โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | คนไทยต้องทนอดอยากเพราะวิกฤติโควิดอีกนานแค่ไหน

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 10 เม.ย. 2563 เวลา 08.50 น. • เผยแพร่ 10 เม.ย. 2563 เวลา 08.50 น.
ศิโรตม์2069

เมื่อไรที่วิกฤตโควิด ในประเทศไทย ถึงจะสิ้นสุด

วิกฤตโควิดเป็นวิกฤตที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าของโลกและสังคมไทยอย่างสิ้นเชิง

และถึงแม้จะยังไม่มีนักอนาคตศาสตร์คนไหนพูดถึงโลกและสังคมใหม่ยุคหลังโควิดอย่างเป็นระบบ

แต่แทบทุกคนเห็นภาพตรงกันว่าโลกยุคหลังโควิดแตกต่างกับโลกยุคก่อนโควิดแน่ๆ

จนจำเป็นที่ต้องมีการคิดใหม่ทำใหม่เพื่อรองรับโลกที่เปลี่ยนไปแบบที่คาดการณ์ไม่ได้เลย

ประธานาธิบดีสหรัฐกับราชินีอังกฤษพูดตรงกันว่าวิกฤตโควิดรุนแรงเหมือนสงคราม

นายกฯ ญี่ปุ่นก็ระบุว่า สถานการณ์ตอนนี้เลวร้ายที่สุดหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่โควิดต่างจากสงครามในแง่จำนวนคนตายแน่ๆ เพราะสงครามโลกครั้งที่สองมีผู้เสียชีวิตราว 50-56 ล้าน ขณะที่โควิดสัปดาห์หน้าคงมีคนตายถึงหนึ่งแสน จากนั้นคงจะค่อยๆ ลดลง

ถ้าวิกฤตโควิดเหมือนสงคราม ผลที่จะเกิดในโลกยุคหลังโควิดก็คือโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองที่ฟื้นตัวสู่ “ระเบียบโลกใหม่” ซึ่งเปลี่ยนไปอย่างไพศาล แต่ที่จริง “สงคราม” คืออุปลักษณ์ซึ่งคนรุ่นทรัมป์และราชินีอังกฤษสื่อถึงสถานการณ์โดยเทียบกับอดีตที่เลวร้ายที่สุด

ขณะที่วิกฤตโควิดน่าจะส่งผลร้ายกว่าความโหดร้ายที่สุดที่โลกเจอในรอบ 77 ปี

ความรุนแรงในสงครามโลกครั้งที่สองทำให้มหาอำนาจเก่าอย่างอังกฤษและเยอรมนีหมดอิทธิพลลงไป

ส่วนอเมริกาเข้าร่วมสงครามภายหลังจนเสียหายน้อยและกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองโลกในที่สุด

แต่วิกฤตโควิดสร้างหายนะให้กับทุกประเทศหลักโดยไม่มีข้อยกเว้น

โลกหลังโควิดจึงไม่มีประเทศใดมีต้นทุนพอจะเป็นผู้นำโลกเลย

ไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์ไวรัสระดับโลกจะยุติเมื่อใด แต่หากดูบทเรียนจากจีนซึ่งเป็นประเทศแรกที่ไวรัสระบาดก่อนส่งออกไปทั่วโลก

จีนพบผู้ตายด้วยโควิดรายแรกที่อู่ฮั่นในวันที่ 10 มกราคม และต้องรอถึงวันที่ 7 เมษายน ที่ไม่พบผู้ติดเชื้อใหม่เลยจนตัดสินใจเปิดเมืองในวันที่ 8

ก็เท่ากับว่าทุกประเทศคงต้องเผชิญสถานการณ์แบบนี้ไปอย่างน้อย 2 เดือน

ถ้าสถานการณ์โควิดในสหรัฐเป็นแบบเดียวกับจีน สหรัฐซึ่งมีผู้ติดโควิดตายรายแรกวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ก็ต้องอยู่กับเหตุการณ์นี้ถึงปลายเดือนเมษายนเป็นอย่างน้อย

