โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ศึกชิงผลประโยชน์มหาศาล “ดิวตี้ฟรี” สุวรรณภูมิ 3 ยักษ์ใหญ่งัดขุมกำลังห่ำหั่นคว้าชัย

สยามรัฐ

อัพเดต 24 พ.ค. 2562 เวลา 22.00 น. • เผยแพร่ 24 พ.ค. 2562 เวลา 22.00 น. • สยามรัฐออนไลน์
ศึกชิงผลประโยชน์มหาศาล “ดิวตี้ฟรี” สุวรรณภูมิ 3 ยักษ์ใหญ่งัดขุมกำลังห่ำหั่นคว้าชัย

ระฆังเริ่มลั่น!ศึกชิง “โครงการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) และโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ที่เปิดให้ผู้สนใจเข้าบริหาร โดยก่อนหน้านี้ โครงการดังกล่าวมีความ “วุ่นวาย” ในเรื่องของการแยกสัญญาโครงการออกเป็น 2 โครงการ คือ โครงการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) แยกเป็น 2 สัญญา คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 1 สัญญา และท่าอากาศยานภูมิภาค ประกอบด้วย ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ 1 สัญญา อีกทั้งยังมีเสียงตระโกนออกมาดังๆว่า“โครงการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี)เข้าข่าย พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ปี 2562” จนถึงขั้นที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธานหัวโต๊ะการประชุมคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) ครั้งที่ 2/2562 กิจการร้านค้าปลอดอากร (duty free) และกิจการร้านค้าบริการ (retails and services) ภายในท่าอากาศยาน โดยที่ประชุมสรุปว่า คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายมีความเห็นว่า “เป็นกิจการเชิงพาณิชย์ แต่ไม่ใช่กิจการจำเป็นที่ขาดไม่ได้” ดังนั้น การประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรีและสัมปทานพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จึงไม่ได้อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2562 เพราะไม่ใช่กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นตามมาตรา 7 วรรคที่ 2 เมื่อได้ไฟเขียวมาเช่นนั้น ทอท.ได้เดินหน้าประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมการเสนอ “โครงการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) และโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” โดย “นิตินัย ศิริสมรรถการ” กรรมการ ผู้อำนวยการใหญ่ทอท. เผยว่า ทอท. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 ทอท.ได้เปิดให้เอกชนเข้ายื่นข้อเสนอโครงการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) และโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เชื่อว่าบรรยากาศการยื่นข้อเสนอจะเป็นไปอย่างคึกคัก เนื่องจากรายชื่อเอกชนที่เข้ามาซื้อซองเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในธุรกิจดิวตี้ฟรีมืออาชีพจากทั่วโลกอยู่แล้ว จึงมั่นใจว่าการแข่งขันในครั้งนี้จะดุเดือด ค่าตอบแทนมี แนวโน้มที่เป็นประโยชน์กับ ทอท.มากขึ้น หลังจากเปิดรับซองข้อเสนอแล้ว ทอท.จะประกาศผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติทันที ก่อนจะเปิดให้เอกชนนำเสนอผลงานด้านเทคนิค และเปิดซองผลตอบแทนให้รัฐใน วันที่ 31 พฤษภาคม 2562 สำหรับเกณฑ์การให้คะแนนคัดเลือกผู้ประกอบการดิวตี้ฟรี กำหนด 4 ส่วน คือ 1.แผนดำเนินงานของ ผู้ยื่นข้อเสนอ สัดส่วนมากที่สุด 40% 2.แผนธุรกิจ 25% 3.ผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายปี 20% และ 4.ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในเชิงธุรกิจ 15% ส่วนเกณฑ์การตัดสินทอท.