โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ศิลปินออสเตรียเสนอขาย “ฉลองพระองค์ ร.9” ที่ยายประมูลมา แต่บริษัทประมูลบอกไม่มีข้อมูล

Khaosod

อัพเดต 08 ธ.ค. 2562 เวลา 06.34 น. • เผยแพร่ 08 ธ.ค. 2562 เวลา 06.33 น.
_110043859__110019104_fro-ec62851ace4da86aee794f29738165eba88779a9
STEFAN STOIBER

ศิลปินออสเตรียเสนอขาย “ฉลองพระองค์ ร.9” ที่ยายประมูลมา แต่บริษัทประมูลบอกไม่มีข้อมูล – BBCไทย

หนุ่มออสเตรียเสนอขายเสื้อคลุมสีทองที่ได้รับมรดกจากยาย บอกว่าเป็น “ฉลองพระองค์” ที่รัชกาลที่ 9 มิได้ทรงนำกลับจากโรงแรมที่ประทับในกรุงเวียนนา คราวเสด็จเยือนปี 2507

อเล็กซ์ คีสลิงก์ ศิลปินนักวาดชาวออสเตรีย เผยแพร่เอกสารข่าวเมื่อ 2 ธ.ค. เสนอขาย “ฉลองพระองค์” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งเขาได้รับมรดกมาจากคุณยายที่เสียชีวิต โดยมอบหมายให้ ดร. สเตฟาน สตอยเบอร์ ทนายความ เป็นผู้ประสานงานกับผู้สนใจ

ดร. สตอยเบอร์ ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยว่า ฉลองพระองค์นี้ถูกทิ้งไว้โดยไม่ทราบสาเหตุในห้องบรรทมของโรงแรมอิมพีเรียล โรงแรมเก่าแก่ในตำนานที่ดึงดูดผู้มีชื่อเสียงในยุคนั้น เมื่อราวปลายเดือนกันยายน ปี 1964 (พ.ศ. 2507) ขณะ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินอย่างเป็นทางการไปเยือนประเทศออสเตรีย

หลายปีต่อมา ฉลองพระองค์นี้ไปปรากฏอยู่ที่งานประมูลของดอโรเธียม บริษัทประมูลงานศิลปะและวัตถุโบราณที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปตอนกลาง โดยสุภาพสตรีรายหนึ่งในเวียนนานามว่า แฮทา ริททา ได้ซื้อเสื้อคลุมประวัติศาสตร์นี้พร้อมกับงานศิลปะอีกหลายชิ้นจากการประมูล

“เราไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นคนเอาไปครับ น่าจะเป็นคนของทางโรงแรมเอง…เราไม่แน่ใจเรื่องช่วงเวลาที่ถูกนำไปประมูลเช่นกัน น่าจะประมาณไม่เกิน 5 ปี หลังจากที่พระองค์เสด็จกลับประเทศไทย” ดร. สตอยเบอร์กล่าวในการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์

ช่วงเวลาผ่านพ้นไปกว่า 50 ปี ริททาเสียชีวิตลงแล้วส่งต่อมรดกนี้แก่ อเล็กซ์ หลานชายของเธอ

บริษัทประมูลบอก ตรวจสอบไม่ได้

ดอริส ครุมป์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อมวลชนของดอโรเธียม ชี้แจงกับบีบีซีไทย ผ่านทางอีเมลเมื่อ 6 ธ.ค. ว่า ได้ใช้เวลาทั้งวัน พยายามตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่อนี้ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากไม่ได้ระบุวันที่ประมูลอย่างชัดเจน จึงเป็นเรื่องที่แทบเป็นไม่ได้ที่จะหาข้อมูลนี้

“ดิฉันได้พยายามถามพนักงานหลายคนที่ทำงานที่นี่มานาน แต่ก็ไม่ได้คำตอบ”

ไม่มีคำตอบจาก สถานทูตไทย และ โรงแรม

บีบีซีไทยส่งอีเมลสอบถามไปถึง นางสาวมรกต ศรีสวัสดิ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา และโรงแรมอิมพีเรียลเพื่อสอบถามเรื่องราวที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ

เมื่อตรวจสอบกับเว็บไซต์ของสถานทูตไทยในกรุงเวียนนา บีบีซีไทยพบการนำเสนอภาพและข้อความการเสด็จพระราชดำเนินของทั้งสองพระองค์ ระหว่างปลายเดือน ก.ย. ถึงต้นเดือน ต.ค. ปี 2507

“จำได้ดีถึงอัธยาศัยไมตรีของคนไทย”

อเล็กซ์ คีสลิงก์ ศิลปินนักวาดวัย 39 ปี กล่าวกับบีบีซีไทยว่าเขาไปเมืองไทยตั้งแต่ยังหนุ่มและยังจำได้ดีถึงอัธยาศัยไมตรีของคนไทย และประสบการณ์ที่น่ารัก

“ขณะที่คุณยายของผมยังชีวิตอยู่ ท่านมักเล่าเรื่องเกี่ยวกับฉลองพระองค์นี้ให้ฟัง เป็นฉลองพระองค์ที่ทั้งสองพระองค์ทรงทิ้งไว้ที่โรงแรมอิมพีเรียล คุณยายของผมเล่าว่าได้มาจากการประมูลของดอโรเธียม น่าจะเป็นในช่วงปลายศตวรรษที่ 60 หรือ ต้น 70 หากมองในมุมของศิลปิน ฉลองพระองค์นี้เป็นงานศิลปะที่บริสุทธิ์และเรียบง่าย”

คีสลิงก์จัดแสดงผลงานภาพของเขาตั้งแต่ปี 2006 มาจนปัจจุบันหลายสิบครั้ง หนึ่งในงานนั้นคือ การใช้ปากกาเช็นเซอร์ส่งสัญญาณจังหวะการวาดของเขาในกรุงเวียนนาไปยังแขนกลในกรุงลอนดอนและเบอร์ลินให้ได้รูปภาพเดียวกันออกมาใน 3 เมือง แล้วนำภาพทั้งสามมาต่อกันเป็นภาพเดียว

เขาบอกอีกว่า ได้ดูแลรักษาฉลองพระองค์นี้เป็นอย่างดี เก็บไว้ในที่ปลอดภัย ถือเป็นมรดกตกทอดในครอบครัว นำออกมาแสดงให้สมาชิกครอบครัวได้ชมหลายครั้ง หลังจากหารือกันในครอบครัวแล้ว ได้ตัดสินใจว่า จะแบ่งปันสมบัติชิ้นให้โลกได้ชื่นชม

“ถ้ามีใครในประเทศไทยสนใจหรือเราช่วยหาทางให้อาภรณ์นี้กลับไปสู่คนไทย”

คีสลิงก์บอกว่า เขากำลังหาทางให้โรงแรมตรวจสอบว่าฉลองพระองค์ชุดนี้ถูกนำมาขายให้กับดอโรเทียมได้อย่างไร และ กำลังหาเอกสารการขายจากทางบริษัทประมูล ดอโรเทียม ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลาสักระยะ

“เรากำลังให้ทางโรงแรมตรวจสอบบันทึกนี้ โดยไม่ทำให้โรงแรมรู้สึกเสียหน้า และหาสาเหตุว่าทำไมถึงขายฉลองพระองค์นี้ผ่านการประมูล แทนที่จะถวายคืนพระองค์ผ่านทางสถานทูตไทย”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0