก่ประชาชนในทุกกลุ่มอายุและพื้นที่ได้

หรือนี่อาจจะต้องเป็นวาระแห่งชาติโดยมีนโยบายการสั่งการมาจากภาครัฐ ไม่ใช่เพียงแค่การที่ภาคเอกชนเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสสังคมที่เกิดขึ้น โดยใช้แคมเปญและแรงจูงใจผู้บริโภคเพียงเท่านั้น ภาครัฐเองก็อาจจะต้องเอาจริงเอาจังในเชิงนโยบายและการสั่งการมากขึ้นทั้งในแง่การรณรงค์ให้ความรู้และในแง่การปฏิบัติตาม ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมภาคธุรกิจต่างๆ ที่ส่งผลในเชิงสิ่งแวดล้อม เช่น กำหนดการใช้ หรือตั้งเป้าการใช้ทรัพยากรให้ลดลงเรื่อยๆ โดยมีหลักเกณฑ์เป้าหมายและโทษ (เช่น ห้างร้านค้าปลีกควรจะได้พลาสติกไม่เกินเท่าไรต่อปี และลดลงเท่าไรในปีถัดๆ ไป) ในขณะเดียวกันก็จะต้องมี ‘คุณ’ ให้ด้วยเพื่อสร้างแรงจูงใจ เช่น หากทำได้ตามเป้าที่กำหนดก็มีมาตรการส่งเสริมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษีหรืออื่นใด เพื่อให้ทั้งระบบสามารถขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน

ไม่เช่นนั้นแล้ว แคมเปญเหล่านี้จะกลายเป็นเพียงการทำตามกระแสสังคม โดยไม่มีเป้าหมายและไม่เห็นว่าสิ่งที่ได้ทำลงไปนั้นได้รับผลตอบแทนอะไรกลับคืนมาบ้างทั้งในแง่สิ่งแวดล้อมและธุรกิจ

และที่สำคัญเรื่องนี้ต้องไม่เป็นเพียงแค่กระแส หรือเทรนด์ ไม่ได้เป็นเรื่องโก้เก๋ใช้ถุงผ้าของฮิปสเตอร์หรือคนรุ่นใหม่เท่านั้น แต่มันต้องเป็นนโยบายที่ประชาชนและภาคธุรกิจทุกคนต้องปฏิบัติ เพื่อที่อนาคตข้างหน้าเรายังจะมีโลกให้อยู่อาศัยได้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0