จะคัดเลือกผู้ประกอบการที่เป็นมืออาชีพ และมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจเป็นอย่างดีเพื่อเข้ามารับผิดชอบประกอบกิจการในแต่ละสัญญาเพียงรายเดียว โดยผู้ประกอบการจะต้องเป็นนิติบุคคลไทยรายเดียว หรือกิจการร่วมค้า กิจการร่วมลงทุนที่มีนิติบุคคลไทยเป็นผู้รับผิดชอบหลัก มีทุนจดทะเบียน ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท มีประสบการณ์บริหารร้านค้าดิวตี้ฟรีไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าในไทย ไม่น้อยกว่า 5 ปี ขณะที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงประสบการณ์ของผู้ประกอบการ ดิวตี้ฟรีต่างชาติบางรายที่มีปัญหาเรื่องการบริหารธุรกิจในประเทศตัวเองแล้วเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการประมูลนี้จะกระทบกับโครงการในอนาคตนั้น ทอท. ยืนยันว่า การประมูลครั้งนี้มีเกณฑ์การประเมินที่เป็นมาตรฐาน มีสัดส่วนของการพิจารณาที่ชัดเจน กำหนดประสบการณ์ทำงาน คุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ แผนงานที่จะดำเนินการด้วย จึงมั่นใจว่าข้อผิดพลาดของเอกชนในอดีตจะไม่กระทบต่อโครงการครั้งนี้ โดยขั้นตอนการเปิดรับซองข้อเสนอของเอกชนนั้น ทอท.ได้เชิญ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าร่วมสังเกตการณ์ในทุกขั้นตอน เพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ตามหลัก ธรรมาภิบาลที่ ทอท.ยึดมั่นและดำเนินการมาโดยตลอด ผู้อำนวยการใหญ่ทอท. กล่าวว่า การประมูลดิวตี้ฟรีของสนามบินภูมิภาค ท่าอากาศยานภูเก็ต, ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ (สงขลา) จะให้ยื่นซองวันที่ 4 มิถุนายน ให้นำเสนอด้านเทคนิค วันที่ 5-6 มิถุนายน และเปิดซองราคาวันที่ 10 มิถุนายน ทั้งนี้จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการรายได้วันที่ 12 มิถุนายน และเสนอเข้าบอร์ดทอท.วันที่ 19 มิถุนายน หลังจากนั้นคาดว่าไม่เกินกลางเดือนสิงหาคม จะสามารถลงนามสัญญากับผู้ชนะได้ ด้าน “วิชัย บุญยู้” รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่(สายงานพัฒนาธุรกิจและการตลาด) ทอท. กล่าวว่า มีเอกชน ที่สนใจยื่นซองเทคนิคโครงการร้านค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ ฟรี) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทั้งหมด 3บริษัท ประกอบด้วย บริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ,บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และบริษัท รอยัลออคิด เชอราตัน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) โดยกลุ่มเซ็นทรัล และบริษัทไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ไม่ได้มายื่นซองด้านเทคนิค ซึ่งผู้ยื่นซองทั้ง 3 ราย ผ่านการพิจารณาด้านคุณสมบัติเป็นที่เรียบร้อย โดยทั้ง 3บริษัท จะมีการนำเสนอผลงานในวันที่ 27 พฤษภาคมนี้ โดยในช่วงเวลา 10.00-12.00น. จะเป็นในส่วนของบริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ช่วงเวลา 13.00-15.00น. จะเป็นบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และกลุ่มบริษัท ล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี และ15.00-17.00 จะเป็น บริษัท รอยัลออคิด เชอราตัน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้ร่วมทุนกับบริษัท เอ็มไพร์ เอเชีย กรุ๊ป จำกัด และ WDFG UK LIMITED ทั้งนี้ ในวันที่ 31พฤษภาคม 2562 จะสามารถสรุปผลได้ ส่วนบริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด ที่ร่วมทุนกับบริษัท ดีเอฟเอส เวนเจอร์ สิงคโปร์ จำกัด และบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ไม่ได้เข้ามายื่นข้อเสนอแต่อย่างใด “ตอนนี้เหลือผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เป็นแบรนด์ระดับโลกเพียงแค่ 3 รายเท่านั้นที่เข้าร่วมแข่งขัน ซึ่งทุกรายล้วนเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ทอท.