และถ้ามหาอำนาจอย่างเยอรมนี-อังกฤษ-ฝรั่งเศส เผชิญสถานการณ์เดียวกัน เยอรมนีก็น่าจะจบราว 7 พฤษภาคม, ฝรั่งเศสจบราว 15 เมษายน และอังกฤษราวๆ 4 พฤษภาคม หรืออาจผิดแผกตามรายกรณี

หากยอมรับว่าไวรัสมีขั้นตอนระบาดสามช่วง ช่วงแรกคือช่วงที่ระบาดมากจนผู้ติดเชื้อและคนตายมาก (Peak) ช่วงที่สองระบาดและติดเชื้อกับการตายคงตัว (Plateau) และช่วงที่สามระบาดกับการตายและติดเชื้อลดลง ความเป็นไปได้ที่ประเทศอื่นจะใช้เวลาสู้ไวรัสใกล้เคียงจีนก็มากขึ้นไปอีก

นั่นคือใช้เวลาหนึ่งเดือนสำหรับขาขึ้นและหนึ่งเดือนเพื่อขาลง

ในกรณีของจีนนั้น ระยะเวลาตั้งแต่วันแรกที่พบคนตายและคนติดเชื้อถึงวันที่พบคนตายและติดเชื้อสูงสุดคือ 20 วันจาก 22 มกราคม-12 กุมภาพันธ์ ส่วนในกรณีสเปน ระยะเวลาตั้งแต่วันแรกที่พบคนตายจนถึงวันที่พบคนตายสูงสุดคือ 26 วันจาก 3 มีนาคม-2 เมษายน หรือในกรณีอิตาลีคือ 32 วันจากวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 27 มีนาคม

แน่นอนว่าประเทศต่างๆ มีวิธีจัดการกับการแพร่ระบาดของไวรัสในช่วงสองเดือนไม่เหมือนกัน

แต่ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่เน้นปิดประเทศแบบจีน

หรือประเทศที่ไม่เน้นการปิดประเทศอย่างเยอรมนีและเกาหลีใต้

ระยะเวลาสองเดือนคือระยะเวลาที่วงจรเศรษฐกิจและสังคมในประเทศหลักๆ ถูกระงับหรือ Disrupt อย่างที่ไม่เคยปรากฏขึ้นเลย

ถ้าเปรียบเทียบวิกฤตไวรัสเป็นการนัดหยุดงาน สังคมที่เผชิญวิกฤตไวรัสก็คือสังคมที่เผชิญความเสียหายระดับที่เทียบได้กับการนัดหยุดงานของทุกกิจการสองเดือนเป็นอย่างน้อย วงจรเศรษฐกิจที่พังพินาศนานขนาดนี้หมายถึงความปั่นป่วนทางสังคมที่จะตามมา มิหนำซ้ำยังเป็นความปั่นป่วนที่บางสังคมอาจไม่เหลือหน้าตักในการเยียวยาตัวเองได้เลย

ในกรณีสหรัฐอเมริกา วิกฤตไวรัสทำให้คนตกงานทันที 6 ล้านคน แต่ธนาคารแห่งอเมริกาประเมินว่าในที่สุดคนตกงานจะสูงถึง 20 ล้าน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่นักเศรษฐศาสตร์อเมริกาไม่เคยเผชิญมาก่อน

ส่วนรัฐไทยโง่เกินกว่าจะคิดออกว่าต้องระวังเรื่องนี้ จึงไม่มีการประเมินตัวเลขผู้ตกงานจากทางการไทย มีแต่ธนาคารเกียรตินาคินที่ประเมินไว้ 6 ล้านคน

การว่างงานไม่ใช่ปัญหา ถ้าผู้ว่างงานมีงานทำ แต่ต่อให้ไม่มีวิกฤตไวรัสทำให้เศรษฐกิจชะงักงันเลย จำนวนการมีงานทำของคนไทยก็ถดถอยลงคู่ขนานไปกับคนว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะเศรษฐกิจฝืด, ย้ายฐานการผลิต, การขยายตัวของปัญญาประดิษฐ์, หุ่นยนต์ราคาถูก ฯลฯ

