โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ศึกชิงประธานสภาผู้แทน “สมพงษ์-ชวน-สุชาติ” ชี้วัดอนาคตรัฐบาลใหม่

TODAY

อัพเดต 24 พ.ค. 2562 เวลา 15.24 น. • เผยแพร่ 24 พ.ค. 2562 เวลา 15.22 น. • Workpoint News
ศึกชิงประธานสภาผู้แทน “สมพงษ์-ชวน-สุชาติ” ชี้วัดอนาคตรัฐบาลใหม่

สมพงษ์ อมรวิวัฒน์, ชวน หลีกภัย, สุชาติ ตันเจริญ

วันเสาร์ที่ 25 พ.ค.นี้ เวลา 09.30 น. ณ หอประชุมใหญ่ อาคาร 9 ชั้น 2 บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ถนนแจ้งวัฒนะ จะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่เป็นครั้งแรกและมีวาระสำคัญคือ เลือกประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร

ความเคลื่อนไหวตลอดวันศุกร์ที่ 24 พ.ค. ที่ผ่านมาทำให้พอจะเห็นภาพผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งนี้ ประกอบด้วย

พรรคประชาธิปัตย์ ที่จะเสนอชื่อ นายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร

พรรคพลังประชารัฐ มีข่าวจะเสนอชื่อ นายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทรา อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ท่ามกลางกระแสข่าวว่าถ้าตกลงกับประชาธิปัตย์ลงตัวนายสุชาติ จะเป็นรองประธานคนที่ 1 แทน

7 พรรคประชุมด่วนร่วมกัน 24 พ.ค. 62

ส่วน 7 พรรคพันธมิตร ฝ่ายต่อต้านการสืบทอดอำนาจ มีการนัดหมายประชุมด่วนและมีมติร่วมกันที่จะเสนอตัวแทนเข้าชิงตำแหน่ง โดยยังไม่ประกาศว่าจะเป็นใครแต่ตกลงกันว่าจะโหวตไปในทางเดียวกัน โดยฝ่ายนี้คนที่เคยมีข่าวคือ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย

ชัย ชิดชอบ ทำหน้้าที่ประธานชั่วคราวในฐานะ ส.ส.อาวุโสที่สุด ทั้งปี 2554 และในปี 2562

สำหรับขั้นตอนการเลือกประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร จะเริ่มจากให้เลขาธิการสภาเชิญสมาชิกผู้มีอายุสูงสุดทำหน้าที่เป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุมเพื่อดำเนินการ ซึ่งนายชัย ชิดชอบ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย วัย 91 ปี จะทำหน้าที่อีกครั้ง หลังรับบทบาทนี้มาแล้วในตอนประชุมสภาหลังการเลือกตั้งในปี 2554

ในข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 กำหนดขั้นตอนการเลือกประธานสภาและรองประธานสภา ไว้ในหมวด 1 คือ

จะเปิดให้สมาชิกเสนอชื่อผู้เป็นประธานสภา โดยมีผู้รับรองไม่น้อยกว่ายี่สิบคน

หากมีผู้ได้รับการเสนอชื่อมากกว่าหนึ่งคนขึ้นไป จะต้องมีการลงคะแนนเป็นการลับ โดยเขียนชื่อผู้ที่ ส.ส.ประสงค์ลงคะแนนให้บนแผ่นกระดาษแล้วนำใส่ซอง แล้วจะเรียกชื่อตามลำดับอักษรให้นำซองมาใส่ภาชนะที่ใช้ในการตรวจนับคะแนน

ส่วนการเลือกรองประธานสภาให้ดำเนินการแบบเดียวกันโดยเลือกรองประธานสภาคนที่หนึ่งก่อน แล้วจึงเลือกรองประธานคนที่สองต่อไป

ดังนั้น กระบวนการทุกอย่างจะเป็นไปโดยลับไม่รู้ว่า ส.ส. คนใดลงคะแนนให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อประธานสภาคนไหน ต่างจากการเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ต้องกระทำโดยเปิดเผยด้วยการขานชื่อสมาชิกรัฐสภา ทั้ง ส.ส.และ ส.ว. ทั้งหมดทีละคน (ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในช่วงไม่เกิน 1 สัปดาห์ หลังได้ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยในปี 2554 ห่างกัน 3 วัน)

บรรยากาศการประชุมรัฐสภาในปี 2554

ย้อนกลับไปในการลงมติเลือกประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร หลังการเลือกตั้งในปี 2554 ในวันเปิดประชุมครั้งแรก นายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญ นายชัย ชิดชอบ ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้มีอายุสูงสุดในที่ประชุมทําหน้าที่ประธานชั่วคราว และให้ที่ประชุมดําเนินการเลือกประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

โดยเริ่มจาก ประธานชั่วคราวได้กล่าวนําสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปฏิญาณตนต่อที่ประชุมก่อนเข้ารับหน้าที่ ตามมาตรา 123 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน คือ มาตรา 115) ด้วยถ้อยคําว่า
“ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์

จากนั้น ประธานชั่วคราวได้เสนอให้ที่ประชุมเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา ได้เสนอชื่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย วัย 57 ปี เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรเพียงชื่อเดียว โดยไม่มีสมาชิกเสนอชื่อคนอื่น (พรรคประชาธิปัตย์มีมติไม่เสนอชื่อบุคคลใดแข่ง) จึงไม่ต้องลงคะแนนลับ

วิสุทธิ์ ไชยณรุณ (ซ้าย) เจริญ จรรย์โกมล (ขวา) (ภาพ : สภาผู้แทนราษฎร)

ประธานชั่วคราวได้เสนอให้ที่ประชุมเลือกรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้มีรองประธานสภาผู้แทนราษฎร จํานวน 2 คนโดยที่ประชุมได้มีมติเลือก นายเจริญ จรรย์โกมล ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย วัย 51 ปี เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง และนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.พะเยา พรรคเพื่อไทย วัย 53 ปี เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง ตามลําดับ โดยไม่ต้องลงคะแนนลับเช่นกัน

ส่วนในปี 2562 นี้ น่าติดตามเป็นอย่างยิ่งว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไร จะมีการการพลิกล็อก จะล็อกคะแนน หรือจะมี "งูเห่า" เกิดขึ้นหรือไม่ เพราะการลงคะแนน "ลับ" จะจับไม่ได้ว่าใครที่แหกโผไม่โหวตตามที่ตกลงกันไว้ 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0