ต้องพิจารณารายละเอียดของแผนงานที่นำเสนอมาอย่างรอบคอบ เนื่องจากผู้ใช้บริการสนามบินแต่ละแห่งมีไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกัน” นายวิชัยกล่าว อย่างไรก็ตามหากเจาะลึกถึงขุมพลังดิวตี้ฟรีโลก ที่ได้ร่วมศึกประมูลฯในครั้งนี้ โดยจากการสำรวจของ “Moodie Davitt” สหราชอาณาจักร ได้จัดอันดับ 25 บริษัทที่ทำธุรกิจร้านค้าปลอดอากร (duty free retailer) ตามมูลค่ารายได้ปี 2017 พบว่า บริษัท Dufry Group ยักษ์ใหญ่ดิวตี้ฟรีสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ ครองอันดับ 1 เป็นบริษัทมีรายได้สูงสุดในปี 2017 อยู่ที่ 7,166 ล้านยูโร หรือราว 255,000 ล้านบาท ที่น่าสนใจ คือ Dufry Group คือ เจ้าของ WDFG ซึ่งเป็นพันธมิตรประมูลดิวตี้ฟรีของกลุ่มโรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน โดย Dufry Group ได้เข้าซื้อกิจการของ “The Nuance Group” สวิตเซอร์แลนด์ ในปี 2014 และซื้อกิจการกลุ่ม WDFG สัญชาติอิตาลี ในปี 2015 ปัจจุบัน Dufry Group มีร้านค้ามากกว่า 2,300 ร้าน ใน 65 ประเทศทั่วโลก ซึ่งครองแชมป์เป็นบริษัทอันดับหนึ่งในตลาดดิวตี้ฟรีมานาน 4 ปีต่อเนื่อง ในส่วนของ WDFG เปิดให้บริการมากกว่า 550 ร้านค้า ใน 20 ประเทศทั่วโลก ทั้งทวีปยุโรป ตะวันออกกลาง อเมริกาเหนือ และละตินอเมริกา ซึ่งตลาดที่ WDFG ได้รับความนิยมมากที่สุด ก็คือ สเปน และสหราชอาณาจักร (UK) โดยมีร้านค้ามากกว่า 11 แห่ง ภายในสนามบินเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ สำหรับ “Lotte Duty Free” พันธมิตรของบางกอกแอร์เวย์ส ถูกจัดอยู่อันดับ 2 ของโลก ด้วยมูลค่ารายได้อยู่ที่ 4,842 ล้านยูโร หรือราว 173,000 ล้านบาท ปัจจุบันเปิดให้บริการร้านค้าอยู่ใน 8 ประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย เวียดนาม ไทย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดย “เกาหลีใต้” เป็นตลาดที่สำคัญ และเป็นแหล่งรายได้หลักของบริษัท ส่วนบริษัท DFS ที่เป็นพันธมิตรของกลุ่มเซ็นทรัล ติดอยู่ลำดับที่ 4 ตามรายงานมีรายได้ในปี 2017 ประมาณ 3,670 ล้านยูโร หรือราว 131,000 ล้านบาท มีร้านค้าให้บริการทั้งหมดในปัจจุบัน 420 แห่ง กระจายอยู่ทั่วโลก ขณะที่ “คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ไทยแลนด์” ยักษ์ธุรกิจดิวตี้ฟรีของประเทศไทย ได้รับการจัดอันดับให้เป็นบริษัทที่มีรายได้เป็นอันดับ 7 ด้วยมูลค่า 2,141 ล้านยูโร หรือราว 76,000 ล้านบาท สำหรับบริษัท เอ็มไพร์ เอเซีย กรุ๊ป ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพันธมิตรของกลุ่มโรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน ก่อตั้งมาแล้ว 13 ปี ด้วยทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท มีรายชื่อผู้ก่อตั้งคณะกรรมการบริษัท ได้แก่ นางสาวสุวรรณทิพย์ ชัยสำเร็จ, นายยุทธพงษ์ อินทรพาณิชย์ และนางสาวอิสรีย์ เบญจรัตนาภรณ์ อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ของบริษัทระบุว่า นายไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์ศานต์ นักธุรกิจที่ใกล้ชิด ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้ก่อตั้ง และมี นายวิสิทธิ์ น้อยพันธุ์ นั่งเป็นประธานคณะกรรมการบริษัท

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0