วิกฤตไวรัสจึงทับถมวิกฤตการไม่มีงานทำให้รุนแรงยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม

ยุทธวิธีที่ทั่วโลกใช้เพื่อสู้ศึกไวรัสได้แก่การสร้าง “ระยะห่างทางกายภาพ” เพื่อลดการติดเชื้อระหว่างบุคคล

และในโลกยุคหลังโควิดนั้น โรงงานและสถานประกอบการต่างๆ น่าจะหันไปใช้เครื่องจักรแทนคนยิ่งขึ้นไปอีก เพราะแรงงานคนต้องหยุดงานยามโรคระบาด ขณะที่เครื่องจักรและหุ่นยนต์นั้นไม่มีผลอะไร ปัญหาการว่างงานจึงยิ่งหนักหน่วงทวีคูณ

ธุรกิจบริการต้องใช้แรงงานจำนวนมาก แต่วิกฤตโควิดทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและโรงแรมยากจะฟื้นตัว แรงงานในอุตสาหกรรมนี้กว่า 4.3 ล้านกลายเป็นคนที่เสี่ยงจะตกงานระยะยาวไปเรียบร้อยแล้ว แรงงานจากภาคอุตสาหกรรมจึงไม่มีทางไหลไปสู่ภาคบริการได้อย่างในอดีต หรือเท่ากับแรงงานภาคอุตสาหกรรมและบริการจะตกงานแบบไม่มีที่ไป

วิกฤตโควิดทำให้คนจำนวนมากในภาคบริการกลับบ้านไปพึ่งพิงพ่อแม่ที่เป็นเกษตรกรในชนบทไทย แต่เกษตรกรรายย่อยของไทยส่วนใหญ่ยากจน

ยิ่งไปกว่านั้นก็คือภาคเกษตรปีนี้เผชิญปัญหาภัยแล้งจนอาจมีปัญหาผลผลิตตกต่ำ ภาคเกษตรจึงไม่แข็งแกร่งพอจะรองรับกองทัพคนว่างงานหลายล้านได้ในระยะยาว

รัฐบาลอาจมองว่าใครตกงานก็จับกบจับเขียดหากินกับพ่อแม่กลางทุ่งไป แต่ในโลกที่มองจากสายตาของคนตกงาน การว่างงานคือการที่ประชากรวัยทำงานนับล้านๆ ตื่นมาทุกเช้าโดยไม่มีรายได้ ไม่มีค่าเช่าห้อง ไม่มีค่าขนมลูก ฯลฯ รวมทั้งประทังชีวิตจนกว่าเงินออมอันน้อยนิดจะหมดสิ้น

หรือพูดให้ถึงที่สุดคือมีชีวิตที่เต็มไปด้วยความตึงเครียดทางสังคม

คำถามที่รัฐบาลต้องคิดคือจะทำอย่างไรกับคนหลายล้านที่ทำมาหากินไม่ได้ ซ้ำยังรู้สึกตลอดว่ารัฐบาลทำให้พวกเขาไม่มีจะกิน?

ผู้มีอำนาจหลายประเทศมองเห็นว่าวิกฤตไวรัสสร้างวิกฤตเศรษฐกิจซึ่งจะนำไปสู่วิกฤตสังคม การฟื้นฟูประเทศหลังวิกฤตจึงต้องทำให้ไม่มีคนตกงานยามวิกฤตเสมอ

รัฐบาลอังกฤษหรือแคนาดาจึงมีนโยบายจ่ายเงินเดือนแทนนายจ้างให้ประชาชนที่ต้องหยุดงานร้อยละ 75 ของรายได้ในเพดานที่ไม่เกินกำหนด ขอเพียงให้นายจ้างไม่เลิกจ้างลูกจ้างเท่านั้นเอง

สำหรับผู้ที่อาจโต้แย้งว่าอังกฤษและแคนาดาทำแบบนั้นได้เพราะเป็นประเทศพัฒนา สิงคโปร์เองก็มีมาตรการ “ร่วมจ่ายค่าจ้าง” 75% ให้ทุกธุรกิจในเดือนเมษายน จากนั้นจ่ายอัตรานี้ในธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม และการบิน แต่ลดเหลือ 50% ในธุรกิจอาหาร และ 25% ในธุรกิจอื่นๆ

โดยจะทำแบบนี้เก้าเดือนและแบ่งจ่าย 3 งวด คือ เมษายน, กรกฎาคม และตุลาคม

รัฐบาลมาเลเซียไม่ได้ร่วมจ่ายค่าจ้างแบบอังกฤษและสิงคโปร์ แต่ใช้วิธีให้เงินประชาชนโดยตรงตามรายได้ ครอบครัวที่รายได้ต่ำกว่า 4,000 ริงกิต จะได้เดือนละ 1,600 คนโสดที่รายได้ต่ำกว่า 2,000 ริงกิต จะได้เดือนละ 800 ส่วนครอบครัวที่รายได้ระหว่าง 2,000-4,000 ริงกิต จะได้เดือนละ 1,000

หรือพูดง่ายๆ คือให้เงินจำนวนแปรผกผันกับรายได้ครอบครัว

ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่ารัฐบาลไทยเยียวยาคนที่ตกงานเพราะคำสั่งรัฐน้อยเกินไป มิหนำซ้ำจำนวนคนที่จะได้เงินยังอาจต่ำกว่าจำนวนคนที่เดือดร้อนจริงๆ ด้วย ประเทศไทยในสถานการณ์วิกฤตโควิดจึงสุมความไม่พอใจของคนส่วนใหญ่ไว้เต็มไปหมด ยิ่งไปกว่านั้นคือเป็นความไม่พอใจของคนที่ไม่มีจะกินซึ่งรู้สึกตลอดเวลาว่ารัฐทำให้หมดทางทำมาหากิน

วิกฤตโควิดสร้างวิกฤตเศรษฐกิจซึ่งจะนำไปสู่วิกฤตทางสังคม

และท่ามกลางวิกฤตหลายต่อหลายมิติที่กำลังรุมล้อมประเทศไทยในเวลานี้ รัฐบาลไทยทำอะไรน้อยเกินไปเพื่อจะหยุดยั้งวิกฤตสังคมซึ่งจะลุกลามเป็นวิกฤตการณ์ทางการเมืองในอนาคต

การเมืองประเทศไทยหลังวิกฤตโควิดจึงเป็นการเมืองที่เสี่ยงจะเกิดการระเบิดของความขัดแย้งทางสังคม

ที่ผ่านมานั้นไทยฝ่าฟันวิกฤตอย่างสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” โดยเกาะแข้งเกาะขามหาอำนาจให้ช่วยฟื้นฟู อเมริกาเป็นที่พึ่งของไทยช่วงหลังสงครามเหมือน IMF เป็นที่พึ่งตอนไทยใกล้เจ๊งในปี 2540

แต่ในสถานการณ์ที่ประเทศแถวหน้าเจอวิกฤตโควิดและวิกฤตเศรษฐกิจทั้งหมด โอกาสที่ไทยจะพึ่งความช่วยเหลือภายนอกแทบไม่มีเลย

ตราบใดที่รัฐบาลแก้วิกฤตไวรัสโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบทางสังคม การจลาจลหรือการต่อต้านของมวลชนย่อมเป็นอนาคตที่เป็นไปได้เสมอ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระดับโครงสร้างรัฐแบบที่เคยเกิดหลังปี 2540 อาจเกิดขึ้นอีกก็ได้เว้นเสียแต่ประเทศจะมีปาฏิหาริย์ทำให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจระลอกใหญ่จนความเคียดแค้นในสังคมผ่อนคลายลง

วิกฤตโควิดเป็นประตูสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่อาจนำประเทศไทยไปสู่ทิศทางที่เราไม่เคยเจอ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0